วิถีชีวิตคนทอผ้าขิด...บ้านโนนเสลา


  
            การทำงานเป็นหมออนามัยแล้ว นอกจากจะทำได้งานที่หลากหลายกับสุขภาพต่อประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่า เป็นงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค  รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสภาพ  และสิ่งที่สำคัญได้เรียนรู้บริบทและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย
  
           ทุก ๆ เช้า ตื่นมา ผมรู้สึกดีล่วงหน้าว่า แต่ละวันจะได้เจออะไร อย่างน้อย ก็ต้องเกิดการเรียนรู้ขึ้นในชีวิตของผม
  
           ขอบันทึกไว้ในห้วงความทรงจำ และการเรียนรู้ที่สำคัญในชีวิต  กับภาควิถีชีวิตคนทอผ้าขิด...บ้านโนนเสลา
 
 
แรงงานทอผ้า
บ้านโนนเสสลา ตำบลหนองตูม  อำเภอภูเขียว  จังหวัดชัยภูมิ
 
บริบทพื้นที่
 
          อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ  มีฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีที่ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านเมืองเก่า (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์) หลวงไกรสิงหนาทเป็นเจ้าเมืองปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรสิงหนาท พระยาไกรสิงหนาทผู้นี้ไม่มีบุตรสืบตระกูล จึงได้มีใบบอกแจ้งไปทางกรุงเทพมหานคร ให้ตั้งนายฤๅชาซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถดีให้เป็นเจ้าเมืองแทน โดยได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงไกรสิงหนาทและพระยาไกรสิงหนาทตามลำดับ  
          ระหว่างที่พระยาไกรสิงหนาทปกครองเมืองอยู่นั้น ปรากฏว่าเมืองภูเขียวมีพลเมืองเพิ่มขึ้น ที่ตั้งเมืองเริ่มคับแคบจึงได้ย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านกุดเชือก (บ้านยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเกษตรสมบูรณ์ปัจจุบัน)
 
            เมื่อพระยาไกรสิงหนาทชราภาพลงก็ได้มีใบบอกไปยังกรุงเทพมหานคร ให้ตั้งนายบุญมาบุตรชายคนโตของตนเป็นผู้ปกครองแทน ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาไกรสิงหนาทแทนบิดา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภักดีฤๅชัยจางวาง ซึ่งต่อมาได้ทำการย้ายเมืองจากบ้านกุดเชือกไปอยู่ที่  บ้านโนนเสลา (ปัจจุบันอยู่ในที่ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว) เพราะเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสม จึงนับว่า พื้นที่ศึกษามีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของอำเภอภูเขียว
 
           หมู่บ้านโนนทัน-โนนเสลา   หมู่ที่ 5, 10, 12   ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว  จังหวัดชัยภูมิ  เป็นหมู่บ้านทอผ้าขิดระดับประเทศ   การเดินทางจากตัว เมืองอำเภอภูเขียว  ไปตามเส้นทางสายอำเภอภูเขียว –  เกษตรสมบูรณ์  ระยะทาง  7  กิโลเมตร แล้วแยกซ้าย  ไปตามทางลาดยางสู่หมู่บ้านบ้านโนนทัน  อีก  3  กิโลเมตรจึงจะถึงหมู่บ้าน
 
 
งานจักสานเป็นภาพคุ้นตาของผู้ชาย
ข้างบนชาน มีคนสั่งจองไว้แล้วครับ
ไม่อยากคิดว่า ต่อไป 10 ปี จะมีงานจักสานอยู่อีกหรือเปล่า
ถ้าหมดยุคคุณตาแล้ว...จะเข้ายุคพลาสติกไหมครับ
 
            ผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์  ที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้าน คือ  ผ้าขิดทอมือที่มีคุณภาพ โดยการผลิตออกมาเป็น หมอนขิด เสื้อสตรี เสื้อบุรุษ กระโปร่ง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล ผ้าปูโต๊ะ กล่องใส่กระดาษชำระ กระเป๋า เป็นต้น ย่อมเป็นหลักประกันทั้งคุณภาพและการดำเนินงานของกลุ่มและชุมชนที่สะสมประสบการณ์ ในการทอผ้าและแปรรูปเชิงการค้ามากกว่า 20 ปีมาแล้ว
 
            จำนวนครัวเรือนรวมทั้ง 3 หมู่บ้านเท่ากับ  589  ครัวเรือน (246, 185 และ 158 ครัวเรือน ตามลำดับ)  จำนวนประชากร 2,877 คน  (1087, 971 และ 819 ครัวเรือน ตามลำดับ)  วัยแรงงาน 1,343 คน เฉลี่ยประชากรต่อครัวเรือนเท่ากับ 5 คน
 
            ระดับการศึกษาของ  ประชากรวัยแรงงานส่วนใหญ่คือ ป.4 และ ป.6 พื้นที่รวมของทั้ง 3 หมู่บ้านรวมเท่ากับ 6,420 ไร่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 5,980 ไร่  ซึ่งประกอบด้วย ที่นาเป็นส่วนใหญ่มีที่สาธารณะ145 ไร่ และที่ตั้งบ้านเรือน 295 ไร่
 
            สภาพแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรพอเพียงตลอดปี อาชีพภาคเกษตร ที่สำคัญคือ ทำนา และไร่อ้อย  ซึ่งมักประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงและราคาผลผลิตตกต่ำอยู่เสมอๆ    
 
            กิจกรรมนอกภาคเกษตรที่สำคัญคือการทอผ้า ซึ่งเคยเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนและได้รับการพัฒนาประมาณกว่า 20 ปีที่แล้วให้กลายเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่สำคัญของจังหวัด และประเทศ โดยแทบทุกครัวเรือน ทำกิจกรรมทอผ้าเกือบตลอดปี
 
            แต่ในปัจจุบันมีจำนวนลดลงบ้านตามภาวะเศรษฐกิจ โดยมีครัวเรือนที่ทอผ้าเกือบตลอดปีประมาณ 200 ครัวเรือน นับเป็นกิจกรรมนอกภาคเกษตร ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขยายการผลิตและการตลาดไปสู่คนอื่น ๆ ใน     
 
           รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากการทอผ้ามากกว่า 6,000 บาท ต่อปี ในปัจจุบันยังมีบางครัวเรือนที่มีรายได้จากการทอผ้ามากกว่า 10,000 บาท แต่มีจำนวนน้อยมาก ด้านครัวเรือนที่มี แรงงานอพยพ รวมทั้ง 3 หมู่บ้าน มีจำนวน 80 ครัวเรือน วัยแรงงานที่อพยพคิดเป็นร้อยละ 9.4  ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมดส่วนใหญ่ นิยมไปรับจ้างที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
 

 

ข้อมูลแรงงานนอกระบบที่เกี่ยวกับผ้าในหมู่บ้าน
 
 
 แรงงานเพศหญิงประมาณครึ่งต่อครึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับผ้า  
 บางคนก็เป็นอาชีพอย่างผู้สูงอายุ  
 แต่ส่วนใหญ่จะเลิกฤดูกาลการเกษตรมากกว่า หลังจากดำนา
 เกี่ยวข้าว หรือตัดอ้อย เสร็จแล้ว
 

 

“กี่”  เครื่องมือหลักในการทอผ้า  (นางน้อย, อายุ 48 ปี)
“กี่ เป็นเครื่องมือสำคัญในการทอผ้า   ส่วนใหญ่จะทำจากไม้ และรุ่นพ่อรุ่นแม่จะทำให้ และส่งต่อมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน กี่ของพี่ได้มาจากพ่อแม่เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน แต่กี่ในสมัยนี้ จะซื้อมา และทำเป็นโครงเหล็ก  ประมาณ 3 พันบาทต่อหลัง ตอนนี้พี่มีกี่ไม้จากแม่ให้มา 3 กี่ แล้ว  และใช้งานเป็นประจำทั้ง  3  หลัง”
 
แรงงานที่เกี่ยวกับผ้าในหมู่บ้าน (นางน้อย, อายุ 48 ปี)
“แรงงานส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง อายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุที่มีความสามารถทอผ้าไหว เท่าที่ดูตอนนี้ เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยทอผ้า หรือเรียกว่า ทอผ้าไม่เป็นเลยดีกว่า ถ้าหมดรุ่นที่ทอผ้าอยู่นี้แล้ว คงไม่น่าจะมีการทอผ้าทำมือเลยก็ว่าได้”
 
 
การจำแนกแรงงานที่เกี่ยวกับงานผ้าในหมู่บ้าน  (นางน้อย, อายุ 48 ปี)
“ถ้าประมาณการจำนวนแรงงานที่เกี่ยวกับงานผ้าในหมู่บ้าน สามารถแบ่งได้
-          ทอผ้าขิดทำมือที่บ้าน                                                     ประมาณ 50 %
-          เย็บผ้าโหล, ผ้าชุด  รับจากโรงงานมาทำที่บ้าน               ประมาณ 30 %
-          เย็บผ้าหน้าร้านจำหน่ายในหมู่บ้าน                                 ประมาณ 20 %  “
 
การทอผ้าขิด (ตำขิด)  ที่บ้าน  และการได้มาของวัสดุทอผ้า
 (นางน้อย, อายุ 48 ปี)
          งานการทอผ้าขิดที่บ้าน  เป็นแรงงานส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน  ในหมู่บ้านมีประมาณ  80-120 คน   เป็นงานที่สั่งสมประสบการณ์จากรุ่นแม่ และรุ่นยาย  เพราะเป็นงานที่ใช้เวลา และฝีมือ   และต้องมี “กี่”   และต้องมีความรู้เรื่องการสร้างลายผ้าขิด “เก็บขิด”
 
            งานทอผ้าขิดเน้นส่งขายจังหวัดใกล้เคียง อย่าง นครราชสีมา,ขอนแก่น,กรุงเทพฯ,สกลนคร เชียงใหม่  และชัยภูมิ ที่มียอดจำหน่ายผืนผ้าที่ยังไม่แปรรูปเฉลี่ยถึงวันละ 30 เมตร  โดยการผลิตออกมาเป็น หมอนขิด เสื้อสตรี เสื้อบุรุษ กระโปร่ง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล ผ้าปูโต๊ะ กล่องใส่กระดาษชำระ กระเป๋า เป็นต้น  ชาวบ้านในพื้นที่ก็มีรายได้เสริมจากการทอผ้าขิดหลังฤดูการทำนาทำไร่
 
              แรงงานส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง อายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุที่มีความสามารถทอผ้าไหว   ส่วนใหญ่ใช้เวลาหลังจากการทำงานภาคเกษตรกรรมเสร็จสิ้นแล้ว  และมีส่วนหนึ่งที่ทำเป็นประจำ หรืออาชีพหลักเลย  ด้วยเหตุว่า ทำงานภาคการเกษตรไม่ไหวแล้ว   มอบหมายหน้าที่แรงงานส่วนนี้เป็นแรงงานเพศชาย  และการมีผู้ป่วย  ผู้สูงอายุ และดูแลหลานแรกเกิด ซึ่งทำให้อยู่บ้านเป็นหลัก และสามารถปลีกเวลามาทอผ้าขิด และสามารถผันเป็นเงินมาจุนเจือครอบครัวได้
 
           “แรงงานผู้หญิงบ้านเรา  จะมีฝีมือทอผ้าขิดในสายเลือดทุกคน  การทอผ้าขิดทำเฉพาะหมู่บ้านของเรา  เพราะหมู่บ้านเราเป็นต้นตำรับ  และคนที่มาซื้อผ้าขิด  ก็ต้องการซื้อผ้าขิดจากหมู่บ้านของเรา”  (ผู้ใหญ่บ้าน)
 
           “ขั้นตอนการทอยุ่งยาก ทอได้ช้า ราคาถูก แรงงานจึงไปทำงานอื่นที่มีรายได้ดีกว่า ทำให้ผู้ทอผ้าลายขิดลดจำนวนลง และอาจจะสูญหายไปจากหมู่บ้าน”  (ผู้ใหญ่บ้าน)      
 
             “มีการรวบรวมสมาชิกจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขิด  กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนฝึกอบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าขิด ในปี พ.ศ.2542 เป็นเงินงบประมาณ 20,000 บาท ต่อมาในปี พ.ศ.2544 ได้มีการประชาคมหมู่บ้าน ตำบลคัดเลือกผ้าลายขิดเป็น เป็นผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์”  (ผู้ใหญ่บ้าน)       
 
              “หมดรุ่นทอผ้ารุ่นนี้ รุ่นลูกหลานคงไม่มีการทอผ้าแล้ว เพราะคิดว่างานทอผ้าลำบาก เงินน้อย ตอนนี้คนส่วนใหญ่ นิยมส่งลูกหลานเรียน เขาเรียนจบแล้วคงไม่มาทอผ้าหรอก”
  
              “แรงงานส่วนใหญ่  ถ้าช่วงทำนา ทำอ้อย ก็จะหยุดทำ”
 
              “คนแก่ จะทอผ้าอยู่บ้านทุกวัน”
 
              “  มีการได้มาของวัสดุอุปกรณ์มา 2 ทาง คือ
                 หนึ่ง   รับด้าย  รับลายมา จากเถ้าแก่  ที่หน้าร้านจำหน่าย
                สอง  ซื้อด้าย  แล้วสร้างลาย ตามที่เขากำหนดจะรับซื้อ
                โดยการซื้อด้าย แล้วนำมาทอเอง จะได้เงินมากกว่ารับด้ายมา   สมมติว่า รับด้ายมา  ทอแล้ว ได้เมตรละ  500 บาท ถ้าซื้อด้ายมาเอง ก็ได้ จำนวน 600 บาท “
 
รายได้ของแรงงานทอผ้าขิด  
   (นางน้อย, อายุ 48 ปี)
“  ถ้าคิดเป็นวัน ๆ จะมีรายได้ประมาณ 50-150 บาท ขึ้นอยู่กับการมีเวลาทอผ้า  งานภายในบ้าน  ความสามารถ  ความขยันทำทั้งคืนทั้งวัน  และสภาพวัย สุขภาพ หรืออายุ “
 
“ส่วนใหญ่จะนำผ้าที่ทอผ้าได้มาวัดขาย เมื่อได้ขนาดที่ผู้ทอต้องการ เถ้าแก่บางรายก็มารับงานถึงบ้าน ประมาณ 10-15 วัน  ได้เงินประมาณ 1,500-3,000 บาท ต่อครั้ง”
 
“งานทอผ้าขิด เริ่มจะลดน้อยลงกว่าเมื่อก่อน เพราะเศรษฐกิจบ้านเราไม่ดี  แบบเสื้อผ้า  ของที่ระลึก ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป  คนก็อาจเริ่มเบื่อแบบ หรือลาย ของบ้านเราก็ได้”

 

 

**************
หมายเลขบันทึก: 383886เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2010 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

แวะมาเรียนรู้วิถึคนทอผ้าขิดบ้านโนนเสลา
ข้อมูลดีมากเลย
ขอเจริญพร

กราบนมัสการ พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

 

แล้วรออ่านตอนต่อ ๆ ไป นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท