เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว ตอนที่ 9 ฝึกการแสดงเป็นทีมแบ่งบทบาทหน้าที่


นักแสดงบางคนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนบุคลิกได้เลย แล้วครูผู้ควบคุมดูแลจะทำอย่างไร วงเพลงจึงจะไปรอด

เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว

จากจุดเริ่มต้นจนถึงขั้น

การแสดงอาชีพ

ตอนที่ 9 ฝึกการแสดงเป็นทีมแบ่งบทบาทหน้าที่                

โดย ชำเลือง มณีวงษ์  กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว

เครือข่ายนันทนาการต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1

        ถ้าจะพูดว่า การแสดงเพลงอีแซวเป็นการแสดงอย่างมหรสพ จะแตกต่างจากการพูดว่า การแสดงเพลงอีแซว เพราะการแสดงเพลงอีแซว จะแสดงอย่างไร ผู้ที่ทำหน้าที่ฝึกหัดจะมีพื้นฐานมาจากไหน เคยเล่นเพลงหรือไม่เคย คงไม่ใช่สิ่งที่จะต้องนำเอามาบอกล่าวกัน  แต่ถ้าจะฝึกหัดเยาวชนให้แสดงเพลงอีแซวอย่างมหรสพ หรืออย่างมืออาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืนยาวนานละก็ต้องคิดให้มาก

        การแสดงอย่างมหรสพ ผู้แสดงจะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ สร้างสรรค์ความสนุกสนานและความบันเทิงแก้ท่านผู้ชมตลอดเวลาที่ได้รับมอบหมาย ถ้าเป็นงาน 1 คืน ก็จะต้องทำการแสดง 3-4 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น แต่ถ้าเป็นงานประชุม อบรม สัมมนา หรือช่วงเวลารับประทานอาหารจะต้องแสดงตามสาระที่ทางเจ้าภาพกำหนดมาให้ในช่วงเวลาสั้น ๆ  บทบาทหน้าที่สำคัญของนักแสดงที่จะต้องกระทำในการแสดงครั้งหนึ่ง ๆ คือ จะต้องมีผู้กำกับเวที จะต้องมีผู้แสดงนำ (ตัวเด่น) จะต้องมีผู้แสดงประกอบ จะต้องมีผู้ให้จังหวะ (ถ้าจำเป็น) บางครั้งจะต้องมีผู้ควบคุมระบบเสียง และจะต้องมีคนที่คอยกำกับฉาก (เปลี่ยนฉาก)

        การแสดงเป็นทีมจัดเป็นองค์รวมของความสามารถจะต้องมีการเตรียมพร้อม ในเรื่องของการแต่งกาย ถึงแม้ว่าเพลงอีแซวจะแต่งกายเรียบง่าย แต่หน้าตาของนักแสดงจะต้องถูกจัดระเบียบให้ดูแล้วน่ารัก สวยงาม ชวนมอง เสื้อผ้านุ่งเรียบร้อย จะต้องคอยระวังตลอดการแสดงมิให้หลุด ย่น หย่อน ยาน ไหลลงไปได้ (เรื่องนี้ต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ) นักแสดงทุกคนจะต้องมีอุปกรณ์แต่งหน้า เขียนคิ้ว ทาปาก แต่งทรงผม ขนตา ฯลฯ เป็นของตนเอง ยิ่งมีชุดสวมใส่แสดงเป็นของตนเองยิ่งดี เป็นความถูกต้องที่สุด เราต้องฝึกกันตั้งแต่การแต่งตัว แต่งหน้าตา เครื่องประดับมาจนถึงคิวการแสดงตามบทบาทที่รับผิดชอบ

          

         

         

        การเข้าสู่ระยะของการฝึกการแสดง (แสดงให้ผู้อื่นชม) จะต้องสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ สนุกสนาน สงบ ศรัทธา หรือมีหลาย ๆ อารมณ์ในการแสดง 1 ครั้ง การฝึกซ้อมมีความสำคัญมาก เพราะกว่าที่นักแสดงแต่ละคนจะผ่านการฝึกฝนมาแต่ละขั้นแต่ละตอนต้องใช้ความพยายามจนถึงมารวมตัวกันเป็นคณะ เป็นทีมการแสดง สิ่งจะต้องจัดเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าคือ บทร้อง (เนื้อหา มี 5 ตอน)

        1. บทร้องเพลงอีแซว ตามเวลาที่กำหนด เช่น ทำการแสดง 30 นาที จะต้องมีบท ประมาณ 8-9 หน้า กระดาษ A4 โดยประมาณ หน้าละ 33 บรรทัดหรือขนาดตัวอักษร 16 แต่ถ้าการแสดงเป็นงานเล่นทั้งคืน (เต็มเวลาการแสดงมหรสพ) โดยประมาณ 3-4 ชั่วโมงก็จะต้องมีบทแสดงประมาณ 50-60 หน้า กระดาษ ที่จะต้องระมัดระวังมากอีกอย่างคือ บทที่ใช้ในการแสดงจะต้องเกี่ยวข้องกับงานนั้น ๆ ด้วย

        2. สถานที่ฝึกซ้อม อาจใช้ห้องปฏิบัติการหรือลานกว้าง ๆ เป็นที่รวมนักแสดง สำหรับวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ เรามีห้องศูนย์ฝึก ซึ่งจัดเป็นสถานที่ฝึกซ้อมเพลงพื้นบ้าน มีบรรยากาศที่เหมือนกับเวทีการแสดง

        3. มีเครื่องขยายเสียง ไมโครโฟน ที่สามารถควบคุม บังคับให้เสียงที่ร้องออกมาให้มีความไพเราะมากยิ่งขึ้น

        4. มีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องทำจังหวะ ได้แก่ กลอง ฉิ่ง และกรับ

        5. จัดทำตารางนัดหมาย วัน เวลาทำการฝึกซ้อมการแสดงเป็นทีมอย่างชัดเจนและแจ้งให้นักแสดงทุกคนได้รับทราบ

        การฝึกกาสรแสดงเป็นทีม มีความจำเป็นมากที่ผู้แสดงทุกคนจะต้องมารวมตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยจัดแบ่งหน้าที่บนเวทีการแสดง ดังนี้

        1. หน้าที่ร้องนำ เป็นผู้แสดงหลัก เดินเรื่อง มีความสำคัญในบทร้องมากกว่าผู้อื่น แบ่งออกเป็นฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง เรียกว่า “คอต้น”

        2. หน้าที่ลูกคู่ ร้องรับ ตอนลงเพลง รำประกอบและการแสดงประกอบบทร้องอย่างมีความหมาย

        3. หน้าที่พูด สนทนา เจรจากับผู้ชม และการเจรจาระหว่างนักแสดงด้วยกัน

        4. หน้าที่เป็นผู้ให้จังหวะ กลองหรือตะโพน ฉิ่ง และกรับ

        5. หน้าที่จัดเตรียมอุปกรณ์การแสดง ฉากเวที เครื่องเสียง และอื่น ๆ

เมื่อสมาชิกทุกคนได้รับรู้หน้าที่ก็จะมาถึงการรับบทบาทหน้าที่ทำการแสดง ใครเป็นอะไร ตามที่บทกำหนดมาให้ ศึกษาบทร้องของตนเองให้จำได้อย่างแม่นยำ

         

         

         

          

            

การฝึกซ้อมจะเริ่มขึ้นโดย มีขั้นตอน ดังต่อไปนี้

        1. นักแสดงทั้งทีมนั่งเป็นวงกลมศึกษาทำความเข้าใจบทร้อง ช่วยเหลือกัน รับทราบบทบาทหน้าที่ในการแสดงครั้งนี้ มีหน้าที่ร้อง แสดงประกอบ ทำท่าทางตามบทเพลง หรือทำหน้าที่ให้จังหวะ

        2. ยืนร้อง นักร้องนำอยู่แถวหน้า ลูกคู่อยู่แถวหลัง โดยร้องตามบท (ดูบทที่เตรียมไว้) ผู้แสดงประกอบ หรือลูกคู่ทำหน้าที่ร้องรับและแสดงท่าทางประกอบ

        3. ฝึกซ้อมการแสดงโดยร้องกับจังหวะดนตรีและใช้ความจำ (ไม่ดูบทร้อง) ฝึกทำท่าทางให้ได้อารมณ์ตามบทเพลง

        4. ฝึกซ้อมการแสดงทั้งร้อง รำทำท่าทางและพูดเจรจาครบทุกอย่าง ให้มีความลื่นไหลอย่างต่อเนื่องและฝึกซ้ำหลายครั้งเพื่อให้ไม่มีที่สะดุดในระหว่างทำการแสดง และพยายามหาจุดเด่นมาย้ำหรือเน้นให้เกิดความโดดเด่นชัดเจน

        5. ทบทวนการเดินบทและเจรจาที่มีความต่อเนื่อง ปรับแก้ไขส่วนที่มีความบกพร่องหรือจุดด้อยในการร้อง การพูด การให้จังหวะ และที่จะต้องเน้นมากคือ การแสดงประกอบบทร้อง ผู้แสดงจะต้องทำหน้าที่ให้ผู้ชมเห็นภาพและมีความสุขในการชมการแสดง ครูผู้ควบคุมจะต้องคอยกำกับดูแลไม่ให้คลาดสายตา

                        

                         

        ปัญหาและข้อบกพร่องที่พบมาก ในการจัดการแสดงเป็นทีม หรือในวงเพลง 1 วง คือ ความสามารถและคุณสมบัติของผู้แสดงทั้งวงไม่เท่ากัน บางคนรูปร่างหน้าตาดี แต่งตัวขึ้นดูแล้วโดดเด่น เสียงดี ลีลาสวยงาม ท่าทางอ่อนไหวให้ความสนุกมีชีวิตชีวาด้านหน้าเวที  แต่ในทางกลับกันก็ยังมีนักแสดงที่แต่งอย่างไรก็ไม่น่าดู เสียงร้องก็พอไปได้ เสียงไม่ดี ลีลาท่าทางก็เฉื่อย ๆ ไม่เร้าใจ ตรงนี้ที่จะต้องทำการพัฒนาและจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เพราะนักแสดงบางคนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนบุคลิกได้เลย  แล้วครูผู้ควบคุมดูแลจะทำอย่างไร วงเพลงจึงจะไปรอด

ติดตาม ตอนที่ 10 วิธีพัฒนาไปสู่ความสามารถที่สูงขึ้นจนมีมาตรฐาน                

หมายเลขบันทึก: 382887เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท