จุดไฟ เติมผัน เติมพลังคนทำงาน กับเสวนาพาทีคนรักดี we project ครั้งที่ ๑


มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ย่ำยีคนที่ล้มเหลว แต่ไม่ได้ช่วยปิดบังความจริง โดยนำเสนอความจริงที่นุ่มนวลที่สุด (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ)

 

 

“..พ้นเส้นขอบฟ้า เราคิดหวังอะไรจากที่นั่น

สิ่งที่คาดหวังจากสายฝนเพิ่งจากหายไป .....แต่ความฝันของเรากำลังจะมา…”

                        (สมชาติ ภาระสุวรรณ:ผช.ผอ.)

....ประโยคส่งท้ายของการเปิดวงเสวนาที่เติมพลังฝันให้คนทำงาน ในครั้งแรกของเวทีเสวนาพาทีคนรักดี We Project เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่ผู้คนไม่มากนักในห้องประชุมใหญ่แต่กลับอบอุ่นไปด้วยมวลมิตรสหายที่กระหายความรู้และพลังใจที่จะเติมฝัน 

 

ความชินชากับการวางร่างกายบนเก้าอี้ สัมผัสกับโต๊ะทำงานและเอกสาร สายตาจับจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ กลายเป็นความคุ้นชินของชีวิตการทำงาน ในตึกใหญ่ที่เปิดรับผู้คน แต่...กับห่างไกลจินตนาการไปทุกที ไม่ทันท่วงทีกับเรื่องราวใหม่ๆที่เข้ามา มีเสียงคำถามจากความอ้างว้างเจือปน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ก็เป็นเช่นนั้น มีชีวิตแต่บางมุมขาดชีวา น้อยครั้งกับการร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อเติมพลังฝัน พลังคนทำงาน

 

แม้สถานที่ในการพาทีในครั้งแรกนี้ จะไม่ใช่ลานดอกปีบดังที่หวัง..หวังไว้ว่ามันจะเป็นลานที่เสมือนรำลึกความทรงจำเช่นวัยเด็กที่คอยรับฟังเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่จากลานดอกปีบ ที่นี่..ก็มีลานดอกปีบเช่นกัน เรื่องเล่าเล็กๆถึงที่มาของลานดอกปีบจากคุณสมชาติ ภาระสุวรรณ ที่สื่อความหมายของการให้ความสำคัญในการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนของคนทำงาน พื้นที่ทางสังคม ที่เกิดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ณ ตึกใหญ่แห่งนี้

 

แขกรับเชิญพิเศษในการเสวนาครั้งแรก ได้รับเกียรติจากคุณสุทธิพงษ์  ธรรมวุฒิ หรือ พี่เช็ค ที่เรารู้จักกันผ่านรายการคนค้นคน หากจะรู้จักกันอีกสักหน่อยภายใต้บุคลิกที่สุขุม สายตามุ่งมั่นแต่ซ้อนด้วยความอ่อนโยน คือนักกีฬาฟุตบอล คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของรายการ แต่ครั้งนี้พี่เช็คได้มาร่วมแลกเปลี่ยนกับคนทำงานเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตการทำงานในสถานการณ์ของภาวะที่มีการแข่งขันกันสูง การมองชีวิตให้มีชีวาอย่างมีความสุขทั้งปัจจุบันและอนาคต ..ซึ่งมุมมองจากพี่เช็คเป็นมุมมองที่น่าสนใจที่มองจากสายตาของคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านการสัมผัสสังคมในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งการเป็นผู้บริหารองค์กรของบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด

 

มุมมองความสุขการทำงานบนความอ้างว้างในตึกใหญ่ : ประสบการณ์การบริหารคนในองค์กรสู่ความเข้าใจความเป็นมนุษย์

         

          ตึกแห่งนี้ใหญ่แต่..อ้างว้าง คิดอย่างไรกับประโยคนี้? เป็นคำถามแรกที่พลากร วงค์กองแก้ว(ผช.ผอ.) ผู้นำพาทีได้เริ่มต้นขึ้น จากข้อสงสัยของคนทำงานและสื่อออกมาผ่านการประชาสัมพันธ์งานครั้งนี้ที่มีนัยยะที่รอคำตอบและการเติมเต็ม

         

สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ผมเคยฟังพระไพสาล วิสาโล ท่านกล่าวว่า คนที่คิดถึงตัวเองมาก ก็จะอ้างว้างมาก คิดถึงตัวเองน้อย ทำเพื่อคนอื่นมาก ลดความเห็นแก่ตัวมาก จะมีความรู้สึกอิ่มและมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น คนที่เข้ามาทำงานในพอช. อย่างน้อยก็เป็นคนที่ปรารถนาอะไรบางอย่างมีมากกว่าตนเอง ซึ่งต่างจากบริษัทผมที่มีคนร้อยพ่อพันแม่ มีทั้งคนไม่มีความคิดเชิงสังคม ไม่มีความคิดเชิงโทรทัศน์เลยก็มี ไม่มีความคิดของตนเองเลยก็มี ซึ่งในการทำงานของคนที่คิดต่าง เป็นเรื่องของการเปิดกะโหลกมากที่สุด แต่ยังมีสิ่งที่ดีบนความต่างที่เกิดขึ้นในบริษัท

 

การมองความต่างผ่านทีมงานรายการสามารถทำให้เราเห็นชีวิตของคนอีกมากมาย พร้อมกับความเห็นความสำเร็จในงานของตัวเอง เช่น ทีมหนึ่งทำงานบนเรื่องราวของวัตถุ สิ่งของ ที่เป็นเรื่องราวของความสำเร็จ ได้รับความนิยมชื่นชมมากขึ้น กับอีกทีมที่ทำงานกับชีวิตของมนุษย์ ทำงานกับความเข้าใจชีวิตคนอื่นบางสิ่งบางอย่างในการมองทำให้เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ความนิยมชื่นชอบกลับลดลง แต่การทำงานกับชีวิตคนคือภาคภูมิใจ ไม่ว่าทีมทำงานสองทีมที่ทำงานต่างกันก็ทำให้เห็นโลกในสองมุมที่เกิดขึ้นจริง

 

ก่อนนี้ผมเคยเหงา ตอนนี้ผมไม่เหงา แต่เคยร้องไห้ให้กับความทุกข์ของคนอื่น ที่ได้ไปสัมผัส ไม่เพียงชีวิตของคนอื่นที่เข้ามาร่วมรายงกาน แต่ผู้ร่วมงานก็เป็นคนอื่นที่ผมต้องทุกข์ใจในการค้นหาหนทางเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวได้มากขึ้น เช่น การได้รับทราบข่าวการลาออกของคนทำงาน ทำให้คิดและมองปัญหาการแก้ปัญหาระยะยาวได้มากขึ้น ปัญหาที่มีคือ ปัญหาความเป็นมนุษย์ ในกระบวนการแก้ปัญหาต้องกลับเข้าไปสู่เหตุปัจจัยจากที่มาอย่างแท้จริง ดังนั้น ต้องกลับมาสู่ จิตใจของตัวเรา เพียงคิดถึงตัวเราให้น้อยลง คิดถึงผู้อื่นให้มากขึ้น ทำให้ผู้อื่นพบกับสิ่งที่ต้องการ คือ ความสุข เราก็ได้พบเช่นกัน

 การเลือกคนทำงานในทีม ผมจะให้สมาชิกในทีมนั้นๆ เป็นคนเลือก / แต่หากเป็นตำแหน่งอื่นๆ ก็จะมีการเช็คข้อมูล การเลือกคนทำงานเข้ามาในองค์กร ผมอยากได้คนเก่ง ที่ดี ที่ใช่ แต่สิ่งที่คิดมากกว่านั้นคือ คนที่ไม่ดี ไม่เก่ง ไม่ใช่ คนเหล่านั้นจะอยู่ที่ไหน ดังนั้น ถ้าเราเสียสละให้ผู้คนหนึ่งมีโอกาสได้พัฒนาตนมันมีราคา(คุณค่า)ของมัน และการรับคนเข้ามา ทุกคนในบริษัทต้องร่วมรับปัญหาหรือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย สิ่งสำคัญคือ การให้พนักงานในองค์กรรู้ว่าเขาต้องให้อะไรกับองค์กร ให้กับหน้าที่ สิ่งที่มีต่อกันคือ การเคารพซึ่งกันและกัน / รวมถึงเชิงบริหารจัดการต้องแก้ปัญหาที่ต้องดูถึงจิตใจ เพราะเราคิดถึงความเป็นคน 

 

 

เครื่องมือในการจัดการกับความรู้สึกสับสนในการทำงาน : เมื่อเรารู้ว่าเรามีคุณค่าเราจะพบความสุข ยิ่งทำให้เกิดมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะพบการเปลี่ยนแปลง

           

ทุกคนต่างพบความสับสนในการทำงาน มันประกอบด้วยสาเหตุหลายประการ จากพลังความฝัน ไฟในการทำงานที่มีอยู่ลดน้อยลงเพราะความสับสน ขาดความเชื่อมั่น อาการท้อถอยคือความรู้สึกที่ตามมาติดๆกับคนทำงาน จะมีวิธีการอย่างไรในการจัดการกับความรู้สึกนั้นให้หายไป อย่างน้อยเพื่อเติมฝัน เติมพลังให้กับคนทำงานเอง พลากร วงค์กองแก้ว(ผช.ผอ.) โยงต่อถึงการหาวิธีการจัดการความรู้สึกให้กับคนทำงานในองค์กรหลังจากจบคำถามแรก

 

สุทธิพงษ์  ธรรมวุฒิ  : สมัยที่ผมทำคนค้นคนเข้าสู่ปีที่ ๔ รายการเป็นที่นิยมมีชื่อเสียง มีคนต้องการเข้ามาร่วมงานกับผม เดือนๆหนึ่งนับร้อยคน คนที่เข้ามาจนถึงวันนี้ผมพบว่า คนที่เดินเข้ามาด้วยความรู้สึกแบบนั้นแทบจะไม่เหลือ คนที่อยู่คือคนที่ไม่ได้คาดหวัง คนที่เดินเข้ามาด้วยแรงปรารถนา ซึ่งนั้นเป็นการเดินมาพร้อมกับความเป็นจริง ที่คนเหล่านั้นเห็นมิติอื่นๆที่นอกจากหน้าจอ เมื่อคนเดินเข้ามาโดยใช้ตัวเองเป็นที่ตั้งก็ไม่ใช่ความเป็นจริงที่ควรเป็นรากสำคัญ

 

ครั้งหนึ่งมีคนแนะนำให้ผมอ่านหนังสือชื่อความลับ ๕ ข้อที่ต้องค้นพบก่อนตาย ในนั้นพูดถึงการเรียนรู้ของคนเรา ๓ ทาง

ทางที่ ๑ ใช้สติปัญญา การวิเคราะห์ ดุลพินิจ วิธีนี้เป็นวิธีที่สบายแต่เกิดขึ้นได้ยาก

ทางที่ ๒ การนำเอาตัวเองพบประสบการณ์ แล้วค่อยๆเรียนรู้ ส่วนใหญ่เจอแต่ต้องใช้

เวลาและต้องแลกกับความเจ็บปวด

ทางที่ ๓ การเลียนแบบผู้อื่น จากที่เค้าค้นพบมาแล้ว

 

ในชีวิตของคนเราที่สามารถค้นหาความต้องการที่แท้จริงเจอก็จะพบความสุข เพราะหนังสือเล่มดังกล่าวไปสัมภาษณ์คนที่เป็นกรณีศึกษา ส่วนชีวิตผม ผมผ่านเวลาที่สับสน หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็กลับมามองตัวเอง ว่าถ้าผมได้พบสิ่งที่เป็นธาตุแท้ของตัวเอง คือ การมีความสุขจากการทำเพื่อผู้อื่น เพราะการทำให้ทุกวันนี้ ทั้งงาน ครอบครัว สังคม คือ สิ่งนี้ มันอยู่กับตัวผมอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มันอยู่ในความสามารถแต่มันก็ยังไม่ได้อยู่ในจิตวิญญาณ ผมมีความสุขเมื่อได้ทำเพื่อคนอื่น การทำบริษัททีวีบูรพาทำให้ค้นพบความปรารถนาสูงสุด หรือไม่ว่าผมจะเป็นใครแต่ถ้าค้นพบคำตอบสุดท้ายของชีวิตแล้วตั้งแต่วันนี้ เราจะทำอะไรที่ไหนอย่างไรเราก็จะไม่สับสนเพราะเราได้รู้ว่าเรามีคุณค่า

 

สิ่งหนึ่งที่เชื่อมาอยู่เสมอคือ มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ หากเราเปลี่ยนแปลงมันยิ่งทำได้มากขึ้น

 

เมื่อเดือนก่อน มีบริษัทยักษ์ใหญ่สองบริษัทเรียนผมเข้าไปพบเพื่อให้ทำงานประชาสัมพันธ์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด ผมฟังแล้วยิ่งคำถามไปว่า จริงใจหรือเปล่า?  ทุกคนในที่ประชุมอึ้ง! แต่มีคนหนึ่งตอบว่าจริงใจ ผมตอบกลับไปว่าผมเชื่อ และเมื่อผมเชื่อก็จะทำให้ แต่คำนึงถึงสิ่งที่ตอบสนองว่าตอบสนองของบริษัทลูกค้าหรือตอบสนองการแก้ปัญหาหรือไม่ สิ่งที่ผมอาสาทำเพราะผมมีความจริงใจ ที่อยากเห็นสิ่งแวดล้อม อยากเห็นอุตสาหกรรมที่อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่ดี จากนั้น ผมขอรู้ความจริงเรื่องนี้โดยขอไปคุยกับคนจำนวนหนึ่ง แล้วเชื่อมต่อกับสื่อโทรทัศน์สถานีหนึ่ง จนสุดท้ายความเป็นจริง ผมไม่ใช่ตัวละครในการแก้ไขปัญหาเพียงแต่ทุกคนต้องการบอกคนอื่นว่าทำอะไร บนความเชื่อและความจริง ที่ผมเชื่อว่า มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ย่ำยีคนที่ล้มเหลว แต่ไม่ได้ช่วยปิดบังความจริง โดยนำเสนอความจริงที่นุ่มนวลที่สุด

                                        

การทำงานของพอช. ที่ทำงานกับชุมชน เป็นหน่วยงานที่เชื่อมระหว่างฐานรากและระดับนโยบาย สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆได้ เพื่อช่วยเหลือชุมชน แต่ต้องถึงว่าได้ช่วยคนอื่นอย่างไร? มันไม่ได้ผูกขาดการช่วยอยู่ที่ตัวเรา แต่มันกระจายไปเยอะมาก เพราะมันเป็นการเชื่อมโยง การสื่อถึงกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  สิ่งที่สำคัญคือ การหนุน การเกื้อกูล ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์

 

การทำงานสื่ออย่างผมสิ่งที่ผมกำลังทำคือ โครงการที่ร่วมแก้ปัญหาชาวนา เรื่องข้าวมุ่งการแก้ปัญหาชาวนาคงไม่ได้มุ่งกลุ่มเป้าหมายแค่ชาวนาแต่คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายกลุ่มอื่นๆได้  เราต้องมองถึงความเชื่อมโยงอย่างไม่ต้องตั้งเป้าถึงกำไรขาดทุน

 

ในทีวีบูรพา ผมเป็นแม่ทัพ ท้อได้แต่ห้ามถอย ต้องคิดถึงสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ และสิ่งที่เราคิดถึงสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ เราก็จะไม่สามารถถอยได้ เพราะเป็นความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ได้

 จากประสบการณ์ของตัวเองจากการไปถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี เป็นการพาตัวเองไปพบประสบการณ์ สัมผัสกับชีวิตมนุษย์ ทำให้เห็นว่าคนเราจะสามารถพาตัวเองพาไปพบประสบการณ์ แล้วพาตัวเองเรียนรู้กับประสบการณ์นั้นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ปัจจุบันทำให้ผมเอาประสบการณ์มาสอนตัวเองและถ่ายทอดถึงลูก

 

 วิธีการถ่ายทอดหรือวิธีการสร้างบรรยากาศในการเข้าถึงคุณค่าและความภาคภูมิใจของการทำงาน : ผ่านการมองความเป็นมนุษย์อย่างเข้าใจ

 การแลกเปลี่ยนเรื่องคุณค่า บนความรู้สึกอ้างว้างในที่ทำงานได้เกิดขึ้นเพื่อเร่งให้คนทำงานเห็นคุณค่าและความภาคภูมิใจในการทำงาน นิติธร ทองธีรกุล ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ยิงคำถามต่อเพื่อร่วมค้นหาคำตอบในวิธีการถ่ายทอด/การสร้างบรรยากาศในการเข้าถึงคุณค่าและความภาคภูมิใจ

 สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : เรื่องชีวิตกับการงาน ตอนนี้ผมกำลังทำออฟฟิศใหม่ ก่อนสร้างผมถามพนักงานร้อยกว่าคน  ทำให้เห็นความต้องการเกี่ยวกับการรองรับชีวิต ทำให้เห็นความต้องการของชีวิตคนที่มีความแตกต่าง แต่การอยู่ร่วมกัน หากเราต่างตัวใครตัวมันไม่พยายามเชื่อมก็จะยิ่งห่าง ดังนั้นผมจึงพยายามออกแบบให้มีพื้นที่ความสัมพันธ์ เช่น ห้องกีฬา สถานที่เลี้ยงเด็ก เป็นต้น เพราะความสนใจต่างกันมากกว่าเป็นสถานที่ทำงานที่หรูหรา

 ความภาคภูมิใจในการทำงานจะมาจากการที่เค้าสัมผัสว่าตัวของเค้าอยู่ในงานนั้นๆ ด้วย ฉะนั้นจากทีมเล็กๆ จะเห็นสิ่งที่ขาด สิ่งที่เชื่อมโยง ดังนั้นจะเห็นตัวตนคนทำงาน งานที่ผมทำจะเห็นรสนิยมของคน จะเห็นอีโก้ ดังนั้นเราจะพยายามทำให้เห็นคุณค่าเชิงตอบรับตามความเหมาะสมของบทบาทนั้นๆ แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกคนในทีมประสบความสำเร็จ  ต้องทำให้พนักงานเห็นถึงผล ถึงที่มาที่ไป สิ่งที่แลกเปลี่ยนที่ได้จากการทำงานคืออะไร สิ่งที่ได้มากกว่าตัวเองคือการเพิ่มศักยภาพ การแข่งกับตัวเอง แข่งกับเวลา ตั้งเป้าตัวเอง หลักของผมคือ การมองความเป็นมนุษย์อย่างเข้าใจ

 

“..การกำจัดความอ้างว้าง ทางเลือกหนึ่งคือ การทำเพื่อผู้อื่น...”

 

สุทธิพงษ์  ธรรมวุฒิ : เคยมีคนเอางานหนึ่งมาให้ผมทำแล้วได้เงินมากแต่ผมไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นเลย ในความหมายคือ การได้เงินจากการทำอะไรบางอย่าง? แล้วได้เงิน ผมไม่ทำ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ และไม่มีความสุขจากสิ่งนั้น ดังนั้น การทำเพื่อผู้อื่น คือ การออกไปไกลจากความเห็นแก่ตัว จากความต้องการของตัวเอง  ผู้อื่นในความหมายนี้ คือ ลูก ภรรยา คนรอบข้าง  เป็นการนึกถึงเขามากกว่า สิ่งที่พบคือ มันไม่ได้มีปัญหาอะไรตามมา  ดังนั้นมันเป็นมิติที่ไม่ใช่เป็นความต้องการของตัวเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 ส่วนวิธีการให้ทุกคนเห็นความสำคัญของงาน คือ การแบ่งบทบาทหน้าที่ สร้างการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนพูดคุย

........................................................................

 

การแลกเปลี่ยนในวงเสวนาพาทีครั้งนี้แม้เป็นครั้งแรก แต่กลับสร้างความหึกเหิมให้กับคนทำงานในพอช.ได้ไม่น้อย ร่วมทั้งเป็นครั้งแรกที่คนทำงานและผู้บริหารได้ร่วมวงเสวนาพาทีร่วมกันกับคนทำงานสังคมแบบพี่เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ

“..ครั้งนี้อยากมาฟังความเห็นของคนทำงานสังคม การมาฟังได้มาตอกย้ำ จุดไฟ เติมฝัน ที่ได้มาสะท้อนจากสิ่งที่ทำ จากตัวตนที่เป็น สิ่งที่ได้คือ การหาความสุขของตัวเองนั่นคือ การค้นตัวเอง หากค้นพบได้ก็จะดีความสุขในการทำงาน กับชีวิตหากเป็นหนึ่งเดียวกันได้จะเป็นความสุขที่ยั่งยืน..”

เสียงสรุปส่งท้ายของคุณสิน สื่อสวน(ผช.ผอ.)

 

ภิชา(นามปากกา)

หมายเลขบันทึก: 384279เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2010 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"มีชีวิตแต่บางมุมขาดชีวา" ผมชอบประโยคนี้ เพราะปัจจุบันหลายองค์กรน่าจะเป็นแบบนี้ "ชินชากับการวางร่างกายบนเก้าอี้ สัมผัสกับโต๊ะทำงานและเอกสาร สายตาจับจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ กลายเป็นความคุ้นชินของชีวิตการทำงาน ในตึกใหญ่ที่เปิดรับผู้คน แต่...กับห่างไกลจินตนาการ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท