หนูทำได้


จะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกมีศักยภาพและพร้อมที่จะเรียนรู้

               การเรียนรู้ของมนุษย์เราเริ่มต้นมาตลอดเวลาตั้งแต่แรกเกิด  ประสาทสัมผัสทั้งห้าและการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้  และผู้ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่มได้ดีที่สุดก็คือ  พ่อแม่นั่นเอง

                การเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความเอาใจใส่อย่างอบอุ่น  การให้อาหารที่ดี ทั้งอาหารกายและอาหารใจ   การดูแลสุขภาพของเด็กทั้งในยามปกติและเจ็บป่วย   การตอบสนองความต้องการสิ่งต่าง ๆของเด็กอย่างเหมาะสมเหล่านี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกสบายใจ  มีความมั่นคงทางจิตใจ  และรู้สึกว่าตนเองมีค่า

                จะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกมีศักยภาพและพร้อมที่จะเรียนรู้  โดยทั่วไปเด็กจะเรียนรู้จากการแสดงออกและการตอบสนองของผู้ใหญ่  ดังนั้น พ่อแม่  จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย  เด็กที่สามารถควบคุมตนเองได้จะมีช่วงเวลาที่สงบและมีสมาธิ จะสนใจพ่อแม่  คนใกล้ชิดและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัว  โดยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าและการเคลื่อนไหว เช่น  ใช้ตาในการจ้องมองใบหน้าพ่อแม่  พี่น้อง  คนรอบข้าง  ของเล่น  รูปภาพ  หรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  ที่อยู่รอบตัว  ใช้หู ในการฟังเสียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของตนเอง  เสียงของพ่อแม่  บุคคลต่าง ๆ  เสียงสัตว์  เสียงรถ  เสียงน้ำไหล  เป็นต้น  ใช้กายสัมผัส เช่น มือในการหยิบจับวัตถุต่าง ๆ  ซึ่งมีทั้งผิวหยาบ  นุ่มนิ่ม  แข็งกระด้าง เย็น  ร้อน  ใช้จมูกในการดมกลิ่น  เด็กแรกเกิดสามารถแยกกลิ่นน้ำนมแม่ได้จากกลิ่นอื่น ๆ  การรับรส  เด็กแรกเกิดสามารถทำหน้าเหยเกได้เมื่อรับรสเปรี้ยว  เป็นต้น

                เมื่อเด็กได้สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้  ต้องผ่านกระบวนการทางระบบประสาท   ได้แก่ สมอง  และเส้นประสาทต่าง ๆ  เกิดเป็นการเรียนรู้ขึ้น  ดังนั้นเด็กที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะเรียนรู้นั้นขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆหลายอย่างเช่น  สมองและระบบประสาท  ประสาทสัมผัส  อวัยวะต่าง ๆ ต้องพัฒนาอย่างสมบูรณ์  สุขภาพร่างกายต้องแข็งแรง  ได้รับโภชนาการที่ดี  ได้รับความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่  เด็กที่มีปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ดี  และได้รับการสนับสนุนโดยจัดสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้  เด็กก็จะพัฒนาการเรียนรู้ไปได้อย่างรวดเร็ว

                การเรียนรู้ของมนุษย์จะพัฒนาจากการใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจมีการลองผิดลองถูกบ้าง ในวัยทารก  มาเป็นการรู้จักคิด  ใช้เหตุผล  แต่ยังไม่สมบูรณ์นัก  เมื่อเข้าสู่ปฐมวัย  ช่วงนี้เด็กจะรู้จักการเล่นสมมติ  มีการใช้จินตนาการ  คิดว่าสิ่งต่าง ๆที่อยู่รอบตัวนั้นมีชีวิต  เช่น เด็กเดินสะดุดขาโต๊ะแล้วล้มลง  เด็กอาจจะเดินกลับไปเตะโต๊ะอีกครั้ง  และโทษว่าโต๊ะมายืนเกะกะ  ทำให้ตนเองสะดุดล้ม  ทำให้เด็กเจ็บตัว  2 ครั้ง

                เมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้นจะกระทำสิ่งต่าง ๆ  เรียนรู้อย่างใช้เหตุผลและความคิด  แต่ยังเป็นแบบรูปธรรม  ไม่สามารถคิดซับซ้อนและเข้าใจเหตุผลแบบนามธรรมได้จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  จึงจะมีการพัฒนาการเรียนรู้ได้ดีขึ้น

                พ่อแม่ส่งเสริมการเรียนรู้หรือให้กำลังใจลูกได้โดยการสอนอบรม  ให้ลูกได้มีโอกาสทำสิ่งต่าง ๆ  และได้ทำซ้ำบ่อย ๆ ครั้ง  เพื่อให้เกิดความชำนาญ  พยายามหาแรงจูงใจกระตุ้นให้ลูกเกิดความรู้สึกที่ดีต่อผลของการกระทำของตน  เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ว่ามีความสามารถและทำได้สำเร็จ   (พ่อแม่ที่เคยชมลูกจะสังเกตเห็นใบหน้าของเด็กที่อมยิ้มด้วยความภาคภูมิใจนั้น  ลูกมีความสุข   และพ่อแม่เองก็มีความสุขอย่างไร)

                เมื่อเด็กทำสิ่งต่าง ๆได้สำเร็จด้วยตนเอง  เด็กจะมีความใฝ่รู้  เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  และมีความคิดริเริ่ม  เด็กจะรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง  พึ่งตนเองและมีความรับผิดชอบตนเองได้

                ในการเรียนรู้ของลูกนั้น  พ่อแม่ต้องยอมรับลูกอย่างที่เป็น  เข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กแต่ละวัยและแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน  เด็กอายุน้อย  ก็มีความสามารถระดับหนึ่งไม่เท่ากับเด็กอายุมาก  เด็กวัยเดียวกันแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน  บางคนอาจจะถนัดงานด้านหนึ่ง  แต่ไม่ถนัดในงานอีกด้านก็ได้  ถ้างานยากเกินไป  พ่อแม่อาจช่วยลูกทำงานได้บ้าง  แต่อย่าทำแทนให้ทั้งหมด    ลูกจะไม่เป็นตัวของตัวเอง รับผิดชอบตนเองไม่ได้  ควรพูดให้ลูกรู้สึกดีขึ้นด้วยเมื่อเราช่วยลูก  เช่น  ลูกหยิบของเล่นที่อยู่สูงบนตู้ไม่ถึง  พ่อแม่ช่วยหยิบให้ และบอกลูกว่า  “ ตู้นี้สูงจริง ๆ  แต่อีกหน่อยพอหนูสูงขึ้นก็จะหยิบได้เอง”

                พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก  รู้สึกสนุกกับลูก  มีการสื่อสารที่ดี  พูดกับลูกอย่างไพเราะสุภาพ  ให้เกียรติลูก  ใช้เหตุผล  มีการให้รางวัลหรือคำชมเชย  เมื่อลูกทำได้  หากลูกทำไม่ได้ ก็ไม่ตำหนิรุนแรงหรือบ่อยครั้ง  และไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กอื่น

                พ่อแม่ควรมีพรหมวิหาร 4  กับลูก  คือ มีเมตตา กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขา  ตัวอย่างของเมตตา เช่น  โดยธรรมชาติเด็กจะมีความคิดริเริ่ม  อยากรู้อยากเห็น  อยากลอง  อยากทำ  มีความคิดความหวังที่จะทำงานบางสิ่งบางอย่าง  พ่อแม่ควรสนใจ  รับฟัง  และยินดีกับเขา  อย่าตัดรอนความหวังของเขา  หรือ  หยุดยั้งจินตนาการของเขา  คำห้ามและปฏิเสธจากพ่อแม่  จะทำให้ลูกรู้สึกกลัวและโกรธ  พ่อแม่ควรให้ข้อมูลแก่ลูก  กระตุ้นให้ลูกคิด และหาวิธีทำให้สำเร็จ  เช่น เด็กอยากขี่สามล้อ  หรือจักรยานเป็นแต่กลัวล้ม  พ่อแม่ช่วยจับรถให้  และให้กำลังใจลูก  ปลอบโยนให้กำลังใจ ถ้าล้ม

               กรุณา   เช่น  เมื่อลูกถามคำถามต่าง ๆ  พ่อแม่ควรพยายามตอบ  และตอบให้เขารู้สึกดี ช่วยกระตุ้นให้เขาคิดมากขึ้น  เช่น  “แล้วหนูคิดอย่างไรในเรื่องนี้ล่ะ”  บางครั้งพ่อแม่อาจต้องช่วยให้ลูกรู้จักหาคำตอบจากแหล่งอื่นๆด้วย เช่น จากเพื่อน หนังสือ หรืออินเตอร์เน็ต

               มุทิตา เช่น พ่อแม่ฉลองความสำเร็จให้ลูกเมื่อลูกสอบได้คะแนนดี มีการให้คำชมเชยหรือรางวัล แต่ถ้าคะแนนไม่ดีก็พูดคุย หาวิธีช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ จัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ มีอุปกรณ์ช่วยเรียนรู้ต่างๆ เช่น เทป วิดีโอ คอมพิวเตอร์ ให้ลูกรู้จักคิด มีเหตุผล สนุกและผ่อนคลายได้

               อุเบกขา เช่น การให้เด็กได้มีอิสระและตัดสินใจเอง ให้ความไว้วางใจเด็กอย่างเหมาะสมกับวัย เช่น ให้เงินลูกไปโรงเรียน พ่อแม่ควรแนะนำลูกว่าควรใช้จ่ายอะไรบ้าง เก็บอย่างไร ถ้าลูกทำเงินหาย พ่อแม่ก็วางเฉย โดยทำใจ อย่าเสียดายกับเงินที่หาย อย่าซ้ำเติมหรือประจาน แต่แนะนำเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ การแสดงความรู้สึกความคิดในด้านดีจะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมได้ดีกว่าการลงโทษหรือการตำหนิติเตียน

              พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเชื่อมั่นว่าทำได้ โดยใช้คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ อิทธิบาท 4   ได้แก่ ฉันทะ คือความพอใจ ชอบในงานที่จะทำ วิริยะ คือ ความเพียร “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” จิตตะ คือ ความสนใจจดจ่อกับงานที่จะทำ และวิมังสา คือ การพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ

              ดังนั้น วิธีการที่พ่อแม่จะให้กำลังใจลูกก็ทำได้ง่ายๆ โดยบอกลูกว่า ลูกทำได้แน่ ลองไปเลย ไม่ลองไม่รู้ ผิดไม่เป็นไร ผิดเป็นครู ลองทำเอง ถ้าพ่อแม่ทำให้ลูกจะไม่ได้เรียนรู้ ถ้าลูกทำไม่สำเร็จก็บอกลูกว่า พ่อแม่เข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไร หรือ พ่อแม่เข้าใจว่าลูกได้พยายามอย่างเต็มความสามารถแล้ว

หมายเลขบันทึก: 380107เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2010 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท