Nonkhoon
ทิพย์ประมวล เหมียว จันใด

คือรื่องมหัศจรรย์


ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย คือการเอาใจใส่หรือโชคชะตา

       “ แป๊ด......แป๊ด.......” เสียงบีบแตรรถที่ดังสนั่นไปทั่วหน้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลโนนคูณ  ในกลางดึกคืนหนึ่ง  พร้อมเสียงร้องตะโกนด้วยความตกใจของผู้หญิงที่อยู่ในรถว่า

       “ คุณหมอ!!      คุณหมอ!!     ซ่อยแหน่......เร็ว ๆแหน่.....” 

       อะไรกันนักกันหนา  อีกแค่  15  นาที  ก็จะเที่ยงคืนและฉันก็จะลงเวรบ่ายแล้ว  คงไม่ใช่คนไข้หมดสติหรอกนะ ”  ฉันแอบคิดคนเดียวในใจอย่างเบื่อหน่าย  ขณะที่ฉันกับเพื่อนร่วมเวรอีกคนหนึ่งกำลังวิ่งออกมาดูว่าเกิดเหตุอะไร   ทั้ง ๆ ที่ระยะทางจากห้องพักเจ้าหน้าที่เวรจนถึงรถของคนไข้ใกล้กันแค่เอื้อม  ใช้เวลาไม่ถึง  1  นาทีด้วยซ้ำไป  แต่ทำไม?ฉันกลับรู้สึกว่ามันนานซะเหลือเกิน 

       ภาพชายหญิงประมาณ  3- 4  คนที่กำลังก้ม ๆ เงย ๆ อยู่หน้าผู้หญิงคนหนึ่งบนท้ายรถกระบะ   ผู้หญิงคนนั้นสวมเสื้อยืดสีแดง  ใบหน้าบิดเบี้ยว  มือทั้งสองข้างกุมบริเวณหน้าท้องที่โตเกินปกติ  พร้อมส่งเสียงร้องครวญครางว่าเจ็บและขอให้ช่วยตลอดเวลา  ผ้าถุงลายดอกที่ซีดจนเก่าเปียกชุ่มไปด้วยน้ำใสๆ ฉันรีบถามต่อเลยว่า 

     “ เจ็บท้องคลอดเหรอ?  คุณแม่ว่าท้องที่เท่าไหร่?   เจ็บตั้งแต่กี่โมง? ”  

     “ ท้องที่  4  เจ็บตั้งแต่สองทุ่ม  มีน้ำเดินออกชุ่มผ้าถุงมา  2 ผืนแล้ว ”

     “ โห๋!!!  แล้วเพิ่งจะมานี่นะ ” ฉันอดคิดไม่ได้ว่าทำไมต้องปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนานขนาดนี้ถึงได้พากันมาหาหมอ  แต่ฉันก็ทำได้เพียงแค่แอบคิด 

     “ ตุ๊ก  พาคุณแม่เข้าห้องคลอดด่วน!!! ”  ฉันเรียกให้น้องผู้ช่วยเหลือคนไข้รีบเข็นรถรับคุณแม่พาไปยังห้องคลอดทันที   พร้อมรับสมุดฝากครรภ์มาดู   ไม่มีผลเลือดในสมุด    ฝากท้องครั้งแรกและครั้งเดียวที่สถานีอนามัยและไม่ได้ฝากต่อ    จำประจำเดือนไม่แม่น  ไม่เคยฝากครรภ์ต่อที่อื่น  ไม่ได้ U/S เลย  อะไรกันนี่!!!  ยังมีคนไม่ฝากครรภ์หลงเหลืออยู่อีกเหรอนี่  ทำไมละ?  ฉันถามตัวเองอยู่ซ้ำๆว่าทำไม?  แต่ทุกอย่างก็ต้องดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็ว  เพื่อให้ทันต่อสภาพของคุณแม่และคงไว้ซึ่งความปลอดภัยของลูกในครรภ์   ฉันรีบประเมินอายุครรภ์จากประจำเดือนในสมุดฝากครรภ์อย่างคร่าว ๆ ประมาณ  32  สัปดาห์   พร้อมรายงานแพทย์เวรทันที   หลังจากที่ฉันเตรียมคุณแม่เสร็จเรียบร้อยเพื่อรอแพทย์มาตรวจ  ฉันได้หาข้อมูลเพิ่มเติมจากระบบของโรงพยาบาล  โชคยังดีที่มีข้อมูลจากสถานีอนามัยส่งเลือดมาตรวจที่ รพ.จากประวัติเก่าผลเลือดปกติ  แพทย์เวรมาถึงห้องคลอดตรวจภายในปรากฏว่าปากมดลูกเปิด  9 ซม. ความบางของมดลูกเท่ากับ  100%  หัวเด็กก็ลงมาต่ำมาก

       “ คุณหมอ  สิบ่ไหวแล้วใด   เจ็บเฮง   อยากเบ่งแล้ว ” หญิงตั้งครรภ์พยายามบอกด้วยเสียงสั่น ๆ เจือด้วยเสียงสะอืดราวกับร้องไห้

       “ คุณแม่  ท้องคุณแม่เล็กมาก  น่าจะคลอดกก่อนกำหนดและมีเลือดออกด้วย  หมอไม่แน่ใจอาจจะเป็นรกเกาะต่ำ  เดี๋ยวหมอจะส่งต่อไปคลอดที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ที่มีแพทย์เฉพาะทางและเครื่องมือที่ครบครันกว่าโรงพยาบาลเรานะ” ในขณะที่เตรียมคุณแม่เพื่อส่งต่อไปยังรพ.อื่น  ฉันก็ประเมินสภาพคุณแม่  ประกอบกับประสบการณ์ในการทำงานมาประมาณ  8  ปี  ฉันเลยตัดสินใจบอกแพทย์เวรว่า

       “ คุณหมอคะ   พี่ว่าคลอดบนรถ refer แน่ๆ ” แต่แพทย์เวรก็ยืนยันที่จะให้ส่งต่อและย้ำให้รีบไปให้เร็วที่สุด  ฉันจึงรีบเรียกรถและพยาบาลเวร refer  แต่สถานการณ์อย่างนี้ต้องมีพยาบาล refer 2 คน และต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์เรื่องการทำคลอด   เจ้าของเวร refer เป็นพยาบาลตึกผู้ป่วยในซึ่งความเชี่ยวชาญจะมีน้อยเมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ห้องคลอด   

       “ เอาล่ะทีนี้  แล้วฉันจะเรียกใครอีกคน วันนี้ไม่ค่อยมีพยาบาลอยู่แฟลตซะด้วย ”  ฉันบ่นพึมพำคนเดียวอย่างคิดไม่ออก   พอดีกับพยาบาลเวรดึกมารับเวรต่อจากฉัน   ทุกคนลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า  สมควรเป็นฉันที่ต้องไป refer ด้วย  นี่ก็เที่ยงคืนกว่าๆแล้วรีบไปกันเถอะ เดี๋ยวจะไม่ทันการณ์   ฉันหันไปมองรอบๆรถ  อุปกรณ์บนรถพร้อม   set ทำคลอดพร้อม  คุณแม่อยู่บนรถเรียบร้อยแล้ว  ทุกคนพร้อม   รถ refer เคลื่อนออกจากโรงพยาบาลโนนคูณอย่างรวดเร็วตรงดิ่งไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์  ด้วยความหวังว่าทุกอย่างคงราบเลื่อนเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา  แต่เหตุการณ์ที่คาดฝันก็เกิดขึ้น  หลังจากที่รพ  Refer  ขับออกมาได้ประมาณ  30  นาที  ถึงบ้านน้ำเกลี้ยง อ.สำโรง

       “ คุณหมอ   บ่ไหวอีหลี๋แล้ว  อยากเบ่งเฮง!!!! ” เสียงร้องบอกของคุณแม่ท้อง 4 ทำให้ฉันรีบใส่ถุงมือและบอกให้น้องเตรียมเครื่องมือไว้ช่วยเด็ก

       “ คุณแม่ถลกผ้าถุงไปวางหน้าท้อง  ตั้งขาขึ้น  หายใจเข้าออกลึก ๆ  อย่าพึ่งเบ่งนะค่ะ ”  ภาพที่ฉันเห็นคือก้อนเนื้อขาว ๆ มีรอยแยกอย่างชัดเจน  โผล่ออกมาจากช่องคลอด  โอ.....ไม่.....ไม่นะ   เด็กไม่ได้ออกมาด้วยท่าหัว  ซวยแน่ ๆ นี่มันท่าก้นชัดๆ  ฉันบอกตัวเองเด็กใกล้จะคลอดเต็มทีแล้ว  ฉันรีบใช้ผ้าสะอาดรองรับเด็ก  ฉันถามตัวเองว่าเราเคยทำคลอดท่าก้นไหม?  และคำตอบก็คือไม่ แต่เคยเห็นแพทย์ทำ   ตอนนี้    เวลานี้  ในรถคันนี้  ถึงฉันจะเคยหรือไม่เคยทำ คนที่ต้องทำคลอดต้องเป็นฉัน  ไม่งั้นเด็กคนนี้ไม่รอดแน่   ในที่สุดเด็กเอาก้นออกจริง ๆ  เด็กคนนี้คลอดบนรถ  Refer  ตัวเล็กมาก ทันที่ที่คลอดเด็กก็ยังไม่ร้อง ต้องกระตุ้น  suction ตัดสายสะดือ และ  keep warm ให้ความอบอุ่นพร้อมให้ออกซิเจนไปด้วย ประเมิน apgar  score 8,9   คลอดเวลา  00.50 น.

        ด้วยความที่เด็กตัวเล็กมาก  ฉันกลัวว่าจะมีปัญหาระหว่างการเดินทาง  จึงตัดสินใจให้พี่คนขับรถแวะที่โรงพยาบาลสำโรง   เพื่อให้แพทย์ที่โรงพยาบาลสำโรงตรวจสภาพเด็กก่อน   ในระหว่างนั้นฉันก็เล่าเหตุการณ์ให้พี่ๆพยาบาลที่โรงพยาบาลสำโรงฟังและรายงานแพทย์เวรที่นั่น  พร้อมทั้งนำลูกและคุณแม่ลงจากรถมายังห้องคลอด  ซึ่งขณะนั้นคุณแม่รกยังไม่คลอด  เด็กหนัก  1,130 กรัม   และแพทย์จะทำการใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะที่เตรียมอุปกรณ์  คุณแม่ที่นอนอยู่บนเตียงรอคลอดเพื่อรอรกคลอดก็พูดขึ้นว่า

       “ คุณหมอ  ฉันอยากเบ่งอีกแล้ว ”  ฉันคือคนที่อยู่ใกล้ที่สุดเพราะเตรียมที่จะทำคลอดรก   หันไปมองคุณแม่   แทบไม่อยากเชื่อสายตาในสิ่งที่มองเห็น  สิ่งที่ออกมาจากช่องคลอดของคุณแม่นั้นเป็นก้อนเนื้อขาวๆมีรอยแยกอย่างชัดเจน   ให้ตายสิ!!!    นี่มัน!!! เด็กอีกคน  ท่าก้นด้วย    คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด  

       “ คุณหมอ  เหลือเด็กอีกคนยังไม่คลอดเลยค่ะ ”  คุณหมอปล่อยให้แฝดคนแรกอยู่ในความดูแลของพยาบาลและรีบรุดมาช่วยทำคลอดแฝดน้องกับฉันทันที   แฝดน้องใช้ระยะเวลาในการเบ่งนานและคลอดยากกว่าแฝดพี่    หลังจากที่คุณหมอทำคลอดเสร็จ เด็กไม่ขยับ ไม่ร้อง  สีผิดซีด  คุณหมอต้องกระตุ้นจนร้องและประเมิน apgar score 6,8 และคุณหมอเปลี่ยนจากที่จะใส่ท่อช่วยหายใจแฝดพี่มาใส่แฝดน้องแทน   แฝดน้องคลอด 01.10 น. นน. 900  กรัม หลังจากแฝดน้องใส่ท่อช่วยหายใจเสร็จดูแล keep warm ให้อบอุ่น และคุณแม่คลอดรกเสร็จ  ความดันปกติ  มดลูกหดรัดตัวดี ให้ยากระตุ้นมดลูกและรีบทำการส่งต่อลูกทั้งสองและมารดาไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ด้วยความเร่งด่วน   โดยรถ refer  โรงพยาบาลโนนคูณพร้อมฉันและน้องพยาบาลอีกคน   ถึงโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ด้วยความปลอดภัย   ฉันไม่รู้ว่าต้องขอขอบคุณโชคชะตาหรือเพราะนี่คือสิ่งมหัศจรรย์  ที่ทำให้คุณแม่และลูกๆของพวกเค้าเกิดรอดและปลอดภัย   แต่สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้ก็คือ  การทำงานเป็นทีม  ไม่ใช่เฉพาะทีมจากโรงพยาบาลโนนคูณเท่านั้น  แต่หมายถึงทีมจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสำโรงด้วยที่ช่วยทำให้ภารกิจของพวกเราสำเร็จไปได้ด้วยนี้

         ฉันอดถามตัวเองว่า  ถ้าคุณแม่ให้ความสำคัญกับการมาฝากครรภ์ตามกำหนด  เราคงรู้ว่าตั้งครรภ์แฝด  และแพทย์ก็จะได้วางแผนการรักษาที่เหมาะสม  มากกว่าที่เด็กจะต้องมาเกิดแบบรอดหรือไม่   ขึ้นอยู่กับโชคชะตา

 

                                                                              งานห้องคลอด

                                                                          โรงพยาบาลโนนคูณ

 

P1070077

 

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 377246เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2010 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านแล้วลุ้นไปด้วย อย่างไรก็ตามก็ต้องขอบคุณมากสำหรับความพยายามอย่างเต็มที่ หน้าที่มาก่อนความเหนื่อยอ่อนเสมอครับ คุณ Nonkhoon นี่ล่ะครับที่เขาเรียกว่า ความดียังมีอยู่ในจิตใจเราเสมอ

ขอบคุณมากมายนะค่ะครูหยุย สำหรับกำลัง สิ่งนี้คือพลังให้ชาวโนนคูณยืนยัดด้วยความภาคภูมิใจค่ะ

สมัยก่อน อยู่ สำโรง เคยไป โนนคูน 2 ครั้ง

ดีใจที่มีคนรู้จักโนนคูณ อย่างน้อยก็คุณศุภรักษ์

อยากบอกว่าคนโนนคูณยินดีต้อนรับทุกคน ทุกท่านเสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท