เกมสนุกมุขสอนเลข (ตอน1)


เกมสนุกมุขสอนเลข(ตอน 1)

ตอน : ฝึกทักษะด้วยเกม

         ผู้เขียน   นายเสรี ทองลอย   นักศึกษาปริญญาโทสาขาคณิตศาสตรศึกษา

                                               สถาบันราชภัฏพระนคร

         ที่ปรึกษา ผ.ศ.ดร.สมวงษ์  แปลงประสพโชค

 

                คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจ  ความจำ มีการนำไปใช้ และที่สำคัญต้องคิดและแก้ปัญหาเป็น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องฝึกทักษะบ่อย ๆ เด็ก ๆ จึงเบื่อ  ผลการสำรวจว่าเด็กต้องการครูคณิตศาสตร์แบบไหน พบว่าเด็กในระดับประถมศึกษาต้องการครูที่สอนสนุก สอนเข้าใจ ใจดี 

ผมได้มีโอกาสคลุกคลีกับเด็ก ๆ ในการจัดค่ายคณิตศาสตร์ ผมพบว่าเด็ก ๆ สามารถทำกิจกรรมคิดและแก้ปัญหาได้ยาวนานถึง ครั้งละ 3 ชั่วโมงโดยไม่เบื่อได้ตลอด 2 วัน1 คืน

ผมเคยทดลองจัดกิจกรรมให้เด็กเรียนคณิตศาสตร์ในภาคฤดูร้อนวันละ 5 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 วัน พบว่าเด็ก ๆ สามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้ทั้งวัน ผมรู้สึกเแปลกใจที่เด็กอยากมาโรงเรียนภาคฤดูร้อนที่ผมดำเนินกิจกรรม ผมวิเคราะห์ดูกิจกรรมที่ผมทำว่าอะไรเป็นสิ่งดึงดูดใจเด็ก  ผมคิดว่านั่นเป็นเพราะเรามีมุขสนุกมาสอดแทรกเกือบทุกชั่วโมงทำให้เด็กสนุกบ้าง หัวเราะบ้าง ตื่นเต้นบ้าง ทำให้เด็กไม่เบื่อผมจึงคิดจะเผยแพร่กิจกรรมเหล่านี้ให้ครูนำไปใช้ในห้องเรียนคณิตศาสตร์บ้าง  ใช้แล้วดีไม่ดีอย่างไร หรือมีมุขดี อย่าลืมส่งมาแลกเปลี่ยนกับผมบ้างนะครับ  ผมขอขอบพระคุณ ล่วงหน้า ผมจะขอแนะนำไปเรื่อย ๆ ทีละชุดตามแต่ว่าผมจะมีเวลา  และอารมณ์ เพราะงานเขียนเป็นเรื่องที่ผมเพิ่งฝึกหัด

  

เกมต่อภาพปริศนา

อุปกรณ์

1.แผ่นภาพตัดเป็นส่วนเท่ากับจำนวนโจทย์ซึ่งด้านหลังเขียนคำตอบไว้

2.แผ่นที่วางภาพซึ่งมีโจทย์

จุดประสงค์

1.เพื่อฝึกทักษะการ  บวก  ลบ   คูณ  หาร

2. เพื่อฝึกความสามารถด้านมิติสัมพันธ์

วิธีเล่น   1. ครูแจกแผ่นภาพและกระดาษโจทย์ให้กับนักเรียน 6 – 7 คนต่อ 1 ชุด

            2. ทีมใดที่ต่อภาพเสร็จก่อนเป็นผู้ชนะ

            3. เมื่อมีทีมชนะให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเปลี่ยน อุปกรณ์กัน  แล้วเริ่มแข่งใหม่

หมายเหตุ       อุปกรณ์อาจทำได้ง่ายโดยให้หาซื้อจิ๊กซอว์ราคาถูก หรือขอลูก หลาน ศิษย์ ที่เล่นเบื่อแล้วก็ได้

 

เกมบิงโก

อุปกรณ์          1. เศษกระดาษทด

                      2. ปากกา

                      3. สลากโจทย์ หรือ ปัญหา

จุดประสงค์    1. เพื่อฝึกทักษะการ  บวก  ลบ   คูณ   หาร

                   2. เพื่อฝึกการแก้โจทย์ปัญหา

วิธีเล่น           1. ให้นักเรียนเขียนตาราง 4 x 4 ในกระดาษทด

                    2. ให้นักเรียนเขียนตัวเลขตั้งแต่ 1 – 20 ตัวเลขใดก็ได้เพียง 16 ตัวเลข

                       เท่านั้น

                    3. ครูหยิบสลากโจทย์ขึ้นมาอ่าน

                     4. นักเรียนคิดคำตอบ แล้วกากบาททับคำตอบที่ถูกต้อง

  

เกมโอเอกซ์

อุปกรณ์        1. ตารางหมากฮอส 8 x 8

                   2. แผ่นกระดาษสี 2 สี ขนาด 1 x 1 นิ้วเขียนตัวเลข 1 - 9 จำนวน  

                       64  แผ่น (สีละ 32 แผ่น)

วิธีเล่น           1. ผู้เล่นแต่ละฝั่งผลัดกันวางบัตรตัวเลขของตน

                    2.เมื่อฝ่ายใดสามารถวางแผ่นกระดาษสีให้มีผลรวมในแนวเส้นตรง  หรือ

                       แนวทแยงให้มีผลรวมเป็น 10 ( หรือ 15,17,…ฯลฯ ) สามารถหยิบ

                       กระดาษสีแถวนั้นออกมาได้

                    3.เล่นเกมต่อไปเรื่อย ๆ ใครได้แผ่นกระดาษสีของฝ่ายตรงข้าม มีผลรวม

                       ของจำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ก่อนเป็นผู้ชนะ

 

เกมเปตองคณิต

อุปกรณ์          1. ลูกเต๋า มีด้านทั้ง 6 ดังนี้

                     2. ดินน้ำมัน 2 สี     สีละ 6 ลูก

จุดประสงค์    1. ฝึกทักษะด้านการบวก  และ การคูณ

วิธีเล่น           แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 3 คน

                  1. ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายตกลงว่าฝ่ายใดจะเริ่มเล่นก่อน

                  2. ผู้เล่นฝ่ายใดที่ได้เล่นก่อนโยนลูกเต๋าไปด้านหน้าผู้เล่นแต่ละคนโยนดินน้ำมันได้คนละ 2 ลูกให้เข้าใกล้ลูกเต๋ามากที่สุด

                  3. ผู้เล่นอีกฝ่ายทำเช่นเดียวกันจนดินน้ำมันหมด

                  4. การนับแต้มนำจำนวนดินน้ำมันของทีมที่ใกล้ลูกเต๋าคูณกับจำนวนแต้มที่ขึ้นบนหน้าลูกเต๋า

                   5. ทำการเล่นต่อไปเรื่อย ๆ ทีมที่ทำคะแนนรวมได้มากกว่าหรือเท่ากับ

100 คะแนนก่อนชนะ

   

เกมผลรวม 15

อุปกรณ์        1. กระดาษสี 2 สีขนาด 1 1 นิ้ว แต่ละสีเขียนตัวเลข 1 – 9

                       ทั้งหมด 9  แผ่น

จุดประสงค์    ฝึกทักษะการบวก

วิธีเล่น          1.  ผู้เล่นแต่ละฝ่ายผลัดกันวางบัตรตัวเลข

                   2. ผู้เล่นคนใดสามารถวางบัตรให้มีผลรวมเท่ากับ 15 ก่อนเป็นผู้ชนะ

หมายเหตุ       สามารถเปลี่ยนกติกาเป็นผลรวมเป็น 13 , 17 , 21 ก่อนชนะ

 

เกมโอเอกซ์ 15

อุปกรณ์          1. กระดาษทด

                        2. ปากกา

จุดประสงค์    ฝึกทักษะการบวก

วิธีเล่น               1. เขียนตาราง 3 3 ลงในกระดาษทด

                        2. ผู้เล่นแต่ละฝ่ายผลัดกันเติมตัวเลข 1 – 9 ลงในช่องว่างโดย

                           ห้ามเติมตัวเลขซ้ำกับตัวเลขที่มีอยู่ในตาราง

                        3. ในแต่ละครั้งที่เติมฝ่ายใดทำผลรวมให้ได้ 15 ถือว่าได้ 1 คะแนน

                        4. เมื่อจบเกมใครได้คะแนนมากกว่า ถือเป็นผู้ชนะ

หมายเหตุ       อาจเปลี่ยนกติกาโดยเปลี่ยนเป็นตาราง 4 4 และทำให้ได้ผลรวมเท่า

                      กับ 19, 21, 32

 

 

เกมมากกว่าหรือน้อยกว่า

อุปกรณ์          1. บัตรโจทย์

จุดประสงค์    เพื่อฝึกทักษะการ บวก ลบ  คูณ  หาร

วิธีเล่น            1. ครูนำบัตรโจทย์คว่ำหน้าแล้วเรียงไว้บนกระดานดำ

                     2. ครูเปิดบัตรใบแรก

                    3. ครูให้นักเรียนทายว่าผลลัพธ์ของบัตรใบที่ 2 จะมากกว่าหรือน้อยกว่า

                       ใบแรกโดยแต่ละครั้งที่ครูเปิดบัตรนักเรียนจะต้องเขียนผลลัพธ์ไว้ใน

                       กระดาษทดของตนด้วย   นักเรียนคนใดคิดว่าผลลัพธ์จะมากกว่าบัตร

                       ใบที่ผ่านมากให้ยกมือขึ้น

                     4. นักเรียนคนใดที่ทายถูกว่ามากกว่าหรือน้อยกว่าจะได้  1 คะแนนและ

                        หากคำนวณผลลัพธ์ถูกต้องจะได้อีก 1 คะแนน

 

 เปิดฝาหาคำตอบ

อุปกรณ์          1. ฝาน้ำอัดลมซึ่งเขียนคำตอบไว้ด้านบนฝาและโจทย์ไว้ใต้ฝา

จุดประสงค์   เพื่อฝึกทักษะการบวก  ลบ  คูณ  หาร

วิธีเล่น            1.หงายฝาทุกฝาไว้ด้านหน้าผู้เล่น

                     2. ผู้เล่นแต่ละคนผลัดกันทายคำตอบของแต่ละฝาหากผู้ใดทายถูก

                        จะได้ฝานั้นไป

หมายเหตุ       ครูอาจเปลี่ยนโจทย์เป็นเศษส่วนหรือ  ทศนิยม

 

เกมซื้อขาย

อุปกรณ์          1.กระดาษรูปสัตว์  หรือ ผักผลไม้

                     2. ธนบัตรจำลอง

                     3.ฉลากรายการสินค้า

จุดประสงค์      1.   ฝึกการทอนเงิน

                     2. ฝึกทักษะการบวก  ลบ  คูณ  หาร

                     3. การรู้จักมาตราเงินไทย

วิธีเล่น        1.   ครูแจกธนบัตรจำลองกับนักเรียนคนละ 200 บาท

                 2.  ครูให้นักเรียนแต่ละคนเลือกซื้อสินค้าที่ครูปิดราคาไว้ได้ตามใจชอบ

                 3.  ครูให้นักเรียนแต่ละคนออกมาจับสลาก  รายการสินค้าที่ทุกคนต้องซื้อ

                 4.  นักเรียนสามารถซื้อสินค้าดังกล่าวที่ครูหรือเพื่อนก็ได้ (ตอนนี้ครูจะขึ้นราคาสินค้าแล้วครับ)

                 5. เมื่อหมดเวลาใครได้ของครบตามรายการสินค้า และมีเงินเหลือมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

หมายเหตุ       ครูอาจเชื่อมโยงความรู้เรื่อง สารอาหารในผัก และผลไม้ หรืออาหารหลัก  5 หมู่ก็ได้ครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #เกมคณิตศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 382827เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท