การจัดการกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นเป้าหมายของหลายจังหวัด มีการจัดทำโครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงขึ้น โดยมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป กิจกรรมส่วนหนึ่งที่มักจะจัดกันคือการอบรมฟื้นฟูความรู้สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การ implement โครงการก็จะลงเฉพาะบางพื้นที่ ไม่ได้ทำทั่วทั้งจังหวัด เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พวกเราชาวทีมเบาหวานของเทพธารินทร์ได้ไปเป็นวิทยากรให้งานอบรมประเภทนี้ ๒ จังหวัดคือที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๕-๖ มิถุนายน และจังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน
ดิฉันประทับใจพยาบาลและเจ้าหน้าที่ชาวอ่างทองที่มาพร้อมก่อนที่เราจะเดินทางไปถึงเสียอีก (บางแห่งเราต้องไปคอยผู้เรียน) ทุกคนดูกระตือรือร้น สนใจเรียนรู้ และตอบคำถามกันอย่างคึกคัก
เจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการอบรมเกือบทั้งหมดคือพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข มักไม่ค่อยมีแพทย์เข้าร่วมด้วย (แทบจะไม่มีเลย) ความรู้ใหม่ๆ ที่ให้ไป เช่น การใช้ Postprandial BG จึงนำไปสู่การปฏิบัติได้ยาก เพราะความเข้าใจไม่ตรงกัน การเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติบางอย่าง เช่น การตรวจ HbA1C การตรวจ Microalbuminuria ฯลฯ ก็เป็นเรื่องเชิงนโยบาย
การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความเอาจริงเอาจังของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม และหากจะมุ่งให้บริการกันแต่ที่ รพ.ก็คงแก้ปัญหาได้ลำบาก เพราะยิ่งคัดกรองก็ยิ่งพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การให้บริการที่เราทำๆ กันอยู่ใน รพ.นั้นก็ไม่ใช่โมเดลที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเรื้อรัง
ดิฉันมีโอกาสเข้าประชุมปรึกษาหารือเตรียมการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการโรคเบาหวานครบวงจร ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ได้รับรู้ว่าผู้ปฏิบัติที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยและชุมชน เช่น PCU หลายแห่งดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงหลายเรื่อง แต่ดิฉันมองว่ามี impact น้อย เพราะทำอยู่เฉพาะกลุ่มเฉพาะที่ ตัวอย่างที่ดีที่ดำเนินการในภาพรวมระดับจังหวัดที่ดิฉันรู้คือที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งคุณหมอปรเมษฐ์ กิ่งโก้ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดรับผิดชอบอยู่
ไม่มีความเห็น