“ธนาคารชุมชนมะนัง”เครื่องมือรวมคนรวมทุน


“หลังการเกิดขึ้นของธนาคารชุมชนได้แก้ปัญหาให้แก่สมาชิกหลายด้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้สินซ้ำซ้อน บางคนเป็นหนี้หลายแห่ง กู้เงินจากกองทุนนี้ไปจ่ายอีกกองทุนหนึ่ง ซึ่งเงินที่หมุนนั้นไม่ได้เกิดมูลค่าเพิ่มเลย เราจึงชักชวนสมาชิกให้ที่มีปัญหามาร่วมกันแก้ปัญหา จากเดิมมีหนี้หลายแห่ง ก็มีหนี้เพียงแห่งเดียว และส่งเสริมให้สมาชิกให้ความสำคัญของการออมเงิน ซึ่งการออมเงินเป็นการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
มะนังเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสตูล ที่ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 80 ปี
มะนัง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ม้ายัง” หมายถึง  มีม้าหรือรูปม้า เนื่องจากในพื้นที่แห่งนี้มีถ้ำถ้ำระฆังทอง ภายในถ้ำมีรูปปั้นม้าหินอยู่  1  ตัว  เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในหมู่บ้าน ซึ่งใช้เป็นที่นัดหมายในการเดินทาง  ต่อมาได้เพี้ยนเป็น  “มะนัง”  ใช้เรียกชื่อหมู่บ้าน  หมู่ที่  5  ตำบลปาล์มพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน 
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า  มะนัง  เป็นภาษามาลายู  แปลว่า  ชนะ  ในสมัยก่อนสถานที่ดังกล่าวเป็นสนามรบ  ซึ่งมีกองทหารจากนครศรีธรรมราช  พัทลุง  และภูเก็ต  ยกทัพมารบกับกองทัพมลายู  จากมณฑลไทรบุรี  มีการรบพุ่งกันอย่างดุเดือด  จนกองทัพมลายูมีชัย  จากนั้นได้ใช้บ้านบูเก็ตยามูของอำเภอควนโดน  เป็นสถานที่ฉลองชัย  สถานที่รบดังกล่าวได้รับการกล่าวขวัญจากกองทัพมลายูว่า  มะนัง  ซึ่งหมายถึง  ชนะ  ต่อมามีประชาชนไปตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และเรียกว่า  “มะนัง”  มาจนถึงทุกวันนี้
อำเภอมะนัง  เป็นอำเภอหนึ่งในเจ็ดอำเภอของจังหวัดสตูล  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  62  กิโลเมตร  สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบสูงลาดเอียงมาทางทิศใต้และตะวันออก บางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขาเป็นพื้นที่เพาะปลูก  เป็นพื้นที่ต้นน้ำ  มีประชากรจำนวน  15,076  คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักคือ  ปลูกยางพารา  และปาล์มน้ำมัน    ประกอบด้วยแยกเป็นตำบลปาล์มพัฒนา 9  หมู่บ้าน  เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ห่างไกล  ไม่มีธนาคาร หรือสถาบันการเงินใดๆ ทำให้กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านหลายกลุ่ม
จากหนี้สู่ธนาคารชุมชนมะนัง “มั่นคงจากรากหญ้า เพิ่มมูลค่าสู่ชุมชน”
เป็นคำขวัญของธนาคารชุมชนกิ่งอำเภอมะนัง จ.สตูล ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 4 กลุ่มในตำบลนิคมพัฒนา คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านป่าพน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านผัง 50 กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านวังพะเคียน และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อผลิตบ้านผัง 13 15 18 รวมกันเป็นธนาคารชุมชน ที่มีตัวแทนของแต่ละกลุ่มมาร่วมบริหารจัดการ
นายสุธา อินยอด   ประธานกรรมการบริหารธนาคารชุมชน บอกว่า เมื่อกลุ่มออมทรัพย์มารวมตัวกันเป็นธนาคารแล้ว ก็จะต้องให้สมาชิกแต่ละกลุ่มมาเป็นลูกค้าของธนาคารด้วย และมีตัวแทนของกลุ่มๆ ละ 3 คน มาเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการธนาคาร ปัจจุบันมีสมาชิก 1,750 คน มีเงินฝากรวมเกือบ 9 ล้านบาท โดยเป็นเงินฝากทั่วไป 4.5 ล้านบาท
สำหรับการบริการของธนาคารนั้น มีทั้งแต่การฝาก-ถอนของสมาชิก ซึ่งเปิดทำการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-15.30 น. การให้บริการช่วยเหลือเรื่องระบบบัญชีแก่กลุ่มออมทรัพย์ที่เป็นสมาชิก การร่วมกับธนาคารออมสินให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย วงเงินรายละ 5 หมื่นบาท ผ่อนชำระ 5 ปี และกำลังที่จะนำเงินทุนไปต่อยอดทำวิสาหกิจชุมชนด้วย บริการให้สินเชื่อเพื่อปลดหนี้ สินเชื่อส่งเสริมอาชีพ และสินเชื่อฉุกเฉินในยามเดือดร้อน
“ตอนนี้เราได้ก่อสร้างโรงผลิตน้ำดื่ม โดยให้สมาชิกธนาคารร่วมถือหุ้น ซึ่งลูกค้าของเราจะเน้นการกระจายสินค้าให้แก่สมาชิกและประชาชนในชุมชน ส่วนวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการแล้ว ก็มีศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน โรงปุ๋ยหมัก” ประธานกรรมการบริหารธนาคารชุมชนกล่าว
เขา บอกอีกว่า ธนาคารยังมุ่งเน้นการส่งเสริมสวัสดิการให้แก่สมาชิกของธนาคารด้วย ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยจัดทำในรูปของกองทุนสวัสดิการระดับตำบล มีการนำผลกำไรจากการบริหารจัดการธนาคาร รวมกับเงินสัจจะวันละบาทจากสมาชิก และการสมทบจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสวัสดิการการศึกษาของบุตรหลานสมาชิก
“หลังการเกิดขึ้นของธนาคารชุมชนได้แก้ปัญหาให้แก่สมาชิกหลายด้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้สินซ้ำซ้อน บางคนเป็นหนี้หลายแห่ง กู้เงินจากกองทุนนี้ไปจ่ายอีกกองทุนหนึ่ง ซึ่งเงินที่หมุนนั้นไม่ได้เกิดมูลค่าเพิ่มเลย เราจึงชักชวนสมาชิกให้ที่มีปัญหามาร่วมกันแก้ปัญหา จากเดิมมีหนี้หลายแห่ง ก็มีหนี้เพียงแห่งเดียว และส่งเสริมให้สมาชิกให้ความสำคัญของการออมเงิน ซึ่งการออมเงินเป็นการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นายสุธากล่าว

หากจะย้อนไปก่อนการจัดตั้งธนาคารชุมชน กลุ่มออมทรัพย์เหล่านี้มีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้สมาชิกมีหนี้เพิ่มขึ้นรอบตัว บางกลุ่มไม่เข้มแข็ง จึงเกิดการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน ในที่สุดก็ได้รวมกันเป็นเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอำเภอมะนัง มีเป้าหมายเพื่อเป็นสถาบันการเงินชุมชนที่เข้มแข็ง ลดภาระการเป็นหนี้ซ้ำซ้อนของสมาชิก และร่วมกันบริหารจัดการเงินให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อลดภาระของผู้นำในด้านการบริหารเงินทุน ระยะแรกสามารถรวมกลุ่มได้ 16 กลุ่ม หลังจากพูดคุยกันหลายเวทีกลับมีกลุ่มที่สามารถดำเนินการได้จริงเพียง 4 กลุ่ม ระยะแรกมีเงินทุน 1.6 หมื่นบาท แต่ปัจจุบันมีเงินทุนเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 9 ล้าน
นายกิตติโชค ชนะหลวง เลขานุการคณะทำงานแผนชุมชนตำบลนิคมพัฒนา กล่าวว่า ความสำเร็จของการดำเนินงานในรูปของเครือข่ายเกิดจากการศึกษาปัญหาของกองทุนต่างๆ ในชุมชน มีการจัดสภากาแฟพูดคุยกัน การวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงให้แต่ละกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ กำหนดข้อตกลงร่วมกัน และการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน
สำหรับวัตถุประสงค์ของเราคือ การมีทุนปลดหนี้นอกระบบ มีทุนพัฒนาชุมชน มีสวัสดิการคนทำงานและสมาชิก มีทุนประกอบอาชีพ ส่วนแผนงานในอนาคตที่ต้องการจะไปให้ถึงคือการจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกคนทุกด้านอย่างเท่าเทียม การมีศูนย์เรียนรู้ มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ครบถ้วนและถูกต้อง มีโรงอิฐชุมชนและศูนย์บริการการท่องเที่ยว
กระบวนการก่อเกิดธนาคารชุมชน
ก่อนเป็นธนาคารชุมชนมะนัง กลุ่มออมทรัพย์ในอำเภอมะนังได้รวมตัวกันเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอำเภอมะนัง มี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านป่าพน  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านผัง  50  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านวังพะเคียน  และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านผัง  13  15  18  ซึ่งเกิดจากความต้องการพัฒนาตนเองให้กลุ่มตนเองมีศักยภาพเท่าเทียมกัน
เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจึงได้กำหนดให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านผัง 50 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุด เป็นต้นแบบในการพัฒนาเพื่อให้สมาชิกกลุ่มอื่นได้นำแนวทางของกลุ่มออมทรัพย์ต้นแบบมาปรับใช้กับกลุ่มของตนเองตามศักยภาพ และสอดคล้องกับความเป็นจริงในกลุ่มของตนเอง  โดยใช้เวทีเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร  และองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งเครือข่ายจะมีการดำเนินการทุกวันที่  2  ของทุกเดือน  เวลา  13.00 น.  เป็นต้นไป  ณ  อาคารศูนย์เรียนรู้ตำบลนิคมพัฒนา  หมู่ที่  7  ตำบลนิคมพัฒนา  ซึ่งสามารถพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จจนกลายเป็นองค์กรการเงินฐานรากที่สำคัญ  เช่น คณะกรรมการกลุ่มมีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการกลุ่มมากขึ้น การจัดเวทีการเรียนรู้ต้องต่อเนื่อง การวิเคราะห์ตนเองเปรียบเทียบกับชุมชนภายนอก การสำรวจข้อมูลเงินกองทุน การสำรวจข้อมูลลูกหนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเครือข่าย จนก่อเกิดเป็นเวที ที่เรียกว่า “สภากาแฟ”
ส่วนวิธีการดำเนินการที่ได้ผลจริงและประสบความสำเร็จ มีกระบวนการดังนี้
1.  การจัดสภากาแฟ มีการนัดพบกันทุกคืน การเตรียมหัวข้อพูดคุย การนั่งล้อมวงทุกคนหันเข้าหากัน และการสร้างบรรยากาศต้องเป็นกันเอง
2.  การสำรวจข้อมูลเงินทุน และข้อมูลลูกหนี้
      2.1  ประชุมกรรมการกองทุน
      2.2  ออกแบบสำรวจข้อมูล
      2.3  อธิบายวิธีการกรอกข้อมูล
      2.4  แบ่งกลุ่มออกสำรวจข้อมูล
3.  การจัดตั้งคณะกรรมการบริการ
      3.1  สมาชิกคัดเลือกตัวแทนกองทุนๆละ  2 – 3 คนต่อกองทุน
      3.2  มีการจัดทำผังโครงสร้าง  และกำหนดบทบาทหน้าที่
      3.3  แบ่งงานกันทำตามความถนัด
      3.4  ทำความเข้าใจกับคณะกรรมการเกี่ยวกับหลักการมีส่วนร่วม
จากการที่กลุ่มมีวัตถุประสงค์  และแนวทางขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น  ส่งผลให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตประสบผลสำเร็จ  จนเครือข่ายสามารขยายกิจกรรมในการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเครือข่ายฯ จนถึงปัจจุบัน  เช่น
       1.  การประชุมเครือข่ายฯ เดิมมีการประชุมทุกวันที่  20  ของทุกเดือน  ปัจจุบันประชุมทุกวันที่  2  ของทุกเดือน  เวลา  13.00 น. เป็นต้นไป  ณ  อาคารเรียนรู้ตำบลนิคมพัฒนา  หมู่ที่  7  ตำบลนิคมพัฒนา  กิจกรรมที่ดำเนินการ  เป็นการประชุมกรรมการ  แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทัศนคติ  ปัญหา  อุปสรรค  แนวทางแก้ไข  และแนวทางในการพัฒนา  เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาบุคลากรและกลุ่ม  ให้มีขีดความสามารถในการบริหารกลุ่ม  และเป็นเวทีในการพูดคุยทำงาน  และการแจ้งข้อมูลข่าวสารของส่วนราชการที่ทำงานในพื้นที่
       2.  การจัดทำแบบจำลองรูปแบบการทำงานในรูปแบบของธนาคารชุมชนระยะเวลา  2  ปี  โดยเงินทุนครั้งแรก  8,000  บาท  ( มาจากการนำเงินกลุ่มออมทรัพย์ฯ  กลุ่มละ  2,000  บาท )  ปัจจุบันได้กลายเป็น  ธนาคารชุมชนอำเภอมะนัง
       3.  กิจกรรมการพัฒนาระบบบัญชี  เพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการเป็นพี่เลี้ยงซึ่งกันและกันในการจัดทำบัญชีของแต่ละกลุ่ม  เพื่อให้สามารถดำเนินงานในแต่ละกลุ่มมีความใกล้เคียงกัน
       4.  โครงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย  สมาชิกกู้ได้ไม่เกิน  50,000  บาท  ชำระคืนภายใน  5  ปี  และสมาชิกต้องได้รับการรับรองจากกลุ่ม
       5.  การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ
       6.  การจัดตั้งกลุ่มสวัสดิการ  เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างด้านการประกันความมั่นคงให้แก่สมาชิก  เริ่มแรกมี  1  กองทุน  คือ  สมาชิกสมทบเข้ากองทุนคนละ  10  บาทต่อเดือน  และมีเงินสมทบจากกำไรร้อยละ  50  ของทุกปี  ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการเพิ่มอีก  1  กองทุน  คือ  กองทุนสัจจะวันละ  1  บาท  มีสมาชิกจำนวน  480  คน
       7.  การให้เงินกู้ยืมพิเศษ ( ส่งเสริมอาชีพ )  เป็นเงินที่ให้สมาชิกกู้เพื่อส่งเสริมอาชีพ
       8.  การให้เงินกู้ฉุกเฉิน ( ยามเดือดร้อน  จำเป็นเร่งด่วน )
       9.  การจัดกิจกรรมวันออม  ดำเนินการทุกวันที่  10  พฤษภาคมของทุกปี  ( เนื่องจากเป็นการครบรอบการจัดตั้งธนาคารชุมชนกิ่งอำเภอมะนัง )
       10. การจัดตั้งศูนย์ผลิตภัณฑ์ชุมชนอำเภอมะนัง   ดำเนินการบริหารโดยคณะกรรมการการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน  และเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เป็นผู้สนับสนุนเงินทุน
       11. การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เครือข่ายชุมชน และศูนย์ข้อมูล
       12. การจัดตั้งโรงน้ำดื่มชุมชน
ส่วนแผนงานธนาคารชุมชนมะนัง มีแผนที่จะดำเนินการต่อไป เช่น การจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกคน  ทุกด้าน  อย่างเท่าเทียมกัน การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ครบถ้วน และถูกต้อง การก่อสร้างโรงอิฐชุมชน และการมีศูนย์บริการการท่องเที่ยว
โรงน้ำดื่มชุมชน: วิสาหกิจชุมชนเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน

 


ธนาคารชุมชนมะนังได้สร้างโรงผลิตน้ำดื่มอำเภอมะนังขึ้น เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มในชุมชน ที่ชาวบ้านหันไปบริโภคน้ำขวด 20 ลิตร ซึ่งมีราคาขวดละ 12 บาท ที่นับว่ามีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้นจึงได้สร้างโรงผลิตน้ำดื่มอำเภอมะนัง เพื่อให้คนในชุมชนมีน้ำสะอาดบริโภค ราคาถูก และเพื่อเป็นสวัสดิการให้คนในชุมชน โดยทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการคืนกำไรให้กับคนในชุมชน

เป้าหมายของการสร้างโรงผลิตน้ำดื่มอำเภอมะนัง คือ “ผลิตน้ำดื่มที่มีคุณภาพ ในราคาที่ถูก” เพื่อให้ชาวอำเภอมะนังทุกคนมีน้ำดื่มที่สะอาด สุขภาพแข็งแรง อีกทั้งยังมีเงินออมไว้ใช้ในอนาคต
การบริหารจัดการโรงผลิตน้ำดื่มอำเภอมะนังนั้น มีการวางโครงสร้างเป็น 2 ส่วน คือ 1.ผู้บริหาร ประกอบด้วย ประธานโครงการเป็นผู้บริหารสูงสุด มีหน้าที่บริหารโรงผลิตน้ำทั้งหมด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากเครือข่าย และผู้จัดการจัดการทั่วไป ดูแลเรื่องการผลิต การทำบัญชี 2.พนักงานในกระบวนการผลิตน้ำดื่ม 2 คน เป็นลูกจ้างประจำ

กลยุทธ์ที่ใช้ที่ให้ชาวมะนังหันมาบริโภคน้ำดื่มของเครือข่าย คือ การประชาสัมพันธ์ โดยมีกรรมการของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ เน้นการสร้างจิตสำนึกร่วมกัน ว่าน้ำดื่มนี้เป็นสมบัติของทุกคน เราจะต้องพึ่งพาตนเอง โดยการบริโภคน้ำดื่มของเราเอง

ด้านการกระจายสินค้านั้น ทางเครือข่ายได้จัดให้แต่ละกลุ่มเป็นผู้รับผิดชอบ โดยกลุ่มจะต้องมีที่สำหรับวางน้ำ ทางโรงผลิตน้ำดื่ม มีรถขนส่งไปให้ที่กลุ่ม และทางกลุ่มต้องกระจายน้ำไปยังสมาชิกเอง นอกจากนี้ทางเครือข่าย คาดว่าหากมีงบประมาณพอ จะซื้อถังน้ำให้ครอบครัวละ 2 ถัง เพื่อใช้หมุนเวียนกันในชุมชน

การสร้างโรงผลิตน้ำดื่มอำเภอมะนังนั้น มีวิธีการระดมทุนในการสร้างโรงผลิตน้ำดื่ม ทั้งจากภาครัฐ และส่วนที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของเครือข่ายในการระดมทุน เช่น โครงการคุณภาพชีวิตของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) จำนวน 228,000  บาท การระดมจากกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มละ 100,000  บาท จากธนาคารชุมชนมะนัง จำนวน 400,000 บาท และจากกองทุนสวัสดิการตำบล จำนวน 50,000 บาท

โดยงบประมาณทั้งหมดจะมีธนาคารชุมชน เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หากงบประมาณไม่เพียงพอ ก็จะนำเงินทุนจากธนาคารชุมชนมาใช้ในการหมุนเวียนก่อน ซึ่งปัจจุบันมีงบประมาณในการสร้างโรงผลิตน้ำดื่มหนึ่งล้านกว่าบาท โดยทางเครือข่ายคาดว่าต้องใช้ต้นทุนประมาณ 5 ล้านบาทจึงจะสมบรูณ์

ด้านกำไรนั้น เครือข่ายไม่หวังเป็นตัวเงิน แต่ต้องการให้คนในชุมชนบริโภคน้ำในราคาที่ถูกลง มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนระยะเวลาคืนทุนนั้น คาดว่าสามารถคืนทุนได้ภายใน 3 ปี หรืออย่างช้าประมาณ 5 ปี

ในส่วนของโรงผลิตน้ำดื่มนั้น มีลักษณะเป็นระบบ GNP ซึ่งเป็นการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นมาตรฐานของโรงผลิตน้ำดื่มทั่วไป นอกจากนี้น้ำที่ได้ต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสาตร์การแพทย์ จากนั้นจึงมีการตรวจตรวจตัวอาคาร และกระบวนการผลิตอีกรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าได้น้ำที่สะอาด และปลอดภัยจริง จึงจะผ่านการรับรอง ทั้งสำนักงานอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อออกตราฮาลาล
 
ธนาคารชุมชนมะนัง จ.สตูล เป็นตัวอย่างหนึ่งของชุมชนที่เข้มแข็งด้วยลำแข้งของตนเอง สวนทางวาทกรรมของคนทั่วไปที่มักกล่าวเสมอว่า “ชาวบ้านทำงานใหญ่ไม่ได้” แต่ชุมชนแห่งนี้ทำได้ด้วยทุนทางสังคมที่ร่วมกันบ่มเพาะขึ้นมา พร้อมกับการหนุนเสริมของหน่วยงานภายนอก กลายเป็น 2 แรงแข็งขันที่ร่วมกันสรรค์สร้างสังคมให้พอเพียง

---------------------------------------------------------------------------------
* เรียบเรียงจากรายงานพิเศษเชิงข่าวของนายภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร     และรายงานของนักศึกษา  รายวิชา 872-314 ทุนทางสังคมเพื่อธุรกิจและวิสาหกิจชุมชนที่ศึกษาดูงาน ณ ธนาคารชุมชนมะนัง จ.สตูล เมื่อเดือนมีนาคม 2551 
      
คำสำคัญ (Tags): #ธนาคารชุมชน
หมายเลขบันทึก: 380849เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นกำลังใจในการทำหน้าที่ในพื้นที่นะครับ

มีโอกาสคงได้ร่วมงานกันสักครั้งครับ (ผมเองก็จบ ป.ตรี ม.อ.ปัตตานี ครับ)

ต้องขอขอบคุณอย่างสูงที่ เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอำเภอมะนัง 100/1 หมู่ที่7ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล ได้บริจาค มอบน้ำดื่มชุมชนอำเภอมะนัง มาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม(โคราช ตุลาคม 2553)จำนวนมาก ครอบครัวผมได้รับน้ำดื่มของท่านแล้วรู้สึกซึ้งในน้ำใจของคนไทย ที่ไม่เคยทอดทิ้งกัน แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า น้ำดื่มขวดนี้เดินทางมาจากสตูล ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลมากกว่า1000 กิโลเมตร น้ำท่วมครั้งนี้หนักจริงๆ หนักมากในรอบเกือบ50ปี เดือดร้อนกันทั่วเมืองเลย น้ำดื่มสะอาดคือปัจจัยหลักที่พวกเราผู้ประสบภัยต้องการมากที่สุดในลำดับต้นๆ ที่ต้องใช้ดื่มทุกวัน จุดที่ผมอยู่คือตำบลหมื่นไวย อ.เมืองจ.นครราชสีมา ห่างจาก รพ.มหาราช และตัวเมือง2กิโลเมตร ระดับน้ำท่วมถึงตั้งแต่ 0.90-1.30 เมตร ข้าวของเสียหายมากมายเก็บไม่ทันเนื่องจากน้ำมาเร็วมาก ขอบคุณอีกครั้งนะครับสำหรับน้ำดื่ม ขอบคุณจริงๆ ที่ไม่ทิ้งคนไทยด้วยกัน

สวัสดี !



ต้องการบริการสินเชื่อที่ถูกต้องและรวดเร็ว?



สมัครตอนนี้และขอรับเงินด่วน!



* ตำแหน่งระหว่าง 5000 ถึง 50 ล้าน
* เลือกระหว่าง 1 ถึง 30 ปีในการชำระคืน
* เงื่อนไขการกู้ยืมเงินแบบยืดหยุ่น



ทั้งหมดนี้และอื่น ๆ โปรดติดต่อเรา



ชื่อเต็ม: ..........
หมายเลขโทรศัพท์:.......
รายได้ต่อเดือน: .............
ประเทศ ...............................
วัตถุประสงค์สินเชื่อ ...........
จำนวนเงินที่ต้องการ .................
สถานะเงินกู้ ............
ระยะเวลา: ...........................



ติดต่อเราทางอีเมล: [email protected]
การจัดการ
ติดต่อสินเชื่อด่วน!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท