เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว ตอนที่ 1 เริ่มต้นอย่างไร


การเดินทางมิได้กระทำเพียงชั่ววัน หรือนับเดือน แต่จะต้องมีความพยายามเป็นสิบ ๆ ปี กว่าที่จะนำความรู้ไปสู่เยาวชนได้

เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว

จากจุดเริ่มต้นจนถึงขั้น

การแสดงอาชีพ

ตอนที่ 1 เริ่มต้นอย่างไร

โดย ชำเลือง มณีวงษ์   กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว

เครือข่ายนันทนาการต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1

          การเริ่มต้นในวันนี้ของผม อาจจะช้าไปสักนิดสำหรับท่านผู้รู้ทั้งหลายที่มีความชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญพิเศษด้านศิลปะการแสดงเพลงอีแซว ซึ่งแต่ก่อนมาไม่มี หลังจากที่มีผู้บุกเบิกเริ่มถากถางแนวทางจนมองเห็นกาลไกล มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และเอาจริงเอาจังกับงานเพลงพื้นบ้าน ผมยอมรับว่า มีบางท่านที่ทุ่มเทให้งานเพลงพื้นบ้านจนน่ายกย่องว่า เป็นของจริง ใช่แน่ที่กล้าลงทุนทำงานนี้มาอย่างยาวนาน

          ในธรรมชาติทั่วไปย่อมที่จะมีอะไรคู่กันอยู่เสมอ มีดีมีไม่ดี  มีเก่งมีไม่เก่ง มีชอบมีไม่ชอบ มีมืดมีสว่าง มีกลางวันมีกลางคืน มีเป็นจริงมีไม่เป็นจริง มีอวดเก่งมีสงบเสงี่ยมอะไรหลาย ๆ อย่าง จึงทำให้ผมต้องมานั่งขบคิดและเขียนบทความบทนี้ลงในบล็อก Gotoknow.org อีกครั้ง โดยที่ผมจะนำเอาประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัสมากล่าวเป็นแนวทางและความรู้ให้กับผู้ที่มีใจรักเพลงพื้นบ้านอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเพลงพื้นบ้านประเภทใดย่อมที่จะมีอะไร ๆ คล้าย ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย วิธีการแสดง ค่าตอบแทนไปจนถึงผู้ชม (ให้ความสนใจน้อย)

          การทีจะเรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว (ศิลปะประจำท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี) ควรที่จะเริ่มต้นที่ใครกันแน่ ระหว่าง ครู นักเรียน ประชาชน ถ้าจะให้ผมตอบคำถามนี้ ผมขอตอบว่า น่าจะเริ่มต้นที่ผู้ใหญ่ ได้แก่ ครู อาจารย์ ประชาชนที่สนใจ แล้วทำไมไม่เริ่มที่เด็ก ๆ ละ เพราะอะไร เพราะเด็ก ๆ ในยุคปัจจุบันไม่เหมือนสมัยเก่าที่มีศึกษาพอสมควรก็ออกจากโรงเรียนไปประกอบอาชีพกันแล้วและอาชีพก็อยู่กับบ้าน ทำนา ทำไร่ ขายของ เรียกว่า วนเวียนอยู่ในชุมชนนั่นเอง แต่เด็ก ๆ ในยุคนี้จะต้องเรียนให้สูง เพื่อที่จะได้ทำงานสบายมีอาชีพที่มั่นคง ด้วยความแตกต่างนี้เอง ทำให้เราไม่สามารถที่จะฝากเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซวไว้กับเด็ก ๆ ได้อย่างถาวร

           

           (บนเวทีประกวดเพลงอีแซวมีป้าอ้น จันทร์สว่างร่วมแสดง, อีกภาพถ่ายร่วมกับแม่บัวผัน จันทร์ศรี บนเวทีศิลปวัฒนธรรม)

         

         

          (การแสดงร่วมกับศิลปินเพลงอีแซว สุจินต์ ศรีประจันต์และชาวคณะ บนเวทีศิลปวัฒนธรรมงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ ปี 2551)

          ผมฝึกหัดร้องเล่นเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ผมร้องเพลงขอทาน เพลงฉ่อยได้แล้ว โดยมีต้นแบบเป็นน้าชายและคนในหมู่บ้าน แต่เรารักที่จะร้อง อยากฝึกฝนจึงเดินทางไปพบครูเพลงจำนวนมากในสุพรรณบุรีและได้ฝึกหัดเพลงกับท่านเหล่านั้นติดตัวมายาวนาน ถ้ามีคนคิดอย่างผม เราก็สามารถที่จะหัดเพลงให้กับเยาวชนโดยตรงได้ แต่ที่ไหนได้ฝึกหัดเด็ก ๆ ไปในแต่ละปี เมื่อเด็ก ๆ จบการศึกษาไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย น้อยคนที่จะกลับมาช่วยวงเพลงหรือกลับมาก็เพียง 1-2 ปี จากนั้นเขาก็ค่อย ๆ ห่างเราไปตามความมุ่งมั่นของชีวิตที่ครอบครัวต้องการ

          ยิ่งการแสดงที่จะยึดเอามาเป็นอาชีพด้วยแล้ว พูดได้เลยว่าไปให้ถึงจุดนี้ได้ยากมาก ๆ แต่ก็มิใช่ว่าจะเดินทางไปไม่ถึง ไปได้แต่จะไปได้ดีขนาดไหน ยาวนานแค่ไหน คุณภาพหรือความมีอัตลักษณ์คือคำตอบที่จะคอยเตือนใจนักแสดงว่า “ความจริงเราควรอยู่ในระดับใด มีความสามารถน้อย แต่อยากที่จะไปนำเสนอผลงานที่ที่ ๆ เขามีคุณภาพสูง” คุณภาพการแสดงยังไม่ถึงขั้นที่คนดูจะมานั่งชมหรือติดตามผลงาน

          อย่างนี้ก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางความสามารถ ทำให้ผู้ชมตำหนิได้ว่า ความสามารถยังไม่พอ สิ่งที่จะตามมาก็คือ ไม่มีงานเข้า ไม่มีงานหาที่จะมารองรับชีวิตการแสดงให้คงอยู่ได้ยาวนาน ชีวิตนักแสดงหากไม่มีงาน ไม่มีเวทีให้เล่น ไม่มีรายได้เข้ามาตอบแทนก็ไม่น่าที่จะเรียกได้ว่า เป็นศิลปินแขนงนั้น ๆ เป็นได้ก็แค่เพียง ผู้ที่มีความสนใจ ในประเด็นตรงนี้ ยังมีผู้ที่เข้าใจไขว้เขวในเรื่องของการเป็นผู้อนุรักษ์อีกมิใช่น้อย คำว่า เป็นผู้อนุรักษ์ หรือสืบสานจะต้องเป็นกลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่กระทำสิ่งนั้นมายาวนานและต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถึงแม้ว่าจะมีจุดสูงสุด มีจุดตกต่ำมาบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่การแสดงระดับมืออาชีพ จะต้องสามารถยืนอยู่บนเวทีได้อย่างสง่างาม ตั้งแต่วันที่เด่นดังจนถึงวาระสุดท้าย

          บางคนมีความสามารถที่จะแนะนำ อบรมสั่งสอนเยาวชนคนอื่น ๆ ให้เป็นนักแสดงเพลงพื้นบ้านได้เป็นจำนวนมาก แต่ตนเองกลับมิใช่นักแสดง เล่นเพลงไม่เป็น ไม่เคยเล่น ไม่เคยมีคนว่าจ้างไปแสดง พูดง่าย ๆ ว่า มีแต่ตัว ไม่มีอุปกรณ์การแสดง ถ้าอย่างนี้ก็ฝึกหัดคนรุ่นใหม่ให้ก้าวไปในระดับมืออาชีพยาก ผมจึงออกมาเขียนบทความเพื่อที่จะเชิญชวนครูเพลงนอกเวทีทั้งหลายให้หาโอกาสขึ้นเวทีทำการแสดงร่วมกับศิลปินให้มาก และพยายามที่จะพัฒนาทีมงานไปสู่ความเป็นนักแสดงอาชีพ ไม่ต้องอาศัยคนดังเพื่อยกตนเองให้เด่น (จะไม่มีผล) เมื่อนั้นแหละศิลปะพื้นบ้านประเภทเพลงอีแซวจึงจะอยู่ได้อย่างน่าเชื่อถือและมั่นใจว่าไม่สูญ

          เราจะเริ่มต้นกันอย่างไร ผมขอเสนอแนะให้เริ่มต้นที่ครู หรือผู้ใหญ่ในชุมชนร่วมสรรสร้างรับมรดกเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ เอาไว้ให้อยู่กับตัวเรา เมื่อมีความสามารถสูงพอจึงค่อย ๆ ขยายผลสู่เยาวชน อย่างผม ผมฝึกหัดร้องเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่อายุ 10 ปี ผมหาความรู้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงในวันนี้ ผมยังคงเป็นผู้เรียนรู้ในเรื่องเพลงพื้นบ้านอยู่ตลอดเวลา ไม่ถือว่าตนเองเป็น เก่ง มีความสามารถมากกว่าใคร ๆ เพียงแต่ว่าเราทำได้ในระดับที่ผู้ชมพอใจยอมที่จะไหว้วาน เรียกหาจนถึงจ้างไปแสดงในสถานที่ต่าง ๆ มาเป็นจำนวนมาก

         

         

         

          ผมเริ่มต้นจากจำน้าชายร้องเพลงขอทาน จำน้าอุ้ย (คนในหมู่บ้าน) ร้องเพลงฉ่อย เพลงเต้นกำ เพลงพวงมาลัย ในช่วงเวลาต่อมาได้มาฝึกหัดแสดงลิเก ออกงานหลายครั้งไปแสดงมาหลายอำเภอในจังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาก็เข้าประจำวงดนตรีลูกทุ่งของน้าชาย ร้องเพลงประเภทเพลงแหล่ เพลงทำนองลิเก ร้องเพลงเชียร์รำวงจนกระทั้งได้มารับมรดกพิธีทำขวัญนาคจากพ่อคุณวัน มีชนะ และเมื่อได้มารับราชการครู ปี พ.ศ.2513 ได้มารู้จักกับครูเพลงพื้นบ้านหลายท่าน (เพราะเราสนใจ) ผมขอฝึกหัดเพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ ฯลฯ กับท่านเหล่านั้นและบันทึกเทปคาสเสทเอาไว้หลายสิบม้วน ปี พ.ศ. 2525 ผมเป็นตัวแทนอำเภอดอนเจดีย์ประกวดเพลงอีแซว ได้รับโล่รางวัลชนะเลิศของจังหวัดสุพรรณบุรีและเงินรางวัลอีกจำนวนหนึ่ง ได้รับเชิญไปแสดงหลายสถานที่ จนถึงปี พ.ศ.2534 ผมพยายามที่จะถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียน แต่ได้ผลไม่สมกับที่ตั้งใจเอาไว้ มาสำเร็จในปี พ.ศ. 2535-2553 (เป็นเวลา 19 ปีแล้ว)

          

          

          จะเห็นได้ว่าการเดินทางมิได้กระทำเพียงชั่ววันหรือนับเดือนแต่จะต้องมีความพยายามเป็นสิบ ๆ ปี กว่าที่จะนำความรู้ไปสู่เยาวชนได้ นี่ขนาดผมมีประสบการณ์ทางการแสดงมาตลอดชีวิตแล้วถ้าไม่มีประสบการณ์ จะต้องทำอย่างไรจึงจะไปให้ถึงจุดสูงสุดที่ต้องการได้

จุดเริ่มต้นจนถึงอาชีพของการฝึกหัดการแสดงเพลงอีแซว ควรกระทำดังนี้

  1. วิเคราะห์ตนเองให้พบว่า เราชอบ ถนัด สนใจในสิ่งนี้แท้จริงหรือไม่
  2. เรียนรู้กับครูเพลงภูมิปัญญาท้องถิ่น ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง
  3. หาโอกาสร่วมแสดงกับท่านและวงเพลงอื่น ๆ จนมีความชำนาญ
  4. นำเอาจุดเด่นของตนเองไปขยายผลสู่เยาวชน เป็นต้นแบบที่น่าศรัทธา
  5. ให้คำแนะนำนักแสดงเป็นรายบุคคลโดยส่งเสริมให้ตรงจุดเด่นของเขา
  6. แบ่งบทบาทหน้าที่ในทีมงานอย่างเหมาะสมและทำการฝึกซ้อมเอย่างสม่ำเสมอ
  7. มุ่งหน้าพัฒนาความสามารถให้ได้อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ เต็มกำลัง
  8. หาเวทีการแสดง ให้ทีมงานได้มีโอกาสได้แสดงความสามารถต่อหน้าสาธารณชน
  9. เปิดตัวรับงานแสดงแบบค่อยเป็นค่อยไป สร้างผลงานให้โดดเด่นด้วยตนเอง

ติดตาม ตอนที่ 2 เพลงอีแซว เริ่มต้นฝึกอะไรเป็นลำดับแรกสุด

หมายเลขบันทึก: 380586เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท