ทริปเรียนรู้ที่จังหวัดสุพรรณบุรี


          ในวันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา พวกเรานิสิตหลักสูตรวิจัยและพัฒนา ได้ออกทริปเพื่อศึกษาเรียนรู้ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยช่วงเช้าได้ไปที่ “มูลนิธิข้าวขวัญ” หรือมีชื่อเดิมว่า “ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม” เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในการทำนาข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี โดยจัดตั้ง “โรงเรียนชาวนา” เพื่อขยายองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในการทำนาแบบพึ่งพาตนเอง ไม่พึ่งพาปัจจัยภายนอก ที่จะนำมาซึ่งต้นทุนราคาสูง การดำเนินงานในระยะแรกไม่สามารถขยายผลได้มากนัก จนเมื่อมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.ธันวา จิตต์สงวน เรื่องการประเมินรูปแบบและผลกระทบของเกษตรยั่งยืน ที่ค้นพบว่ากำไรสุทธิหรือผลตอบแทนจากการทำเกษตรยั่งยืนทั้ง 4 รูปแบบ ดีกว่าการทำเกษตรเคมี ซึ่งรวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ฯลฯ ด้วย แต่รูปแบบการทำเกษตรยั่งยืนกลับไม่สามารถขยายผลออกไปได้ ทำให้มูลนิธิข้าวขวัญค้นพบว่า การเรียนรู้ร่วมกันโดยการปฏิบัติจึงจะทำให้เกิดผล ตลอดจนการนำเครื่องมือการจัดการความรู้ KM จากอ.วิจารณื พานิช เข้ามาใช้ในกระบวนการด้วย จึงเกิดเป็น “โรงเรียนชาวนา” ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา เรื่องการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี ระดับมัธยมศึกษา เรื่องการปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี และระดับมหาวิทยาลัย เรื่องการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยให้นักเรียนเกษตรกรร่วมกันเรียนรู้ ทำงานเป็นทีมเนื่องจากกระบวนการกลุ่มจะทำให้การเรียนรู้แน่นขึ้น เกิดการเกื้อกูล พึ่งพากัน นักเรียนเกษตรกรต้องปฏิบัติเอง ลงมือทำเอง พิสูจน์ด้วยตนเอง และมี KM เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมาย และเกิดเครือข่ายความรู้จากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนชาวนาที่ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น คือ คุณชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นปี 2538 และคุณทองเหมาะ  แจ่มแจ้ง เกษตรกรดีเด่น ปี 2549 อย่างไรก็ตามคุณเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ ได้ให้ข้อมูลว่า การที่ระบบเกษตรยั่งยืนไม่สามารถขยายตัวได้ทั้งที่ดีกว่าเกษตรเคมี เนื่องจากความแตกต่างระหว่างกระบวนทัศน์ ต้องมีแรงบันดาลใจ การทำเกษตรยั่งยืนต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ คิดให้เชื่อมโยง ไม่คิดแบบแยกส่วน โดยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์มี 2 กระบวนการ คือ กระบวนการเรียนรู้ เรียนรู้โดยการปฏิบัติ สังเกต บันทึก นำเสนอ แลกเปลี่ยนความเห็น สรุปผล และกระบวนการกลุ่มเพื่อช่วยในการเรียนรู้

          ในช่วงบ่ายได้เดินทางไปที่บ้าน คุณชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นปี 2538 ผู้ซึ่งเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า ที่มีการลองผิดลองถูกด้วยตนเองจนประสบความสำร็จ มีการพัฒนาเครื่องมือในการทำนาจากความรู้ด้านช่างที่เคยทำงานอยู่อู่รถมาก่อน มาดัดแปลงสิ่งรอบตัวให้เอื้อประโยชน์แก่อาชีพ คุณชัยพร ทำนาโดยไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้สมุนไพรที่ได้แนวคิดมาจากมูลนิธิข้าวขวัญ ใช้ฮอร์โมน ปุ๋ยหมัก ที่ปรับเปลี่ยนไปตามการทดลองของตนเองให้ได้ผลดี มีการพิสูจน์ด้วยตนเองจนรู้ว่าสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1 ไร่ ต่อ 1 เกวียน โดยไม่ใส่อะไรเลย คุณชัยพรให้คำแนะนำว่าการทำนาให้เกิดผลสำเร็จต้องยึดหลัก 2 ข้อ คือ ต้องวางแผนและไม่เป็นผู้จัดการนา (จ้างคนอื่นทำหมด) คุณชัยพร เป็นตัวอย่างเกษตรกรที่กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าเสี่ยง ทดสอบด้วยตนเอง ทำนาโดยไม่พึ่งพาปัจจัย ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของคุณชัยพร ประมาณ 2,000 บาท ดังนั้น แม้ว่าราคาข้าวจะถูก แต่คุณชัยพรก็ไม่เคยขาดทุนเลย สามารถส่งลูก ๆ ทั้งสามคนจาจบปริญญากันทุกคน สามารถเก็บเงินซื้อนาได้เป็นร้อยไร่ เป็นเกษตรกรมีเงินเดือน เฉลี่ยแล้วเดือนละประมาณ 60,000 บาท (จากการทำนา)

          จากการออกทริปวันนี้ทำให้ได้สัมผัสชีวิตจริงของคนทำงานด้านการเกษตรและเกษตรกรอีกครั้ง ซึ่งทำให้ได้พบเกษตรกรที่เก่ง ๆ ที่จะทำให้การเกษตรไทยยั่งยืนได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอก เป็นชาวนาที่ปลูกข้าวด้วยความปราณีตให้พวกเราได้กิน เป็นชาวนาที่มีบุญคนต่อคนไทยทั้งประเทศ แต่ ณ วันนี้ ทำไมหลายคนถึงใจร้ายชอบเอาเปรียบชาวนา?

 

หมายเลขบันทึก: 379363เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท