กลุ่มนันทนาการเพื่อสุขภาพจิตจัดอย่างไร


ขอบคุณคำถามจากสหวิชาชีพที่สนใจวิธีการจัดกลุ่มนันทนาการเพื่อบำบัดฟื้นฟูผู้ที่มึความบกพร่องทางจิตสังคม คลิกอ่านจาก http://gotoknow.org/ask/supalakpop/7780?page=1
กระบวนการเพิ่มการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมทางสังคมในผู้รับบริการที่มีความบกพร่องทางจิตสังคมต้องวางแผนงานเป็นทีมสหวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา นักแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย นักนันทนาการบำบัด และบุคคลที่ฝึกฝนทางการบำบัดฟื้นฟูทางจิตสังคม) และจัดกิจกรรมดังนี้ 1. กิจกรรรมการสร้างสัมพันธภาพภายในตัวเอง ผู้บำบัดควรดึงความคิด ความสนใจ ความเชื่อ และความมีคุณค่า ของคนหนึ่งคน ให้แสดงออกผ่านกิจกรรมที่ใช้ภาษาพูดหรือท่าทาง ไม่มีการเร่งบังคับให้พูดหรือคิดมากจนเกินไป เช่น วาดรูปแสดงความรักในตนเอง ติดกระดาษสีบนขวดแก้วที่แสดงความคิดในตนเอง เลือกเสียงเพลงที่แสดงความสนใจของตนเอง เป็นต้น หากผู้บำบัดประเมินว่าผู้รับบริการมีการพัฒนาการสื่อสาร ได้แก่ การสบตา การยิ้ม การแสดงท่าทางสีหน้าเหมาะสม การพูด ที่พอใช้ ก็ให้เข้ากิจกรรมถัดไป 2. กิจกรรมการสร้างสัมพันธภาพระหว่างสองคน ผู้บำบัดชวนผู้รับบริการทำกิจกรรมที่มีเป้าหมาย มีความหมาย มีคุณค่า และมีความสุข และได้ผลิตผลของกิจกรรมภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ระหว่างทำกิจกรรมผู้บำบัดควรชวนแสดงความคิดและสื่อสารทั้งภาษาพูดและท่าทาง เช่น ทำภาพปะติด วาดรูปสีน้ำ ทำตุ๊กตาแขวน เป็นต้น หากผู้บำบัดประเมินว่าผู้รับบริการมีการพัฒนาการสื่อสาร ได้แก่ การสบตา การยิ้ม การแสดงท่าทางสีหน้าเหมาะสม การพูดที่ดี ก็ให้เข้ากิจกรรมถัดไป 3. กิจกรรมการสร้างสัมพันธภาพแบบกลุ่ม (มากกว่าสองคนแต่ไม่เกิน 5 คน) ผู้บำบัดเป็นผู้นำกลุ่ม คัดกรองและคัดเลือกผู้รับบริการที่มีความสามารถทางสังคมมากสลับกับน้อย (จะได้ช่วยเป็นต้นแบบซึ่งกันและกัน) โดยใช้กิจกรรมแบ่งขั้นตอนให้ช่วยกันทำทีละขั้นตอน หรือหากความสามารถใกล้เคียงกัน ผู้บำบัดต้องเป็นผู้กระตุ้นให้แสดงออกทางความคิด การสื่อสาร และการทำกิจกรรมที่ต่างคนต่างทำแต่ละขั้นตอนไปพร้อมๆ กัน มีผลิตผลของกิจกรรมภายในเวลาไม่เกิน 45 นาที เช่น ทำผ้าบาติกร่วมกัน 1 ผืน ทำงานไม้ ทำร่วมกัน 1 ชิ้น เป็นต้น หากผู้บำบัดประเมินว่าผู้รับบริการมีการพัฒนาการสื่อสาร ได้แก่ การสบตา การยิ้ม การแสดงท่าทางสีหน้าเหมาะสม การพูดที่ดี การตัดสินใจ การแสดงความช่วยเหลือกัน ระหว่างบุคคล ก็ให้เข้ากิจกรรมถัดไป 4. กิจกรรมการสร้างสัมพันธภาพแบบกลุ่มมากกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 10 คน คล้ายกับข้อ 3 แต่มีการจัดแบ่งหน้าที่และจำนวนผลผลิตที่มากขึ้นตามความเหมาะสม มีการเพิ่มให้ผู้รับบริการเป็นผู้นำ และผู้ช่วยผู้นำในแต่ละหน้าที่กลุ่มกิจกรรมที่ไม่เกิน 60 นาที ผู้บำบัดเป็นผู้สังเกตการณ์ 5. กิจกรรมการสร้างสัมพันธภาพแบบกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น คล้ายกับข้อ 4 แต่มีการระดมความคิดและวางแผนการทำงานที่ซับซ้อน มีระบบการกระทำกิจกรรมที่ชัดเจน และกล้าพูดกล้าทำมากขึ้นเพื่อมุ่งเป้าหมายเดียวคือ ช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่กำหนดเวลา จำนวนผู้ทำกิจกรรม และขั้นตอนการทำกิจกรรม ผู้บำบัดเป็นผู้ร่วมทำกิจกรรมและเป็นผู้ตามระบบการบริหารกลุ่มกิจกรรมของผู้รับบริการเองอย่างอิสระ ตัวอย่างการทำกิจกรรมกลุ่มนันทนาการ มี 3 รูปแบบสากล ได้แก่ 1. การจัดกิจกรรมกลุ่มนันทนาการโดยนักกิจกรรมบำบัดได้ประเมินความต้องการ เจตจำนงค์ ความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต และความสนใจตัดสินใจเลือกเข้ามีส่วนร่วมทางสังคมในกลุ่มกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลิน ความผ่อนคลาย ความสนุกสนาน และความสุข และร่วมมือกับพยาบาลและนักนันทนาการบำบัดในการจัดกิจกรรมกลุ่มและสังเกตทักษะการทำกิจกรรมนันทนาการในสถานพยาบาล หรือร่วมมือกับผู้ดูแล/ญาติ/เพื่อนในสถานการณ์ชีวิต 2. การจัดกิจกรรมกลุ่มนันทนาการพื้นฐานโดยนักนันทนาการบำบัดหรือพยาบาลที่เชี่ยวชาญจิตวิทยาของการจัดกลุ่มนันทนาการ ได้แก่ กลุ่มกีฬา กลุ่มดนตรี กลุ่มศิลปะ กลุ่มทำครัว กลุ่มพืชสวน กลุ่มหัตถกรรม กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มเลี้ยงสัตว์ 3. การจัดกิจกรรมกลุ่มนันทนาการในชีวิตโดยบุคคลทั่วไปที่สนใจ อาสาสมัคร และริเริ่มกลุ่มกิจกรรมที่น่าสนใจให้กับกลุ่มคนใดๆ ไม่มีการแยกจัดกลุ่มเฉพาะผู้ป่วยทางจิตสังคม เช่น กลุ่มนันทนาการในครอบครัว กลุ่มนันทนาการกับเพื่อน กลุ่มนันทนาการในโรงเรียน/วัด/ชุมชน กลุ่มนันทนาการในงานเทศกาล/ประเพณี/วัฒนธรรม กลุ่มนันทนาการในงานการกุศล กลุ่มนันทนาการท่องเที่ยว/กีฬา กลุ่มนันทนาการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม เป็นต้น
หมายเลขบันทึก: 380233เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2010 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ อ.ป็อบ สำหรับความรู้ในการจัดกลุ่มนันทนาการเพื่อสุขภาพจิต

แต่ดิฉันอยากทราบว่า ต้องประเมินผู้รับบริการในด้านใดก่อนหรือไม่คะ เช่น ADL physical mental เป็นต้น

แล้วหากเราต้องจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อสุขภาพจิตต้องจัดกิจกรรมที่ผู้รับบริการชื่นชอบได้อย่างไร ในเมื่อในการทำกลุ่ม มีผู้รับบริการที่หลากหลาย และให้คุณค่าของกิจกรรมที่แตกต่างกัน

ขอบคุณค่ะ

อาจารย์ค่ะ พอจะมีกิจกรรมกลุ่มบำบัด คนไข้ที่มีความเครียดแนะนำมั๊ยค่ะอาจารย์

อาจารย์ค่ะ พอจะมีกิจกรรมกลุ่มบำบัด คนไข้ที่มีความเครียดแนะนำมั๊ยค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท