เกลือบ่อโพธิ์


บ่อเกลือพันปี

ตำบลบ่อโพธิ์เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอนครไทย ซึ่งตั้งอยู่เหนือสุดของอำเภอนครไทยอยู่ห่างจากอำเภอนครไทย 30 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสลับกับเชิงเขา สภาพป่าอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และมีลักษณะภูมิอากาศตามพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นที่ราบสลับภูเขา ทำให้อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ย 5 – 27 องศาเซลเซียส

ตำบลบ่อโพธิ์ยังมีสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งท่านอาจไม่รู้ว่าจะมีสิ่งมหัศจรรย์ที่บรรพบุรุษได้ทิ้งไว้ให้ได้สืบทอดต่อกันมานั้นก็ คือ “บ่อเกลือพันปี” ที่ซึ่งเป็นแหล่งประกอบอาชีพให้ชาวบ้าน

บ่อโพธิ์ได้มีกินมีใช้อยู่อย่างพอเพียง นอกจากจะประกอบอาชีพการทำเกลือแล้วยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาข้าว ทำไร่ข้าวโพด ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย ทำหัตถกรรม

สานกระเป่าจากผักตบชวา และเครื่องจักรสาน เป็นต้น คณะผู้จัดทำเล็งเห็นว่าตำบลบ่อโพธิ์เป็นตำบลที่ไกลออกไปจากตัวอำเภอนครไทย และเป็นตำบลที่อยู่ระหว่างหุบเขา ทำให้การเดินทางไปมาไม่สะดวก ประกอบกับมีภูมิปัญญาของชาวบ้านหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการทำเกลือ เป็นสินค้าสำคัญและได้มีการฝึกฝนอบรมลูกหลานสืบทอดกันมาหลายอายุคน

ชาวบ้านบ่อโพธิ์ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบ่อโพธิ์ ตำบลบ่อโพธิ์ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง องค์ความรู้ ที่มาจากวิถีชีวิต วิธีคิด วิธีปฏิบัติ อันอยู่ภายใต้

การมองโลก มองชีวิตที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่น เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ อาชีพ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี เป็นความรู้ที่มีคุณค่า และดีงามที่ผู้คนได้ค้นคว้าไม่ใช่ด้วยสมองอย่างเดียว แต่ด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ทัศนะ และจิตวิญญาณ เป็นความรู้ที่มีคุณธรรม เป็นความรู้ที่มาจากชีวิตและสัมพันธ์กับชีวิต อันเป็นที่มาของชีวิตพอเพียงไม่โลภ อยู่เย็นเป็นสุข

1.การทำเกลือ ตำบลบ่อโพธิ์

การทำเกลือเป็นอาชีพขาวบ้านบ่อโพธิ์ ซึ่งมีบ่อเกลือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านมีความเชื่อเป็นตำนานที่กล่าวถึง การค้นพบบ่อเกลือว่าในสมัยพ่อขุนบางกลางท่าวเมื่อพระองค์ทรงครอบครองเมืองบางยางแล้ว และต่อมาต้องการขยาย อาณาเขตพระองค์จึงยกกองทัพไปตีขอมเมื่อพระองค์พาไพร่พลมาถึงที่ซึ่งปัจจุบันเป็นหมู่บ้านบ่อโพธิ์ พระองค์ทรงพากำลัง ทหารหยุดพัก และทรงให้ทหารทำการสำรวจพื้นที่ พวกทหารได้ค้นพบ บ่อน้ำ ซึ่งมีลักษณะเป็นต้นโพธิ์ และมีน้ำอยู่ตรงกลาง พวกทหารตักมาชิม พบว่าน้ำนั้นมีรสเค็ม พระองค์จึงให้ทหารนำน้ำในบ่อไม้มาต้มและเคี่ยวดูปรากฏว่าน้ำนั้นตกผลึก เป็นเม็ดสีขาว ๆ จึงนำมาปรุงอาหารที่มีรสจืดให้อร่อยได้ เมื่อพระองค์ยกทัพกลับก็ได้นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ให้แก่ราษฎรของ พระองค์ได้รู้จักการปรุงอาหาร และทรงให้ราษฎรของพระองค์กลุ่มหนึ่งตั้งรกราก อยู่ที่บ้านบ่อโพธิ์นี้ โดยทำเกลือขาย หรือแลกเปลี่ยนของใช้ในชีวิตประจำวันเลี้ยงชีพของตน ซึ่งต่อมาได้ทำเป็นอาชีพหลักของหมู่บ้าน ในบริเวณบ่อเกลือ ชาวบ้านบ่อโพธิ์มีความเชื่อว่ามีเจ้าปู่คอยปกปักรักษาบ่อเกลือ ดังนั้นเพื่อแสดงความเคารพเจ้าปู่ ผู้ที่ไป บริเวณบ่อเกลือจะถูกห้ามไม่ให้ใส่รองเท้า ห้ามสวมหมวก ห้ามใช้นิ้วแตะน้ำเกลือ และห้ามบ้วนน้ำลายในบริเวณบ่อเกลือ มีเรื่องเล่าว่า เคยมีสาวคนหนึ่งมาตักน้ำที่บ่อเกลือแล้วได้ใช้นิ้วแตะน้ำมาชิม แล้วบ้วนทิ้งในบ่อปรากฏว่าขณะเดินทาง กลับบ้านยังไม่ถึงบ้านก็มีอันเป็นไปจนถึงแก่ชีวิตระหว่างทาง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการต้มเกลือ

1.เตา เตาที่ใช้ในการต้มเกลือ ชาวบ้านจะปั้นเอง โดยนำไม้เชิญ หรือไม้ไผ่มาสับเป็นฟาก แล้วนำดินในบริเวณนั้น มาปั้น เป็นรูปเตา ลักษณะของเตาจะนิยมทำ 2 วง เหมือนกันทุกบ้าน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำกันมาแต่บรรพบุรุษ

2.ฟืน ฟืนจะใช้เป็นเชื้อเพลิงในการต้ม นำมาจากต้นไม้ที่ตายแล้วในป่าบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้าน

3.ปาก ภาชนะที่ใช้ใส่เกลือที่เคี่ยวได้ที่แล้ว ขาวบ้านจะตักเกลือจากกะทะมาใส่ปากเพื่อให้น้ำจากเกลือไหลลง เกลือจะได้แห้ง

4.รางไม้ รางไม้จะใช้สำหรับรองรับน้ำเกลือที่ไหลจากปาก ซึ่งน้ำเกลือที่อยู่ในรางไม้จะถูกนำกลับไปต้มอีกครั้งหนึ่ง

5.เปลือกไม้จะแข เป็นเปลือกไม้ที่ใส่กะทะแช่เวลาต้มน้ำเกลือ เพื่อให้น้ำเกลือจับตัวเป็นส่าแข็งและจะได้เนื้อเกลือมาก

6.กระชอน ใช้สำหรับตักเกลือ

7.กระทะ ใช้สำหรับต้มเกลือ พิธีกรรมและขั้นตอนการต้มเกลือ

การต้มเกลือของชาวบ้านบ่อโพธิ์ จะเริ่มต้นในราวเดือนมกราคม หรือ เดือน 2 ซึ่งในปี พ.ศ. 2539 เริ่มขึ้นในวันที่ 2 มกราคม 2539 โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้

1 การขุดบ่อ เนื่องจากบ่อเกลืออยู่ข้างลำธาร ในช่วงฤดูฝน น้ำจะท่วมบ่อ ทำให้ดินที่ถูกน้ำพัดพามาจะตกทับถมลง ในบ่อเกลือทำให้ไม่สามารถจะนำน้ำเกลือออกมาได้ เมื่อถึงปลายฤดูหนาวย่างเข้าฤดูร้อน ชาวบ้านจะร่วมแรงกันขุดดินออก จากบ่อในการขุดดินออกจากบ่อเกลือ หมอขะจ้ำ (คนทรง )ที่เคารพนับถือในหมู่บ้านจะเป็นคนกำหนดวันและเวลาของ การขุดแล้วแจ้งผู้นำชาวบ้านได้ทราบเพื่อนำไปบอกชาวบ้านนัดหมายการขุดเมื่อถึงวันที่กำหนดขุดบ่อ ชาวบ้านจะนำ ดอกไม้ธูปเทียนพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ในการขุดมาชาวบ้านจะนำดอกไม้มารวมกันที่ศาลปู่ประจำหมู่บ้านซึ่งอยู่ใกล้กับบ่อเกลือ เพื่อบูชาเจ้าปู่ (เจ้าหลวง ) หันข้าว และนางเอย นางน้อย นอกจากจะบูชาเจ้าปู่แล้วยังเป็นการบอกกล่าวเจ้าปู่ให้รู้ว่า ลูก หลานจะมาทำการกวดบ่อ (ขุดบ่อ ) ในการกวดบ่อ สามารถกระทำได้ทั้งหญิงและชาย ดังนั้นในการขุดบ่อ ชาวบ้านและเด็ก ๆในหมู่บ้านทั้งหมดจะช่วยกันขนดิน จากบริเวณใกล้ ๆ นำมากั้นน้ำในลำธารไม่ให้ไหลเข้าไปในบริเวณบ่อเกลือ สำหรับผู้ใหญ่จะทำการขุดลึกลงไปประมาณ 1 ช่วงคนก็จะมีน้ำเกลือออกมา จากนั้น จะนำกระถางน้ำเกลือที่ผสมกับดินออกมาเรื่อย ๆโดยการเททิ้งลงลำธาร การกวด

บ่อ จะกวดจนถึงพื้นที่เป็นหินลาดอยู่ใต้บ่อซึ่งมีความลึกมาจากชาวบ้านกล่าวว่า “สุดลำไม้ไผ่สามสิบสองตา" เมื่อกวดบ่อถึง พื้นหินจึงจะยุติการกวดน้ำเกลือที่สะอาดจะซึมออกมาเรื่อย ๆ จนเต็มวงบ่อ โดยน้ำเกลือจะมีรสเค็มจัด

2. การทำเกลือ กรรมวิธีและขั้นตอนของการทำเกลือ ของชาวบ่อโพธิ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านจะตั้งเอาน้ำเกลือออกจากบ่อหาบมาไว้ในโอ่ง เพื่อให้ดินโคลนที่ปะปนกับน้ำเกลือ เกิดการตกตะกอนโดยใช้เวลา ประมาณ 1 คืน พอน้ำใสแล้วจึงนำมาใส่กะทะ เพื่อทำการต้ม การต้มแต่ละครั้งจะต้มทีละ 2 กระทะ เพราะเตาที่ชาวบ้านทำ จะเป็นเตาที่ปั้นเองโดยใช้ดินลักษณะ ของเตาจะมี 2 วง เหมือนกันทุกบ้านการต้มจะใช้ฟืนที่หาจากป่าบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้าน มาเป็นเชื้อเพลิงในการต้มจะใส่ไม้จะแขลงไปในกะทะเพื่อให้น้ำเกลือจับแข็งตัวเป็นส่าแข็งและจะทำให้ได้เกลือมาก เมื่อเคี่ยวได้ตามความต้องการแล้วชาวบ้านจะตักเกลือออกจากกะทะนำมาใส่ปากเพื่อให้น้ำเกลือไหล เกลือจะแห้ง นำมาบริโภคได้ การทำเกลือเป็นอาชีพหลักของชาวบ่อโพธิ์มาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏว่าในปี พ.ศ.2467 หมู่บ้านนี้มีประมาณ 40 หลังคาเรือน ผลิตเกลือได้ประมาณ ปีละ 2,000 หาบ ชาวบ่อโพธิ์จะนำเกลือออกไปจำหน่ายยังเมืองต่างๆ อาทิ เมือง เหล่มสักมืองเลย และนครไทย


ที่มา

http://www.pantown.com/group.phpdisplay=content&id=34862&name=content33&area=3

หมายเลขบันทึก: 380669เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท