Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แนวคิดเรื่องสัญชาติไทย : สินค้านำเข้าจากโลกตะวันตก ????


เมื่อเราจะต้องกล่าวถึง “สัญชาติไทย” เราจึงต้องเล่าถึง “กฎหมายจารีตประเพณีของรัฐไทย” ที่ว่าด้วย “ความเป็นไทย (thainess of people)” ในยุคแรกๆ ที่แนวคิดว่าด้วยรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย
        แนวคิดเรื่องสัญชาติ (Nationality) เป็นแนวคิดที่นำเข้ามาในประเทศไทย   สังคมไทยในยุคก่อนการคบค้าสมาคมกับโลกตะวันตก ไม่รู้จักแนวคิดเรื่องสัญชาติไทย   
        เราพบคำว่า "สัญชาติไทย" เป็นครั้งแรกใน พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งประกาศใช้โดยในหลวงรัชกาลที่ ๖ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ในหลวงพระราชทานให้แก่สังคมไทย มิใช่กฎหมายที่มาจากการทำงานของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาไทยเพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงใน พ.ศ.๒๔๗๕ 
         เมื่อเราจะต้องกล่าวถึง “สัญชาติไทย” เราจึงต้องเล่าถึง “กฎหมายจารีตประเพณีของรัฐไทย” ที่ว่าด้วย “ความเป็นไทย (thainess of people)” ในยุคแรกๆ ที่แนวคิดว่าด้วยรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย
 สัญชาติไทยในยุคแรก : ตั้งแต่ต้นประวัติศาสตร์ของรัฐไทย จนถึงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖
- พัฒนาการของกฎหมายสัญชาติในยุคนี้
สำหรับความเป็นคนไทยนั้น เชื่อกันว่า น่าจะมีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งถือว่า เป็นสมัยดั้งเดิมของประเทศไทย ไม่ใช่เพิ่งจะมาเกิดขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งถือว่า เป็นยุคที่ ๔ ของประเทศไทย[1]   
        การจำแนกประชากรในยุคก่อน  พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นไปโดยหลักสืบสายโลหิต กล่าวคือ คนไทยย่อมหมายถึงคนที่มีบิดามารดาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย  ความเป็นไทยที่รู้จักในสังคมไทยดั้งเดิมเป็นเรื่องทางสังคม มิใช่เรื่องทางการเมือง
      โดยพิจารณากฎหมายจารีตประเพณีไทยในเรื่องความเป็นคนไทย ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๖ เรียกว่า “มูลนิติธรรมประเพณี” เราพบว่า ความเป็นคนไทยเกิดขึ้นใน ๓ สถานการณ์ กล่าวคือ (๑) คนไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา (๒) คนไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา และ (๓) คนไทยโดยพระบรมราชโองการ
            ขอให้สังเกตว่า ความเป็นไทยสองลักษณะแรกเป็นไปโดยการเกิดและเป็นเรื่องของกฎหมายธรรมชาติ  ส่วนความเป็นไทยในลักษณะที่สามนั้นเกิดขึ้นโดยกฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้น
             เราสรุปกันว่า ความเป็นไทยที่เข้าใจในสังคมไทยก่อนที่จะรับกฎหมายจากโลกตะวันตกนี้ เป็นแนวคิดเดียวกับสิ่งที่โลกตะวันตกเรียกว่า “สัญชาติ
            จะเห็นว่า สำหรับความเป็นไทยโดยพระบรมราชโองการนั้น[2][ ก็คือความเป็นไทยโดยการแปลงสัญชาตินั่นเอง แต่เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นว่า มีคนต่างด้าวจำนวนมากที่ประสงค์จะแปลงสัญชาติเป็นไทย จึงทรงโปรดให้กระทรวงการต่างประเทศ[3]  เข้ามารับผิดชอบในการอนุญาตการแปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าว ทั้งนี้ โดยทรงพระราชทาน พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔)
            โดยผลของกฎหมายฉบับนี้ การแปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าวอาจเป็นไปได้ใน ๖ สถานการณ์ กล่าวคือ
(๑) คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะแล้วและมีความกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว[5]
(๒) คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะแล้วและทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย[6]
(๓) คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะแล้วที่เคยมีสัญชาติไทย[7] 
(๔) คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะแล้วซึ่งมีบุพการีเป็นคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ[8]
(๕) คนต่างด้าวซึ่งเป็นภริยาของชายต่างด้าวที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทย[9] และ
(๖) คนต่างด้าวที่เป็นผู้เยาว์และมีบิดาซึ่งได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย[10]
          ขอให้สังเกตว่า สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติใน ๔ กรณีแรกเป็นเรื่องที่ต้องร้องขอให้รัฐบาลอนุญา ในขณะที่สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติใน ๒ กรณีหลังเกิดขึ้นโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายขอให้สังเกตว่า
            โดยหลักการ คนต่างด้าวที่จะมีสิทธิร้องขอสัญชาติไทย ก็คือ คนต่างด้าวที่มีความกลมกลืนกับสังคมไทย หรือมีศักยภาพที่ชัดเจนว่า ย่อมจะต้องมีความกลมกลืนกับสังคมไทยอย่างแน่นอน

[1] เชื่อกันว่า  โดยทั่วไป มีด้วยกัน ๔ ยุค กล่าวคือ (๑) สมัยสุโขทัย อันเป็นยุคที่มีสุโขทัยเป็นเมืองหลวง (๒) สมัยอยุธยา อันเป็นยุคที่มีอยุธยาเป็นเมืองหลวง (๓) สมัยธนบุรี อันเป็นยุคที่มีธนบุรีเป็นเมืองหลวง และ (๔) สมัยรัตน์โกสินทร์ อันมี กทม. เป็นเมืองหลวง
[2] ตัวอย่างของกรณีนี้ ก็คือ นายฟอนสแตนตินส์ ฟอร์คอน คนกรีกซึ่งเข้ามาในประเทศไทยในสมัยอยุธยา และได้รับพระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์ให้มีสถานะเป็นคนไทย และมีฐานันดรศักดิ์เป็นขุนนางไทย โดยพระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาวิชชาเยนทร์”
[3]  แต่ในปัจจุบัน ผู้รักษาการตามกฎหมายสัญชาติ ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มิใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
[4] ซึ่งมีผลในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๔ จนถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๕
[5] มาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐
[6] มาตรา ๗ (๑)  แห่ง พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐
[7] มาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐
[8] มาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐
[9] มาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐
[10] มาตรา ๑๓ แห่ง พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐
หมายเลขบันทึก: 38311เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2006 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 00:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งทราบนะคะว่าเรามีแนวคิดเรื่องสัญชาติเหมือนกัน

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท