วิจัยคุณกลั่นกรอง


ขอบคุณคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์และนศ.ป.โท คนแรกที่จบสาขาจิตวิทยาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ ม. รามคำแหง...ด้วยความรักและเคารพในฐานะลูกพ่อขุน รร.สาธิตรามฯ เลยทำให้ผมตอบตกลงช่วยเป็นผุ้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาสอบนศ.ป.โท ท่านนี้

ผมรู้สึกประทับใจและชื่นชม "กัลยาณมิตรของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์กลุ่มนี้ ซึ่งมีความอาวุโสและความใคร่ครวญในวิชาการอย่างดี"

ทำให้ผมสนุกและพยายามช่วยเหลือในแง่วิชาการทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคมและวิชาการวิจัยที่ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งกับ Prof. Tanya Packer ตอนเรียน ป.โท-เอก ที่ออสเตรเลีย

โชคดีที่ผมเรียนรู้งานวิจัยและลงมือศึกษาด้วยตนเองในรูปแบบงานวิจัยและการให้เหตุผลทางการวิจัยมามากทีเดียว ทำให้ผมอ่านเล่มวิทยานิพนธ์ที่หนามากของนักศึกษาท่านนี้พร้อมเขียนเสนอแนะและตั้งคำถามได้อย่างเจาะลึก จนผมได้รับคำกล่าวชมจากคณะกรรมการสอบฯ ที่เป็นคณาจารย์อาวุโสของคณะศึกษาศาสตร์ ม.รามคำแหง

แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้เรียนรู้ความคิดและความมุ่งมั่นของนักศึกษา ป. โท ที่มีจิตใจดีงามในการขวยขวายเรียนรู้งานกิจกรรมบำบัดและงานจิตวิทยาการศึกษาพิเศษ ทั้งๆ ที่มีความรู้พื้นฐานทางรัฐศาสตร์ในระดับ ป. ตรี รวมทั้งศูนย์การศึกษาพิเศษได้เปิดโอกาสให้นศ. ป. โท ท่านนี้ได้จัดกิจกรรมการเสริมแรงเพื่อลดพฤติกรรมก้าวร้าวในกรณีศึกษาออทิสติก 3 ราย ร่วมกับนักกิจกรรมบำบัดในโรงเรียน

งานวิจัยครั้งนี้น่าสนใจและมีความเป็นชิ้นงานนำร่อง แต่น่าจะต่อยอดในระดับ ป. เอก เพื่อให้สังคมประจักษ์ว่า "ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่เด็กสนใจและไม่ปล่อยใจให้ว่างจนเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว"

ประเด็นที่เสนอแนะเพื่อให้นักศึกษา ป. โท ท่านอื่นๆ ได้ตระหนักเป็นแบบอย่างของการคิดหลักการเหตุผลในงานวิจัยให้เกิด "กระบวนการพัฒนาจิตสังคมไทยและสากล" ดังนี้

  • ประเด็นที่นักศึกษาสนใจทำวิจัยควรเป็นความคิดนอกกรอบและต่อยอดจากการทบทวนงานวิจัยที่ผ่านมาอย่างละเอียดและตรงประเด็น เช่น สอดคล้องกับประชากรที่ศึกษาและเปรียบเทียบจากงานวิจัยที่ผ่านมาได้ สอดคล้องกับรูปแบบการวิจัยเพื่อประสิทธิผลของโปรแกรมบำบัดต่อตัวแปรที่ตรงกันหรือสัมพันธ์กับงานวิจัยที่ผ่านมาได้ เป็นต้น
  • ประเด็นที่พัฒนาเครื่องมือวิจัย ต้องค้นหาที่มาที่ไปและเหตุผลถึงความจำเป็นและความต้องการนำไปประยุกต์ใช้ในเครื่องมือวิจัยนั้นๆ
  • ประเด็นที่พัฒนาโปรแกรมบำบัด ต้องค้นหาที่มาที่ไปและเหตุผลถึงการนำโปรแกรมที่มีอยู่มาดัดแปรหรือการทดลองใช้โปรแกรมใหม่บนพื้นฐานกรอบอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและน่าประยุกต์สู่บริบทของกลุ่มที่สนใจศึกษา
  • ประเด็นที่อยากแสดงผลการศึกษาควรทบทวนย้อนกลับให้ชัดเจนกับวัตถุประสงค์ย่อย ชนิดของตัวแปร ลักษณะของการแปรผลข้อมูล และความจริงที่ผู้วิจัยได้รับนอกเหนือจากสมมติฐานที่ตั้งไว้
  • ประเด็นของการแสดงกราฟและตัวเลขผลของการศึกษา ต้องแสดงเป็นภาษาและสัญลักษณ์สากลที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย แสดงภาษาวิชาการได้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม
  • ประเด็นการเขียนและสื่อให้คนทั่วไปนำไปทดลองใช้หรือผู้วิจัยเสนอแนะให้คนทั่วไปนำไปใช้ได้โดยไม่ทดลอง ควรชี้นำด้วยกระบวนการที่มีเหตุผล เป็นข้อเท็จจริง ระบุข้อจำกัดอย่างเปิดเผย มีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนพร้อมแทรกเหตุและผล และมีการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เป็นสากล และสอดคล้องกับการศึกษาในปัจจุบันมากที่สุด
  • ผู้วิจัยไม่ควรเขียนทุกอย่างที่คิดเข้าข้างตนเอง ไม่ควรเขียนจนไม่สามารถตอบคำถามวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญและไม่สามารถตอบคำถามจากคนทั่วไปได้ตรงประเด็นและกระจ่าง

สุดท้ายผมพบว่า "ผู้วิจัยควรมั่นใจในผลลัพธ์ที่ตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงข้อมูลมากมายเฉพาะเปลือกความรู้ หากแต่จำเป็นต้องอ้างอิงธรรมชาติของการศึกษาข้อเท็จจริง กรอบความคิด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ และค้นคว้าข้อมูลสนับสนุนเหตุและผลทั้งเชิงกว้าง ยาว และลึก"

หมายเลขบันทึก: 383276เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2010 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท