เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว ตอนที่ 5 ฝึกร้องและสร้างอารมณ์เพลง


การสร้างอารมณ์ประกอบการแสดงเพลงอีแซว โดยการรำ ทำท่าทางไปตามบทที่นำมาร้อง

เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว

จากจุดเริ่มต้นจนถึงขั้นการแสดงอาชีพ

ตอนที่ 5 ฝึกร้องและสร้างอารมณ์เพลงได้อย่างไร

โดย ชำเลือง มณีวงษ์   กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว

เครือข่ายนันทนาการต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1

         นักแสดงทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นการแสดงใด ๆ ทุกฝ่ายก็อยากที่จะทำให้ถูกใจท่านผู้ชมด้วยกันทั้งนั้น แต่จะเริ่มต้นตรงไหน ทำอย่างไรจึงจะไปให้ถึงจุดนั้นได้ คือถึงจุดที่ประชาชนยอมรับ ให้ความสนใจในการชมความสามารถจนจบการแสดง เป็นธรรมชาติของมหรสพอยู่แล้ว เมื่อใกล้ที่จะจบการแสดง ท่านผู้ชมจะมีไม่เท่ากับตอนเริ่มแสดง ในช่วงดึก ๆ คนดูเริ่มบางตา ทีเหลือคือแฟนคลับตัวจริง จะต้องดูจนถึงวินาทีสุดท้าย บางครั้งยังมอบน้ำใจให้ศิลปินนักแสดงอีกด้วย

         พูดถึงศิลปะการแสดง ผู้แสดงจะต้องถ่ายทอดความรู้สึกให้ออกมาเกินจริงจึงจะเรียกว่าการแสดง ทั้งนี้เพราะการแสดงมิใช่ชีวิตจริง จะต้องการเสริมเติมแต่งจนถึงใจของท่านผู้ดู ยิ่งถ้าสามารถแสดงได้ตรงความต้องการของผู้ชม ตามใจท่านผู้ชมได้มากเท่าไรยิ่งได้รับความนิยมมากเท่านั้น ตรงนี้เองทำให้นักแสดงจะต้องมีการวางแผนเตรียมการไปนำเสนอผลงานหลาย ๆ รูปแบบ ดักทางเลือกหรือรสนิยมท่านผู้ดูผู้ชมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

         เพลงอีแซว เป็นเพลงร้องที่เน้นการต่อปากต่อคำ เรียกว่าเพลงถามตอบ ร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน หรือเรียกว่า “เพลงปฏิพากย์” บางคนกลับเรียกเพลงอีแซวว่า “เพลงรำอีแซว” ไม่ทราบว่าได้ที่มาจากไหน กลายไปเป็นเพลงรำได้อย่างไร แต่ผมก็เคยเห็นมาบ้างบนเวทีการแสดงเพลงอีแซวของนักเรียนในระดับเด็ก ๆ การแสดง 15-20 นาที มีนักแสดงขึ้นไปบนเวที 30-40 คน มีคนร้องอยู่คนเดียวนอกจากนั้นขึ้นไปรำด้วยท่าทางที่นัดหมายกันมาอย่างพร้อมเพรียง (ดูแปลกไปจากชื่อเพลงดั้งเดิม)

         ผมขอมองเพลงอีแซว ขอย้ำเรียกชื่อเพลงนี้ว่า “เพลงอีแซว” ไม่เรียกว่า “อีแซว” คนรุ่นครูเพลงสั่งนักสั่งหนาว่าขอให้ใช้คำเรียกชื่อว่า เพลงอีแซว ทั้งนี้เพราะบางท่านพยายามจะเอาชื่อเพลงที่เป็นที่ยอมรับไปเป็นข้อความหยอกล้อ เล่นตลกขบขันอย่างไม่น่าที่จะทำ บางคนเรียกว่า เพลงนางแซว บางคนจะให้ขำเรียกว่า เพลง น.ส.แซว ผมว่าไม่น่าที่จะต้องแปลงให้เสื่อมลงไปเลย เรามาช่วยกันยกย่องเชิดชูจะดีกว่า

        

        

        

         ผมฝึกหัดเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ให้กับนักเรียนตามที่ผมได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากครูเพลงต้นฉบับ บางเพลงผมจำได้ไม่แม่นก็ต้องไปปรึกษาท่านผู้รู้ ศิลปินรุ่นพี่ ๆ ให้ท่านช่วยอธิบายทบทวนให้ผมก่อนที่จะนำเอามาถ่ายทอดสู่นักเรียน ผมกลัวว่าถ้าทำอะไรไปอย่างไม่ระมัดระวังการแสดงที่ผิดเพี้ยนจะเป็นปมที่แก้ไขไม่ได้ไปอีกยาวนาน ยิ่งถ้ามีการบันทึกเอาไว้ในรายการโทรทัศน์ด้วยแล้วจะต้องมีความรู้จริง ๆ หรือหากจะผิดพลาดก็จะต้องมีน้อยที่สุด

         เรื่องของการสร้างอารมณ์เพลง เพลงอีแซวนี่การแต่งเนื้อแต่งตัวก็เรียบง่าย เสื้อผ้าไม่มีลายเลื่อมติดเพชรให้แสงวูบวาบเข้าแสงไฟสะท้อนมาเข้าตาให้ท่านผู้ชมตื่นใจ เรามีแต่เสียงร้องและลีลาท่าทางที่พอจะดึงดูดความสนใจท่านผู้ชมได้ เรื่องของการสร้างอารมณ์กระทำกันใน 2 ลักษณะคือ

         ลักษณะที่ 1 แสดงท่าทางด้วยมือเท้าแขนขาหน้าตาลำตัวโดยการเคลื่อนไหว

         ลักษณะที่ 2 การเจรจาโต้ตอบ แสดงออกด้วยการพูดอย่างเอาจริงเอาจัง

ในตอนที่ 5 นี้ ผมขอกล่าวเฉพาะ การแสดงลีลาท่าทาง รวมไปถึงการรำ ที่เรียกว่าตีบท คือการรำไปตามบทเพลง คำร้องกล่าวถึงอะไรก็แสดงท่าทางไปตามคำร้อง และไม่ต้องแสดงท่าทางทุกคำร้อง เพราะถ้าทำท่าทางทุกคำร้องจะทำให้มองดูน่ารำคาน (มากไป) เอาแต่พอเหมาะสม ส่วนการรำ นักแสดงบางคนรำสวยก็ไม่ควรรำตลอดเวลาที่ร้อง จะทำให้ท่ารำขัดแย้งกับคำร้องที่นำเสนอออกไป สู้รำบ้าง ทำท่าทางประกอบบ้าง หรือปล่อยวางบ้าง จะทำให้ดูเป็นธรรมชาติ ดูสบายตามากกว่า ครูเพลงในยุคก่อนท่านแบ่งการรำออกเป็น 2 แบบ คือ

         แบบที่ 1 รำลอย เป็นการรำติดต่อกันไปตลอดที่ทำหน้าที่ร้อง โดยไม่มีความหมาย

         แบบที่ 2 รำตีบท เป็นการทำท่าทาง และรำตามเนื้อร้อง สื่อความหมายตามบทร้องด้วยลีลาท่าทาง สีหน้า แววตา และการเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง ๆ

         เพลงพื้นบ้านในสมัยก่อน ๆ เขาไม่ค้อยมีการรำกัน จะมีบ้างก็เป็นฝ่ายหญิง รำบ้างไม่มาก ยิ่งถ้าเป็นพ่อเพลงด้วยแล้วแทบจะไม่การรำให้เห็น จะมีก็แต่เพียงหารไหวตัว ใช้ท่าทางประกอบการร้องเสียมากกว่า ก็ชาวบ้าน มีอาชีพทำไร่ ทำนา มือไม้แข็งทื่อ ไม่อ่อนไหวอย่างนางละคร ต่อมาพอเพลงพื้นบ้าน อย่างเพลงอีแซวเข้าไปในสถานศึกษา ครูผู้สอนจบการศึกษามาจากสถาบันนาฏศิลป์ก็นำเอาท่ารำเข้ามาเสริม บางคณะโชว์การร่ายรำจนแทบจะไม่มีการร้องโต้ตอบเอาเสียเลย

                         

         ในวันนี้ ผมอยากที่จะทำความเข้าใจกับวงเพลงอีแซวในยุคปัจจุบัน ถ้าท่านสังเกตการแสดงของวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ นักแสดงจะสลับสับเปลี่ยนที่ยืน และพื้นที่การแสดงกันอยู่โดยตลอด

         - มีรำ ทำท่าทางประกอบการร้อง มีไหวตัว

         - มีรำเป็นแถว อยู่ด้านหลังนักร้องนำ แสดงความสวยงามและพร้อมเพรียง

         - มียืนเป็นกลุ่ม ทำท่าทาง และรำเฉพาะตอนลงเพลง

         - มียืนปรบมือแทนการรำ

         - มีการแสดงประกอบบทร้องแบบละครเพลง บทร้องว่าอย่างไรก็แสดงไปอย่างนั้น

         วงเพลงอีแซวที่แบ่งผู้แสดงเป็น นักร้องนำ ลูกคู่ช่วยรำประกอบ และนักดนตรี ทำหน้าที่ตำแหน่งเดียวไปจนจบการแสดงใน 1 ครั้ง ก็จะไม่เกิดสีสัน ไม่เกิดความน่าสนใจ ลองสลับที่ นักดนตรีก็เข้ามามีส่วนร่วม ลูกคู่ก็มีการเปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้ร้องนำในบทร้องสั้น ๆ คละเคล้ากันไปบนเวทีการแสดง เมื่อทุกคนได้ทำหน้าที่อย่างกลมกลืน จะเกิดความงดงามบนเวที ชวนให้น่าดูขึ้นมาอีกมาก

ประวัติเพลงอีแซว  โดย ขวัญจิต ศรีประจันต์

-----------------------------------------------------

             บรรจงจีบสิบนิ้ว              ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอิง เงอ เอ๊ย) คิ้วทั้งคู่

         เชิญรับฟังกระทู้                  เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วเพลงไทย

         เชิญสดับรับรส                   กลอนสดเพลงอีแซว    

         ฝากลำนำตามแนว              เพลงอีแซวยุคใหม่

         เพลงอีแซวยุคใหม่              ผิดกับสมัยโบราณ  

         ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน                นับวันจะสูญหาย

         ถ้าขาดผู้ส่งเสริม                 เพลงไทยเดิมคงสูญ (เอิง เงอ เอ๊ย) แล้วคงสูญ

         ถ้าพ่อแม่เกื้อกูล                  ลูกก็อุ่นหัวใจ  (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย)  อุ่นหัวใจ

         อันว่าเพลงพื้นเมือง             เคยรุ่งเรืองมานาน 

         สมัยครูบัวผัน                     และอาจารย์ไสว

         ประมาณร้อยกว่าปี              ตามที่มีหลักฐาน    

         ที่ครูบาอาจารย์                  หลายๆ ท่านกล่าวไว้

         ทั้งปู่ย่าตายาย                   ท่านก็ได้บอกเล่า (เอิง เงอ เอ๊ย)  ได้บอกเล่า

         การละเล่นสมัยเก่า              ที่เกรียวกราวเกรียงไกร(เอ่อ เอ้อ เอ๊ย)แล้วเกรียงไกร

            ในฤดูเทศกาล                 เมื่อมีงานวัดวา        

         ทอดกฐินผ้าป่า                   ก็เฮฮากันไป

         หรือยามตรุษสงกรานต์         ก็มีงานเอิกเกริก         

         งานนักขัตฤกษ์                   ก็เอิกเกริกกันใหญ่

         ประชาชนชุมนุม                 ทั้งคนหนุ่มคนสาว      

         ทั้งผู้แก่ผู้เฒ่า                     ต่างก็เอาใจใส่

         ชวนลูกชวนหลาน               ไปร่วมงานพิธี   (เอิง เงอ เอ๊ย)  งานพิธี

         ถือเป็นประเพณี                  และศักดิ์ศรีคนไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วคนไทย

            ที่จังหวัดสุพรรณ              ก็มีงานวัดป่า   

         คนทุกทิศมุ่งมา                  ที่วัดป่าเลไลยก์

         ปิดทองหลวงพ่อโต              แล้วก็โมทนา           

         ให้บุญกุศลรักษา                 มีชีวาสดใส

         ได้ทำบุญทำทาน                ก็เบิกบานอุรา           

         สุขสันต์หรรษา                   ทั่วหน้ากันไป

         ได้ดูลิเกละคร                     เวลาก็ค่อนคืนแล้ว (เอิง เงอ เอ๊ย) ค่อนคืนแล้ว

         เพลงฉ่อยเพลงอีแซว           ก็เจื่อยแจ้วปลุกใจ(เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วปลุกใจ

            หนุ่มสาวชาวเพลง            ก็ครื้นเครงล้อมวง      

         เอ่ยทำนองร้องส่ง               ตั้งวงรำร่าย

         ร้องเกี้ยวพาราสี                  บทกวีพื้นบ้าน           

         เป็นที่สนุกสนาน                 สำราญหัวใจ

         เพลงพวงมาลัย                  บ้างก็ใส่เพลงฉ่อย  (เอิง เงอ เอ้ย) แล้วเพลงฉ่อย

         ทั้งลูกคู่ลูกข้อย                  ต่างก็พลอยกันไป  (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) พลอยกันไป

 

ติดตาม ตอนที่ 6  ฝึกรำประกอบการแสดง                

หมายเลขบันทึก: 381107เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2010 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท