ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา


การเสริมสร้างพลังอำนาจ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

            ปัญหาในสังคมไทยที่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะการเร่งรัดการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากถูกใช้อย่างหนัก จนเกิดความเสื่อมโทรมโดยทั่วไป  เกิดมลภาวะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเมือง ในชนบท การพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน ต้องพัฒนาให้สมดุลทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเงื่อนไขการพัฒนาสังคมอยู่ที่คนในสังคมต้องมีคุณภาพ 

            การพัฒนาจะยั่งยืนได้ต้องอาศัยหน่วยที่เล็กที่สุด ซึ่งหมายถึงชุมชน เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีผลงานการพัฒนาชุมชนตัวเองดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีการสร้างนวัตกรรม มีการตกผลึกจนเกิดภูมิคุ้มกันของชุมชน และจะพัฒนาไปสู่ชุมชนเข้มแข็งจากการสร้างองค์ความรู้ที่หลากหลาย และมีลักษณะเป็นความจำเพาะของชุมชนนั้นๆ (วรพล หนูนุ่น,2548)  การสร้างความยั่งยืนของชุมชนแห่งการเรียนรู้ต้องอาศัยการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยเชื่อมโยงเป็นระบบด้วยกระบวนการเรียนรู้อันเดียวกัน และเป็นแนวคิดที่เน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการนำองค์ความรู้ของชุมชนเป็นฐานในการกำหนดการเรียนรู้ ที่เชื่อมโยงกับการใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น (สิทธชัย ละมัย,2550) ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้นี้จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยพลังของบุคคล กลุ่ม องค์กรภายในชุมชน ด้วยการมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเป็นเจ้าของ และรับผลประโยชน์ร่วมกัน

            การเสริมสร้างพลังอำนาจเป็นแนวความคิด ที่ค่อนข้างครอบคลุมทั้งในระดับบุคคล องค์การ และชุมชนซึ่งในระดับบุคคลจะมุ่งศึกษาคุณลักษณะภายในของบุคคลในระดับองค์การจะเน้นไปที่โครงสร้างและกระบวนการที่จะกระตุ้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในระดับองค์การ ในขณะที่ระดับชุมชนการเสริมสร้างพลังจะเน้นการศึกษาการกระตุ้นและส่งเสริมกิจกรรมหรือการกระทำที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น (วันชัย ธรรมสัจการ ,2543)        การเสริมพลังอำนาจจึงเป็นไปได้ทั้งกระบวนการ และเป็นผลลัพธ์ ซึ่งการเกิดพลังนั้นต้องเริ่มจากบุคคลตระหนักในปัญหาจึงรวมตัวกันขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน  แบ่งปันอำนาจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยใช้วิธีการปฏิบัติ และการสะท้อนกลับ เพื่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิด มองเห็นแนวทางแก้ปัญหา  และได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง  ส่วนการสร้างพลังมีการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งพอที่จะควบคุมตนเอง จากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง  และประเมินได้จากการมีปฏิสัมพันธ์  การมีส่วนร่วม  ให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่ม โดยสอดคล้องกับแนวคิดของ Zimmerman ที่ได้กล่าวถึงการเสริมพลัง  เป็นทั้งกระบวนการเสริมพลัง  ผลผลิต  ผลลัพธ์พลังจากกระบวนการ  และผลิตภาพที่เกิดขึ้นจากการทำงาน  และยังเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือความต้องการ  ตลอดจนพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกมาต่อองค์กรในทางบวก 

           ในบริบทของสังคมไทย จากผลการศึกษาของ วรพิทย์ มีมาก (2550) พบว่า ปัจจัยที่มีต่อพลังอำนาจประชาชน ได้แก่ ครอบครัวเป็นสุข สุขภาพจิต โอกาสทางการศึกษา สมรรถะทางการเงิน ความเข็มแข็งของชุมชน ความไม่มั่นคงในชีวิต และการเป็นภาระ ส่วนโอกาสของการเสริมสร้างพลังอำนาจของประชาชนขึ้นอยู่กับทันเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ และทุนจิตวิญญาณ

           โดยทั่วไปประเทศไทย ถือว่าพื้นที่ในเขตเทศบาล คือพื้นที่เมือง และพื้นที่นอกเขตเทศบาล คือ พื้นที่ชนบท  สังคมไทยจึงเป็นสังคม 2 ลักษณะ คือลักษณะของสังคมเมืองและลักษณะของสังคมชนบท ซึ่งมีลักษณะบางอย่างที่เหมือน และบางอย่างที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยเชื่อว่าแนวคิดการสร้างเสริมพลังอำนาจของชุมชนจะทำให้การพัฒนาเกิดความยั่งยืนได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษารูปแบบการเสริมสร้างพลังอำนาจของชุมชนเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อหาปัจจัยแห่งความสำเร็จของการเสริมสร้างพลังอำนาจของชุมชนที่เป็นชุมชนเมืองและชุมชนชนบท เพื่อที่จะเป็นแนวทางให้ชุมชนทั้งที่เป็นชุมชนเมืองและชุมชนชนบท หรือองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นตัวแบบในการดำเนินงานสร้างชุมชนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน เพื่อให้สังคมไทยก้าวสู่ฐานคิดใหม่ในการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาของไทย

หมายเลขบันทึก: 382500เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2010 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

กศน.อำเภอแก่งกระจานยินดีต้อนรับเสมอค่ะ

ขอบคุณที่ได้รู้จักและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

 

 

 

ตามมาดูน้องเขียนอีกนะคะ

พี่ดีใจที่ได้อ่านบทความนี้ค่ะ

การศึกษาคุณลักษณะภายในของบุคคลในองค์กร

มีผลดีต่อการพัฒนาองค์กรโดยรวม ดีจังเลย

ทำให้อยากเรียนรู้เรื่องวิธีการศึกษาลักษณะภายในของบุคคลขึ้นมา

ขอบคุณค่ะ

เอาภาพแก่งมาฝากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท