ทักษะการคิดวิเคราะห์


ทักษะการคิดวิเคราะห์

การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์

                แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนากระบวนการคิดตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ครูผู้สอนสามารถออกแบบการสอนโดยใช้วิธีและเทคนิคการสอนกระบวนการคิดได้หลากหลายวิธีโดยคำนึงถึงกระบวนการคิดแต่ละวิธี เช่น กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการคิดตัดสินใจ การบวนคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กระบวนการคิดไตร่ตรอง เป็นต้นทั้งนี้ผู้สอนสามารถเลือกใช้ กระบวนการคิด ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้  นั้นๆ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์จึงมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะเหตุและปัจจัยตามธรรมชาติของเนื้อหาสาระเหตุการณ์ วิธีการ ที่ครูผู้สอนสามารถเลือกใช้กระบวนการคิดที่มีความเหมาะสมในการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวได้จึงขอเสนอแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ดังนี้

                Gagne (อ้างใน ทิศนา แขมมณี และคณะ 2544 : 16) กล่าวถึง การเรียนรู้ที่เป็นทักษะทางปัญญาประกอบด้วย 4 ทักษะย่อยซึ่งแต่ละระดับเป็นพื้นฐานของกันและกันตามลำดับซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ที่เป็นการเชื่อมโยงสิ่งเร้ากับการตอบสนองและความต่อเนื่องของการเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นลูกโซ่ (association and chaining) ทักษะย่อยแต่ละระดับ ได้แก่

                1.  การจำแนกแยกแยะ (discriminations) หมายถึง ความสามารถในการแยกแยะคุณสมบัติทางกายภาพของวัตถุต่าง ๆ ที่รับรู้เข้ามาว่าเหมือนหรือไม่เหมือนกัน

                2.  การสร้างความคิดรวบยอด (concepts) หมายถึง ความสามารถในการจัดกลุ่มวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ โดยระบุคุณสมบัติร่วมกันของวัตถุสิ่งนั้น ๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้กลุ่มวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นต่างจากกลุ่มวัตถุหรือสิ่งอื่น ๆ แบ่งเป็น 2 ระดับย่อย ๆ คือ

                  ก.  ความคิดรวบยอดระดับรูปธรรม (concrete concepts)

                  ข.  ความคิดรวบยอดระดับนามธรรมที่กำหนดขึ้นในสังคมหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ (defined concepts)

                3.  การสร้างกฎ (rules) หมายถึง ความสามารถในการนำความคิดรวบยอดต่าง ๆ มารวมเป็นกลุ่ม ตั้งเป็นกฎเกณฑ์ขึ้น เพื่อให้สามารถสรุปอ้างอิง และตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

                4.  การสร้างกระบวนการหรือกฎขั้นสูง (procedures of higher order rules) หมายถึง ความสามารถในการนำกฎหลาย ๆ ข้อที่สัมพันธ์กันมาประมวลเข้าด้วยกัน ซึ่งนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

                ประเวศ วะสี (อ้างใน ทิศนา แขมมณี.2548 : 301-302) ได้กล่าวว่า ในการเรียนรู้ต้องให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกคิด ฝึกตั้งคำถาม เพราะคำถามเป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งความรู้ ควรให้ผู้เรียนฝึกการ    ถาม-ตอบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความแจ่มแจ้งในเรื่องที่ศึกษารวมทั้งได้ฝึกการใช้เหตุผล การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ ที่ฝึกให้ผู้เรียนได้ฝึกค้นหาคำตอบจากเรื่องที่เรียนได้

การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย (Inductive Method)

      การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย คือ กระบวนการที่ผู้สอนจากรายละเอียดปลีกย่อยหรือจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ หรือกฎเกณฑ์ หลักการ ข้อเท็จจริงหรือข้อสรุป โดยการนำเอาตัวอย่าง ข้อมูล เหตุการณ์ สถานการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่มีหลักการแฝงอยู่มาให้ผู้เรียนศึกษาสังเกต ทดลอง เปรียบเทียบ หรือวิเคราะห์จนสามารถสรุปหลักการ หรือกฎเกณฑ์ได้ด้วยตนเอง  (สุวิทย์ มูลคำ. 2546 : 15-18) องค์ประกอบสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัยมีดังนี้ คือ

                1.  ตัวอย่างข้อมูล สถานการณ์ เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เป็นลักษณะย่อย ๆ ของหลักการ แนวคิด ทฤษฎีที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

                2.  การวิเคราะห์ตัวอย่างข้อมูล สถานการณ์ เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ เพื่อสรุปเป็นหลักการ แนวคิด ทฤษฎีร่วมกัน

                3.  การสรุปหลักการ แนวคิด ทฤษฎีที่ได้จากการวิเคราะห์

                ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัยสามารถสรุปเป็นขั้นตอน 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ขั้นเตรียมการ
  2. ขั้นเสนอตัวอย่าง
  3. ขั้นเปรียบเทียบ
  4. ขั้นสรุปกฎเกณฑ์
  5. ขั้นนำไปใช้
หมายเลขบันทึก: 379613เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2010 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท