นปส.55 (18): ประดิดประดอย


เมื่อเราตื่นขึ้นมาตอนเช้า เรามีทางเลือกง่ายๆอยู่ 2 ทางคือนอนหลับแล้วก็ฝันต่อหรือตื่นขึ้นมาและขับเคลื่อนให้ความฝันเป็นจริง คำตอบอยู่ที่คุณ

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 ของการฝึกอบรม ผมขับรถกลับจากตากราวสี่โมงเย็น แวะทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารในปั๊มน้ำมันตรงที่เลยนครสวรรค์มาเล็กน้อย และแวะจอดพักเป็นระยะๆ มาถึงที่วิทยาลัยเกือบห้าทุ่มแล้ว ถนนตรงทางเข้าแหลมฉบังจะโล่งแต่ก็ยังคงมีรถบรรทุกวิ่งกันอยู่ วิ่งกันจนถนนเลนซ้ายทรุดและพังไปหลายแห่งและรถบรรทุกก็ย้ายมาวิ่งเลนขวาอีก และอีกไม่นานถนนก็จะทรุดโทรมเท่ากันทั้งสองเลน ผมขับรถเลยทางแยกเข้าวิทยาลัยฯไป ต้องไปยูเทิร์นกลับเพราะมืดไม่มีไฟฟ้าและถนนกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุง คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน คาดว่าเรียนจบหลักสูตรแล้วก็คงยังไม่เสร็จ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องระยะของการเรียนรู้ (Stages of Learning) 4 ระยะคือUnconscious incompetence, Conscious incompetence, Conscious competence, Unconscious competence ทำให้นึกถึงหลักการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่พี่ต้อย (สุดาวรรณ)แนะนำผมไว้ว่า เวลาดูหนังฝรั่งไม่ต้องดูตัวแปรภาษาไทย ดูไปเรื่อยๆแบบไม่รู้ตัว ให้จิตใต้สำนึกมันดูเอง จะเรียนรู้ได้ดี และเวลาหลับถ้าเปิดทีวีไว้ จิตใต้สำนึกมันจะยังคงฟังอยู่และอาจารย์ถิระโรจน์บอกไว้ว่า "ถ้าคนเราจะเปลี่ยนนิสัยต้องใช้เวลา 21 วัน" ส่วนอาจารย์ขวัญฤดีบอกว่า ถ้าจะฝึกคิดแบบลึกแบบกว้างหรือคิดเป็นระบบให้ฝึกเขียน Mindmap ทุกวันๆละเรื่องจนครบ 100 เรื่อง

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2553 ช่วงเช้าสรุปภาพรวมการสร้างกระบวนทัศน์การเป็นนักบริหารระดับสูงในภูมิภาค โดย ศ. ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ทุกกลุ่มได้ร่วมกันสรุปแล้วจัดทำเอกสารส่งให้อาจารย์พิจารณาและเตรียมนำเสนอ ก่อนนำเสนออาจารย์ได้บรรยายให้ฟังก่อนโดยเน้นเรื่องการคิดเชิงระบบ (system Thinking) โดยนำหลักการพื้นฐานของการคิดเชิงระบบไว้ 10 ข้อ มาให้พวกเราได้รับรู้กัน ดังนี้

-  ปัญหาวันนี้มาจากการแก้ปัญหาเมื่อวาน (Today’s problem came from yesterday’s solution.)

-  ยิ่งผลักแรงเท่าไหร่ แรงสะท้อนกลับยิ่งมากขึ้นเท่านั้น (The harder you push, the harder the system pushes back.)

-  สิ่งต่างๆจะเลวร้ายจนที่สุดแล้วจึงค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมา (Behavior will grow worse before it grows better.)

-  อะไรที่ใช้ทางออกง่ายๆมันจะนำปัญหากลับมามากกว่าเดิม (The easy way out usually leads back in.)

-  การรักษาอาจให้ผลเลวร้ายกว่าโรค (The cure can be worse than the disease.)

-  ยิ่งทำเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งจะช้าขึ้นเท่านั้น (Faster is slower.)

-  เหตุและผลไม่ได้อยู่ในเวลาและสถานที่เดียวกัน (Cause and effect are not closely related in time and space.)

-  บางทีการเปลี่ยนอะไรเล็กๆน้อยๆที่ถูกที่ถูกเวลาก็จะให้ผลที่ยิ่งใหญ่ได้ (Small changes can produce big results…but the areas of highest leverage are often the least obvious.)

-  โลกนี้อยู่ได้ด้วยการแบ่งปัน ไม่มีใครสามารถได้ทุกสิ่งทุกอย่างคนเดียว (You can have your cake and eat it, but not all at once.)

-  เอามีดผ่าช้างออกเป็นสองครึ่ง ไม่ได้ช้างสองตัว (Dividing an elephant in half does not produce two small elephants.)

การจัดการการพัฒนาสังคมแบบรวมศูนย์ แก้ปัญหาไม่สำเร็จเพราะเรียนรู้ได้ช้ากว่าการขยายตัวของปัญหาสังคม การแก้ปัญหาต้องใช้วิธีโยงกลุ่มพลังที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย ทางออกไม่ได้อยู่เหนือปัญหาหรืออยู่ที่หนึ่งที่ห่างไกลปัญหา คำตอบอยู่ในปัญหา ต้องจัดระบบให้การศึกษา การเมืองและเศรษฐกิจสนับสนุนให้คนพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้

สังคมไทยต้องการความเชื่อถือกันและสื่อสารกันของผู้คนเพื่อหลอมรวมจินตนาการและความรู้ของชุมชน การวิจัยที่ดีจะได้จากการตั้งคำถามที่ถูกต้อง คำถามที่ถูกต้องจะเกิดได้ถ้ามีกรอบแนวคิดการวิจัย (Conceptualization) ที่ดี เมื่อปัญหามันยุ่งยาก แต่ไปหาวิธีการแก้แบบง่ายๆ ปัญหามันจึงไม่จบ

หลังอาจารย์บรรยายเสร็จ อาจารย์ก็เลือก 4 กลุ่มมานำเสนอเพิ่มเติม โดยไม่ได้นำเสนอครบทุกกลุ่ม ผมได้นำเสนอเป็นคนที่สอง ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงในการจัดทำสไลด์นำเสนอ มันไม่ได้ยากที่การทำสไลด์ แต่มันยากตรงที่จะทำอย่างไรที่จะสามารถหลอมรวมหรือรวบรวมเอาความคิด ข้อเสนอดีๆของคนทั้ง 10 คนในกลุ่มโดยไม่ให้ตกหล่นและนำเสนออกมาให้ผู้ฟังมองเห็นภาพรวมและการเชื่อมโยกันเองของเนื้อหาในหมวดวิชาที่ 1 และการเชื่อมโยงกับหมวดวิชาอื่นๆที่เหลืออีก 8 หมวดวิชา

ผมนำเสนอด้วยภาพ (ดูแล้วอาจคิดไปได้หลายทางถ้าคิดลึก) ที่สื่อให้ คนคิดเชิงระบบ มองเห็นภาพรวม (เห็นป่า อย่าเห็นเพียงต้นไม้) และให้คน “คิดกว้าง แล้วค่อยคิดลึก” ภาพหนึ่งภาพสื่อความหมายเกินคำบรรยายเกินพันคำจริงๆ ต่อด้วยสไลด์การเชื่อมโยงเนื้อหาทั้ง 7 วิชาในหมวดที่ 1 ต่อด้วยสไลด์ภาพเรือใบลำเล็กในทะเลกว้าง กับประโยคที่ว่า “เราไม่สามารถปรับทิศทางลมได้ แต่เราสามารถปรับใบเรือได้” เพื่อสื่อถึงการปรับกระบวนทัศน์และกรอบความคิดของผู้บริหารและผู้นำตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

สไลด์ต่อไปผมนำเสนอ สรุปความรู้ที่ได้รับ ด้วยประโยคง่ายๆ 7 ประโยค เท่ากับจำนวนวันที่มีอยู่ 7 วันในหนึ่งสัปดาห์ โดยผู้นำและผู้บริหารต้องมีดังนี้

¢ ปรับ “กบาลทัศน์” (Mindset) เพื่อเปลี่ยน “กระบวนทัศน์” (Paradigm)

¢ กล้าคิด กล้านำ กล้าทำ กล้าตาม กล้าเปลี่ยนแปลง

¢ เปิดกว้าง รับฟังคนอื่น รับรู้ความรู้สึกคนแต่ใช้เทคนิคทางวิชาการ

¢ มองเชิงบวก คิดนอกกรอบ มองเห็นภาพใหญ่ เข้าใจส่วนย่อย

¢ มองเห็นอนาคต พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน

¢ เติบโตจากภายใน ใส่ใจโลกภายนอก(คิดกว้าง มองไกล ใฝ่ดี มีกึ๋น)

¢ มั่นใจตนเอง เห็นคุณค่าคนอื่น (เก่งงาน เก่งคน เก่งคิด เก่งชีวิต)

สลับสไลด์ต่อไปด้วยภาพชายคนหนึ่งกำลังมองลอดปากถ้ำออกไปเห็นท้องฟ้ากว้างที่กำลังอยู่ในระหว่างความมืดกับความสว่าง กับประโยคที่ว่า “เมื่อเราตื่นขึ้นมาตอนเช้า เรามีทางเลือกง่ายๆอยู่ 2 ทางคือนอนหลับแล้วก็ฝันต่อหรือตื่นขึ้นมาและขับเคลื่อนให้ความฝันเป็นจริง คำตอบอยู่ที่คุณ

แล้วก็อีกสไลด์หนึ่งด้วยการสรุปหมวดวิชาทั้ง 9 หมวดวิชาในหลักสูตรนักปกครองระดับสูง ที่เชื่อมโยงกันเป็นลำดับจากหมวด 1 การสร้างกระบวนทัศน์และวิธีคิด ต่อด้วยหมวด 2-3-4-8 (มุมมองในระดับสากล มุมมองในระดับประเทศ การเสริมสร้างภาวะผู้นำ คุณภาพและการสร้างสุนทรียภาพที่) เน้นการพัฒนาผู้นำด้วยการพัฒนาตัวตน (เติบโตจากภายใน) และมุมมอง (ใส่ใจภายนอก)

หลังจากนั้นก็เป็นการพัฒนาความเป็นนักบริหารด้วยหมวดที่ 5 (การบริหารภาครัฐแนวใหม่) และ 6 (กระทรวงมหาดไทยและการบำบัดทุกข์บำรุงสุข) ต่อด้วยการนำความรู้ไปประยุกต์และทดลองปฏิบัติในหมวดที่ 7 (การเสริมสร้างประสบการณ์ปกครองและการบริหาร) และ 9 (การนำลงสู่การปฏิบัติ)สุดท้ายจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตรได้ผู้บริหารระดับสูงหรือนักปกครองระดับสูงที่มีภาวะผู้นำและมีสมรรถนะ ดังที่เคยนำเสนอไปแล้วในตอนก่อนๆ

สไลด์ต่อไปเป็นการสรุปจากประสบการณ์ เป็นผลลัพธ์การเรียนรู้โดยผมสรุปให้เห็นเจตนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ของหลักสูตรจะเป็นจาก Learning Individual สู่ Learning Teamwork สู่Learning Network สู่ Learning Organization สู่ Intelligent Organization จนเกิดเป็น High performance organization

สลับด้วยสไลด์รูปภาพคนพายเรือเล็กในกระแสน้ำเชี่ยว พร้อมกับประโยคภาษาอังกฤษ (เพื่อให้ดูสากลหน่อย) ที่มีความหมายว่า “เวลาก็เหมือนสายน้ำ คุณไม่สามารถสัมผัสกระแสน้ำเดียวกันได้เป็นครั้งที่สองเพราะกระแสน้ำที่ไหลผ่านไปแล้วจะไม่หวนกลับมาอีก จงมีความสุขกับทุกขณะของชีวิต

พร้อมกับสรุปข้อเสนอแนะของกลุ่มให้แก่ผู้จัดการฝึกอบรมด้วยคำว่า “KUSAVIA” มาจากคำว่า “Knowledge, Understanding, Skills, Attitude, Value, Inspiration, Action” โดยผมกล่าวไว้ว่า กระบวนการจัดการให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะต่างๆดีอยู่แล้ว แต่ผู้จัดน่าจะต้องพยายามให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติ เห็นคุณค่า เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำไปปฏิบัติ การจัดการฝึกอบรมก็จะเกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน หน่วยงานและประเทศชาติมากขึ้น

พร้อมสไลด์ปิดท้ายด้วยภาพรถยนต์กำลังมุ่งหน้าเดินทางไปในพื้นที่ป่าโปร่งที่มีคำบรรยายภาพว่า “หัวใจของการเดินทางไม่ใช่อยู่ที่จุดหมาย หากอยู่ที่ประสบการณ์สองข้างทาง...มากกว่า” เพื่อย้ำเตือนแก่เพื่อนในรุ่นว่า อย่ามัวห่วงแต่นั่งเรียนหนังสือในห้องเรียนเท่านั้น อย่าลืมเก็บเกี่ยวมิตรภาพ ความงดงามของความสัมพันธ์และการเรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนๆด้วยกันก็มีคุณค่าไม่น้อย และประโยคทีเล่นทีจริงอีกว่า “ความสำเร็จขึ้นอยู่กับทีม ความล้มเหลวขึ้นอยู่กับผู้นำ (เสนอ)

ท่านผู้อ่านคงเริ่มเข้าใจแล้วนะครับว่า ทำไมผมให้ชื่อตอนนี้ว่า ประดิดประดอย แม้แต่สีของพื้นและกรอบสไลด์ผมก็ใช้สีส้ม เพราะสีส้มเป็นสีของกลุ่มปฏิบัติการที่ 4 ที่ผมสังกัดอยู่ หลังการนำเสนอ ผมคิดว่าทำให้เพื่อนๆมองเห็นภาพและมีความเข้าใจมากขึ้น พอจบชั่วโมงเพื่อนๆหลายคนก็เดินเข้ามาชมเชยว่าผมสรุปให้เข้าใจได้ดีมาก ผมคิดว่าคุ้มกับที่ผมพยายามตั้งใจจัดทำสไลด์และนำเสนอสไลด์ชุดนี้ ไม่ใช่เพราะคำชม แต่เป็นเพราะผมสามารถช่วยให้เพื่อนๆได้เข้าใจและมองภาพรวมของหลักสูตรได้มากขึ้น จริงๆแล้วผมเองก็พยายามทำตัว “Low profile มาตลอด”

ช่วงบ่าย เรียนวิชาทิศทางการเมืองการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินกับการพัฒนาประเทศ โดยอาจารย์มนุชญ์ วัฒนโกเมร อาจารย์สรุปกระแสหลักทิศทางการเมือง การปกครองและการบริหารในช่วงปลายทศวรรษ 2530-ต้นทศวรรษ 2550 มี 5 กระแสคือการกระจายอำนาจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผล การป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบ การมีส่วนร่วมของประชาชน (มี 5 ระดับคือให้ข้อมูลข่าวสาร รับฟังความคิดเห็น เกี่ยวข้อง ร่วมมือร่วมใจและเสริมอำนาจ) และการพัฒนาการเมือง (เริ่มเข้าสู่การเมืองภาคประชาชน)

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม 2553 ช่วงเช้าเรียนวิชา บทบาทของประเทศไทยในการจัดการสิ่งแวดล้อมโลก ภาวะโลกร้อนโดย ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา ท่านกล่าวว่า ภาวะโลกร้อน เป็นภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากการดูดซับความร้อนและการแผ่รังสีความร้อนของชั้นบรรยากาศโลกที่เพิ่มมากขึ้น พบว่าอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นแล้ว 0.74 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมมา

ภาวะกาซเรือนกระจกในธรรมชาติเป็นภาวะที่เกิดความสมดุลของพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์และพลังงานที่โลกเสียไป การเพิ่มขึ้นของกาซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้ภาวะสมดุลดังกล่าวเสียไป ชั้นบรรยากาศเก็บกักรังสีความร้อนมากขึ้น โลกจึงร้อนขึ้น ส่งผลให้เกิดการเร่งอัตราการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก น้ำทะเลเพิ่มและขยายตัว กระแสน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศเสียสมดุล สภาพอากาศรุนแรง (พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง) เกิดการขาดแคลนอาหารและเกิดโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ

อาจารย์เสนอแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อนด้วยการปรับตัวเพื่อรับมือกับการกัดเซาะชายฝั่งและน้ำท่วม สร้างเสริมสุขภาพรับมือกับโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ การสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องแหล่งอาหารและการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการใช้น้ำอย่างพอเพียง

ช่วงบ่าย พบอาจารย์ที่ปรึกษาทำไอเอส ผมเริ่มเขียนบทที่ 1 และ 3 แต่บทที่ 2 ยังทำไม่เสร็จ งานยังไม่ก้าวหน้าจึงยอมรับกับอาจารย์จรัญญาตรงๆ อาจารย์ก็ใจดีไม่ได้ว่าอะไร และให้รีบไปดำเนินการให้เร็วขึ้น การเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศสบายๆ ไม่กดดัน ไม่หวาดกลัว จะทำให้เรียนรู้ได้ดีมากขึ้น  ผมคิดว่าผมก็คงเหมือนโคนันทวิศาล ถ้าดุ ตำหนิหรือบังคับ ผมก็ไม่อยากทำ แต่ถ้าใจดี เป้นกันเองก็จูงใจให้ผมอยากเรียนรู้มากขึ้น

คล้ายๆสมัยที่ผมเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ถ้าวันรุ่งขึ้นจะสอบวิชาหนึ่ง ผมจะไม่อยากอ่านวิชานั้น แต่จะไปอ่านวิชาอื่น เพราะผมรู้สึกว่า การสอบบังคับให้ผมต้องอ่านหนังสือซึ่งไม่สนุก ผมชอบออ่านหนังสือตามใจตัวเองมากกว่า มีความสุขมากกว่า คะแนนสอบตอนเรียนแพทย์จึงพอผ่านๆเท่านั้น แต่ตอนเป็นแพทย์ฝึกหัดผมจะทุ่มเทอย่างมาก

หมายเลขบันทึก: 383226เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2010 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ อาจารย์ครับ

อ่านบันทึกอาจารย์แล้วชอบมากเลยครับ ประเด็นที่เก็บได้ช่างหลากหลายจริงๆ ผมขอปันไปให้เพื่อนๆได้อ่านบ้าง

 

สรุปข้อเสนอแนะของกลุ่มให้แก่ผู้จัดการฝึกอบรมด้วยคำว่า “KUSAVIA” มาจากคำว่า “Knowledge, Understanding, Skills, Attitude, Value, Inspiration, Action” โดยผมกล่าวไว้ว่า กระบวนการจัดการให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะต่างๆดีอยู่แล้ว แต่ผู้จัดน่าจะต้องพยายามให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติ เห็นคุณค่า เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำไปปฏิบัติ การจัดการฝึกอบรมก็จะเกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน หน่วยงานและประเทศชาติมากขึ้น

เรียนอาจารย์จตุพรครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนทักทายกันครับ และทุกสิ่งทุกอย่างมีไว้แบ่งปันกันครับ ความรู้เป็นสากล ไม่ควรครอบครองไว้คนเดียวครับ

อบรม นปส. รุ่น 58 ครับ เข้ามาอ่านแล้วอดชื่นชมไม่ได้ สงสัยพี่นี่เองครับที่พี่จิ๋ม (ผู้ประสานงานหลักสูตรและดูแลผู้เข้าอบรมที่วิทยาลัยมหาดไทย) กล่าวถึงว่ามีคุณหมอที่สรุปเก่ง...เห็นด้วยครับ มีอะไรที่เป็นประโยชน์ ขอร่วมแชร์นะครับ ขอบคุณครับ

เรียนคุณTriyarithครับ

ขอบคุณที่เข้ามาร่วมแชร์ครับ บรรยากาศของ นปส. 58 คงสนุกสนานไม่แพ้รุ่นที่ผ่านๆมานะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท