รายงานภาวะผู้นำ


ภาวะผู้นำ

ภาวะผู้นำ และการเปลี่ยนแปลง

โดย  ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด  ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม

           การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราทุกคนคงยอมรับว่าไม่มียุคสมัยใดที่การเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วและมีผลกระทบรุนแรงเท่าในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงได้สร้างหายนะให้กับองค์กรหลายแห่ง ไม่เว้นแม้กระทั้งองค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมาในอดีต ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงก็ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับหลายองค์กรเช่นกัน ประเด็นเรื่องการอยู่รอดและการเปลี่ยนแปลงเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยตรง ดังคำกล่าวของ ชาร์ล ดาร์วิน ที่ว่า "ผู้ที่อยู่รอด มิใช่เป็นสายพันธ์ (Species) ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด หากแต่ว่าเป็นผู้ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก"

            การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ หากจะมองในระดับบุคคลแล้ว คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดจะสำคัญและยิ่งใหญ่ไปกว่าการปรับเปลี่ยนมุมมอง (ทิฏฐิ) และทัศนคติ (Attitude) การรู้จักเปิดใจกว้าง ไม่ยึดติดอยู่กับความคิด หรือความรู้เดิมๆ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เป็นการเริ่มต้นสู่การเปิดรับสิ่งใหม่ด้วยใจที่ไม่อคติ (Bias) ประเด็นคำถามที่ตามมาก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เป็นหรือเกิดขึ้นจริง มิใช่เป็นการเห็นหรือเข้าใจตามที่เราต้องการจะเห็นหรือให้มันเป็น ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถใช้ทั้งความรู้และความรู้สึกควบคู่กันไปอย่างได้สมดุล ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบจนอาจลืมสาระและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆไป ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นความจำเป็นของระบบ ของมาตรฐาน โดยที่ไม่มองข้ามความงดงามอันเนื่องมาจากความหลากหลาย (Diversity) เราจะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างไร เพื่อให้ได้มาซึ่งโครงสร้างองค์กรที่แบนราบ(Flat) ไม่สลับซับซ้อน ไม่มีลำดับชั้นมากมาย เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น(Flexible) เป็นการบริหารงานโดยผ่านกระบวนการ(Process) อาศัยการทำงานแบบร่วมกันเป็นทีม แทนการบริหารงานแบบดั้งเดิมที่เน้นการดำเนินงานตามสายงาน (Function) เป็นหลัก ทำอย่างไรผู้บริหารถึงจะเข้าใจว่าระบบขององค์กรโดยแท้จริงแล้วเป็นระบบที่มีชีวิต เป็นระบบที่เปิด(Open System) ที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เป็นระบบที่จริงๆ แล้วไม่อาจเขียนแทนได้ด้วยผังการไหลของงาน(Flowchart) หรือถ่ายทอดทุกอย่างผ่านคู่มือการดำเนินงาน (Procedure) หากแต่ว่าเป็นระบบที่ประกอบด้วยชีวิต จิตวิญญาณ ความรู้สึก ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่มิอาจถ่ายทอดออกเป็นตัวหนังสือ หรือเขียนออกมาอยู่ในรูปแบบของเอกสารได้ทั้งหมด

                    การสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวคงจะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย หากเรายังใช้แต่หลักทางด้านการจัดการ(Management) อยู่ เพราะการจัดการนั้นจริงๆ แล้วใช้ได้ผลดีเฉพาะกับสิ่งที่เป็นสิ่งของ(Things) เท่านั้น แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน ตัวอย่างเช่น เวลาเราพูดถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ก็เป็นเรื่องของคน การปรับเปลี่ยนระบบก็เกี่ยวกับคน การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็เกี่ยวกับคนเช่นกัน ซึ่งเรื่องของคนนั้นหากจะให้ได้ผลแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า ภาวะผู้นำ (Leadership) มากกว่าที่จะใช้การจัดการ ภาวะผู้นำหรือความสามารถในการนำนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงสำเร็จ หลายคนบอกว่าการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้นควรจะต้องเริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดและจูงใจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะนั่นคือการกำหนดทิศทาง เป็นการวางเป้าหมายสำหรับอนาคต แต่สำหรับผมแล้วผมกลับเห็นว่าการสร้างศรัทธาต่างหากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การนำนี้สำเร็จ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่าแม้วิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นมานั้นจะดึงดูดและชวนให้ตื่นตาตื่นใจสักเพียงใดก็ตาม แต่หากคนทั่วไปไม่ยอมรับนับถือหรือศรัทธาในตัวผู้นำแล้ว วิสัยทัศน์ที่วางไว้นั้นก็มักจะไร้ความหมาย ไม่มีน้ำหนัก ปราศจาก Momentum แต่ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้วิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้อาจจะดูไม่ดึงดูดใจเท่าที่ควร แต่ถ้าหากคนมีความชอบ ความเชื่อ หรือศรัทธาในตัวผู้นำแล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นๆก็มีโอกาสที่จะสำเร็จได้มากทีเดียว

                คำถามที่ตามมาก็คือ "ศรัทธาเหล่านี้มาจากไหน เราจะสามารถพัฒนามันขึ้นมาได้อย่างไร" หากจะกล่าวโดยรวมแล้วศรัทธาเป็นเรื่องของ ความชอบ ความเชื่อ เป็นเรื่องของการยอมรับ เป็นเรื่องของใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเหตุมีผลกำกับเสมอไป โดยหลักใหญ่ๆแล้วการที่คนผู้หนึ่งผู้ใดจะเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป บุคคลนั้นก็คงต้องมีอะไรที่เหนือ หรือโดดเด่นอยู่บ้าง เช่น อาจจะโดดเด่นในเรื่องคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์ หรือความรู้ความสามารถ ซึ่งคนทั่วไปก็จะให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้แตกต่างกันไป บางคนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณวุฒิ วัยวุฒิ ในขณะที่บางคนกลับให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้ความสามารถเป็นหลัก

                 แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งนี้คือปัจจัยหลักในการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ในตัวผู้นำ  สิ่งนั้นก็คือคุณสมบัติในเรื่องการเป็น "ผู้ให้" หากเราลองนึกถึงผู้นำในดวงใจของเรามาสัก 2-3 คน และลองพิจารณาถึงคุณสมบัติของการเป็นผู้ให้ของผู้นำในดวงใจที่เราเลือกมา  ก็จะพบว่าส่วนใหญ่มักจะมีคุณสมบัติที่ว่านี้ค่อนข้างชัดเจน เราจะพบว่า ผู้นำที่แท้คือผู้ที่ให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แน่นอนที่สุดหากเรามองว่าธุรกิจคือการแข่งขัน เป้าหมายของการแข่งขันก็คือชัยชนะ ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคนต่างก็ล้วนแต่ต้องการชัยชนะด้วยกันทั้งนั้น แต่สำหรับผู้นำที่แท้จริงแล้ว ชัยชนะที่เขาต้องการที่จะได้มานั้น เขามองมันในฐานะที่เป็นรางวัลสำหรับทุกคน มิใช่เพียงเพื่อตัวเขาเท่านั้น ผู้นำที่แท้ต้องการจะเห็นคนทุกคนที่ก้าวเดินไปพร้อมกับเขา มีความสุข ได้รับชัยชนะ ถึงแม้ว่าสายตาของเขาจะจับจ้องอยู่ที่ชัยชนะ แต่ก็เป็นชัยชนะเพื่อคนทุกคน เขาจะเป็นบุคคลที่คิดถึงตัวเองเป็นคนสุดท้ายเสมอ

                 หากท่านตั้งคำถามว่าในโลกนี้มีคนประเภทที่กล่าวมานี้ด้วยหรือ คำตอบก็คือ "มี" เพราะเราก็ยังคงพบเห็นคนประเภทนี้อยู่ในทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ว่าในปัจจุบันอาจจะมีให้เห็นไม่มากนัก เพราะผู้นำที่เราพบกันโดยทั่วไปมักจะเป็นผู้นำที่มาโดยตำแหน่งเป็นส่วนใหญ่  การที่ผู้นำจำเป็นต้องเป็น "ผู้ให้" นั้น  เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นว่าผู้นำที่แท้จะต้องไม่เห็นแก่ตัว จะต้องไม่มองประโยชน์เฉพาะส่วนของตน หากผู้ใดยึดประโยชน์ส่วนของตนเป็นที่ตั้งย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าคนผู้นั้นย่อมมิใช่ผู้นำที่แท้จริง  ผู้นำจำเป็นจะต้องเสียสละ(sacrifice) ภาวะผู้นำกับเรื่องการเสียสละเป็นสิ่งที่ถือว่าคู่กัน ไม่มีความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ใดๆ จะเกิดขึ้นได้ หากปราศจากซึ่งการทุ่มเทและการเสียสละ Ralph Emerson นักปรัชญาชาวอเมริกันได้กล่าวถึงสมดุลของการให้และการรับไว้ว่า "ในขณะที่เราให้หรือเสียอะไรบางอย่างไป เราก็มักจะได้อะไรบางอย่างมา และในขณะที่เราได้บางสิ่งบางอย่างมา เราก็มักจะต้องเสียบางสิ่งบางอย่างไปเสมอ" และด้วยอมตะวาจานี้เราจึงพบว่า ผู้ที่ให้มักจะเป็นผู้ที่ได้รับอะไรๆ อยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็มิได้คาดหวังอะไรเป็นสิ่งตอบแทน เข้าทำนองที่ว่า "ยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ" ซึ่งส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาได้รับนี้ก็คือศรัทธาอันเป็นผลเนื่องมาจากความสามารถที่จะ "ซื้อใจ" ผู้ตามได้นั่นเอง

ภาวะผู้นำกับการสร้างทีมงาน

โดย    รองศาสตราจารย์สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์     สถาบันราชภัฏเชียงราย

 การแบ่งผู้นำตามพฤติกรรม (Leadership behavior)

                         ทฤษฎีภาวะผู้นำส่วนใหญ่ในปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้นำจะเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องสำคัญ

(1) มุ่งงาน

(2) มุ่งคน และ

(3) เข้าใจสถานการณ์และรู้จักปรับบทบาทตนเองให้เหมาะสม

        ต่อไปนี้จะเลือกกล่าวถึงพฤติกรรมของผู้นำบางประเภทโดยสังเขป เพียง

เพื่อให้เห็นว่าผู้นำแบบใดที่มีพฤติกรรมเหมาะแก่การเป็นผู้นำทีมงาน (Team leadership) ได้แก่ผู้นำแบบบุรุษเหล็ก / สตรีเหล็ก (Strongman) ผู้นำแบบแลกเปลี่ยน (Transactor) ผู้นำแบบนักวิสัยทัศน์ (Visionary hero) และผู้นำแบบชั้นยอด (SuperLeader)

  1. 1.      ผู้นำแบบบุรุษเหล็ก / สตรีเหล็ก (Strongman)

เป็นผู้นำที่ใช้คำสั่งหรือคำแนะนำเป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดอิทธิพลต่อผู้ตาม  เนื่องจากสมัยก่อนผู้นำส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจึงนิยมเรียกผู้นำว่า ผู้นำแบบบุรุษเหล็ก ผู้นำแบบนี้ใช้อำนาจที่มากับตำแหน่งของตน ด้วยวิธีข่มขู่ให้เกรงขาม (coercion) เป็นคำสั่งที่ลงไปข้างล่างให้ลูกน้องหรือคนอื่นจำต้องยินยอมปฏิบัติตามอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ พฤติกรรมที่พบเห็นบ่อยในผู้นำแบบนี้ได้แก่ การออกคำสั่ง การบอกวิธีปฏิบัติ การกำหนดเป้าหมายเอง การข่มขู่ การตำหนิ การคาดโทษ เป็นต้น ตัวอย่างที่ชัดเจนของผู้นำแบบนี้ ก็คือ ผู้นำเผด็จการทหารที่ใช้อำนาจด้วยวิธีตะเพิดข่มขู่ให้ลูกน้องเกิดความเกรงกลัว

  1. 2.      ผู้นำแบบแลกเปลี่ยน (Transactor)

เป็นผู้นำที่ใช้รางวัล (rewards) เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนกับการปฏิบัติตามของผู้ตาม  รางวัลหรือผลประโยชน์แลกเปลี่ยนจึงเป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้ผู้นำมีอิทธิพลต่อผู้ตาม ให้ยินยอมปฏิบัติตามที่ผู้นำปรารถนา เพราะผู้ตามรู้ว่าผู้ควบคุมและมีอำนาจจัดสรรรางวัลหรือทรัพยากรในหน่วยงานก็คือผู้นำ ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าตนมีโอกาสได้รับรางวัลดังกล่าวก็ต้องเอาใจหรือปฏิบัติตามที่หัวหน้าต้องการ พฤติกรรมที่เห็นบ่อยของผู้นำแบบนี้ก็คือ การให้รางวัลเป็นวัตถุเป็นเงิน รางวัลพิเศษต่าง ๆ เมื่อพบว่าลูกน้องขยัน ทุ่มเทเอาใจใส่ในการทำงาน มีผลงานดี มีความภักดีต่อหัวหน้าหรือต่อหน่วยงาน ตลอดจนการช่วยสนับสนุนให้เจริญก้าวหน้าด้านหน้าที่การงาน ถ้าลูกน้องคนนั้นสามารถทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมายที่หัวหน้ากำหนดไว้ เป็นต้น

  1. 3.      ผู้นำแบบนักวิสัยทัศน์ (Visionary hero)

เป็นผู้นำที่ใช้บุคลิกภาพและความสามารถพิเศษ (charisma) ของตนเป็นเครื่องมือ เกิดอิทธิพลกระตุ้นให้เกิดแรงดลใจขึ้นแก่ผู้ตามให้อยากทำตามอย่างที่ผู้นำทำ ทั้งนี้เพราะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อตัวผู้นำ ผู้นำแบบนี้บางคนก็เรียกว่า ผู้นำโดยบารมี เป็นผู้นำที่มีศิลปะในการพูดโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังมองเห็นภาพได้ชัดเจน และเชื่อว่าภาพในอนาคตที่ผู้นำพูดถึงนั้นสามารถไปได้ถึงแน่นอน ถ้าร่วมใจกันทำอย่างที่ผู้นำต้องการ เนื่องจากผู้นำเป็นนักคิด นักพูด และนักวาดฝันถึงอนาคตที่เป็นไปได้ เราจึงเรียกผู้นำแบบนี้ว่า ผู้นำแบบนักวิสัยทัศน์ (visionary hero) ผู้นำแบบนี้จึงกล้าคิดกล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าท้าทายต่อสิ่งใหม่ ๆ แม้ว่าจะกระทบต่อตำแหน่งสถานภาพตนเองหรือคนอื่นก็ตาม  ถ้าเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นทำให้สังคมส่วนรวมดีขึ้น จึงเป็นผู้นำที่สามารถยกระดับคุณธรรมของลูกน้องให้สูงขึ้นจากทำงานเพื่อได้ประโยชน์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งการได้ประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญอีกด้วย  ผู้นำแบบนี้คนมักยกย่องเหมือนวีรบุรุษ  เช่น มหาตมะคานธี ผู้กอบกู้เอกราชให้อินเดีย มาร์ตินลูเธอร์ คิง ผู้นำที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนผิวดำ มิให้ถูกรังเกียจและแบ่งแยกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากสังคม เป็นต้น แต่ก็มีข้อระวัง ถ้าผู้นำแบบนี้ไร้จริยธรรม ก็จะใช้พลังประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาตนไปดำเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จนต้องพบความหายนะ เช่น กรณีของ อะด๊อฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น จึงเป็นผู้นำวิสัยทัศน์แบบจอมปลอม

  1. 4.      ผู้นำแบบชั้นยอด (SuperLeader)

เป็นผู้นำที่มุ่งพัฒนาผู้ตาม เพื่อให้สามารถนำตนเอง จนในที่สุดผู้ตามก็แปรสภาพไปเป็นผู้นำโดยอัตโนมัติ มีบางคนเรียกผู้นำแบบนี้ว่า “ผู้นำแบบมอบอำนาจเบ็ดเสร็จ” (empowering leader) ผู้นำแบบนี้มีจุดเด่นที่สามารถเรียกว่า “ชั้นยอด” ก็เพราะเป็นผู้ที่ยึดเอาจุดแข็งของผู้ตามเป็นสำคัญ เป็นผู้นำที่เข้าใจนำคนอื่นให้เขารู้จักนำตัวเอง (lead others to lead themselves) รูปแบบของผู้นำชั้นยอดก็คือ พยายามให้กำลังใจช่วยเสริมแรงของผู้ตามให้คิดริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ให้รู้จักรับผิดชอบของตน ให้มั่นใจในตนเอง ให้รู้จักการกำหนดเป้าหมายด้วยตนเอง ให้มองโลกเชิงบวก มองเห็นปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย มองวิกฤตเป็นโอกาส และรู้จักการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เป็นต้น ผู้นำแบบนี้กับผู้ตามมีความสมดุลด้านอำนาจระหว่างกันค่อนข้างดี ซึ่งแตกต่างจากผู้นำแบบอื่นที่ยึดผู้นำเป็นหลัก แต่ผู้นำแบบนี้กลับยึดที่ผู้ตามเป็นหลัก ผลที่คาดหวังจากการใช้แบบภาวะผู้นำชั้นยอด ก็คือความผูกพันของผู้ตามต่องาน / หน่วยงานจะเพิ่มมากขึ้น ผลเชิงจิตวิทยาก็คือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (ownership) เกิดขึ้น และที่สำคัญคือ ผู้ตามได้พัฒนาทักษะในการนำตนเองตลอดจนความรู้สึกเป็นผู้นำตนเองหรือการเป็น “นายตัวเอง” ได้ในที่สุด

 

    การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำในตัวคุณให้แข็งแกร่ง

 โดย อาจารย์ ปกรณ์ วงศ์รัตนพิบูลย์

                      ปัจจุบันเราจะประสบปัญหาเรื่อง วิกฤติผู้นำกันอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศ, องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ เพราะดูเหมือนเราจะหาผู้นำที่เป็น “ของแท้” หรือ ผู้นำที่ “น่าเชื่อถือ” จริงๆ นั้นยากมาก การสร้างให้คนในองค์กรมีภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก  เพื่อที่จะทำให้องค์กรพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง (Change) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากในขณะนี้

                 นิยาม “ผู้นำ” ในด้านต่างๆ มีมากมาย หลากหลายทฤษฎี ขึ้นอยู่กับว่าใครจะชอบแบบไหน และแต่ละคนนั้นก็มี Style ของความเป็นผู้นำที่แตกต่างกัน ดังนั้น การจะบอกว่า ผู้นำแบบดีกว่ากันนั้น คงไม่สามารถบอกได้ และไม่สมควรที่จะนำมาพูดกันด้วย เพราะผู้นำแต่ละแบบก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ภาวะความเป็นผู้นำก็อาจแตกต่างกันไปด้วย

                 สิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของ ภาวะความเป็นผู้นำของตัวเราเอง มากกว่าว่า เราสามารถที่จะเป็นผู้นำได้ดีแค่ไหน มีความน่าเชื่อถือจากบุคคลอื่นๆ มากน้อยอย่างไร สามารถบอกได้หรือไม่ว่าเราเป็นผู้นำ “ของแท้” เพราะความเป็นผู้นำนั้นอยู่ภายในตัวเรา แล้วเราแสดงออกมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ ไม่ใช่ตำแหน่ง หรือสิ่งที่เราบอก ดังนั้นการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำในตัวเองให้แข็งแกร่ง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อเรามากที่สุด

                ผมขอแนะนำแนวความคิดของคุณสมบัติความเป็นผู้นำที่เด่นๆ บางส่วนมาแลกเปลี่ยน เพื่อเป็นมุมมองสำหรับการพัฒนาตัวเอง ของแต่ละคน ที่ชอบคุณสมบัติไหนเป็นพิเศษก็หยิบไปพัฒนาตัวเองได้ ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกคุณสมบัติเหล่านี้ ผมใช้ประสบการณ์ของตัวเอง ในการอ่านหนังสือ, การบริหารงาน, การเป็นที่ปรึกษา, การเป็นโค้ช และสังเกตจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จทั่วๆไป มาเขียนเป็นแนวความคิดของผม ดังนี้ครับ

การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน
ผู้นำต้องมีความฝัน (วิสัยทัศน์) ที่ชัดเจน และยึดมั่นต่อความฝันของตัวเอง

อย่างแน่วแน่ เพื่อไม่ให้ผู้ตามไขว้เขว และวิสัยทัศน์ของเรานั้นหากยิ่งใหญ่ และชัดเจนเท่าใด ก็จะทำให้มีผู้ตามมากขึ้นเท่านั้น หากเราไม่มีความฝัน ก็ยากที่จะมีผู้ตาม เพราะผู้อื่นจะไม่รู้ว่าเราจะไปที่ไหนก็เลยไม่รู้ว่าจะไปทำไม

ความเชื่อมั่นในตัวเอง
หากไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ เราไม่มีวันที่จะทำได้แน่นอน ถ้าทำได้ก็แสดงว่า ฟลุ๊ก ดังนั้นความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ก่อนการลงมือทำ ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในตัวเองใครจะมาเชื่อมั่นในตัวเรา ทัศนคติเชิงบวกจะช่วยให้เราเชื่อมั่นในศักยภาพของเรามากขึ้น โดยเราต้องบอกตัวเอง อยู่เสมอๆ ว่า “เราทำได้!”   แล้วเราก็จะทำสำเร็จได้จริงๆ

ความมุ่งมั่นทุ่มเทในแผนงานอย่างต่อเนื่อง
ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ตามหรือทีมงาน ถ้าเราไม่มุ่งมั่น ทุ่มเท กับแผนงานที่เราคิดและเขียนขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เราคงไม่สามารถบอกให้ผู้อื่นทุ่มเทได้ เพราะผู้นำเป็นอย่างไร ผู้ตามก็จะเป็นอย่างนั้น ลองสังเกตดูได้เวลาที่เรารู้สึกขี้เกียจสักพักจะเห็นน้องๆ เริ่มเฉื่อยๆ เลยครับ

การสื่อสารความเข้าใจกับผู้อื่น
วิสัยทัศน์ และแผนงานของเรา ต้องได้รับการยอมรับจากทีมงาน มิเช่นนั้น เราก็ต้องทำงานคนเดียว ซึ่งก็คงไม่สำเร็จแน่นอน ดังนั้นต้องให้แน่ใจว่าการสื่อสารของเราไปถึงทีมงานนั้น ได้รับการตอบรับอย่างดี ทุกคนเข้าใจในเรื่องที่เราสื่อสารอย่างชัดเจน ดังนั้นการสื่อสารจึงต้องมุ่งเน้นที่ผู้ฟังเป็นสำคัญ ต้องใช้ ข้อความและภาษาที่เหมาะกับเขา เป็นหลัก มิใช่พูดแบบเดิมกับทุกกลุ่ม ซึ่งจะไม่ได้ผลแน่นอน

รับฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจ
การรับฟังเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้นำ เพราะการรับฟังทำให้เข้าใจผู้อื่น เพราะหากเราต้องการนำใครแล้ว เราควรเข้าใจในความต้องการของเขา มิเช่นนั้นเราก็จะไม่ได้ความไว้วางใจจากเขาเลย  เมื่อผู้นำรับฟังผู้อื่น มากขึ้น ผู้อื่นก็จะรับฟังผู้นำอย่างเต็มใจ แต่ปัจจุบัน ผู้นำหลายคนไม่ค่อยฟังผู้อื่น ส่วนใหญ่แล้วจะยึดถือความคิดของตัวเองเป็นหลักมากกว่า

การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม
เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้  ดังนั้นเราจึงควรเป็นผู้นำ 360 องศา คือเป็นผู้นำรอบทิศทาง ดังนั้นคุณสมบัติความมีมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลรอบด้านที่ดีเยี่ยม ก็จะทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับบุคคลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี  และจะได้รับความร่วมมือที่ดี สุดท้ายงานก็จะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้

ความมีใจรักในงานที่ทำ
ไม่มีใครทำอะไรได้ดี ในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ และคนส่วนใหญ่ก็จะทำในสิ่งที่ตัวเองรักอย่างจริงจัง และมีความสุขจึงลืมความเหน็ดเหนื่อยไปเลย ผู้นำที่มีความรักในงานที่ทำอย่างลุ่มหลง ก็จะทำงานนั้นอย่างเต็มที่ ไม่ย่อท้อ แม้ว่าจะเจออุปสรรคต่างๆ มากมาย ก็จะทำให้ผู้ตามมองเห็น และอยากร่วมงานนั้นมากขึ้น เพราะพลังที่ผู้นำใช้ในการทำงานก็จะแพร่ไปถึงผู้ตามด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ทีมงานกระตือรือร้นในเป้าหมายนั้นร่วมกัน

การรู้จักแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
บทพิสูจน์ผู้นำที่แท้จริง คือ การเผชิญกับปัญหาแล้วสามารถแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ถอยหนีแม้ว่าจะยุ่งยากแค่ไหนก็ตาม ผู้นำมักจะอยู่ด้านหลังเวลางานนั้นสามารถได้ผลสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ผู้นำจะออกมายืนแถวหน้าทันที เมื่องานนั้นพบกับปัญหาที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น และผู้นำประเภทนี้แหละที่ทีมงานต้องการและไว้วางใจที่สุด

ความเป็นผู้รับผิดชอบอย่างแท้จริง
ผู้นำ จะรับทั้งผิดและชอบ ในผลงาน ไม่ว่าผลลัพธ์ จะเป็นเช่นไร ก็ตาม ความรับผิดชอบเป็นคุณสมบัติที่ผู้นำหลายคนประกาศก้องกันก่อนทำงานว่า ยินดีรับผิดชอบทุกอย่าง และเมื่อนั้น ทีมงานก็จะมีหัวใจพองโต ที่พร้อมจะลุยไปข้าหน้าร่วมกับผู้นำเอง แต่หากผู้นำขาดความรับผิดชอบ แล้วไซด์ เชื่อได้เลยว่า คุณคงต้องเดินโดยลำพังแน่นอนเลย

                   คุณสมบัติความเป็นผู้นำ เด่นๆ เหล่านี้ ผมใช้ในการฝึกฝนตัวเอง อยู่เรื่อยๆ อย่างสม่ำ เสมอ ทุกๆ วัน เพราะผมมีความเชื่อว่า การสร้างภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) เป็นเรื่องที่ “ทำได้” และต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่สามารถหยุดได้ เพราะเรื่องภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่เรียนรู้ไม่จบสิ้น จึงอยากเชิญชวน ให้พวกเราลองนำไปพัฒนาตัวเองดู แล้วคอยสังเกตดูว่าตัวเราเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยการสังเกตกับคนรอบข้างเราก็ได้

                 จากประสบการณ์ของผม ที่เกิดกับตัวเอง และเกิดกับ Coachee หลายๆ คนที่พัฒนาตัวเองเพื่อให้มีภาวะความเป็นผู้นำสูงขึ้นนั้น จะเกิดจากความรู้สึกว่าคนรอบข้างเราเปลี่ยนไป เมื่อปฏิบัติกับเรา เช่นตั้งใจฟังเรามากขึ้น,  กลัวเราน้อยลง, อยากพูดคุยกับเรามากขึ้น, ทำในสิ่งที่เรามอบหมายให้ดีขึ้น เป็นต้น แรกๆ ผมก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมหลายๆคน เปลี่ยนแปลงไป (แต่ผมก็ชอบนะครับ) สุดท้ายมานั่งวิเคราะห์อีกที พบว่าเป็นเพราะเราเปลี่ยนแปลงไปนี่เอง เลยทำให้ ผู้อื่นรู้สึกในภาวะความเป็นผู้นำของเรามากขึ้น เสมือนหนึ่งว่าเรามีอิทธิพล(Influence) ต่อเขามากขึ้น สิ่งใดที่เรามอบหมายก็จะได้รับการตอบสนองในด้านที่ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาไปเลย

                   ความหมายของภาวะความเป็นผู้นำ มีมากมาย ผมขอนำมาเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นแง่คิด สำหรับการพัฒนาตัวเอง ดังนี้ครับ

ภาวะความเป็นผู้นำ… คือ
• การแบกรับความรับผิดชอบในขณะที่ผู้อื่นสรรหาคำแก้ตัว
• จุดแรงบันดาลใจ วาดภาพให้ผู้อื่นมองเห็นศักยภาพในการทำประโยชน์ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเขา
• การมองเห็นโอกาสในขณะที่ผู้อื่นมองเห็นวิกฤต
• การทำฝันให้เป็นจริง
• ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยไม่กลัวความล้มเหลว

การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัว หรือไปทำกันเมื่อขึ้นเป็นผู้จัดการ หรือผู้บริหารแล้วเท่านั้น แต่ควรเรียนรู้ และพัฒนาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อทำให้การขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นนั้น มีความพร้อมอย่างเต็มเปรี่ยมทั้งด้านทักษะการทำงาน (Hard Skill) และภาวะความเป็นผู้นำ (Soft Skill) หากองค์กรใดให้ความสำคัญเรื่องภาวะความเป็นผู้นำกับบุคคลทุกระดับแล้ว ก็จะทำให้องค์กรนั้นพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันในทุกระดับได้ โดยไม่ต้องกังวลใจเลย

คำสำคัญ (Tags): #ภาวะผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 376748เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2010 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท