ประกันรายได้เกษตรกร (1)


การประกันรายได้เกษตรกร เป็นวิธีการหนึ่งในหลายๆวิธีการที่รัฐบาลแทรกแซงตลาดเพื่อให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น

ได้รับคำถามจากคุณ pilgrim และเพื่อน NGOs เห็นว่าต้องอธิบายยาว จึงขอมาเปิดบันทึกของตัวเอง เผื่อว่าคนอื่นๆจะได้อ่านบ้าง.. (หลังจากที่เงียบหายไปจาก blog G2K หลายเดือน)

------------

ทำไมต้องเปลี่ยนเป็น "ประกันรายได้เกษตรกร"

การประกันรายได้เกษตรกร  เป็นวิธีการหนึ่งในหลายๆวิธีการที่รัฐบาลแทรกแซงตลาดเพื่อให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น

เดิม รัฐบาลใช้วิธี "รับจำนำ" ซึ่งเหมาะจะใช้กับสินค้าที่ต้นฤดูราคาถูกเพราะของมาก ปลายฤดูราคาแพงเพราะของน้อย  เช่น   ข้าวต้นฤดูราคา 8000 บาท ปลายฤดูราคา 10000 บาท  ปกติ ชาวนาจะรีบขายข้าวเมื่อผลผลิตออก ทำให้ได้รับราคาต่ำ  แต่ด้วยวิธีการรับจำนำ  รัฐบาลจะรับจำนำข้าวจากชาวนาในราคากลางๆ เช่น 9000 บาท 

ต้นฤดู  เกษตรกรไม่ขายข้าวให้พ่อค้า 8000 บาท แต่จะนำข้าวมาฝาก (จำนำ)ไว้ที่รัฐบาลแล้วรับเงินไปในราคาจำนำ 9000 บาท  จนปลายฤดูเมื่อราคาข้าวเป็น 10000 บาท ชาวนาก็มาไถ่ถอนข้าวเอาเงินคืนรัฐบาล 9000 บาท แต่ขายข้าวในตลาด ได้ 10000 บาท   โดยสรุป วิธีจำนำ เกษตรกรก็ขายได้ราคา 10000 บาท

วิธีนี้ แท้จริงแล้วดี เพราะไม่บิดเบือนราคาตลาด  แต่ต้องใช้งบประมาณมากในการเก็บรักษาข้าว นอกจากนี้ ช่วงที่จำนำข้าวไว้ในโกดัง  เกิดปัญหาแอบเอาข้าวดีไปขาย เอาข้าวไม่ดีใส่เข้ามาแทน  หรือบางที ข้าวก็หายไปจากโกดัง  เป็นปัญหาทุจริตที่มักเป็นข่าว

ยิ่งช่วงหลังๆรัฐบาลคุณทักษิณตั้งราคาสูงเกินที่ควร เช่น 12000 บาท ซึ่งราคาตลาดไม่มีวันสูงเท่า  ชาวนาก็เลยไม่มาไถ่ถอนข้าวคืน  เก็บข้าวไว้กับรัฐบาลอยู่อย่างนั้น ภาระการสต็อกและการโกงเกิดขึ้นมโหฬาร   แถมเวลาระบายข้าวออกจากโกดัง ก็จำเป็นต้องขายต่ำกว่าราคาที่รับซื้อมาอย่างมาก  หากไม่ขาย มีสต๊อกเก็บไว้มาก  ต่างประเทศก็รู้ไต๋ว่าประเทศไทยมีข้าวเหลืออยู่เยอะ ก็กดราคารับซื้อได้   ตลาดข้าวจึงปั่นป่วนทั้งระบบ   ประโยชน์ที่ตกแก่เกษตรกรไม่มาก แต่งบส่วนใหญ่ต้องใช้กับการสต็อกและการรั่วไหล

เพื่อลดภาระต้นทุนการสต็อกข้าว  ลดช่องทางการโกง และลดภาวะตลาดข้าวปั่นปวน  รัฐบาลปัจจุบันจึงเลิกการจำนำข้าว   หาวิธีใหม่ที่รัฐไม่ต้องมีภาระการเก็บสต๊อกข้าว และให้ประโยชน์ถึงเกษตรกรโดยตรง ผ่านมือเจ้าหน้าที่ให้น้อยที่สุด

แต่อย่างไรเสีย การยื่นมือของรัฐเข้าไปทำงานแทนมือที่มองไม่เห็น (ตลาด) ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนที่คนทั่วไปพูดๆกันหรือรู้สึกกันหรอกนะ เพราะเกิดผลกระทบข้างเคียงตามมาอีกมากมาย  รัฐจึงจำเป็นต้องเลือกเครื่องมือที่ให้บรรลุเป้าหมายเหมือนกันแต่มีผลกระทบข้างเคียงน้อยที่สุด  ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์เสนอเครื่องมือ "การประกันรายได้" เพราะคิดว่า ผลข้างเคียงน่าจะน้อยกว่าวิธีอื่นๆ

(ยังมีต่อ เรื่องการประกันรายได้เป็นอย่างไร)

 

หมายเลขบันทึก: 385041เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2010 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 00:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ อ.ปัท

ได้เข้าไปตอบอาจารย์ในบันทึกต่อไปของอาจารย์ และในบันทึกล่าสุดในบล็อกของ pilgrim แล้วนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท