ครูกับการวิจัย


การวิจัยสามารถใช้เป็นกระบวนการพัฒนาครูได้ โดยใช้ห้องเรียน(สอน)เป็นห้องทดลอง ควบคู่กัน

    หลังจากผมศึกษาวิจัย หารูปแบบการพัฒนาความสามารถการทำวิจัยของครูมา 3 ปีกว่า เห็นความจริง บางประการดังนี้
     1. ครูส่วนใหญ่อยากเรียนรู้และอยากทำวิจัย  เพราะครูรู้ว่า พรบ. กำหนดให้ครูต้องวิจัย  และผลงานวิจัยยังนำไปประกอบการขอวิทยะฐานะ  แต่ครูไม่ทราบว่าจะเริ่มทำวิจัยอย่างไร ครูหลายท่านไม่ได้เรียนวิชาการวิจัยมาครั้งเรียนปริญญาตรี จึงไม่มีความรู้เรื่องหลักทฤษฏีวิชาการการทำวิจัย  จะให้ศึกษาเองคงมีครูจำนวนน้อยมากที่ศึกษาด้วยตนเองได้  การอบรมเพียง 3-5 วันโดยให้ครูนั่งฟังไม่ส่งผลให้ครูกลับไปสอนแล้วจะทำวิจัยได้ด้วยตนเอง

   2. ภาระงานปัจจุบันของครูมีมาก ทั้งหน้าที่โดยตรง(สอน ดูแลนักเรียน ) และหน้าที่อ้อม(งานธุระการ หรืองานที่สั่งหรือขอความร่วมมือมาจากเขตพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน)  การทำวิจัยด้วยตนเองควบคู่กับการเรียนสอนจึงเหมือนเพิ่มงานใหม่(ซึ่งครูปัจจุบันไม่อยากแบกรับ)

  3. การให้ครูที่ไม่เคยเรียนรู้การทำวิจัยมาก่อนทำวิจัยด้วยตนเองนั้น  จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์การวิจัยในชั้นเรียนมาให้คำแนะ พร้อมกับให้ครูทดลองใช้นวัตกรรมกับนักเรียนตามระเบียบวิธีวิจัยที่ออกแบบไว้ควบคู่กับการเรียนการสอน ทำนองครูคิดนวัตกรรม นำไปทดลองใช้กับนักเรียน ปรับปรุง วนทดลองซ้ำไปมาจนได้ผล  จากนั้นจึงนำมาเขียนรายงานส่งเผยแพร่หรือขอวิทยะฐานะ  ประการสำคัญคือต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยแนะนำให้ครู  ครูติดขัดอะไรปรึกษาได้  วิธีการนี้จะทำให้ครูเรียนรู้การวิจัยไปพร้อมกับการทำผลงาน และผลการทดลองจะส่งผลไปที่นักเรียนด้วย  

  4. ต้องสร้างชุมชน หรือ เครือข่ายครูวิจัย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูทีทำวิจัย   เพราะการที่ครูต้องทำหน้าที่สอน ดูแลนักเรียน และงานพิเศษอื่นๆ พร้อมกับการทำวิจัยเป้นครั้งแรกด้วยตนเองคนเดียวนั้น  นับเป็นเรื่องที่หนักยุ่งยากและมักท้อถอยภายหลัง   การสร้างเครือข่ายครูวิจัยจะช่วยให้ครูมีเพื่อนพูดคุยถามสุขทุกข์ ความก้าวหน้า ให้กำลังใจกันและกัน

       เมื่อครูจำเป็นต้องทำวิจัย(เพื่อยืนขอวิทยะฐานะ) ครูจึงต้องหย่อนคุณภาพการสอนหรือทิ้งห้องเรียน มิฉะนั้นจะทำผลงานวิจัยไม่ทันส่ง(ผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งเปิดโอกาส) ครูหลายคนต้องเสาะหาผู้รู้มาช่วยเหลือ บางท่านจวนตัวมากๆ ต้องเสียเงินจ้าง เพื่อไม่ให้ตัวเองเสียโอกาส  เปิดช่องให้กลุ่มคนบางกลุ่มเข้ามาเสนอตัวทำวิจัยให้โดยแลกกับจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง ซึ่งมีครูจำนวนหนึ่งต้องตัดใจใช้เงินที่สะสม(หรือกู้)มาหลายปีจ้างทำผลงาน  

    ผมคิดว่าภาวะที่ครูหลายท่านประสบขณะนี้ เป็นสิ่งที่แย่มากๆ สำหรับครู  ครูทุกท่านอยากทำผลงานด้วยตนเอง และทดลองกับนักเรียน  ครูอยากให้นักเรียนได้รับผลจากการทำวิจัยการเรียนการสอนพร้อมกันไปด้วย  แต่ครูทำได้ยากหรือทำไม่ได้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน

     ผมได้ยินเสียงวิพากษ์ทางลบ เกี่ยวกับการจ้างทำผลงานของครูเพื่อนำไปขอวิทยะฐานะ หรือการลอกเลียนผลงานวิชาการ การทิ้งห้องสอนขณะทำผลงานวิจัย   การกู้เงินสหกรณ์เพื่อนำไปเป้นค่าใช้จ่าย(จ้าง)ทำผลงาน และอื่นๆ 

   ผมคิดว่าครูทุกคนอยากก้าวหน้า อยากมีเงินมาเพิ่มรายรับ อยากมีเกียรติ  ผมมั่นใจว่าครูส่วนใหญ่อยากทำด้วยความสามารถตนเอง   

    การที่ครูจะได้วิทยะฐานะ ครูต้องทำตามระบบหรือเงื่อนไขกฏเกณฑ์ที่กำหนดไว้  แต่เท่าที่ทราบ ไม่มีระบบช่วยเหลือพัฒนาครูด้านความสามารถการทำวิจัย ปล่อยให้ครูหาเอง ทำเอง

    ผมคิดว่า การให้ครูเรียนรู้การวิจัยด้วยตนเอง ในขณะที่ครูต้องทำงานหลายอย่างในโรงเรียน เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก  เพราะแม้แต่การเรียนปริญญาโทหรือเอก ที่ผู้เรียนใช้เวลาเรียนเต็มที่ยังต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา

   ผมขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีระบบการช่วยเหลือครูเรียนรู้การวิจัยควบคู่กับการสอน  ให้ครูเรียนรู้การทำวิจัยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ห้องสอนคือห้องทดลอง  นักเรียนคือเป้าหมายของการทดลอง  มีนักวิชาการให้คำแนะนำ ทำการทดลองตลอดทั้งภาคเรียนหรือทั้งปี    ครูได้นักเรียนได้  

    วันนี้ขอแสดงความคิดเห็นเท่านี้ก่อน ครับ 

   วันหลังเมื่อมีโอกาสและเวลา จะนำเสนอต่อ

            ฉลองชัย  ธีวสุทรสกุล 

           6 สิงหาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 382436เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2010 00:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

ท่านเขียนได้ดีมากค่ะ จะติดตามอ่านอีกนะคะ  เขียนเมื่อไร  ไปชวนมาอ่านนะคะ  ขอบคุรมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท