ลูกเล่น...ฝึกให้เป็น


ติดตามผลในเดือนที่ 8 ของกรณีศึกษาวัย 10 เดือน คลิกอ่านเพิ่มเติมถึงการพัฒนาเด็กด้วยกิจกรรมบำบัดอย่างสำเร็จผลจาก http://gotoknow.org/blog/otpop/374183

วันนี้ครบเดือนที่ 8 ที่ผมสนใจติดตามโปรแกรมกิจกรรมบำบัดแบบผู้ปกครองมีส่วนร่วมออกแบบกิจกรรมการพัฒนาเด็กน้อยวัย 10 เดือน ที่ตอนนี้การกระตุ้นและปรับสมดุลความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกข้อต่อ สัมผัส และการทรงท่า ดีขึ้นตามลำดับ ทำให้เด็กมีการพัฒนาความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการกิน การเล่น และการนอน ดังนี้

  • เคลื่อนไหวร่างกายอย่างคล่องแคล่วและตื่นตัว (พัฒนาสมวัยในการคลาน นั่ง ปีน และเกาะยืนเดินได้ แต่จำเป็นต้องเพิ่มการใช้มือขวาและซ้าย พร้อมการจ้องมองอย่างสนใจมากขึ้นในการกินอาหาร ลดความช่วยเหลือและใช้ความเงียบสังเกตความสามารถและแรงบันดาลใจในการเล่นของเด็กมากขึ้น)
  • มีการรับรู้เสียงและแสงตามธรรมชาติได้มากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้สื่อของเล่นเสียงและแสง มีการจ้องมอง (กระตุกกลอกตาลดลง) และเข้าใจความหมายของสิ่งเร้าแบบผสมระหว่างคนและสิ่งของ (พัฒนาสมวัย แต่จำเป็นต้องเพิ่มการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ)
  • สื่อสารมากขึ้นหลังจากได้รับการกระตุ้นการใช้ริมฝีปาก ลิ้น และฟัน รวมทั้งการเคลื่อนไหวระบบทรงท่าอย่างครบทิศทางที่สั่งการตอบสนองออกเสียง เป็นเวลา 1 เดือน (พัฒนาสมวัยด้วยการยิ้มมีความหมาย เล่นเสียงตามอารมณ์ดี/ไม่ดีได้ ช่วยเวลาตื่นตัวและหลับลึกปกติ แต่จำเป็นต้องเพิ่มการพัฒนาแยกแยะเสียงธรรมชาติจากคนและสิ่งของในช่วงความสนใจที่เพิ่มขึ้น)

ตัวอย่างที่ผมสาธิตการฝึกกิจกรรมบำบัดให้ผู้ปกครองเรียนรู้ คือ เริ่มจากพูดคุยกับเด็กว่า "น้อง X จะเล่นอะไร" แล้วเงียบสังเกตความสามารถในการสำรวจของเล่นและคนที่เด็กต้องการเข้าหาเพื่อเล่นอย่างสนใจและมีเป้าหมายหนึ่งอย่าง ปรากฎเด็กมองไปที่เก้าอี้สีชมพู คลานไปเกาะแล้วดันเก้าอื้ไปข้างหน้า โดยผมประคองหลังไม่ให้ล้ม ผมทักทายให้เด็กเรียนรู้วิธีการเล่นกับเก้าอี้อย่างมีความสุขขึ้นว่า "สีชมพู น้อง X ชอบไหม ชอบใจก็ยิ้ม (พูดช้าๆ แล้วยิ้มให้เด็กมองและยิ้มตาม) พร้อมเคลื่อนไหวต่อไปทางขวาเป็นวงกลม"

ผมเรียกเด็กให้เล่นอย่างอื่นที่ท้าทายขึ้นโดยชวนไปเปิดกล่องของเล่น ให้โอกาสเด็กเลือกของเล่นหนึ่งชิ้นที่ชอบ ผมคุยกับเด็กพร้อมจ้องมองหน้ากันและกันว่า "น้อง X เปิดกล่องดูซิ" ผมช่วยเปิดพร้อมประคองบนมือเด็กให้เปิดตาม เด็กไม่ยอมใช้มือ จึงไม่ฝืน แต่ลองค่อยๆ จับมือเด็กอย่างนิ่มนวลและลองจับมือเด็กทำไม่เกิน 3 ครั้งในการพยายามฝึก (หลังจากลองเปิดให้ดูนิดหนึ่ง นิ่งดูการทำตามของเด็ก แล้วจับทำพร้อมกัน เป็น 3 ขั้นตอนทุกครั้งในการเล่น) น้องหยิบของเล่นโปรดหนึ่งชิ้น แล้วบอกเด็กว่า "ลองเล่นให้น้าป๊อปดูซิ" เด็กมองและส่งเสียงให้ผมช่วยเปิดเครื่องเล่นมีเสียง ผมจึงบอกว่า "เรามาเปิดดูพร้อมกันน้อง X" แล้วผมนำมือของตนเองค่อยๆ วางบนมือเด็กเพื่อเปิดเครื่องเล่นพร้อมกัน ตามด้วยค่อยๆ ประคองมือสองข้างจับของเล่นไปพร้อมๆกับมือน้อยๆ สองข้างของเด็ก แล้วมองหน้าเด็กเพื่อบอกว่า "น้อง X จับของสองมือ มือขวา มือซ้าย" จากนั้นค่อยๆ เล่นตามขั้นตอนที่ผ่านมาอีกซัก 3 รอบ แล้วปรับให้สนุกขึ้นโดยการเล่นซ่อนของด้านหลังของผม เมื่อเด็กหาของเล่นเจอก็เล่นย้อนกลับไปที่ขั้นตอนที่ผ่านมาในการฝึกจ้องมอง-จับของด้วยมือ-และจิบปากส่งเสียง สุดท้ายลองซ่อนของเล่นใต้พรมยางสีสดใส จนเด็กหาของเล่นเจอก็เล่นตามขั้นตอนที่ผ่านมาเช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นการเล่นอย่างมีเป้าหมายกับของเล่นหนึ่งอย่างแต่เพิ่มวิธีการเล่นให้สนุกและพัฒนาความคิดของเด็กด้วยช่วยความสนใจต่อเนื่องไม่เกิน 5 นาที

ผมแนะนำให้เด็กเล่นแบบอิสระสลับกับการเล่นแบบกิจกรรมบำบัดข้างต้น จะได้ไม่ทำให้เด็กต้องคิดตามสิ่งเร้าที่เราฝึกมากจนเกินไป ค่อยๆ ส่งเสริมทักษะ (รูปแบบการกระทำที่เด็กจะคิดและชอบด้วยความถี่บ่อยครั้งและไม่ผิดพลาด) ของความสนใจในการพัฒนาการจ้องมอง การใช้มือ การส่งเสียง/แสดงภาษากายเพื่อรับรู้ความหมายของกิจกรรมการเล่นสมวัยมากขึ้น

ผู้ปกครองลดความช่วยเหลือและคิดแทนเด็กมากจนเกินไป แยกแยะสิ่งเร้าที่เป็นตัวคนกับวัตถุของเล่นในช่วงเวลาการฝึกต่างกัน และเมื่อสื่อสารเป็นกลุ่มคำกิริยาหรือคำนามหนึ่งครั้ง เช่น "เรียกแม่" (เด็กควรจ้องมองหน้าแม่ โดยไม่มีของเล่นหันเหความสนใจ) "ดูหมี" (เปิดภาพหรือถือหมีให้ดู) เป็นต้น แล้วรอการแปรความหมายหลังการได้ยินหรือการมองเห็นภาพที่แสดงคำกิริยาหรือคำนามนั้นด้วยความเงียบ 5-10 วินาที จากนั้นค่อยๆ สื่อสารกับเด็กไม่เกิน 3 รอบ ผู้ปกครองจะพบว่า "เราจะพบความมหัศจรรย์ในการเรียนรู้ของลูกมากขึ้นๆๆๆ"

นอกจากนี้ผมได้ให้ผู้ปกครองสำรวจและแยกของเล่นมาฝึกกิจกรรมบำบัดลูกโดยแยกเป็นสองหมวด

1. หมวดของเล่นที่เด็กชอบเป็นพิเศษแต่ต้องปรับวิธีการเล่นที่พัฒนาความคิดของเด็กมากขึ้น ได้แก่ เตะ/โยนบอลเล็กแตะบอลใหญ่แล้วแตะ/โยนเข้าตะกร้า บีบเป็ดขณะนั่งในอ่างน้ำ ลองปิดรูลมไม่ให้เป็ดมีเสียงแล้วบอกให้เด็กบีบจนมีเสียงเมื่อผู้ปกครองเปิดรูลม มองเล่นกด/สัมผัสปุ๋มต่างๆ บนของเล่นอย่างค่อยเป็ยค่อยไป มองภาพในหนังสือที่มีตัวเลือก (ผลไม้ สัตว์ ฯลฯ) แล้วให้เด็กสัมผัสหรือเห็นภาพจริงๆ แบบสามมิติ เช่น รูปหมี - ตุ๊กตาหมี แล้วจ้องมองการใช้ริมฝีปากออกเสียงว่า "หมี" จากผู้ปกครอง

2. หมวดของเล่นที่เด็กไม่เคยเล่น แต่ผู้ปกครองพิจารณาความเหมาะสมในการท้าทายความสามารถของเด็กด้วยวิธีการเล่นที่ไม่ยากไม่ง่ายเกินไป ได้แก่ เรียงบล๊อกกระดาษสีสลับตัวอักษรในแนวนอนหนึ่งแถว โดยผู้ปกครองเล่นกับเด็กด้วยการเรียงไม่เป็นแถวก่อน จากนั้นผู้ปกครองตีกลองให้เด็กดู แล้วส่งไม้ให้เด็กลองถือ ผู้ปกครองนิ่งดูว่าเด็กจะตีได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ช่วยจับมือเด็กตี แล้วลองนิ่งดูว่าเด็กจะตีได้หรือไม่อีกครั้ง ทำแบบนี้ไม่เกิน 3 รอบ ก็เปลี่ยนเล่นอย่างอื่นๆ บ้าง

การเล่นของเล่นข้างต้นให้เป็นนั้น ผู้ปกครองควรให้โอกาสเด็กมีการพักเล่น เล่นอิสระ แล้วใช้มือซ้ายขวาสลับหยิบขนม ทานอาหารด้วยช้อนแบบผู้ปกครองช่วยจับด้วย แปรงฟันแบบเล่นแตะส่วนต่างๆ ของร่างกายเด็ก เล่นส่งเสียงจ๊ะเอ๋ขณะเคลื่อนไหวเกาะเดินแล้วสอนหยิบวัตถุต่างๆ คุยโทรศัพท์กับลูกด้วยคำพูดง่ายๆ (อย่าพูดเร็ว แต่นิ่งฟังเสียงลูกเล่น/ตอบด้วย) เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 385111เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2010 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ  ได้รับรู้การพัฒนาการเด็กอย่างดีครับ  ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

ขอบคุณสำหรับคำชื่นชมจากคุณธนา นนทพุทธ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท