คนไทยเรียนรู้และทำงานอย่างไรให้มีชีวิตชีวา


ผมขอบคุณโอกาสอันดีจากคุณหมออุดม และทีมคณะกรรมการประกวดหนังสือรักลูกอวอร์ด และขอบคุณกัลยาณมิตรจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ก.พ. ในปีเดียวกับผม ที่ทำให้ผมเรียนรู้บันทึกนี้

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจทัศนคติของคนไทยในสองเหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ระดมความคิดของคณะกรรมการประกวดหนังสือรักลูกอวอร์ดเพื่อสร้างกระแสสังคมให้ตระหนักถึงแนวทางการพัฒนาหนังสือที่มีคุณค่าสำหรับเยาวชนไทย กับเหตุการณ์พบกัลยาณมิตรรุ่นน้องที่สอบได้ทุนรัฐบาล ก.พ. บุคคลทั่วไป ในปีเดียวกับผม และได้เป็นอาจารย์ที่กำลังทุกข์ใจในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง

ทำให้ผมเกิดความรู้ความเข้าใจและอยากถ่ายทอดประเด็นที่น่าสนใจคือ

1. ทำอย่างไร ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเยาวชนไทยในทุกระดับและทุกวิชาชีพ จะร่วมระดมความคิดเชิงรูปธรรมในการพัฒนาแนวทางการสร้างสรรค์หนังสือที่ทำให้เยาวชนไทยได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยจิตวิญญาณ มีผู้ปกครองและครูช่วยชี้นำ มีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายที่ทำให้เกิดความมีชีวิตชีวาในจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองที่ดีของไทย

เหตุผลที่จุดประกายความคิดนี้ เพราะ เมื่อหนังสือหลายเล่มหลายสำนักพิมพ์ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากคณะกรรมการประกวดหนังสือที่มีคุณค่าสำหรับเยาวชน ประเภทความเรียงทัศนะ ประเภทบันเทิงสารคดี และประเภทบันเทิง แต่ละผลงานน่าสนใจและมีความเป็นอัตลักษณ์ของผู้เขียนที่มีเสรีภาพในการถ่ายทอดความคิดผ่านวรรณกรรมได้อย่างสร้างสรรค์ หากแต่งานที่มีจำนวนหน้าที่หนาบางแตกต่างกัน บ้างสื่อภาพพฤติกรรมเยาวชนไทยในหลายมิติ บ้างสื่ออัตชีวประวัติด้วยเทคนิคการเขียนชั้นสูง บ้างนำเสนอความคิดผ่านตัวละครที่มีชีวิตเชิงนวนิยาย เรื่องจริงบางส่วน เรื่องที่สร้างสรรค์เกินธรรมชาติ ฯลฯ ทำให้คณะกรรมการฯ กลั่นกรองหนังสือที่มีคุณค่าสำหรับเยาวชนไทยเพียงไม่กี่เล่ม และจำเป็นต้องเลือกอย่างน้อยหนึ่งเล่ม แม้จะเป็นรางวัลชมเชย แต่น่าจะกระตุ้นการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยให้ตระหนักรู้ถึง "ความเสี่ยงในการพัฒนาเยาวชนไทยที่จะไม่มีหนังสือที่มีคุณค่ามากนัก" เพราะในปัจจุบันคนไทยที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาและการจัดการชีวิตนั้นมักรักและชื่นชมแนวคิดและวิธีการสะท้อนความงดงามของชีวิตจริงผ่านหนังสือที่คนไทยแปลจากผู้แต่งต่างประเทศ หรือหนังสือต่างประเทศมากกว่าหนังสือไทย เยาวชนน้อยคนนักที่จะอ่านหนังสือใดๆ โดยเฉพาะวรรณกรรมไทยให้เข้าใจชีวิตของตนเองและผู้อื่น

คณะกรรมการฯ ได้เสนอประเด็นของการจัดตั้งมูลนิธิฯ เพื่อส่งเสริมและอบรมนักเขียนรุ่นใหม่จากนักเขียนมือแบบอาชีพของโลกและของไทย ตลอดจนการสอนพ่อแม่ครูให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ในหลายมิติเพื่อชี้แนะและอ่านแบบกัลยาณมิตรกับลูกหลานไทย ซึ่งต้องใช้ทุนมากและหลายประเทศที่พัฒนาแล้วได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิผล

2. ทำอย่างไรที่นักเรียนไทยผู้ได้รับการคัดเลือกในระดับทุนรัฐบาลจะกลับมารับใช้ประเทศไทยได้อย่างมีชีวิตชีวิต ซึ่งอธิบายถึง ความพยายาม ความสนุก และความสุขของการปรับตัวแห่งตนในการแสดงความรู้ความสามารถและความดีในหน้าที่การงานปัจจุบันให้มีชีวิตชีวา เช่น แบ่งเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตที่มีคุณค่าของตนเอง แบ่งลำดับความสำคัญของการทำงานที่เหมาะสมกับสิ่งที่ตนเองเรียนรู้มาจากต่างประเทศ ปรับระบบความคิดที่ถูกต้องและเป็นไปได้ในการช่วยเหลือสังคม และมีความยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในระบบงานที่เปิดใจและมีความเป็นกัลยาณมิตร

เหตุผลที่จุดประกายความคิดนี้ เพราะผมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอดีตนักเรียนทุนรัฐบาลหลายท่าน รวมทั้งกัลยาณมิตรของผมท่านหนึ่งที่จบ ดร. เฉพาะทาง มาแล้วไม่มีโอกาสได้ทำงานที่ตนเองถนัด สนใจ และมีความเชี่ยวชาญในการนำความรู้ความสามารถและความดีมารับใช้ประเทศชาติได้อย่างแท้จริง

ระบบการทำงานในหลายส่วนงาน ที่กำลังจะออกจากระบบราชการ หรือกำลังพัฒนาระบบราชการให้ดีขึ้น สังเกตได้ว่า อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลหลายคนยอมรับว่า "ปรับตัวได้กับระบบนั้นๆ ได้อย่างยากลำบาก" และมีความต้องการชดใช้ทุนเพื่อกลับไปทำงานวิจัยต่อในสถาบันหรือหน่วยงานต่างประเทศที่ตนเองจบ ดร. เฉพาะทางมา ไม่แปลกใจว่าทำไม "ความเสี่ยงของการสูญเสีย ดร. เก่งและดีหลายท่านที่เรียกว่า สมองไทยไหลสู่ต่างชาติ" จะมากขึ้นแน่แท้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่พยายามคิดหาแนวทางสร้างระบบการทำงานที่มีชีวิตชีวาของ ดร. อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลเหล่านี้

หลายคนได้แต่อดทน เพราะไม่มีเงินชดใช้ทุนที่รัฐบาลส่งให้ไปเรียนและมีภาระผูกพันในการชดใช้ทุน ซึ่งภาระผูกพันนั้นได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนโดยเน้นว่า ดร. อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลทั้งหลายต้องนำความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาช่วยเหลือระบบทางสังคมเฉพาะส่วน ระบบทางการพัฒนาคนไทยเฉพาะกลุ่ม และระบบการช่วยเหลือคนไทยที่ด้อยโอกาส โดยผ่านกระบวนการศึกษาและวิจัยที่เป็นสากล

หากแต่ภาระผูกพันนั้นกลับกลายเป็น ไม่มีโอกาสสร้างงานวิจัยที่เป็นสากลได้ เพราะถูกจัดสรรเวลาและภาระการทำงานจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานให้ใช้เวลาเป็นผู้ช่วยสอน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้นักศึกษาโดยยังไม่ได้มีทุนวิจัยและห้องปฏิบัติการ เป็นผู้ให้บริการวิชาการหลายรูปแบบ และเป็นผู้ที่ต้องเตรียมกระบวนการศึกษาเชิงกว้างที่อ่านไปสอนมากกว่าสอนจากที่รู้เชิงลึก เป็นต้น

สองประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับ "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับชาติและระดับสากล" ที่เราคนไทยทุกคนน่าจะรับรู้และสร้างวิสัยทัศน์เพื่อปลูกฝังความรู้ความสามารถและความดีแก่คนหนึ่งๆ ที่ต้องเป็นหนึ่งในคนไทยคุณภาพดีของสังคมในอนาคต 

หมายเลขบันทึก: 379698เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2010 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท