การประกันรายได้เกษตรกร (2)


การประกันรายได้เกษตรกรจริงๆแล้ว เป็นระบบการแทรกแซงตลาดโดยรัฐบาลจ่ายส่วนต่าง (deficiency payment) ระหว่าง ราคาเป้าหมาย กับราคาอ้างอิง

อะไรคือการประกันรายได้เกษตรกร 

 การประกันรายได้เกษตรกรจริงๆแล้ว เป็นระบบการแทรกแซงตลาดโดยรัฐบาลจ่ายส่วนต่าง (deficiency payment) ระหว่าง ราคาเป้าหมาย กับราคาอ้างอิง     

 

ราคาเป้าหมาย คือ ราคาที่อยากให้เกษตรได้รับเช่น 12000 บาทต่อเกวียน (การกำหนดราคาเป้าหมาย อาจกำหนดจากต้นทุนการผลิตบวกกำไรให้เกษตรกร เช่น 10-20% เป็นต้น)

แต่ราคาอ้างอิง จะขึ้นๆลงๆตามประสาราคาตลาด (คือราคาตลาดมีหลายระดับ ราคาหน้าฟาร์ม ราคาพ่อค้ารับซื้อ ราคาที่ท่าข้าว ราคาตลาดกลาง ธกส  จึงจำเป็นต้องหาราคาอ้างอิงสักที่ที่เป็นตัวแทนของราคาตลาด เช่น ราคาในตลาดกลาง) 

หากราคา(ตลาด)อ้างอิง เป็น 10000 บาท เทียบกับราคาเป้าหมาย 12000 บาทชาวนาก็จะได้รับชดเชยส่วนต่างจากรัฐบาล 2000 บาท  แต่หากราคาอ้างอิงเป็น 12000 บาทหรือมากกว่า ก็จะไม่ได้รับการชดเชย  

 

โดยวิธีนี้  เกษตรกรจะได้รับการประกันว่าได้ราคา  12000 บาทต่อเกวียนแน่ๆ  แต่ในทางปฏิบัติเขาจะคิดเป็น ต่อไร่  แล้วคูณจำนวนไร่ (ที่ปลูกทั้งหมด)  จึงเป็นการประกันรายได้ให้เกษตรกร  ว่าปลูกข้าวเท่านี้ไร่ แล้วจะมีรายได้แน่ๆ กี่บาท   โดยที่มาของรายได้ของชาวนานั้น ส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการขายข้าวในตลาด  ขาดเหลือจากเป้าหมายอย่างไร รัฐบาลก็จะสมทบให้เป็นเงินชดเชยส่วนต่าง

จะเห็นได้ว่า วิธีนี้ รัฐใช้งบประมาณจากภาษีน้อยกว่าวิธีจำนำมาก เพราะรัฐไม่มีภาระรับซื้อข้าว  สต๊อกข้าว และขายข้าว  ส่วนเกษตรกรมีรายได้แน่นอน   ช่องทางการรั่วไหลน้อยกว่ามาก

การแทรกแซงกลไกตลาดไม่ง่ายอย่างที่คิด

แต่อย่างที่บอกแล้วว่า การไปฝืนตลาดนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด  เมื่อปฏิบัติจริง ก็เกิดปัญหามากมาย 

ปัญหาการจดทะเบียน 

1. บางคนไม่มีสิทธิ์จดทะเบียนเพราะไม่มีทะเบียนบ้าน เช่น ไม่มีสัญชาติซึ่งปัญหานี้ ยังไม่อยู่ในขอบเขตการทำงานของนโยบายนี้  (และจำเป็นต้องใช้นโยบายชุดอื่นในการแก้ปัญหาค่ะ คุณ pilgrim เช่น นโยบายสวัสดิการที่ไม่ได้มีเป้าหมายให้ขายข้าวได้ราคาแพง แต่ต้องสร้างหลักประกันด้านอื่นๆขึ้นมาทดแทน)  

2. แจ้งเท็จ  แจ้งพื้นที่ปลูกมากเกินจริง  ทางแก้คือ จะทำอย่างไรจึงจะมีระบบการตรวจสอบ ... แน่นอน พวกนี้เพิ่มต้นทุนของการดำเนินโครงการทั้งสิ้น

3. รู้ว่าไม่มีน้ำ ผลผลิตไม่งอกงามแน่ แต่ก็ยังปลูกเพราะหวังได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล   อันนี้ช่วยไม่ได้  เพราะรัฐบาลต้องการ "ประกันรายได้"   

ข้อ 2-3 เป็นปัญหา "จริยวิบัติ" Moral Hazard เป็นปัญหาที่คาดเดาได้ทางทฤษฎีตั้งแต่ต้น  และทำให้โดยปกตินักเศรษฐศาสตร์จึงไม่อยากให้รัฐเข้าแทรกแซงตลาดโดยไม่จำเป็น หรือแทรกแซงนานๆ  เพราะมันจะไปมีสร้างปัญหาส่วนอื่นๆให้ต้องตามแก้ไม่จบ   

ที่สำคัญคือ ความสูญเสียของการใช้ทรัพยากรของสังคม คือลงทุนลงแรง ทั้งๆที่รู้ว่า ไม่ได้ผลผลิต (แม้จะได้เงิน แต่จริงๆแล้ว "เงินทองของมายา ทรัพยากรที่มีมาสิของจริง" นักเศรษฐศาสตร์มอง real resources มากกว่าค่ะ  แต่ "คนไทย" มักจะเข้าใจผิด)

แม้ว่า ลงทุนลงแรงและได้ผลผลิตอย่างที่ควรได้  แต่การแทรกแซงตลาดจะเป็นแรงจูงใจให้ผลิตมากขึ้น  ใช้นโยบายซ้ำๆ ก็จะเริ่มเกิดปัญหาผลผลิตเกินความต้องการของตลาด  ผลักให้ราคาตลาดต่ำลงอีก  ภาระชดเชยของรัฐบาลจะมากขึ้น  นอกจากเป็นความสูญเสียทรัพยากรเพราะผลิตมากเกินไปแล้ว  ยังเป็นการแย่งเงินภาษีมาใช้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง (เช่น แทนที่จะเอาเงินชดเชย ไปปรับปรุงระบบน้ำ ทดลองวิจัยเรื่องพืชทนแล้ง เป็นต้น)

ปัญหาที่ชาวนายัง งงๆ 

เมื่อลงทะเบียนแล้ว ได้ข้าวแล้ว ก็ยังมีปัญหาอื่นๆอีก  แต่ก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ยาก หากรัฐขยันทำความเข้าใจหรือชาวนาเริ่มคุ้นเคยกับระบบ 

 1. ชาวนางงว่า ทำไมรัฐไม่ช่วยรับซื้อข้าวเหมือนเมื่อก่อน

 2. ชาวนาไม่พอใจที่ "ขายข้าว"(ให้พ่อค้า) ได้ราคาต่ำ เมื่อเทียบกับระบบรับจำนำ  ไม่ทันมองว่า จะได้รับเงินชดเชยอีกทางหนึ่ง ทำให้ราคาที่แท้จริงสูงขึ้นอีก

 3. ราคาข้าวขึ้นลงทุกวัน ราคาอ้างอิงจึงขึ้นลง และเงินชดเชยส่วนต่างจึงขึ้นลง  เมื่อวานเพื่อนบ้านได้รับเงินส่วนต่างจากรัฐ 1000 บาท  แต่วันนี้ตัวเองไปขายได้รับเงินส่วนต่างจากรัฐแค่ 800 บาท ก็ไม่พอใจ  ลืมคิดไปว่า เพราะเพื่อนขายให้พ่อค้าได้ 11000 บาท แต่ตัวเองขายให้พ่อค้าวันนี้ได้ 11200 บาท

เหล่านี้เป็นต้น...

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 385052เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2010 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณ อ.ปัท มากค่ะ ที่ช่วยอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ไม่ยากค่ะ

และยังช่วยให้มองเห็นปัญหาของนโยบายที่คิดว่าดี แต่ในระยะยาวจะเป็นปัญหาต่อไปได้อีก อันนี้มองไม่ออกจริงๆ ค่ะ

สงสัยต้องกลับไปเรียนเศรษฐศาสตร์ใหม่ กับ อ.อีกรอบดีไหมคะ ??

สำหรับปัญหาที่ถามอาจารย์ไปนั้น เป็นกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่ประสบปัญหา "ตกหล่นการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ" กว่า 1,000 ครอบครัว เมื่อปีที่แล้ว ทุกคนมีสัญชาติไทยหมดแล้ว มี "ความเป็นพลเมืองไทย" เต็มขั้น แต่สาเหตุการตกหล่นอยู่ที่การสื่อสารนโยบายมาไม่ถึงชาวบ้าน พอเกิดเรื่องเจ้าหน้าที่ได้แต่โทษกันว่า เป็นเพราะ "ผู้ใหญ่บ้าน" หรือ "ชาวบ้าน" ที่ไม่สนใจ หรือไม่รู้เรื่อง (เพราะเป็นชาวเขา) แต่ทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า "เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล" ไม่ได้มาบอกในพื้นที่ แม้แต่ผู้ใหญ่บ้านยังไม่รู้เรื่อง

มีเพียง 1 หมู่บ้านในตำบลที่ไม่ตกหล่น เพราะผู้ใหญ่บ้านเป็นคนไทยพื้นเมือง ไม่ใช่ชาวเขา จึงรู้นโยบายจากเพื่อนคนเมืองด้วยกัน ส่วนชาวบ้านอีกประปรายบางครัวเรือนที่ไม่ตกหล่น เพราะรู้ข่าวโดยบังเอิญ เช่น ลงไปโรงพยาบาลและเห็นชาวบ้านมุงกันที่ สนง.เกษตรอำเภอ (อยู่ติด รพ.) เลยไปดู จึงได้ทราบข่าววันสุดท้าย หรือบางคนลงไปตลาด เห็นคนไปเบิกเงินประกัน ที่ ธกส. จึงเพิ่งทราบข่าว เป็นต้น

เหล่านี้ คงเป็นอีกสาเหตุของปัญหาการจดทะเบียน ที่ทำให้นโยบายไม่มาถึงเกษตรกรอย่างทั่วถึงนะคะ

ถ้าอาจารย์จะเสนอได้ ก็อยากให้หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนปีนี้ ยังไม่ตัดสิทธิ์คนที่ตกหล่นปีที่แล้วโดยไม่ตั้งใจ อย่างชาวบ้านตำบลวาวี กลุ่มนี้ค่ะ !!

ส่วนคนที่ยังไม่มีสิทธิในความเป็นพลเมืองไทย ก็ไม่แปลกถ้าเขาจะยังไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการนี้จากรัฐ เพราะไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่จะละเมิดไม่ได้ คงต้องหาวิธีอื่นอย่างที่อาจารย์แนะนำค่ะ อาจารย์อยากจะลงมาเยี่ยมสักครั้งไหมคะ ??

คุณ pilgrim คะ

เรื่องประกันรายได้ ถ้ามีโอกาสจะแจ้งผู้เกี่ยวข้องให้ทราบค่ะ

ส่วนเรื่องไปลงพื้นที่นั้น สนใจค่ะ ไว้มีโอกาสเหมาะอย่าลืมส่งข่าวนะคะ

ที่ตอบ blog ช้า ส่วนหนึ่งเพราะระบบใหม่ให้ใส่รหัสสุ่มซึ่งมองยากมาก (สายตาไม่ค่อยดี) บางครั้งเขียนแล้วส่งไม่ได้ก็เลยเลิก ครั้งนี้ ก็ต้องลอง 3 ครั้งกว่าจะได้รหัสที่เราเห็นชัดเจน คงต้องหาทางบอกเจ้าของบล็อกเสียหน่อยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ อ.ปัท

ยังอยากเชิญอาจารย์ลงมาในพื้นที่เรามากๆ ค่ะ เชื่อว่าถ้าอาจารย์ได้เห็นชีวิต ความเป็นอยู่ และปัญหาของชาวบ้านแล้ว อาจารย์น่าจะช่วยให้คำแนะนำเราได้อีกมากมายเลยค่ะ นี่ขนาดเขียนเล่าปัญหาคร่าวๆ แบบตกๆ หล่นๆ ให้ฟังเป็นระยะ อาจารย์ยังแนะนำมาทั้งกำลังใจและความรู้อย่างสม่ำเสมอขนาดนี้เลยค่ะ

ไม่ได้เขียนให้อาจารย์ดีใจนะคะ แต่บอกจริงๆ ว่า พอเจอปัญหาชาวบ้านหนักๆ คิดไม่ออก ไม่รู้จะทำอย่างไร จะคิดถึงอาจารย์ทุกทีเลยค่ะ :D

เห็นด้วยกับอาจารย์มากๆ เลยค่ะเรื่อง "รหัสสุ่ม" เจอปัญหาเหมือนกันเลยค่ะ !!

ผมว่านโยบายนี้ได้ผลในแง่ที่ถ้าประเทศไทย ยังคงอยากให้มีอาชีพชาวนา คงอยู่คู่สังคมต่อไปครับ

รัฐต้องช่วยจ่ายเงินอุดหนุน ลูกหลานชาวนา ไม่อยากทำนาต่อนะครับ มันเหนื่อยและจนครับ

ปัญหาพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว รัฐคงต้องหาวิธีจัดการกันต่อ ในทางปฏิบัติผมก็ำไม่แน่ใจว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท