โครงการพัฒนาชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง โดยวิทยาเขตกำแพงแสน ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (วัดหนองประทุน)


มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกับ เทศบาลตำบลกรับใหญ่

 

 

 ท่ามกลางความโกลาหลแห่งปัญหาสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ ทั้งในด้านเศรษฐมิติ (Economical  Dimention)      สังคมวัฒนธรรมมิติ(Socio-cultural Dimention)   รัฐมิติ(Political Dimention)    นับเป็นโจทย์ใหญ่ในการบริหารจัดการทางสังคมของภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องร่วมกันบริหารจัดการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างคุณภาพชีวิตและภราดรภาพ  รวมทั้งการสร้างดุลภาพในสังคมท่ามกลางความซับซ้อน (Complexity)  ความเปลี่ยนแปลง (Dynamics) ความหลากหลาย (Diversity) ทางทางสังคมที่ยากต่อการทำความเข้าใจและความจำเป็นที่ต้องแสวงหาคำตอบเพื่อกำหนดทิศทางและนำมาเป็นกรอบแผนและนโยบายในการบริหารสังคมในปัจจุบันและอนาคต    โจทย์ต่อไปที่ต้องร่วมกันคิดต่อ ก็คือว่า   สถาบันทางพระพุทธศาสนาจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารชุมชนและสังคมได้อย่างไร?  

1. รัฐธรรมนูญและแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่ 9

                     รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ( พ.ศ.2540)  ได้กำหนดในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ  โดยกำหนดในมาตรา 76, มาตรา 78, มาตรา 79 และ มาตรา 80 โดยให้กำหนดให้  “ รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดนโยบาย  การตัดสินใจทางการเมือง   การวางแผนพัฒนาการทางเศรษฐกิจ   สังคมและการเมือง…  รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง….. รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม… ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน…. รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนา…เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวและความเข้มแข็งของชุมชน” 

    ขณะเดียวกัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 9  (2545 – 2549) มีวิสัยทัศน์ เพื่อสร้างสังคมคุณภาพ   สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ (Knowledge based  society)  สังคมสมานฉันท์ และเอื้ออาทร   ซึ่งจักก่อนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสังคมดุลภาพ  โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนา ปฏิรูประบบริหารจัดการสู่ธรรมาภิบาล (Good Governance)  ระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองและเท่าทันโลก  การสร้างรากฐานของชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง

    การบริหารจัดการทางสังคมจึงจำเป็นที่จะต้องเปิดพื้นที่ทางสังคม (Social  space)  พื้นที่ทางความคิด (Thinking  space)  เคารพและยอมรับในความหลากหลายและซับซ้อนของสังคม (Social  complexity)  เพื่อสร้างองค์ความรู้   กระบวนทัศน์ ที่หลากหลาย เพื่อเสนอ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการทางสังคมที่พึงประสงค์และสอดคล้องเหมาะสมกับชุมชน  ท้องถิ่น และองค์กรที่หลากหลายและแตกต่างในมิติด้านต่างๆ

นอกจากนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 9  ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดการเชิงพื้นที่ในมิติใหม่ด้วยการปรับโครงสร้างการพัฒนาชนบทและเมืองให้เข้าสู่สมดุลและยั่งยืน โดยอาศัยหลักการสำคัญคือ ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งเอาคนเป็นส่วนกลางการพัฒนามุ่งสู่เศรษฐกิจแบบพอเพียงพึ่งตนเองภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน โดยมีหลักการ คือ  (แผนแม่บทชุมชน,สศช.,2547)

                (1) ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์และการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา  โดยเน้นให้
ชุมชนมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนในท้องถิ่นของตนเอง

                (2) ต้องปรับจากการแก้ไขปัญหาแบบกว้าง ๆ มาเป็นการแก้ปัญหาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย  และต้องเพิ่มบทบาทภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่

                (3) ปรับบทบาทของหน่วยงานภาครัฐจากการสั่งการ ควบคุม กำกับ มาเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ภาคชุมชน

2. แนวคิดประชาสังคม  (Civil  Society)

                แนวคิดประชาสังคม  นับได้ว่าเป็นแนวคิดที่  มุ่งสร้างสังคมจากความร่วมมือขององค์กรในสังคมในมิติเชิงการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมจากหลายๆ ฝ่าย   นักวิชาการไทย ได้ให้ความหมายของ คำว่า  Civil  Society  ที่แตกต่างกันออกไป   ดังต่อไปนี้ 

ประเวศ  วะสี (2539)  ให้ความหมายว่า “ประชาคม”  หมายถึง การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน  มีอุดมคติร่วมกันหรื อมีความเชื่อร่วมกันในบางเรื่อง  มีการติดต่อสื่อสารกันหรือมีการรวมกลุ่มกัน  มีความเอื้ออาทรต่อกัน  มีความรัก  มีมิตรภาพ มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติบางสิ่งบางอย่าง และมีการจัดการในระดับกลุ่ม    

ชัยอนันต์   สมุทรวณิช  (2539)  ใช้ศัพท์ว่า “วิถีประชา”    หมายถึง การรวมกลุ่มขององค์กรต่างๆ ในเอาตัวกิจกรรมเป็นศูนย์กลางปราศจากการจัดตั้ง   ซึ่งเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมในการดำเนินกจกรรมพัฒนาทุกฝ่าย   ในระดับพื้นที่   อาจเป็น  จังหวัด    อำเภอ   ตำบล   หมู่บ้าน  หรือ พื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจ   เช่น  พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นต้น

ธีระยุทธ   บุญมี (2536)  ใช้คำว่า “ประชาสังคม”  โดยให้ความหมายในลักษณะสังคมเข้มแข็ง ที่หมายถึงพลังทางสังคมที่มาจากทุกส่วนอาชีพ   ทุกระดับรายได้   ทุกภูมิภาคของประเทศ   ซึ่งหากแม้นว่าสังคมโดยรวมมีความเข้มแข็ง  นักธุรกิจ   พ่อค้า ประชาชน  นักศึกษา  และปัญญาชน  ก็จะสามารถร่วมผลักดันสังคมและแก้ปัญหาต่างๆที่เป็นพื้นฐาน   สังคมก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 

                นอกจากนี้  ชูชัย   ศุภวงศ์ (2540) ให้ความหมายของ  “ประชาสังคม”  ว่า  หมายถึง การที่ผู้คน   สังคม  สภาพการณ์  หรือสภาพปัญหาในสังคมที่สลับซับซ้อนยากแก่การแก้ไข  รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการนำไปสู่การก่อจิตสำนึก (Civic  conciousness)  ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือ องค์กร (Civic  group) ทั้งภาครัฐและ ภาคธุรกิจเอกชน  หรือ ภาคสังคม(ประชาชน) ในลักษณะเป็นทุนร่วมกัน  เพื่อแก้ปัญหาหรือกระทำการบางอย่าง  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งที่ด้วยความรัก  ความสมานฉันท์เอื้ออาทรต่อกันภายในระบบการบริหารจัดการโดยมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย

                จากแนวคิดประชาสังคมดังกล่าว  ข้างต้นนั้น  ผู้เขียนเห็นว่า นิยามและความหมายของประชาสังคม (Civil   Society)  จึงน่าจะหมายถึง   กระบวนการในการสร้างสำนึกรับผิดชอบและความร่วมมือของบุคคลและองค์กรเพื่อแก้ปัญหาและ ศีลธรรม เศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง   ตอลดถึงกรจัดสรรทรัพยากรและการบริหารชุมชนและสังคม    ซึ่งเราอาจนำมาประยุกต์ในการดึงเอาสถาบันทางพระพุทธศาสนาเข้ามาพัฒนาชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

 

3. แนวคิดทุนทางสังคม (Social  Capital)

                แนวคิดเรื่องทุนทางสังคมเป็นเรื่องใหม่ ต่อกระบวนการพัฒนาชุมชนและสังคม  คำจำกัดความและองค์ประกอบหรือ ขอบเขตจึงยังค่อนข้างหลากหลาย  ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและพื้นฐานของแต่ละสังคม    ในบริบทของสังคมไทย   สำนักพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต (2546) ให้ความหมาย  ทุนทางสังคมว่า ผลรวมของสิ่งดีงามต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม ทั้งในส่วนที่ได้จากการสั่งสมและการต่อยอดรวมถึงการรวมตัวของคนที่มีคุณภาพเพื่อสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ สายใยแห่งความผูกพันและวัฒนธรรมที่ดีงาม  โดยสามารถแบ่งขอบเขต / องค์ประกอบ ดังนี้ คือ

                1. ทุนมนุษย์  ที่มีคุณภาพ  มีความรู้  สติปัญญาและทักษะ  คุณธรรม  ความวินัย  และ ความรับผิดชอบ     การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายเพื่อทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่น  ชุมชน และสังคม    ซึ่งในกรอบการศึกษาครั้งนี้  รวมไปถึง  ปราชญ์ชาวบ้าน   ครูนอกระบบ  พระภิกษุสามเณร  ผู้นำทางจิตวิญญาณ   ผู้นำชุมชน   ความเอื้อเฟื้อและเสียสละในชุมชน  ความผูกพันและความรักถิ่นฐานบ้านเกิดในชุมชน

                2. ทุนที่เป็นสถาบัน   ได้แก่  สถาบันครอบครัว  สถาบันการศึกษา   สถาบันศาสนา   การเมือง  องค์กรที่ตั้งขึ้นในชุมชน   องค์กรพัฒนาเอกชน   คณะกรรมการชุมชน   สมาคม  ชมรม วิชาชีพต่างๆ     โรงเรียน  วิทยาลัยชุมชน  และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่ทำการศึกษา    ซึ่งในงานวิจัยนี้  กล่าวรวมถึง  วัด คำสอนทางพระพุทธศาสนา    บุคลากรและองค์กรทางพระพุทธศาสนา

                3. ทุนทางปัญญา และ วัฒนธรรม   ครอบคลุมถึง ระบบ คุณค่า (Value) คุณธรรม   วินัย  จิตสำนึกสาธารณะ  วัฒนธรรมไทย  และภูมปัญญาท้องถิ่น (Local  wisdom) แหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นต้น  ด้วย 

เมื่อแนวคิด  การพัฒนาชุมชนและสังคมในปัจจุบันให้ความสำคัญกับ คำว่า  “ทุนทางสังคม” (Social Capital)   ฉะนั้น  พระภิกษุสามเณร  จึงเป็นทุนมนุษย์ในสังคม   วัด  และศาสนสถานจึงเป็น ทุนทางสถาบัน  คำสอนทางพระพุทธศาสนา อันก่อเกิดวัฒนธรรมประเพณี จึงเป็นทุนทางปัญญาในสังคมไทย      การนำเอาทุนทางสังคมเหล่านี้  มาต่อยอดการพัฒนาชุมชนและสังคมไทยจึงควรมีการผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง     

4. แนวคิด  มนตรี“บวร”

                การก่อให้เกิดกระบวนการประชาสังคม “บวร”   คือการนำเอารูปแบบและแนวคิด  การพัฒนา แบบ  “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน)  กล่าวคือ  เป็นแนวคิดที่มุ่งพยายามที่จะนำเอา องค์กร และ/หรือ สถาบันหลักในชุมชนท้องถิ่นมาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนา  อันได้แก่ การนำเอาสถาบันที่สำคัญในชุมชน  3  สถาบันได้แก่ 

1.สถาบันการปกครอง (บ = บ้าน) 

2.สถาบันศาสนา  (ว = วัด) 

3. และ สถาบันการศึกษา (ร = โรงเรียน)

 ผนึกกำลังจัดตั้งเป็นองค์กรที่เรียกว่า  “มนตรี  บวร” เพื่อนำมารองรับและดำเนินการต่างๆ ตามนโยบายของทางราชการ   (สุริยน  จันทรนกูร,2537)  ฉะนั้น   คำว่า “บวร”  จึงเป็นคำย่อ  โดยการนำเอาพยัญชนะต้นของคำว่า   บ้าน  วัด  โรงเรียน  มา  บัญญัติเป็นคำใหม่  คือ ซึ่งมีองค์ประกอบของ  “บวร”  (ธนพรรณ   ธานี,2545,น.6) ดังต่อไปนี้

                1. สถาบันการปกครอง  (บ้าน)  ซึ่งประกอบไปด้วย   กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน   คณะกรรมการหมู่บ้าน    อบต.  สาธารณสุขตำบล   เกษตรตำบล  เป็นต้น     รวมทั้งระบบกลไกในการบริหารที่มาจากรัฐ ในรูปอื่นๆ  ด้วย

                2.  สถาบันศาสนา  (วัด)  ประกอบด้วย  เจ้าอาวาส   พระภิกษุ  สามเณร  อุบาสก  อุบาสิกา  และ กลุ่ม หรือ  ชมรมทางศาสนา   ซึ่งในความหมายในเชิงกว้าง อาจจะหมายรวมถึง องค์กรหรือ หรือ สถาบันทางศาสนาต่างๆ ในชุมชนนั้นๆ ด้วย  

                3. สถาบันการศึกษา (โรงเรียน)  ประกอบ ด้วย   ครูใหญ่   อาจารย์ใหญ่ คณะครู นักวิชาการ และบุคคลากรทางการศึกษาอื่นๆ  ทั้งในโรงเรียน   วิทยาลัย   มหาวิทยาลัย  และองค์กรทางการศึกษาอื่นๆ ด้วย 

                ดังนั้น ประชาสังคมแบบ “บวร”  จึงหมายถึง  การนำเอา    สถาบันหลักในชุมชนมาเป็นกลไกในการพัฒนาและสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง   ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการพัฒนา   ติดสินใจ  แก้ปัญหาตนเอง และ ชุมชน  กำหนดแผนแม่บทชุมชนด้วยการร่วมกันคิด  สร้าง  และ บริหารจัดการชุมชนของคนในท้องถิ่นที่ร่วมกันเป็นเจ้าของ

   ในกรณีของประเทศไทย  จุดแข็งอย่างหนึ่งของสังคมไทย ก็คือ การมีพระพุทธศาสนาและได้รับการยอมรับโดยพฤตินัยว่า  ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา  มีบุคลากรทางพระพุทธศาสนาที่เป็นพระภิกษุและสามเณร จำนวน  340,303 รูป  มีวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาจำนวน  33,674  วัด   (ข้อมูลจาก  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ,2547)

      นอกจากนี้ความผูกพันระหว่างวัดและชุมชน จึงเป็นทุนทางจิตวิญญาณ (Spiritual  capital)  ทุนทางวัฒนธรรม (Cultural  capital)  ในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน  ตั้งแต่เกิดจนตาย  “บ้าน   วัด   โรงเรียน” จึงเป็นทุนมรดกทางสังคม ที่มีมาคู่สังคมไทย    สถาบันทั้ง 3  จึงมีความสัมพันธ์ในทางสังคม และเป็นตัวเชื่อมโยงกิจกรรมในชุมชนทั้ง มิติทางด้าน  เศรษฐกิจ    สังคม และ วัฒนธรรม

                  ลักษณะชุมชนที่ปรากฏในสังคมไทยจึงมักประกอบด้วย   “บ้าน” (ชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งรวมของผู้คนและระบบชีวิตที่ก่อเกิดกิจกรรมทางสังคมที่หลากหลาย)   “วัด” (สถาบันศาสนาซึ่งเป็นตัวขัดเกลาและบ่มเพาะวัฒนธรรมและศูนย์รวมจิตใจของชุมชน)  “โรงเรียน” (สถานศึกษาเป็นตัวเพิ่มเติมความรู้และถ่ายทอดการศึกษาอย่างเป็นระบบ)   สถาบันทั้ง 3  จึงเป็นสถาบันสำคัญในทางสังคมที่จะสามารถนำมาเป็นกลไปที่ก่อให้เกิดกระบวนการสร้างสังคมให้เข้มแข็ง  พัฒนาให้เกิดเครือข่าย  นำสู่ภราดรภาพและสังคมสมานฉันท์  อันเป็นจุดหมายปลายทางของการพัฒนาชุมชนและสังคมได้อีกรูปแบบหนึ่ง

http://src.ac.th/web/index.php?option=content&task=view&id=225



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท