วิธีป้องกันอัมพฤกษ์-อัมพาต-สโตรค


สโตรค (stroke) หรือกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองตีบ-แตกตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ซึ่งส่วนหนึ่งเราป้องกันได้
 

กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อโรคนี้มากที่สุด คือ คนที่เคยเป็นสโตรคชนิดชั่วคราว หรือไม่รุนแรง (minor stroke) มาก่อน, คนกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นซ้ำ 10%/ปี

...

ถ้ามองในระดับชุมชน (community) จะพบว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญมีดังต่อไปนี้ (สัดส่วนอาจรวมกันได้เกิน 100% ในคนบางคน)

ถ้าลดปัจจัยเสี่ยงข้อใดได้ก็เท่ากับเราป้องกันโรคได้แล้ว

...

(1). อายุที่เพิ่มขึ้น

อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด... คนไข้สโตรค 3/4 มีอายุมากกว่า 65 ปี ทำให้เราพอจะมองไปข้างหน้าได้ว่า ต่อไปเมืองไทยจะมีคนไข้โรคนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาระในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทั้งค่าใช้จ่าย และภาระงานของพยาบาล-หมอ-ญาติ-ผู้ดูแลคนไข้

...

(2). ความดันเลือดสูง > 30-50%

ความดันเลือดค่าบน (systolic) ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 13 หน่วย(มม.ปรอท) หรือความดันเลือดตัวล่าง (diastolic) ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 7 หน่วย (มม.ปรอท) เพิ่มเสี่ยง 2 เท่า (ในช่วง 130-180/76-120)

...

ถ้าลดความดันเลือดด้วยยาจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในช่วง 24-40%

ปัญหาใหญ่ที่พบบ่อยทั่วโลก คือ คนที่เป็นโรคความดันเลือดสูงประมาณ 1/2 รู้ว่า เป็นโรคนี้ (โรคนี้ไม่ค่อยทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดหัว ฯลฯ, ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ รู้อีกทีก็ตอนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตเสื่อม ไตวาย ฯลฯ)

...

และคนที่เป็นโรคนี้ควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (140/70 หรือต่ำกว่านั้นถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่ีนๆ เช่น เบาหวาน ฯลฯ) ได้ประมาณ 1/2

ข่าวดี คือ เมืองไทยมีการรณรงค์ตรวจความดันเลือดสูง ซึ่งถ้าท่านพลาดการตรวจก็ไปขอวัดได้ฟรีที่โรงพยาบาลรัฐ หรือสถานีอนามัยทุกแห่ง ซึ่งถ้ารณรงค์กันจริงๆ เมืองไทยน่าจะทำลายสถิติในเรื่องการควบคุมโรคนี้ได้

...

(3). สูบบุหรี่ > 25%

ข่าวดี คือ ถ้าเลิกบุหรี่ได้นาน 5 ปีขึ้นไป... ความเสี่ยงสโตรคจะลดลงจนเท่ากับประชากรทั่วไป, การรณรงค์ไม่ให้คนสูบบุหรี่ และส่งเสริมให้เลิกบุหรี่จึงมีส่วนช่วยชาติได้อย่างมากมายมหาศาล

...

(4). เบาหวาน > 10%

ถึงแม้เบาหวานจะเป็นสาเหตุในระดับชุมชนค่อนข้างน้อย (10%) - ที่ดูต่ำเนื่องจากประชากรทั่วโลกส่วนน้อยประมาณ 3-8% เป็นเบาหวาน ไม่ใช่คนส่วนใหญ่เป็น ต่างจากความดันเลือดสูง ซึ่งถ้าคนอายุยืนมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณครึ่งหนึ่งจะเป็นโรคความดันเลือดสูง

ทว่า... ถ้ามองในระดับบุคคลแล้ว, คนที่เป็นเบาหวานเพิ่มเสี่ยงสโตรค 2 เท่า, ยารักษาเบาหวานชนิดหนึ่ง (metformin) มีแนวโน้มจะป้องกันสโตรคได้ทั้งด้านการลดระดับน้ำตาล และผลทางอ้อมอื่นๆ ร่วมกัน

...

(5). หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (atrial fibrillation / AF - หัวใจห้องบนเต้นรัว) > 10-15%

หมอที่ดูแลอาจพิจารณาให้ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน ฯลฯ กับคนที่เป็นโรคนี้ (รู้ได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) เพื่อลดเสี่ยงสโตรค

...

(6). โคเลสเตอรอล / ไขมันในเลือดสูง > 20%

สโตรคในซีกโลกตะวันตกเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ 85% (แตก 15%) มากกว่าซีกโลกตะวันตออกที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ 70% (แตก 30%)

ถ้าลดโคเลสเตอรอลในเลือดได้, จะทำให้ความเสี่ยงสโตรคชนิดหลอดเลือดสมองตีบลดลง โดยยาลดโคเลสเตอรอลกลุ่มสเตตินลดเสี่ยงได้ประมาณ 20%

...

(7). โรคหลอดเลือดหัวใจ - หลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน > 20%

(8). หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบ (carotic stenosis) > 5%

...

(9). น้ำหนักเกิน-อ้วน / ออกแรง-ออกกำลังน้อย

(10). แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับสโตรคเป็นรูปกราฟแบบตัว 'J (J-shaped)' หรือคล้ายเครื่องหมายถูก คือ ขนาดต่ำมากๆ (1-2 แก้ว) อาจลดเสี่ยง ทว่า... ถ้าดื่มหนักจะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

...

ถ้ามองในระดับชุมชน (เช่น ประเทศ ฯลฯ) แล้ว... ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่พอจะป้องกันหรือควบคุมได้ (ยกเว้นอายุที่มากขึ้น)

คนส่วนใหญ่ป้องกันสโตรคได้ด้วยการตรวจหาความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือด (โคเลสเตอรอล), ไม่สูบบุหรี่และไม่หายใจเอาควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบเข้าไป (รวมทั้งควันไฟจากการเผาขยะ-ใบไม้-จุดธูป-ใช้ฟืนในบ้าน), ระวังน้ำหนักอย่าให้เกินเกณฑ์, ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ

...

การศึกษาที่ ผ่านมาพบว่า การลดระดับสารโฮโมซิสเทอีน (homocysteine) ในเลือดให้ต่ำลงน่าจะทำให้ความเสี่ยงสโตรคและโรคหัวใจลดลง แต่ไม่พบว่า การเสริมวิตามินจะช่วยลดความเสี่ยงได้แบบอาหารตามธรรมชาติ

อาหารที่ช่วยลดสารพิษชนิดนี้ คือ วิตามินบีหลายชนิด โดยเฉพาะโฟเลต (folate / folic acid - พบมากในผัก ผลไม้ อาหารสดจากพืช), B6 (พบในปลาทะเล เนื้อ กล้วย), B12 (พบในอาหารจากสัตว์ สาหร่ายสไปรูลีนา)

...

อาหารที่มีวิตามินบี และช่วยต้านสารพิษนี้พบมากในอาหารต้านความดันเลือดสูง (DASH - แดช) [ medscape ]; [ ajcn ]; [ lef ]

อาหารแดชประกอบด้วยผัก ผลไม้ทั้งผล นมไขมันต่ำหรือนมไม่มีไขมัน ธัญพืชไม่ขัดสีี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ฯลฯ, ถั่ว, เมล็ดพืช, ปลา-สัตว์ปีก(ควรนำหนังออก)-เนื้อไม่ติดมัน, ไขมันชนิดดี (ขนาดต่ำๆ), ไม่กินเกลือโซเดียมสูง (พบมากในน้ำปลา ซอส เกลือแดง อาหารสำเร็จรูป)

...

ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 > [ Twitter ]

ที่มา                                                         

  • Thank Medical Progress CME. Vol 9, No 8. August 2010; 25-30 > Dunbabin DW (อ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แปล-เรียบเรียง). การควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 17 สิงหาคม 2553.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 385751เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2010 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนคุณหมอที่เคารพ(ของชาวบ้านและผมด้วยครับ)

โรงพยาบาลของคุณหมอคงมีผู้ป่วยเยอะเช่น โรงพยาบาลอื่นๆ คุณหมอยังได้มอบความรู้ให้สาธารณะชนอีก ผมขอแสดงความอนุโมทนาในคุณประโยชน์นี้ครับ ผมระลึกอยู่เสมอว่าต้องพยายามรักษาสุขภาพของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อจะได้ลดภาระของเจ้าหน้าที่ (เพราะเท่าที่ทราบงานหนักมากๆ) ผมจึงดูแลตนเองก่อนที่จะไปโรงพยาบาล ผมมีความสนใจเรื่องสุขภาพ จึงอยากเรียนถามคุณหมอว่า คนในชนบทมักไม่ค่อย เชื่อหมอ ชอบทำตามใจตนเอง จนกว่าเขาจะป่วยหนัก แล้วถึงจะมาโรงพยาบาล (ไม่ค่อยรักษาสุขภาพ) ผู้ป่วยลักษณะนี้ ที่คุณหมอพบมีมากไหมครับ คงสร้างปัญหาให้คุณหมอมาก แนวโน้มในอนาคตจะดีขึ้นไหม ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และบุคคลากรทางการแพทย์ ทุกท่านครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นายรักษ์ ปริกทอง

ชมรมคนรักษ์สุขภาพ

ขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านครับ... // คนไทยเรามีลักษณะที่ดีมากมาย ทำให้เราก้าวไปไกลกว่าเพื่อนบ้านที่เริ่มต้นเท่าๆ กัน และทำการท่องเที่ยว-อาหารดังไปทั่วโลก // ขณะเดียวกัน... คนไทยมีจุดอ่อนสำคัญหลายอย่าง ดังที่ อ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวไว้ คือ ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล, ใช้ความรู้สึกมากกว่าความรู้ // อย่างไรก็ตาม... ผมมองว่า เมืองไทย รวมทั้งคนไทย กำลังก้าวไปในทางที่ดีขึ้น... ดีกว่าเดิมมาก //

คนไข้ไทยก็เช่นกัน... มีทั้งดีทั้งร้าย // เช่น บางคนด่าหมอตั้งแต่ประตูโรงพยาบาล คือ ด่า รปภ./ยาม - ตามมาด้วยห้องบัตร - ด่าพยาบาล -แล้วก็ด่าหมอ... // เดิมผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องกรรม และผลของกรรมเท่าไร... // ทว่า... ยิ่งติดตามดูผลของกรรม พบว่า คนที่ด่าหมอท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) มีชะตากรรมคล้ายๆ กัน คือ คนหนึ่งรถชน, คนหนึ่งเป็นอัมพาตชั่วคราว (จะมีโอกาสเป็นอัมพาตถาวรประมาณ 1/3), คนหนึ่งเป็นอัีมพาต, คนหนึ่งเป็นบ้า // ผมเลยนึกโอกาสทำบุญได้อย่างหนึ่ง คือ ถ้าผมล่วงเกินท่านผู้หนึ่งผู้ใดด้วยวาจาของผมที่ไม่ค่อยดี... ก็ขอถือโอกาสนี้กราบขออขมา ขอขมา ขอโทษ ขออภัยในโทษล่วงเกินนี้ เพื่อจะสำรวมระวังต่อไป... // ขอบคุณครับ...

ผมอยากจะเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า วิธีทำให้พยาบาล-หมอฟัน-หมออนามัย-หมอตามบ้านนอก หรือภาครัฐ มีแรง มีกำลังใจ... ไม่ลาออก // ท่านทำได้ไม่ยาก คือ ใส่ใจสุขภาพ... หมอเกือบทุกคนจะชอบเห็นคนไข้มีสุขภาพดี // นั่นเป็นขวัีญ เป็นกำลังใจ // ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านเป็นเบาหวาน... ขอลำใยมื้อละ 2-3 ลูก (มากกว่านั้น ควรลดข้าว-แป้งงตามส่วน) ไม่ใช่มื้อละ 2-3 กิโลฯ // คนไข้หลายคนซัดลำไย 2-3 กิฺโลฯ แล้วด่าว่า หมอไม่เก่งบ้าง ด่าว่า ยาไม่ดีบ้าง // โลกเรามียาสำหรับคนไข้เบาหวานประเภท "ลำไย 2-3 ลูก" แต่ยังไม่ยาสำหรับคนไข้ประเภท "ลำไย 2-3 กิโลฯ" // ถ้าคนไทยใส่ใจสุขภาพ... เราจะแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างแน่นอน // เพราะค่าใช้จ่ายสุขภาพ + สงครามที่ยืดเยื้อ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่ลง // นิตยสาร Bloomberg Businessweek ตีพิมพ์ว่า ยอดจ้างแรงงานสหรัฐฯ ลดลงหลายล้านตำแหน่งในไม่กี่ปีที่ผ่านมา... เพราะโรงงานย้ายหนีระบบหมอที่เอาแต่เงิน (ระบบของเขายิ่งทำยิ่งรวย) + ระบบกฏหมายที่เน้นฟ้องหมอ //

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท