ประวัติศาสตร์


  ประวัติขุนวิจิตรมาตรา

ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) (7 กรกฎาคม พ.ศ.2440-2 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 ) ผู้สร้างหนัง ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ผู้ประพันธ์เพลงต่างๆ หลายเพลง ซึ่งรวมถึงเนื้อร้องเพลงชาติไทย ฉบับแรกสุดในปี พ.ศ.2475 และเป็นผู้แต่งหนังสือต่างๆ หลายเรื่อง เช่น หลักไทย ภูมิศาสตร์สุนทรภู่ เป็นต้น นับได้ว่าเป็นนักคิด นักค้นคว้า และนักเขียนสำคัญคนหนึ่งของ ยุครัตนโกสินทร์

ขุนวิจิตรมาตราเกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2440 มีบิดาชื่อ ขุนสารการ (ทองดี) อาชีพรับราชการ สังกัดกระทรวงมหาดไทยและเป็นผู้พิพากษา มารดาชื่อ พับ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วเข้ารับราชการเป็นล่ามภาษาอังกฤษในกรมแผนที่ กระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ.2463 ต่อมาในปี พ.ศ.2467 จึงได้รับโอนย้ายไปรับราชการในกระทรวงพาณิชย์ จนเกษียณอายุในตำแหน่งหัวหน้ากองมาตราชั่งตวงวัดเมื่อปี พ.ศ.2500

ท่านเริ่มชีวิตนักประพันธ์ด้วยการเขียน บทละครร้อง ตั้งแต่อายุได้ 20 ปี หลังจากนั้นก็ได้ทำงานเขียนประเภท นิยาย สารคดีการประพันธ์เพลง หรือแม้แต่งานทางด้านภาพยนตร์

ขุนวิจิตรมาตราเริ่มงานด้าน ภาพยนตร์ โดยมีความเกี่ยวข้องกันในช่วงปี พ.ศ.2473เมื่อได้รับการติดต่อจาก หม่อมราชวงศ์อนุศักดิ์ หัสดินทร์  แห่งบริษัทหัสดินทร์ภาพยนตร์ ให้ช่วยแต่งเรื่อง สำหรับภาพยนตร์เรื่องต่อไป ของบริษัท หลังจากตอบตกลงได้ไม่นาน ขุนวิจิตรมาตราจึงได้ประพันธ์บทภาพยนตร์เรื่องแรก ในชีวิตออกมาเป็นผลสำเร็จในชื่อเรื่อง "รบระหว่างรัก" โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจาก ท่านขุนวิจิตรมาตรา จะได้รับมอบหมาย ให้ประพันธ์เรื่องแล้ว ก็ยังได้รับหน้าที่เป็น ผู้กำกับการแสดงอีกด้วย

ภาพยนตร์เรื่อง "หลงทาง" ออกฉายเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2475 เป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเรื่องแรก ของบริษัทศรีกรุงภาพยนตร์นั้น และมีเพลงประกอบทั้งหมด 6 เพลง คือ เพลงพัดชา เพลงบัวบังใบ เพลงลาวเดินดง เพลงกุหลาบหอม (ขึ้นพลับพลา) เพลงโยสะลัม และเพลงเงี้ยว โดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิมทั้งหมด แล้วใส่เนื้อร้องประกอบเข้าไป ออกฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ได้รับคำชมเชยเป็นอย่างดี ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง "หลงทาง" ทำให้บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกยุคภาพยนตร์เสียงอย่างสมบูรณ์แบบ

ส่วนขุนวิจิตรมาตรา หลังจากกำกับภาพยนตร์เรื่อง "หลงทาง" แล้วก็ได้ ร่วมงานกับบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงมาโดยตลอด สร้างผลงานที่น่าจดจำไว้หลายเรื่อง ทั้งภาพยนตร์ข่าวสารคดี และภาพยนตร์บันเทิงคดีอาทิเช่น ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี (2475) ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรนูญ (2475) ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นภาพยนตร์ ประเภทข่าวสารคดี ส่วนภาพยนตร์บันเทิงคดีที่โดดเด่น อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" (2476) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่มีการย้อมสีเป็นบางฉากเรื่องแรกของไทย ต่อมาภาพยนตร์เรื่อง "เลือดทหารไทย" (2477) ภาพยนตร์ที่แสดงแสนยานุภาพ ของกองทัพไทยซึ่งบริษัทศรีกรุงได้รับการว่าจ้าง จากกระทรวงกลาโหมให้สร้าง หรือภาพยนตร์เรื่อง "เพลงหวานใจ" (2480) ภาพยนตร์เพลงที่ลงทุนสูง เป็นประวัติการณ์ของศรีกรุง โดยเฉพาะการเนรมิตฉาก ประเทศสมมุติ ซานคอซซาร์ให้ดูสมจริง

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์ได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ เมื่อแรกๆ นั้น ได้ใช้คำร้องของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ประพันธ์ เป็นเพลงชาติไทยฉบับที่ห้า ใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปี พ.ศ. 2475-2477

ในปี พ.ศ. 2485ได้เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพาขึ้น สร้างความเดือดร้อน เกิดภาวะขาดแคลนขึ้น ในอุตสาหกรรม ทุกระดับไม่เว้นแม้แต่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทำให้ฟิล์มภาพยนตร์น้อยลงไป ภาพยนตร์ที่สร้างออกฉายส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดยรัฐบาล มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในภาพยนตร์ที่โดดเด่น ในปีนั้นคือภาพยนตร์เรื่อง "บ้านไร่นาเรา" ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ขุนวิจิตรมาตรามีหน้าที่ใน การประพันธ์ เนื้อเรื่องโดยท่านได้ผูกเอาเรื่องราว ของชาวนาเข้ากับอุดมการณ์รักชาติ อันสอดคล้องกับนโยบาย การบริหารประเทศของ จอมพล ป. พิบูลสงครามผู้นำประเทศ ในสมัยนั้น นอกจากประพันธ์บทแล้ว ท่านยังได้ประพันธ์เพลงประกอบ ด้วยซึ่งบทเพลง "บ้านไร่นาเรา" โดยพระเจนดุริยางค์เป็นผู้ประพันธ์ทำนองในแนวของความขยันขันแข็งในการทำงาน บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์และเป็นเพลงที่สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติยกย่องว่า เป็นเพลงลูกทุ่ง เพลงแรกในงานวันเพลงลูกทุ่ง เพลงนี้ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคที่ภาพยนตร์ไทย ใช้เป็นฟิล์ม 16 มิลลิเมตร และการพากย์แทน ภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตรมาตรฐานเสียงในฟิล์ม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี พ.ศ. 2488 ขุนวิจิตรมาตรา ก็ยุติการสร้างภาพยนตร์ลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามท่านก็มิอาจตัดขาด จากภาพยนตร์ ได้นานนัก ก็ต้องวนกลับมาทำภาพยนตร์ อีกครั้งในปี พ.ศ. 2495 เรื่อง "ทะเลรัก" ซึ่งอำนวยการสร้างโดย นาย เสวตร์ เปี่ยมพงศ์สานต์ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2496 ท่านได้สร้าง ภาพยนตร์มาจากนวนิยายชื่อเดียวกัน ที่ท่านได้ ประพันธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2469 เรื่อง " วารุณี " ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเป็นภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตรบันทึกเสียงลงในฟิล์ม ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ท่านก็ไม่สร้าง ภาพยนตร์ต่ออีกเลยเป็นเวลา 16 ปี

บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ได้กลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้งในปีปี พ.ศ. 2512 ภายหลังจากปิดกิจการลงใน ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงได้เชิญขุนวิจิตรมาตรา มาเป็นที่ปรึกษาของบริษัท แต่บริษัทศรีกรุงไม่สามารถสู้กับกระแสภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตร ซึ่งกำลังแรงอยู่ไปได้ ดังนั้นภายหลังจาก สร้างภาพยนตร์ออกมาได้ไม่กี่เรื่อง บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ก็จำต้องปิดกิจการลงในปี พ.ศ. 2514

สำหรับขุนวิจิตรมาตรา ภายหลังจากร่วมงานกับบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงในครั้งนั้นก็ไม่ได้ข้องเแวะกับการสร้างภาพยนตร์อีกเลย จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 มีอายุได้ 83 ปี

 

หมายเลขบันทึก: 385053เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2010 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท