เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว ตอนที่ 8 ฝึกให้จังหวะกลอง ฉิ่ง กรับ


ขัดแย้งเลยสำหรับวงเพลงที่จะมีการนำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ผสมผสานซึ่งในวงเพลงอาชีพเขาก็ใช้กันมานานแล้วเช้นกัน

เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว

จากจุดเริ่มต้นจนถึงขั้น

การแสดงอาชีพ

ตอนที่ 8 ฝึกให้จังหวะกลอง ฉิ่ง กรับ                

โดย ชำเลือง มณีวงษ์   กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว

เครือข่ายนันทนาการต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1

          ในแต่ละช่วงแต่ละตอนของบทความ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในวันนี้ มีครูสอนเพลงอีแซวจำนวนมากที่กำลังตั้งใจทำหน้าที่ขยายผลจากความรู้ความสามารถของท่านไปยังลูกศิษย์หรือเยาวชนที่สนใจเพลงอีแซว โดยที่ท่านอาจไม่ทราบเลยว่าสิ่งที่ได้ขยายผลไปนั้นอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือท่านอาจไม่ทราบที่ไปที่มาที่แท้จริงในสิ่งนั้น ๆ เลยก็เป็นได้ ผมจึงขอนำเอาประสบการณ์ที่ผมได้รับความรู้จากครูเพลงและบนเวทีการแสดงยาวนานกว่า 40 ปี มาเขียนในบทความตอนที่ 8 นี้ ให้ชื่อตอนว่า ฝึกให้จังหวะกลอง ฉิ่ง กรับ

          เมื่อครั้งที่ผมเริ่มฝึกหัดเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ กับป้าอ้น จันทร์สว่าง ป้าเล่าให้ผมฟังว่า “สมัยก่อนเล่นเพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงพวงมาลัย ไม่มีเครื่องให้จังหวะ ใช่วิธีปรบมือเอา คนเล่นนั่นแหละช่วยกันปรบมือ” ต่อมามีการนำเอาไม้ไผ่ตัดเป็นปล้อง ๆ เรียกว่า กระบอก ใช้ไม้มาเคาะให้ดังเป็นจังหวะใช้อยู่นานกว่าที่จะมีคนนำเอากรับเข้ามาใช้ตีให้ดังเป็นเสียงประกอบการร้องและฉิ่งมาทีหลังกรับ ในยุคนั้นก็ใช้ปรบมือ ตีกรับและฉิ่งประกอบการเล่นเพลงอีแซว

          ผมมีประสบการณ์ในการแสดงมาตั้งแต่อายุ 18 ปี (รับราชการใหม่ ๆ) ยังจำภาพของครูเพลงที่ท่านเล่นกันในช่วงเวลานั้น ป้าอ้น จันทร์สว่าง  ป้าทรัพย์ อุบล ต่างก็มีฉิ่งประจำตัวไปเล่นที่ไหนก็นำฉิ่งของตนเองติดไปด้วย เวลาร้องเพลงอีแซวร้องไปมือก็ตีฉิ่งไปด้วย โดยเป็นนักดนตรีให้จังหวะไปในตัวเลย

          ย้อนหลังกลับไปในปี พ.ศ.2525 ผมและชาวบ้านเป็นตัวแทนของอำเภอดอนเจดีย์เข้าร่วมประกวดเพลงอีแซว ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี และวงเพลงอีแซวของอำเภอดอนเจดีย์ซึ่งมีผมเป็นพ่อเพลง ได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศของจังหวัดและเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง ในคืนวันนั้น วงเพลงที่ขึ้นไปประกวดจะต้องจับสลากหัวข้อเรื่องที่โต๊ะคณะกรรมการ จับได้เรื่องอะไรก็แสดงเรื่องนั้น ร้องให้ตรงกับเรื่องที่จับสลากได้ เรียกว่า “ร้องด้นสด” สำหรับเครื่องดนตรีที่พวกเรานำเอาไปใช้ให้จังหวะ ได้แก่ กลองทอม ฉิ่ง ฉาบ และกรับ ส่วนวงอื่น ๆ เขาใช้กลองทอม กลองชุด รำมะนา กลองแขก ตะโพน แล้วแต่ว่า วงใครมีเครื่องมือชนิดใดก็นำเอามาใช้ได้

          อีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2537 ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดการประกวดเพลงอีแซว ในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี ในปีนั้นหาวงเพลงเข้าร่วมงานยากมาก ของผมมี 1 วงจะไปหาวงที่ 2 และ 3 มาจากไหนยังไม่มีใครเขาฝึกเด็ก ๆ กัน และยิ่งต้องหาวงเพลงในระดับชั้นประถมศึกษามาเข้าร่วมประกวดด้วยยิ่งยากมาก การแสดงประกวดบนเวทีในปี 2538 จึงกำหนดกันว่า เครื่องดนตรีจะใช้กลอง ตะโพน หรืออย่างอื่นก็ได้ หรือจะใช้ซาวด์อัดเสียงจังหวะมาเปิดประกอบการร้องก็ได้

          ย้อนหลังหลับไปประมาณ ปี พ.ศ.2505 ถ้าจะคลาดเคลื่อนไปก็ ปีสองปี ผมได้ไปดูเพลงอีแซวคณะครูไสว วงษ์งาม เล่นที่หน้าศาลเจ้าพ่อต้นแค ที่สะพานสวนสัก อำเภอศรีประจันต์ ผมยังประทับการเล่นเพลงของนักแสดงทุกคน มีพ่อไสว แม่บัวผัน น้าปาน และอีกหลายคน ผมดูว่าไม่มีตะโพนหรือกลองให้จังหวะเลย เห็นมีแต่ฉิ่งและกรับเท่านั้น นักแสดงปรบมือด้วย ตีฉิ่งด้วย ตีกรับด้วย เขาไม่ได้แยกว่า เป็นนักดนตรีทำหน้าที่ให้จังหวะ แต่เป็นผู้แสดงนั่นแหละที่ทำหน้าที่ตีฉิ่ง ตีกรับไปด้วย บางคนก็ปรบมือให้จังหวะ บางคนก็วาดลวดลาย ทำท่าทางน่าหัวเราะ ขบขันในลีลาการร้อง การเล่นเพลงของท่าน

          ผมได้ถามพี่เกลียว เสร็จกิจ, พี่สุจินต์ ชาวบางงาม เมื่อปลาย ปี พ.ศ.2537 ทั้ง 2 ท่าน เป็นศิลปินผู้ที่มีชื่อเสียงและคร่ำหวอดอยู่กับการแสดงเพลงอีแซวมานานมาก ท่านบอกว่า ตะโพนมาทีหลัง โดยครูไสว วงษ์งาม นำเอาเข้ามาใช้ในการแสดงเพลงอีแซว ประมาณ ปี พ.ศ. 2524 ครูไสวคิดว่า เพลงฉ่อยยังสามาถนำเอาวงดนตรีไทยมาใช้ร่วมได้ ท่านจึงนำเอาตะโพนมาใช้ประกอบจังหวะ และยังคงมีฉิ่ง มีกรับร่วมอยู่ด้วย ถ้าจะพูดให้ชัดเจนลงไปก็คือ ตะโพนลูกนั้น ในวันนี้ พี่สุจินต์ ชาวบางงามยังคงเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี และนำเอามาใช้ในการแสดงซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 บนเวทีศิลปวัฒนธรรม งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ ซึ่งในคืนนั้นก็มีผมร่วมแสดงอยู่ด้วย           

           

            

           

           

           

          จะเห็นได้ว่า ในความเป็นจริงเรื่องของเครื่องให้จังหวะมีที่มาที่ไป นักเพลงรุ่นเก่า ๆ เขาไม่ได้ตีกรอบตายตัวในสิ่งที่ท่านได้สร้างสรรค์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงพื้นบ้านประเภทใด ๆ จะเปิดกรอบให้ผู้แสดงสามารถที่จะนำเอาความสามารถที่ตนเองถนัดมาใช้ในการแสดงได้ เครื่องดนตรีและอุปกรณ์ในการแสดงก็เช่นเดียวกัน ใครมีอะไรก็นำเอามาเล่น ไม่มีการกำหนดอย่างตายตัว นี่คือเสน่ห์ของเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น

          แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจทั้งตามโรงเรียนไปจนถึงสถานศึกษาในระดับสูง ยังคงยืนยันในการใช้เครื่องทำจังหวะว่า “ต้องใช้ตะโพนไทย ตีหน้าทับลาวและจะต้องตีตามตัวโน๊ตเท่านั้น”  ถ้าจะยุ่งเสียแล้ว ดูเหมือนว่าจะทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นยากมากขึ้นไปอีก คุณครูที่ทำหน้าที่ฝึกหัดนักเรียนเล่นเพลงอีแซวบางท่านยังคงยืนยันว่า “เพลงอีแซวจะต้องเล่นกับตะโพนเท่านั้น ถ้าใช้อย่างอื่นก็ไม่ใช่เพลงอีแซว” ผมได้ฟังกับหูแล้วทำให้งงซ้ำซ้อนมากเข้าไปอีก ความจริงหากเราไม่รู้จริง ๆ ก็น่าที่จะศึกษาหรือหาข้อมูลที่ชัดเจนเสียก่อนค่อยแสดงความเห็น เพราะมิฉะนั้นจะเป็นการเป็นผู้กำหนดวิธีการ ที่เป็นของตนเองมิใช่มรดกทางปัญญาของชาวบ้านที่มีมายาวนาน

          การให้จังหวะตะโพนก็เช่นกัน ครูบางท่านสอนให้เด็ก ๆ ตีตะโพนด้วยมือเพียงข้างเดียว ส่วนมืออีกข้างคอยตีหน้าตะโพนข้างใหญ่เมื่อตอนลงเสียงทั่มเท่านั้น ครูศิริ ครูภูมิปัญญาด้านดนตรีไทยสอนวิธีตีตะโพนที่ถูกต้องให้ผมมาเมื่อ ปี พ.ศ.2541 ตอนนั้นท่านสอนเด็ก ๆ อยู่ที่วัดหนองผักนาก ท่านแนะนำว่าตีตะโพนจะต้องใช้ทั้ง  2 มือ ตีให้สัมพันธ์กัน ท่านมีความสามารถตีตะโพนได้

ถึง 17 เสียง ได้ฟังเพลินไปเลย (ท่านเก่งมาก) นักแสดงชาวบ้านที่เป็นเจ้าของเพลงอีแซวหลายท่าน อย่างพี่โชติ สุวรรณประทีปจะบอกว่า จังหวะที่ใช้ในการเล่นเพลงอีแซว ตีจังหวะสนุก ๆ ผสมผสานกันก็ได้ (ความจริงเป็นอย่างนั้น)

                       

          วิธีการฝึกให้จังหวะด้วยกลอง (ตะโพน) ฉิ่ง และกรับ มีดังนี้

          1. วิธีการตีตะโพน ให้ผู้ที่ทำหน้าที่ตีตะโพนนั่งขัดสมาธิ ตัวตรง เท้าทั้ง  2 ข้างยันขาตะโพนเอาไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว นั่งตัวตรง ยกมือทั้งสองขึ้นมาในระดับตรงหนังหน้าตะโพนทั้ง 2 ข้าง (ข้างใหญ่ให้เสียงต่ำ ข้างเล็กให้เสียงสูง) เริ่มตีโดย

               1.1 ตีจังหวะ 1 2 หนึ่งสองไปเรื่อยๆ หนึ่งลงที่หน้าเล็ก สองที่หน้าใหญ่

               1.2 ตีจังหวะตามเสียงนับ 1 2 1 1 / 1 2 1 2 (ไม่ได้ตีตามโน๊ต) ตีต่อไปจนได้เสียงที่ฟังไพเราะและจังหวะเรียบ สม่ำเสมอ

               1.3 ตีตามเสียงพูดจังหวะ  ติง โจ๊ะ ติง ติง   ติง ทั่ม ติง ทั่ม  ตีวนไปหลาย ๆ รอบ จนได้เสียงที่ไพเราะสม่ำเสมอ ในระหว่างที่ตีตะโพนจะต้องคลำหาตำแหน่งที่มือสัมผัสหน้าตะโพนแล้วไกเสียงที่ไพเราะด้วย

               1.4 เมื่อมีความคล่องตัวแล้ว เพลงเดินเรื่องตีอย่างหนึ่ง เพลงปะทะคารมตีอย่างหนึ่ง เช่น ต้องมีลูกเล่น มีลูกขัด มีจังหวะค้างแล้วมาลงจังหวะยืนพื้น อย่างนี้จะทำให้การร้องการเล่นเพลงอีแซวเกิดรสชาติ สนุกสนานไปตามอารมณ์เพลง

          2. วิธีการตีฉิ่ง นั่งให้ตัวตรง มือทั้ง 2 ข้างจับฉิ่งให้มั่นด้วยนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ มือหนึ่งจับฉิ่งหงายขึ้น และอีกมือจับฉิ่งคว่ำลง ตีจังหวะ  1 2 วนไปเรื่อย ๆ เมื่อตีจังหวะที่ 1 ให้ฉิ่งอันบนกระทบฉิ่งอันล่างที่ขอบริมและเปิดนิ้วมือขึ้น จะได้เสียง “ฉิ่ง”  ตีจังหวะที่ 2 ให้ฉิ่งอันบนกระทบฉิ่งอันล่างเต็มทั้งฝาจะได้เสียง “ฉับ” เพลงอีแซวร้องเร็ว ตีฉิ่งจังหวะเร็ว “ชั้นเดียว”

          3. วิธีการตีกรับ กรับทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มี 2 อัน ถือด้วยมือทั้ง 2 ข้างโดยคว่ำมือข้างหนึ่งและหงายมืออีกข้างหนึ่ง ตีกรับตอนที่ฉิ่งลงจังหวะ 2 หรือเสียงฉับ โดยให้หน้าไม้กระทบกันด้านแบนเรียบ หากตีกระทบด้านเหลี่ยม ไม้จะแตก หัก บิ่นง่าย กรับก็จะชำรุดเร็วมากยิ่งขึ้น

          เครื่องดนตรีทั้ง 3 ชนิดนี้ คือ กลอง (ตะโพน) ฉิ่ง และกรับให้เสียงแตกต่างกัน  ตะโพน ให้เสียงต่ำ  กรับ ให้เสียงกลาง และฉิ่ง ให้เสียงสูง เมื่อนำเอามาให้จังหวะผสมผสานกันจึงเกิดความไพเราะน่าฟัง ผู้ให้จังหวะควรที่จะฝึกใช้เครื่องดนตรีทั้ง 3 ชนิด ให้ได้ด้วย

          สำหรับวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ผมนำเอาเครื่องให้จังหวะหลายชนิดมาใช้บนเวทีการแสดง มีทั้งเครื่องหนังและเครื่องไฟฟ้า มีทั้งตะโพน รำมะนา กลองบองโก้ โทน ฉิ่ง ฉาบ และกรับ ทั้งนี้เพราะผมได้รับประสบการณ์ตรงจากบนเวที ในระยะแรก ๆ ก็ใช้ตะโพน พอตกดึก ๆ น้ำค้างลงมีปัญหาหนังหย่อน ตีแล้วได้เสียงไม่เพราะ ผมก็เปลี่ยนมาใช้กลองบองโก้ แต่ก็ไม่วายที่เมื่อโดนน้ำค้างหนังหย่อนอีกถึงจะใช้ไดรว์เป่าให้ตึงหรือขันน๊อตตั้งให้ตึงก็อยู่ได้ไม่นาน ถึงขั้นใช้น้ำมันพร้าวทาก็ไม่ได้ผล จึงต้องหันมาใช้กลองไฟฟ้าที่ให้เสียงเหมือนกลองชุด ตั้งเสียงได้บล็อกละ 100 เสียง (มีเสียงให้เลือกมากว่ากลองชุด) แต่ก็ยังมีผู้ตำหนิว่า เอาอะไรมาตี “ดังกะป้อง กะแป้ง” ความจริงดังไพเราะกว่าที่หูท่านได้ยินมาก เพราะผมนำเอาไปใช้งานแสดงมาแล้ว มากกว่า 500 งาน

          ในส่วนตัวของผม และจากประสบการณ์ที่เล่นเพลงพื้นบ้านมานาน ผมยอมรับได้กับเครื่องให้จังหวะในเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ เพราะผมหัดเพลงมากับจังหวะการปรบมือจึงไม่มีข้อเสนอที่ขัดแย้งเลยสำหรับวงเพลงที่จะมีการนำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ผสมผสานซึ่งในวงเพลงอาชีพเขาก็ใช้กันมานานแล้วเช้นกัน

ติดตาม  ตอนที่ 9 ฝึกการแสดงเป็นทีมแบ่งตามบทบาทหน้าที่                

หมายเลขบันทึก: 382885เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท