Nonkhoon
ทิพย์ประมวล เหมียว จันใด

TB number one


แพ้ยา...ยาตัวไหน?

         เมื่อเอ่ยถึง “เภสัชกร” ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีบทบาทในงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค งานบริหารเวชภัณฑ์ แต่ถึงอย่างไรหน้าที่หลักก็ยังเป็นการจัดจ่ายยาและให้คำแนะนำถึงวิธีการใช้ยา และยังจะต้องดูแลให้ครอบคลุมถึงเรื่องอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาด้วย

         ฉันเป็นเภสัชกรคนหนึ่งที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งต้องปฏิบัติงานหลาย ๆ ด้านเช่นกัน ทั้งงานบริหารเวชภัณฑ์ งานผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในก็ไม่ได้แบ่งแยกชัดเจน รวมทั้งการมีโอกาสดูแลผู้ป่วยในคลินิก HIV และวัณโรค แต่สถานที่การทำงานของฉันไม่ได้จำกัดไว้เพียงห้องจ่ายยา   บางครั้งห้องจ่ายยาของฉันก็อยู่ที่เตียงผู้ป่วย   บางครั้งก็เป็นที่สถานีอนามัย   บางครั้งก็อยู่ที่ม้านั่งหน้าห้องเวชปฏิบัติ   ซึ่งเป็นพื้นที่ริมทางเดิน โล่งๆ เย็นสบาย อากาศถ่ายเทสะดวก   ฉันปฏิบัติงานเช่นนี้  ทำงานแบบนี้  เหมือนเข็มนาฬิกาที่หมุนวนไปมาเหมือนเดิมในแต่ละวัน

         เช้าวันหนึ่งฉันต้องมาปฏิบัติเวรนอกเวลา แล้วก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เป็นเจ้าหน้าที่จากตึกผู้ป่วยแจ้งถึงอาการของผู้ป่วยซึ่งสงสัยว่าอาจจะแพ้ยา เมื่อทราบดังนั้นฉันจึงทำการสืบค้นประวัติการใช้ยาก่อนเข้าไปพบผู้ป่วยที่หอผู้ป่วยใน   ก่อนไป   ฉันไม่ลืมที่จะหยิบหน้ากากปิดจมูกไปใช้ด้วย เนื่องจากเป็นผู้ป่วยวัณโรค เสมหะบวกเพิ่งเริ่มทานยา CAT I ได้ประมาณ 2 สัปดาห์   เมื่อฉันไปถึง   ฉันมองเห็นผู้ป่วยหญิงตัวผอม ตัดผมสั้น สวมชุดของโรงพยาบาล   สวมผ้าปิดจมูกนั่งอยู่ที่เตียง   ข้างๆมีชายหนุ่มนั่งอยู่ข้างๆ  น่าจะเป็นลูกชายนะ

“ สวัสดี ขอแนะนำตัวเองก่อนนะค่ะ  ดิฉันเป็นเภสัชกร  เป็นไงบ้างค่ะ” หลังจากที่ฉันถาม  เธอก็เล่าอาการของตัวเองไปเรื่อย ๆ   ฉันสังเกตเห็นผื่นแดงนูน เป็นปื้น ลามติดๆกันตามแขน ขา ลำตัว  เธอใช้มือขวาเกาบริเวณแขนซ้ายไปมาท่าทางน่าจะคัน  โชคดีที่เล็บถูกตัดจนสั้นไม่งั้นคงมีแผลจากการเกาเพิ่มอีกแน่

“ คันแฮง คุณหมอ มันสิเซาบ่” เธอถามด้วยสีหน้าที่กังวล โดยมีลูกชายอายุประมาณ  7  ขวบ  นั่งฟังอยู่ใกล้ๆ ดิฉันมองที่ผื่นที่แขนเธออีกครั้ง ประเมินตามข้อมูลและอาการแล้ว ก็น่าจะใช่ผื่นแพ้ยา ฉันจึงอธิบายถึงสาเหตุที่อาจจะเป็นไปได้ และการรักษา หลังจากนั้นดิฉันได้ปรึกษาแพทย์และแพทย์ได้พิจารณาหยุดยารักษาวัณโรคทั้งหมด และให้การรักษาตามอาการ 2 วันต่อมา แพทย์ก็อนุญาตให้เธอกลับบ้านได้ โดยลูกชายเธอได้ไปรับยาที่ห้องยา  ฉันได้อธิบายเรื่องอาการและการรักษาอีกครั้ง พร้อมกับการนัดตรวจครั้งต่อไป 1 สัปดาห์ผ่านไป เธอกลับมาตามนัดและหายเป็นปกติโดยไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ แพทย์จึงพิจารณา re-challenge ยา โดยเริ่มจาก Ethambutol          Rifampicin ฉันอธิบายถึงแผนการรักษาและวิธีการทานยาให้เธอเข้าใจ โดยมีลูกชายช่วยฟังอีกคน 1 สัปดาห์ต่อมา เธอกลับมาตามนัด   ฉันทักทายเธอด้วยรอยยิ้ม และดูเธอสดชื่นขึ้นและไม่แสดงอาการแพ้ใดๆ  แพทย์จึงเริ่มให้ยาอีก 2 ตัว คือ Isoniazid       Pyrazinamide ตอนนี้เราคิดว่าคนไข้น่าจะแพ้ Isonizid แน่เลยเพราะอุบัดการมากกว่า จึงให้ยาไปและนัดเพียง 4 วัน ฉันอธิบายให้ผู้ป่วยและลูกชายเข้าใจถึงขั้นตอนการักษาอีกครั้ง วันนี้ดูสีหน้าเธอไม่ได้กังวลใดๆและพร้อมจะรักษา หลังจากนั้น 4 วันเธอและลูกชายก็กลับมาโดยที่ไม่มีอาการแพ้ใดๆ แพทย์จึงเริ่มให้ยาเต็มสูตรอีกครั้ง แต่ฉันก็ไม่ลืมที่จะแนะนำเธอให้เฝ้าสังเกตความผิดปกติ   ฉันรู้สึกดีใจที่เธอหายเป็นปกติและกลับมาใช้ยารักษาต่อได้ เหตุการณ์นี้ทำให้ฉันได้รู้ว่ารูปแบบการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาวัณโรค ที่คิดว่ารุนแรงก็ยังไม่ควรด่วนสรุปและรีบเปลี่ยนสูตรยา  นอกจากนี้การอธิบายถึงกระบวนการรักษาให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ  และการปฏิบัติตัวหากเกิดปัญหาจากการใช้ยาก็จะทำให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือ รวมถึงหากมีญาติที่เข้าใจและคอยดูแลเอาใจใส่จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรักษาวัณโรคที่น่าจะรักษายากให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น

 

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 384448เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2010 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับท่านเภสัช

คันแฮง คุณหมอ มันสิเซาบ่

ถ้าเป็นบ้านผม เขาพูด .."คันจ้าน หมอเหอ ไม่โร้ตอได มันจิหาย"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท