ลปรร. ตำบลต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (1) เปิดประชุม


 

ที่มาที่ไปของการจัดการประชุมในครั้งนี้ อาจารย์หมอมนู วาทิสุนทร ได้บอกไว้ว่า

การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เป็นกิจกรรมที่ผู้ดูแล ซึ่งอาจเป็นบุคลากรสาธารณสุข ผู้ให้บริการสังคม หรือ ประชาชนทั่วไป ครอบครัว เพื่อนบ้าน ให้การดูแลผู้ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ให้สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน และอยู่ในสังคมได้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยคำนึงถึงตัวเอง ความเป็นอิสระ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

และเป็นการดำเนินงานตรงตามบริบท ทั่วถึง และเท่าเทียม ครอบคลุมผู้สูงอายุ 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่พึ่งตนเองได้ พึ่งตนเองได้บ้าง และ ผู้สูงอายุที่พึ่งตัวเองไม่ได้เลย

ตำบลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว หมายถึง ตำบลที่มีชมรมผู้สูงอายุผ่านเกณฑ์ชมรมผู้สูงอายุคุณภาพ มีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และมีบริการการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้านอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนมีระบบการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มที่อยู่ที่บ้าน หรือนอนติดเตียง

การประชุมครั้งนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อ สนับสนุนการ ลปรร. ตำบลต้นแบบด้านการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ที่มีการดำเนินกิจกรรม และมีรูปแบบการดูแลที่เหมาะสม ตามวิถีชีวิต และบริบทของท้องถิ่น

วันนี้ มีผู้เข้าประชุม ได้แก่ คณะกรรมการผู้ขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุระยะยาว ผู้รับผิดชอบงานดูแลผู้สูงอายุจากตำบลต้นแบบ จากศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด บุคลากรสาธารณสุข ผู้แทนชมรมผู้สูงอายุ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้ง ผู้แทนองค์กรส่วนท้องถิ่น

ประธานในพิธีเปิดการประชุม คือ นพ.สมพงษ์ สกุลอิสริยาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ค่ะ ... มีข้อคิดดีดี จากพิธีเปิดประชุม ก็คือ

การ ลปรร. ตำบลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว มี 2-3 ประเด็น ก็คือ

ตัวผู้สูงอายุ เนื่องจากการแพทย์ดีขึ้น คนเกิดน้อยลง ทำให้เราได้เปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุ แล้ว ปัจจุบันมีผู้ที่อายุเกิน 60 ปี เกิน 10% ... หมายความว่า ระบบที่จะไปดูแลต่างๆ นั้น ก็คงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม

กรมอนามัยมีการดำเนินงานเกี่ยวกับงานด้านสังคม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เราดูแลเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง มีการจัดบริการให้ ส่วนที่สอง ฝึกผู้เชื่อมโยงระหว่างสถานบริการ ถึงชุมชน คือ อสม. หรือผู้ที่เป็นตัวแทนด้านต่างๆ ที่ต้องมาทำความเข้าใจกัน เพื่อให้เกิดการทำงานที่ยั่งยืนในชุมชน เมื่อสังคมสูงอายุยิ่งมากขึ้น เราก็จำเป็นต้องมีตัวแทนที่จะต้องทำให้เกิดความเชื่อมโยงทั้ง 3 ระบบ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ยั่งยืนในชุมชน

สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ คือ เราไม่ได้มีผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยอย่างเดียว เรามีผู้สูงอายุซึ่งเรียกว่าติดสังคม คือ ยังมีสุขภาพดี อยากช่วยเหลือสังคม กลุ่มนี้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ... ทำอย่างไร จะให้ท่านผู้มีประสบการณ์นี้ สามารถก้าวออกมาช่วยเรา เพราะจะเป็นผู้ที่เข้าใจผู้สูงอายุด้วยกันได้ดีที่สุด

ขณะเดียวกัน กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ติดบ้าน ก็หมายความว่า ยังต้องการการพึ่งพิง ยังต้องการการช่วยเหลือ ที่จะอยู่ในสังคมต่อ แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยคนที่บ้าน เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้ อสม. เอง คนที่บ้านที่เป็นญาติพี่น้องก็ต้องให้ความสำคัญ การจัดสภาพแวดล้อมในบ้าน ก็จะเป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนกลุ่มสุดท้าย ซึ่งเป็นกลุ่มติดเตียง ก็จะหมายถึง มักมีภาระโรคที่เป็นโรคที่ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ กลุ่มนี้จำเป็นต้องอาศัยหลายด้านที่จะช่วยเหลือ เพราะว่าต้องการทุนทรัพย์ ต้องการกำลังใจที่สำคัญ เราถึงได้เกิดในประเด็นที่สอง คือ เรื่องต้นแบบของตำบลที่จะดูแลเรื่องสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว

ตรงนี้ ต้องมีการเชื่อมสัมพันธ์กัน ทั้งระหว่างสถานบริการ ทั้ง อสม. ชุมชน บ้าน และครอบครัว ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ต้องมี 4 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ ตั้งแต่ตัวชมรมผู้สูงอายุต้องมีส่วนที่จะช่วยเหลือ มีมาตรฐานของชมรมฯ ตั้งแต่ มีสมาชิก มีกรรมการ ไปจนถึงมีทุน และเกิดกิจกรรมที่ดี ทั้งด้านกาย ด้านจิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่สำคัญก็คือ เรื่องฟัน หลายครั้งเราจะเห็นได้ว่า ฟันเป็นตัวปัญหาที่ทำให้ผู้สูงอายุเคี้ยวอาหารไม่ได้สะดวก หรือเกิดปัญหาขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงพระราชดำริว่า เมื่อไม่มีฟันก็กินอาหารไม่อร่อย เพราะฉะนั้น การที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุก็ต้องรวมหมดทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ด้านสังคม และรวมถึงด้านฟันด้วย

ขณะเดียวกัน อสม. ก็จะต้องมีความรู้ที่จะช่วยเหลือได้ ด้วยการจัดบริการซึ่งเป็นลักษณะ Home Health Care หรือการเยี่ยมบ้าน หรือการดูแลที่บ้าน ... สำหรับผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพดี ก็มามีส่วนร่วมที่จะช่วยได้

ขณะเดียวกัน การจัดบริการสำหรับผู้ที่ติดบ้าน กับติดเตียง ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้ได้มาตรฐานตำบลต้นแบบ

ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวที่จะต้องเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุทุกท่าน

เพราะฉะนั้น ส่วนที่สาม ในวันนี้ เรามา ลปรร. กัน ... คำว่า ลปรร. ในหลายครั้ง ที่เกิดขึ้นในหลายเวทีก็คือ เวทีนี้ คนนั้นมีปริญญา มีความรู้ เลยมีโอกาสได้พูดคนเดียว จริงๆ ไม่ใช่ อย่างตัวผมเองเป็นหมอสูติ ผมสามารถเล่าเรื่องคลอดให้คนไข้ฟังได้หมด แต่ผมไม่มีประสบการณ์คลอดแน่นอน หลายครั้ง หลายที่ หลายเวที เช่น ตรงเนื้ออาจต้องฟังผู้สูงอายุ เพราะว่า คนที่มีอายุเกิน 60 ปีไปแล้ว ก็จะมีประสบการณ์มากกว่า ... ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญของการ ลปรร.

อีกประเด็นของการ ลปรร. ที่สำคัญคือ บางคนรู้รายละเอียด บางคนมีรูปแบบที่ดีของการจัดการ อาจจะต้องมาแลกเปลี่ยนกัน

วันนี้ มีผู้มาจาก สสจ. อปท. รวมทั้ง ศูนย์อนามัย ก็คงจะได้แลกเปลี่ยนทั้งความรู้ และประสบการณ์ รูปแบบการดำเนินงาน ซึ่งอาจจะต้องปรับไปใช้ในพื้นที่ ผมยืนยันว่า การ ลปรร. นั้น จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมของเวทีที่ประชุม แต่การร่วมนั้น ไม่ได้หมายถึงว่า ทุกคนจะต้องพูดแสดงความคิดเห็น แต่ทุกคนอาจจดจำสิ่งดีดี จากตรงนี้ ไปปรับใช้ในพื้นที่ของเรา ตรงนี้จะเป็นการ ลปรร. ที่สำคัญ

หัวใจตรงนี้ ก็จะอยู่ที่ทุกคน

รวมเรื่อง ลปรร. ตำบลต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว

 

หมายเลขบันทึก: 383200เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2010 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

   สวัสดีค่ะเพื่อนร่วมทาง

    ขออนุญาตมาร่วมเสวนาด้วยคนนะคะ จะได้นำไปปรับใช้ค่ะ

  • P
  • ยินดีค่ะ คุณยาย เอาไปปรับได้เต็มที่เลย
  • อย่าลืมเรื่องสุขภาพช่องปาก แถมไปด้วยนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท