ลปรร. ตำบลต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (4) สถานบริการ กับการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว


 

อ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ หรืออาจารย์พิช ... วันนี้อาจารย์มาคุยให้ฟังเรื่อง การดูแลผู้สูงอายุของสถานบริการค่ะ ... อาจารย์มีศัพท์ ความหมาย สว. มากมาย แต่ละคำน่าชื่นใจทั้งน้านเลยค่ะ

สว. รุ่นสวยวันสวยคืน ของอาจารย์พิช ...

อาจารย์นำด้วยเรื่องเล่าค่ะ

... มีคนไข้คนหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ มีลูกอยู่ 1 คน ลูกเป็นคนดูแล อาจารย์บอกกับลูกว่า พี่ ... คุณพ่อต้องดูในเรื่องต่อไปนี้นะ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 ถึง 10 ส่วนของคุณแม่ต้องดู ตั้งแต่ 1 ถึง 20 ลูกสาวคนเดียว เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อกับแม่ ฟังจนจบทั้งสามสิบข้อ แล้วก็หันมามองหน้าอาจารย์ แล้วบอก เห็นแก่ตัว … อาจารย์บอกว่า ตายแล้ว หรือเราแนะนำเขาไม่ดี หรือเราไม่ได้บอกละเอียด ... ลูกสาวบอกว่า พ่อกับแม่เห็นแก่ตัวมากเลย ทีตอนเกิดมาพ่อกับแม่ 2 คน เกิดมาเลี้ยงเรากี่คน ... 1 คน พอแก่ปุ๊บ พ่อกับแม่สองคน คนเลี้ยงกี่คน ... 1 คน เหมือนกัน ... ลูกบอก ไม่ยุติธรรมเลย เราลงแรงเยอะกว่า ...

จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับแนวคิด วิธีการสอน ให้รู้จักการดูแลและเข้าใจในความเป็นผู้สูงอายุ ... โดยปกติแล้ว ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ดูแล เป็นลูกคนเดียว หรืออะไรก็ตาม ถึงแม้จะมีลูกเยอะๆ หลายๆ ครั้ง โดยบทบาทหน้าที่ของเรา เราจะโดนกำหนดว่า คนนี้น่าจะเป็นผู้ดูแล เช่น ลูกสาวคนโต จะมีบทบาทให้เราเป็นผู้ดูแลด้วย หรือ ลูกที่เป็นหมอ เวลาพ่อแม่ป่วย ก็จะโทรหาลูกหมอก่อน คนอื่นเอาไว้ทีหลัง ... เพราะฉะนั้น บทบาทหน้าที่ในสังคมไทย หรืออื่นๆ มีผลต่อการดูแล ผส. ในระยะยาว

วันนี้ อ.พิช พูดในเรื่องของสถานบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการในระดับโรงพยาบาล และที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข และเล่าประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุ ในโรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์ หรือที่เรียกว่า โรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยที่ซับซ้อน เพราะว่าจริงๆ แล้ว เราก็ยังสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ และเวลานี้ ... "ทุกคนเชื่อว่า งานผู้สูงอายุไม่ยากเกินกว่าที่คุณจะทำได้ ขอแค่คุณรัก และเข้าใจเขาเท่านั้นเอง"

อ.สายฤดี บอกว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่ง สอนให้วัยรุ่นเข้าใจผู้สูงอายุ โดยให้เลียนแบบจริง และทราบไหมคะ ว่า ชั่วโมงแรกของการเรียนต่อแพทย์ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุของอาจารย์พิช ไม่ได้เรียนอะไรเลยค่ะ วันนั้น อาจารย์หิ้วกระเป๋ามา ในกระเป๋ามีตั้งแต่ ตุ้มน้ำหนักไว้ถ่วงขา ถ่วงแขน ให้รู้สึกว่า เวลาข้อตีบ แล้วจะรู้สึกอย่างไร มีแว่นตากันน้ำ แต่ว่าทาสีขาวหมดเลย เหลือรูตรงกลางอันเดียว ไม่เห็นอะไรเลย เทียบกับคนไข้ต้อกระจก มีสำลีให้พวกเราอุดหู แล้วคุยกันดู มีหมอทั้งหมด 4-5 คน ทุกคนจะลองเป็นผู้สูงอายุ เราเอาสำลีมาอุดหู แล้วก็จะพบว่า ไม่ได้ยินเลย เขามีผ้าก๊อซ เอามากัดให้พูดไม่ชัด ลองดูว่าถ้าไม่มีฟันแล้วจะพูดได้อย่างไร ... "วันนั้น ตอนจบ อาจารย์บอกว่า ถ้า you เข้าใจสิ่งเหล่านี้ นี่คือพื้นฐานของการเป็นหมอผู้สูงอายุในอนาคต และถ้าเราเข้าใจเขา งานด้านนี้ไม่ยากเลย ไม่ยากเลยจริงๆ"

คำนิยาม ในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เขาจะเน้นผู้สูงอายุที่ประสบความยากลำบาก อาจจะเจ็บป่วยเรื้อรัง พิการ ทุพพลภาพ ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน หรือไม่ได้เลย อาจจะต้องมีผู้ดูแลร่วมด้วย ... แต่จริงๆ แล้วในความหมายของแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ หรือบุคลากรทางสาธารณสุขที่ทำงานด้านผู้สูงอายุ เราอยากเห็นอะไร

  • ทุกๆ ท่านขา อ.พิช บอกว่า ให้อยู่ถึง 120 ปี แต่นอนติดเตียง คุณหงิก งอ หง่อม และงอม อยู่บนเตียง ใครเอาบ้าง ...
  • อ.พิช บอกใหม่ ... บอกว่า ให้อยู่ถึง 85 แต่แข็งแรง รู้ตัว รู้เรื่อง กระฉับกระเฉง มีลูกหลานรอบข้างจนวันสุดท้ายของชีวิต นอนอยู่หายใจ 3 เฮือก แล้วตายไปเลย ใครเอาบ้าง ...

เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว แน่นอนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ กลุ่มที่มีภาระพึ่งพิง จำเป็นต้องให้การดูแล สนใจเป็นพิเศษ ... แต่อย่าลืม คุณมีผู้สูงอายุมากมายในชุมชนที่ยังแข็งแรง และนั่นคือ สิ่งที่เราอยากเห็นในอนาคต เพราะว่า เราเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว อีก 10 ปีข้างหน้า เด็กกับผู้สูงอายุจะมีจำนวนเท่ากันเลย และเราบอกว่า แล้วใครจะเลี้ยงใครเล่า และรุ่นนี้ รุ่นตรงกลาง ฝรั่งเรียก Sandwitch generation รุ่นเราเป็นรุ่นไส้แซนวิช คือ ต้องเลี้ยงเด็กด้วย เลี้ยงผู้สูงอายุด้วย เราก็เลยเป็นรุ่นที่เรียกว่า เป็นไส้แซนวิช ตรงกลาง ... เพราะฉะนั้น เราต้องมีการเตรียมตัว และเตรียมระบบที่ดี

ในทางสาธารณสุข เราทำอะไรได้บ้าง ... เราดูแลผู้สูงอายุให้เขามีสุขภาพดีนานๆ ใครที่ดีอยู่แล้ว ให้ดีไปตลอด ให้เหลือเวลาที่ต้องพึ่งพิง หรือช่วงที่ไม่ดีให้สั้นที่สุด ถึงเวลาหมดกรรมหมดวาระ บ๊ายบาย แต่ช่วงที่มีอยู่ ขอให้มีความสุขทุกนาที

ทำได้อย่างไร ?

อันที่หนึ่ง พยายามหาโรคตั้งแต่ระยะแรก ... ในฐานะที่เราดูแลผู้สูงอายุที่แข็งแรงในชุมชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค้นพบโรคในระยะแรก คัดกรองหาโรคระยะแรก ที่ยังไม่มีอาการ เพื่อให้การรักษา และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น

อันที่สอง แต่ถ้าไม่ทันแล้ว ผู้สูงอายุในชุมชนที่นี่ อัมพาตไป 3 แล้ว บอก ... ก็ยังต้องรักษาอยู่ ยังต้องพยายามคุมอยู่ ยังต้องฟื้นฟูให้เขาช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่างานของคุณค่อนข้างที่จะหลากหลายนะ

อันที่สาม สิ่งที่ทุกคนอยากเห็น คือ 100 ขวบ อยากกินข้าวเหนียวมะม่วง เดินไปตลาด ซื้อข้าวเหนียวมะม่วงกิน นั่นคือ ความสามารถพึ่งพาตนเอง ถึงแม้ว่าจะมีโรคก็ตาม โรคเหล่านั้น ควรจะได้รับการควบคุมให้ดี สามารถที่จะพึ่งพาตนเองให้ได้เยอะที่สุด

ผู้หญิงเราก็จะมีอายุยืนกว่าผู้ชาย เราเป็นรุ่น สส. (สวยเสมอ)

สำหรับผู้หญิง เวลาที่ไม่ได้ไป shopping ก็เฉา เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนของเราพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด วิธีการสอนเด็กในชุมชน อย่าสอนให้เขากตัญญูจนเกินไป ความกตัญญูต้องเดินสายกลาง

หลายๆ บ้าน อาจารย์พิชบอก พี่ๆ แม่ยังทำกับข้าวได้หรือไม่ ได้ แต่ไม่ให้ทำ ... อ้าว ทำไมล่ะ ก็เพราะว่ากลัวแม่เหนื่อยไง ก็เลยไม่ให้ทำ ... อ้าว ถ้าแม่ยัง happy มีความสุขกับการทำกับข้าว ให้ทำ คุณแม่อาจารย์พิช 70 แล้ว ยังขับรถหลั่นล๊าไปเซนทรัลอยู่เลย ... มีคนถามว่า ทำไมอาจารย์ไม่ขับรถให้คุณแม่นั่ง ... อ้าวก็ยังขับได้ ให้ขับไปนะ

เพราะฉะนั้น การที่เราดูแลผู้สูงอายุต้องไม่กตัญญูจนเกินไป แต่ก็ไม่ใช่อกตัญญู ทุกอย่างต้องเดินสายกลาง

อันสุดท้าย กรรมมีมาอย่างไร เป็นตัวกำหนดอย่างนั้น

หลายๆ คน เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง เขาอยากตายอย่างไร ก็ให้เขาได้ตายอย่างนั้นนะคะ ไม่ใช่บอกว่า แม่อยากตายสบายๆ ถึงเวลาใส่ท่อช่วยหายใจ เจาะคอ เจาะท้อง ผ่าหัว ไม่ใช่นะคะ

เวลาที่เขากำหนดมาแล้ว แม่ขอหายใจ 3 ปื้ดแล้วตาย ก็ต้องให้เขาไป ใช่ไหม ตายอย่างไรก็ได้ ให้สมศักดิ์ศรีที่เขาต้องการ

ไม่รวมการฆ่าตัวตายนะคะ เพราะถือว่าเป็นบาปอย่างหนึ่ง

นี่คือเป้าหมายของการดูแลผู้สูงอายุ

การดูแลผู้สูงอายุ

พอเราเป็น สว. (สวยวันสวยคืน) มี 3 กลุ่ม ในทางการแพทย์ กลุ่มที่หนึ่ง รุ่น สว. ต้นๆ เพิ่งเข้าวัย สว. อายุถึง 75 ปี รุ่นเบาะๆ 75-85 ปี และรุ่นใหญ่ มากกว่า 85 ปี ความต่างอยู่ที่นิดหน่อย ตรงที่เมื่อคุณอายุมากขึ้น ไม่ทุกคน แต่หลายๆ ครั้ง คุณต้องการตัวช่วยมากขึ้น โดยสภาพร่างกาย โดยความเสื่อมของสังขาร ทำให้คุณต้องพึ่งพาเขาเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น 65 ปี กับ 85 ปี ต่างกัน

นอกจากเราแบ่งผู้สูงอายุตามระดับอายุแล้ว เรายังแบ่งระดับการพึ่งพา มีหลายๆ คน วันก่อน อ.พิช เจอคนไข้อายุ 80 ปี ตกใจมากเลย นึกว่า 70 ปี ... คนไข้บอกว่า ไม่ได้กลับตัวเลข แข็งแรงมาก อาจารย์บอกว่า แม่ขา ยาเหลืออยู่เท่าไร คนไข้ควักกระดาษมา อาจารย์จะนัดแม่กี่เดือน ถ้าอาจารย์นัดแม่ 3 เดือน อาจารย์สั่ง aspirin 66 เม็ด เพราะของเก่ายังเหลืออยู่ประมาณ 40 เม็ด ... 87 ขวบ บอก อาจารย์ 30 ขวบ คิดตามไม่ทัน งงอยู่พักหนึ่ง อ้อ รีบเขียนตัวเลขตาม ... นั่นคือ เรายังมีผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงเยอะก็มี

เมื่อเช้าตรวจไปบ้านหนึ่ง คุณพ่ออายุ 71 ขวบ เป็นอัมพาตทั้งตัว พึ่งพาตลอด ศีรษะจรดปลายเท้า อาบน้ำกินข้าว ต้องทำหมด 360 องศา เป็นอย่างไร คนไข้อยู่บนเตียง เฉา ต้องมีคนดูด้วยตลอดเวลา เพราะว่าคนไข้แอบร้องไห้

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีอายุน้อย หรืออายุมาก จริงๆ แล้ว การที่คุณจะดูแลผู้สูงอายุ ในระดับไม่ว่าจะเป็นสถานบริการทางสาธารณสุขระดับไหนก็ตาม ดูที่ภาวะพึ่งพิงเป็นหลัก ดูที่เขาต้องการตัวช่วยมากน้อยแค่ไหน และในแต่ละระดับของสถานบริการ ก็จะมีความสามารถในการช่วยเหลือผู้สูงอายุแต่ละคนไม่เท่ากัน

อ.พิช อยากเห็นอะไร ก็คือ สิ่งที่ทุกคนอยากเป็น

เราอยากเห็น 100 ขวบ รุ่นแข็งแรง ไม่อยากเห็นรุ่น หงิก งอ หง่อม และงอม

ทำได้อย่างไร จึงจะแข็งแรง อ.สายฤดี พูดไปแล้ว คือ (1) สุขภาพต้องดี (2) สังคมต้องดี (3) สิ่งแวดล้อมต้องดี (4) เศรษฐานะต้องดี และเรื่องบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยต้องดี เพื่อเอื้อต่อกันและกัน ทั้งหมดนี้อะไรเด่น ก็ร่วมด้วยช่วยกันทำให้ผู้สูงอายุดีขึ้น

บทบาทหน้าที่หลัก ของการเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก็คือ การส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมให้กับผู้สูงอายุ อาจารย์ประเสริฐ อสันตชัย ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช บอกมี 7 อย่าง คือ เลี่ยงอบายมุข เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ออกกำลังกาย โภชนาการ กินอาหารต้องดี สุขภาพจิตต้อง happy เราต้องมีสังคม ต้องมีคนข้างๆ รอบตัวเราด้วย ช่วยให้มีคุณค่าในชีวิตมากขึ้น ช่วยกันป้องกันโรค หรือค้นหาโรคที่พบบ่อยได้ตั้งแต่ระยะแรก และสุดท้ายทำได้ง่าย ... นี่เป็นการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งสามารถทำได้ในระดับท้องถิ่น

เราต้องมีการพัฒนาหลายด้าน หลายองค์กร หลายกระทรวง หลายระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ จนถึงท้องถิ่น ถึงระดับชุมชน ถึงระดับครอบครัว เพื่อให้เขาตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ

โรงพยาบาลแพทย์ ทำอะไรได้บ้าง เราทำได้หลายอย่าง เป็นการดูคนไข้แบบครบวงจร ... เราทำในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คัดกรองและตรวจเช็คสุขภาพประจำปี และให้การรักษาแบบองค์รวม ทั้งหมดนี้ ทำที่ โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี

แต่พี่ที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนแพทย์ ทำอะไรได้บ้าง ... หลายๆ ครั้งเราแบ่ง สอ. กับ รพช. ต้องดูแลปฐมภูมิสิ จะมาดูแลอะไรแบบคนไข้ซับซ้อน แบบตติยภูมิ ได้ยังไง ?

อ.พิช บอกว่า ส่วนหนึ่งจริง แต่อีกส่วนหนึ่งไม่จริง ... ส่วนที่ไม่จริง คือ พี่ๆ หลายๆ คนรู้จักคุณยายคนนั้นดีกว่าอาจารย์ ... ถึงเวลาที่จะถามว่า สภาพแวดล้อมที่บ้านเป็นอย่างไร ทำไมถึงเกิดแผลกดทับ อาจารย์ต้องถามพี่นะ พี่มาจากชุมชน จากองค์กรท้องถิ่นนั้นๆ พี่ไปยี่ยมบ้านให้อาจารย์หน่อยได้ไหม ลูกดูแลหรือเปล่า แต่อาจารย์รักษาแผลกดทับ ... เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องดูเบื้องต้น อันนี้เราดูไม่ได้ อย่างนี้ขึ้นกับความถนัด และหลายๆ ครั้ง สิ่งที่ทำอยู่ ที่อาจารย์หลายๆ ทำอยู่ เป็นการทำเรื่องตติยภูมิ ที่แทรกอยู่ในการดูแลปฐมภูมิ เพียงแต่ว่า อาจทำปฐมภูมิเป็นหลัก และตติยภูมิมีในเปอร์เซ็นต์ที่ไม่เยอะ

บทบาทของสถานีอนามัยที่อาจารย์ประเสริฐเคยสรุปไว้ ก็คือ คนไข้ในชุมชน เราจะไปตรวจความดัน เป็นการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก อ.พิช อยู่ รพ. โรงเรียนแพทย์ โทรไปที่ สอ. ถามว่า หมู่นี้อยู่ในความรับผิดชอบของ รพ. ใช่หรือเปล่า ... พอดีคนไข้คนนี้อยากกลับบ้านที่สกลนคร ต้องการตัวช่วย พี่ไปเยี่ยมบ้านให้อาจารย์หน่อยได้ไหม ... เห็นไหมคะว่า ในงานสถานีอนามัยที่บอกว่า เป็นปฐมภูมิ มีการดูแลป้องกันระกับตติยภูมิ หรือระดับ 3 ร่วมด้วย

เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว เวลาดูผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับสถานบริการระดับไหนก็ตาม ถามตัวเองก่อน คุณมีศักยภาพอะไรบ้าง และผู้สูงอายุคนนั้นต้องการอะไร คุณให้อะไรกับเขาได้บ้าง อันไหนที่คุณไม่สามารถให้ได้ อันไหนที่รู้สึกชักเยอะ หรือยาก ก็ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลระดับต่อๆ ไป

ที่ รามาฯ ทำอะไรบ้าง ... มีทั้งเชิงรับและเชิงรุก

เชิงรุก คือ ลงไปในชุมชนเขตรับผิดชอบ ไปช่วยคัดกรอง ค้นหาระยะแรก ไปให้การศึกษาเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ เชิงรับก็คือ ถ้าเขาป่วย เรารักษา ถ้าเขาพิการ ทุพพลภาพ เราฟื้นฟู ถ้าเขาตาย เราดูแลระยะสุดท้ายให้

เมื่อคนไข้เจ็บป่วย ถ้าเขาป่วย จากที่เขาแข็งแรงดี เขาเจ็บป่วยน้อย เขาอาจจะฟื้นหาย ถ้าเขาเจ็บป่วยเฉียบพลัน เล็กน้อยอาจจะฟื้นหาย หลายๆ ครั้ง ไม่หาย หลายๆ ครั้งกลายเป็นโรคเรื้อรัง วันร้ายคืนร้ายอาจจะเข้าสู่ระยะสุดท้ายไปเลยทีเดียวกัน

เมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วย จริงๆ แล้วมีได้หลายระดับของการดูแล ทั้งในสถานพยาบาล และในชุมชน ที่รามาฯ นี่คืองานหลักๆ ที่เราทำอยู่ แต่ทำอย่างไร ลองฟังดู

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้ทำในวันเดียว เริ่มมาตั้งแต่ อาจารย์หัวหน้าหน่วย คือ อาจารย์สิรินทร เริ่มมา 10 ปีแล้ว ด้วยการหาพลังก่อน พลังที่หา คือ ทีมงาน สหสาขาวิชาชีพ ... เพราะฉะนั้น สิ่งที่ชุมชนต้องการในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว คือ ความร่วมมือ จากสถานบริการสาธารณสุข ในชุมชน องค์กรท้องถิ่น ใครก็ได้ที่สนใจเรื่องผู้สูงอายุ จีบมาก่อน เป็นตัวช่วย

ตัวอย่างงานที่ รามาฯ ทำ ก็คือ

  • ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุสุขภาพดี เตรียมเขาตั้งแต่ก่อนสูงอายุ ให้ความรู้ เช่น อายุ 50 ปี มาเจาะไขมัน วัดความดัน ฉีดวัคซีน
  • ตรวจสุขภาพ ทุกคนที่เกษียณจากรามาฯ ต้องได้รับการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด เอกซเรย์
  • มีคลินิกผู้สูงอายุที่ส่งเสริมผู้สูงอายุสุขภาพดี
  • กลุ่มกีฬา ... มีอาจารย์หลายๆ ที่ทีเกษียณไปแล้วทำกิจกรรมนี้
  • ศูนย์พลังสร้างสุขภาพ เปิดให้กับประชาชนทั่วไปเข้ามาหาความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ และวิธีการดูแลตนเอง
  • คนที่เจ็บแล้วทำอย่างไร เป็นเชิงรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล เมื่อเขาเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นสภาพระยะสุดท้าย ต้องการการดูแลต่อเนื่อง
  • อาจารย์ต้องการสิ่งที่เรียกว่า เครือข่าย เพราะว่าผู้ป่วยหลายไม่มีใครอยากตายที่ รพ. คนไข้หลายๆ คนขอกลับบ้าน กรณีนี้ เราต้องการคนช่วยเหลือ จากสถานบริการสุขภาพระดับชุมชน ต้องการความร่วมมือจากองค์ท้องถิ่น และชุมชนต่างๆ เพื่อรับผู้ป่วยกลับไปดูแล และคนที่เจ็บป่วยเฉียบพลัน เวลาส่งก็ต้องให้ข้อมูลด้วยว่า สภาพบ้านเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็จะดูแลไม่ถูก
  • คลินิกประเมินผู้สูงอายุแบบครบวงจร ทำโดยมีสหสาขาวิชาชีพ พยาบาล เภสัช นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่บริหารทั่วไป ... ทีมงานต้องสื่อสารเป็น ชัดเจน กับผู้สูงอายุ  ... ไม่มีใครสำคัญกว่าใคร ทุกคนมีบทบาทหน้าที่โดยตัวของตัวเอง และทุกคนรวมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุ 1 คน เราประเมินผู้สูงอายุ 360 องศา และศีรษะจรดปลายเท้า ด้านจิตใจ สังคม ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง  … เป็นการประเมินสมรรถภาพการดูแลตนเอง และซ่อมสิ่งที่หายไป ให้กับเขา ... ที่ทำอยู่ หลังที่ทุกคนดูผู้ป่วยแล้ว วันถัดมาเราจะประชุมทีม ทุกคนก็จะมาเล่าส่วนของผู้ป่วยที่ทุกคนได้เห็น

สิ่งที่ทำแล้วได้ประโยชน์

  • พบว่า ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
  • ญาติและผู้ดูแลเข้าใจอย่างชัดเจน
  • มีตัวช่วยหลายๆ คน คนไข้ไม่ต้องมาโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวช่วยใน อปท. ในชุมชนที่จะช่วยได้
  • เราสอนให้คนหลายๆ คนที่มาดูงาน คนที่อยากจะเรียนรู้ในคลินิก มีองค์ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ ... ส่งเหล่านี้ เรานำไปใช้ต่อเนื่องได้

อ.พิช ได้สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้กันไปวันนี้ค่ะ ว่า

  1. ผู้สูงอายุสำคัญ วันหนึ่งข้างหน้า ผู้สูงอายุจะมีจำนวนประชากรเยอะมาก ถ้าเราไม่ได้เตรียมเรื่องระบบ สถานบริการสาธารณสุขเสียแต่วันนี้ เราจะไม่พร้อมเลย ในอีก 10 ปีข้างหน้า
  2. ทุกคนได้เรียนรู้ว่า ผู้สูงอายุแบ่งเป็นหลายกลุ่ม แต่อายุเป็นเพียงตัวเลข สิ่งสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตจริงๆ คือ การพึ่งพา และไม่จำเป็นที่คุณจะมาจากหน่วยบริการสาธารณสุขในจังหวัดไหน ระดับไหนก็ได้ ขอให้คุณใส่ใจผู้สูงอายุ เพราะในงานที่คุณทำ มันคาบเกี่ยวกัน ไม่ว่าจะเป็นบริการระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ
  3. ทุกคนได้เรียนรู้ รูปแบบของการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ที่เป็นประสบการณ์ที่แบ่งปันกัน ระดับโรงเรียนแพทย์ก็ไม่ได้ให้บริการรักษาอย่างเดียว การให้บริการเชิงรุก การคุมสภาวะสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุ เป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นมาก

สุดท้าย อ.พิช ฝากไว้ว่า "คุณช่วยระบบสาธารณสุขของประเทศชาติได้ ไม่ได้เริ่มที่ไหน เริ่มที่ตัวคุณเอง เริ่มที่ อปท. เริ่มที่สถานบริการต่างๆ ที่ทุกคนทำงานอยู่"

รวมเรื่อง ลปรร. ตำบลต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว

  

หมายเลขบันทึก: 383761เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2010 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

  • ตามมาอ่าน... 
  • ได้ความรู้เพิ่มอีกหลายเรื่อง
  • น่าจะจับเอาไปบูรณาการกับชุมชนนำร่องงานอนามัยแม่และเด็กเนาะ...

 

 

  • P
  • จากประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมานี่
  • รู้สึกว่า คนทำงาน ที่ทำงานด้วยใจนี่ งานก้าวหน้าต่อยอดไปมากมายเลยละ
  • ต่อไป สว. ต้องได้ร่วมกิจกรรมกับเด็กๆ แน่นอน
  • เพราะถือคติว่า สว. ต้อง active aging ค่ะ
  • อ่านไปอ่านไป เหมือนนั่งฟังเสียงอ.พิช พูด ยังไงยังงั้น....ถอดมาเชียว
  • วันก่อน อ.นู๋พิชก็ไปพูดที่ รพ. เค้าเชิญไปพูดเรื่องการใช้ยาหลายตัวในผู้สูงอายุจ๊ะ ก่อนโน้นเชิญไปพูดให้ชมรมแพทย์เขต ๔-๕
  • ฟังอาจารย์กี่ทีก็สนุกทุกที อ.มี่เรื่องเล่าของคนแก่เยอะ ฟังสนุก สุดหรรษา..หลั่นล้า...จ้า (ยืมสำเนา..เอ๊ย..สำนวนอ.มานะเนี่ย)
  • P
  • อ.พิช สนุกมาก
  • ใครเคยฟัง แล้วก็จะได้อารมณ์ ยังไงยังงั้นเลยละค่า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท