เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว ตอนที่ 7 ฝึกหัดพูดหรือเจรจาไขปัญหาแบบชวนหัว


พูดหรือเจรจาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการฝึกฝนจนเข้าใจ มีความคล่องแคล่วจึงจะทำให้การแสดงมีรสชาติ

เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว

จากจุดเริ่มต้นจนถึงขั้น

การแสดงอาชีพ

ตอนที่ 7 ฝึกพูดหรือเจรจาไขปัญหาแบบหาชวนหัว

โดย ชำเลือง มณีวงษ์   กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว

เครือข่ายนันทนาการต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1

        การแสดงเพลงพื้นบ้านทุกชนิดที่เป็นการแสดงอย่างมหรสพในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลำตัด เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลิเก ฯลฯ คำพูดและการเจรจามีความสำคัญต่อการแสดงมาก นอกจากจะเป็นการปูพื้น เดินเรื่อง สร้างความเข้าใจให้กับท่านผู้ชมแล้ว การพูดจาในระหว่างการแสดงยังสามารถสอดแทรกคำพูดขบขันชวนให้สนุกสนาน เฮฮา หัวเราะได้อีกด้วย

        แต่คำพูดที่จะนำเอามาใช้ในระหว่างการแสดง จะต้องผ่านการเขียนเป็นบทและผ่านการฝึกซ้อมตามคิวการแสดง มีการรับ ส่งคำพูดกันอย่างเลื่อนไหลไม่ขาดตอน และเมื่อมีคำพูดในคิวการแสดงมาก ๆ ก็จะสามารถพูดสดได้โดยไม่ต้องท่องบทพูด แต่ในตอนเริ่มต้นคงจะต้องมีการเขียนบทเอาไว้ล่วงหน้าก่อน

        การพูดก่อนที่จะเริ่มการแสดงหรือคำพูดประโยคแรก สามารถใช้คำพูดที่อิสระได้ แต่คำพูดในระหว่างที่ทำการแสดงจะต้องมรที่มาที่เชื่อมโยงกันได้ หรือมาจากประเด็นปัญหาที่เป็นข้อสงสัยจำเป็นที่จะต้องอธิบาย ขยายความให้กระจ่างแจ้ง หรือเข้าใจกันดีจึงต้องหยุดการร้อง เพื่อทำการเจรจากันในประเด็นนั้น ๆ เสียก่อน

        

        

        

        ถ้าท่านสังเกตการณ์แสดงเพลงพื้นบ้านใน 1 ตอน (1 รอบการแสดง) จะพบว่า การร้องกับการพูดเจรจาจะพอ ๆ กัน โดยมีการร้อง พูดสลับสับเปลี่ยนกันไปตามช่วงจังหวะที่เหมาะ สร้างความเข้าใจ เรียกเสียงหัวเราะจากท่านผู้ชมได้เป็นระยะ ๆ หากการแสดงมีแต่เสียงร้องตลอดก็จะไม่เกิดรดชาด และถ้าการแสดงมีแต่คำพูดเพียงอย่างเดียวก็ขาดสีสันของเพลงพื้นบ้าน แต่ถ้าผสมผสานกันระหว่างร้องกับพูดได้อย่างเหมาะสมก็จะทำให้การแสดงเป็นที่น่าสนใจ น่าติดตาม เพราะในแต่ละปมปัญหาเมื่อได้มีการอธิบายคลายปม เรียกเสียงเฮฮาตามมาอย่างสุขใจ คาดไม่ถึง

        คำพูดของนักแสดงเยาวชนในวันนี้ พบว่าวงเพลงอีแซวหลายวง เด็ก ๆ ได้รับการฝึกฝนให้แสดงออกทางการพูดจาหลายรูปแบบดังนี้

        - บางวงเพลงฝึกให้เด็กนักแสดงพูดเหน่อตามแบบภาษาถิ่น

        - บางวงเพลงฝึกให้พูดมีหางเสียง จ๊ะ จ๋า หวานเจี๊ยบเลย

        - บางวงเพลงนักแสดงพูดขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีจุดเกาะหรือที่มา

        - บางวงเพลงนักแสดงยืนพูดนิ่ง ๆ ไม่ออกลีลาท่าทางเลย

        - บางวงเพลงเด็ก ๆ นักแสดงพูดไปก็ตีบทไปตามคำพูดทุกคำ (แบบลิเก)

        - บางวงพูดให้ข้อคิด พูดเก่ง พูดตลก พูดแล้วฟังสนุก ขบขัน

        - บางวงพูดอย่างอ่านหนังสือทีละคำทีละคำ

                          

        แค่พูดหรือเจรจาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการฝึกฝนจนเข้าใจ มีความคล่องแคล่วจึงจะทำให้การแสดงมีรสชาติ สำหรับผม ผมฝึกให้นักแสดงพูดและเจรจากัน  3 แบบ ได้แก่

        1. พูดก่อนที่จะเริ่มทำการแสดง ตรงนี้สำคัญ เพราะจะเป็นการชักจูงใจท่านผู้ชมให้อยากที่จะติดตามดูผลงานของเราต่อไป เป็นการพูดกับผู้ชมอาจจะพูดเดี่ยวหรือพูดเป็นทีม 2-3 คนแบบคุยกับท่านผู้ชม อธิบายที่มาการมาของนักแสดงว่า มีใครมาบ้าง เล่นเรื่องอะไร ตอนไหนเล่นเพลงอะไร มีการแทรกมุขตลกชวนหัวเข้าไปด้วย

        2. การเจรจาในระหว่างการแสดง เมื่อร้องไปได้สักระยะหนึ่ง (ไม่ควรนานจนเกินไปหรือเร็วเกินไป) โดยนำเอาปัญหาที่มาจากการร้องเพลงอีแซว ฟังแล้วไม่เข้าใจ ไม่กระจ่าง ฟังแล้วคิดได้หลายทาง จึงต้องนำเอาคำนั้นมาอธิบายให้เข้าใจ การเจรจาโต้ตอบเมื่อหาข้อยุติ เพื่อทำให้ท่านผู้ชมเข้าใจตรงกัน คำพูดที่ใช้ควรที่จะเรียกเสียงฮาได้เป็นตอน ๆ ไป การเจรจาจะต้องจัดเอาไว้เป็นระยะ ๆ เป็นช่วงเวลา เป็นตอน ๆ บอกความหมาย อธิบายขยายความ เล่าเป็นเรื่องสั้น ๆ สนุกสนานและเกี่ยวข้องกัน จะทำให้น่าสนใจ

        3. พูดตอนที่เพลงจะจบการแสดง อาจพูดคนเดียวหรือพูดแบบเจรจา 2 คนก็ได้ เป็นคำพูดทิ้งท้ายฝากความเมตตาไว้กับท่านผู้ชม บอกลา อวยพร เพื่อขอให้ท่านผู้ชมติดตามผลงานของเราต่อไป

ติดตาม ตอนที่ 8 ฝึกให้จังหวะกลอง ฉิ่ง กรับ                

หมายเลขบันทึก: 382878เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท