สอนธุีรกิจด้วยการเรียนรู้ร่วมกัน


ถอดบทเรียนจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

   ในสังคมการทำงาน แม้กระทั่งสังคมการเรียน เราถูกปลูกฝังให้มีใจรักการเรียนรู้ (ปนการแข่งขัน) ไปในตัว

   หากลองนับดูแล้ว เราแข่งขันกับเวลา...แข่งขันกับพี่น้อง...แข่งขันกับเพื่อนๆ...แข่งขันระหว่างกลุ่ม...แข่งขันระหว่างโรงเรียน..แข่งขันกับเพื่อนร่วมงาน..แข่งขันระหว่างหน่วยงาน.. ฯลฯ ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความเร่งรีบ รีบร้อน และร้อนรน เพราะสมองต้องคิด ต้องวางแผนอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

    15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังจากพอมีเวลาว่างหลังจากเลิกงาน ผมเองได้พบปะพูดคุยกับเพื่อน โดยเขาได้แนะนำน้องคนหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะแชร์และรับฟังแนวคิดร่วมกัน ถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่ดี

    ผมเองคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนหลากหลายอาชีพด้วยกัน และในวันนั้น ท่ามกลางบรรยากาศในการคุยแบบสบายๆ ซึ่งก่อนที่จะคุยผมเองได้พิจารณาตนเอง โดย ทำความเข้าใจว่าวันนี้เราจะคุยกับธุรกิจนี้ แต่พอพูดถึงธุรกิจดังกล่าว ก็แปลกใจว่าทำไมตนเองมักจะมองในภาพลบกับธุรกิจดังกล่าวทุกที

    จึงทบทวนไป ได้ประเด็นคำถามหลายข้อเหมือนกัน ซึ่งจะมีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ประการที่หนึ่ง เกิดจากตนเอง กับประการที่สอง เกิดจากสิ่งเข้ามากระทบตนเอ

ครั้นพอนั่งฟังไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเปิดใจพิจารณาตนเองว่า ประเด็นที่เกิดจากตนเองเกิดจาก

  • เรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ (ไม่สนใจเรียนรู้ หรือคิดเพียงว่ารู้แบบผ่านๆ ก็พอ ฉันทำได้)
  • ทำวิธีลัด (คิดว่าขนาดเขาทำได้ ฉันต้องทำได้ดีกว่าเขา)
  • จิตใจไม่หนักแน่น (ใฝ่ตามสิ่งกระทบ ตามอารมณ์ความรู้สึก คำพูดของคนอื่น)

การบ้านในวันนั้น จึงได้แผ่นซีดีไปฟังเพื่อเรียนรู้สักสองแผ่น

    วันนี้ผมเองมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเปิดรับแนวความคิดใหม่ๆ อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้มีพี่ชายของเพื่อนร่วมด้วย การพูดคุยด้วยบรรยากาศในห้องรับแขกที่มีการเข้าออกของคนค่อนข้างมาก อาจทำให้ผมวอกแวกได้เป็นบางครั้ง

    วันนี้ผมตั้งใจว่าจะเก็บรายละเอียดหลายอย่างถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ (CSF)ของน้อง โดยดูการพฤติกรรม แต่งกายอย่างไร การพูดอย่างไร สื่ออุปกรณ์นำเสนอ การสร้างแรงจูงใจในการนำเสนอ (Motivation) อย่างไร ตลอดจนการตอบปัญหาข้อสงสัยจากน้องที่ประสบความสำเร็จ 

   ซึ่งคราวนี้รายละเอียดเริ่มลึกลงไปอีก โดยพูดถึงประเด็นหนทางสู่ความสำเร็จและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์เป็นหลัก เพื่อกระตุ้นให้เกิดพลังในการเรียนรู้

    ผมได้นั่งฟังสาระที่พูด จนสรุปได้ว่า ประเด็นที่เกิดจากสิ่งกระทบนั้นแ้ท้จริงเกิดจากจิตใจของตนเองที่ไม่เข้มแข็งเป็นหลัก

    หลังจากจบการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว การบ้านวันนี้เลยได้แผ่นซีดีมาอีกสามแผ่น พร้อมกับนั่งทำความเข้าใจคือเปิดใจตนเองให้พร้อมกับสิ่งใหม่ๆ ก่อน 

   ทำให้ผมคิดได้ว่า ถ้าเปรียบผมอยู่ในเกม หรือ การแข่งขันคือหนทางแห่งการอยู่รอด.. ดังนั้นวิถีทางแห่งการอยู่รอดนั่นมีสองทางเลือกคือ ไม่แพ้ก็ชนะ ไม่ชนะก็แพ้ แต่การแข่งขันของผมไม่ใช่เพียงการแข่งขันที่รู้แพ้รู้ชนะ แต่แืท้ที่จริงความสำเร็จจากการแข่งขันจุดหนึ่งที่อยากจะพูดถึงคือ ความสุขที่เกิดจากการได้เรียนรู้ตนเอง หรือ ได้ศึกษาตนเอง

เพราะการแข่งขัน ทำให้เราได้เรียนรู้ศึกษาประสบการณ์เพิ่มขึ้น ..

ระดมสรรพกำลัง ทั้งกาย ปัญญา จิตใจ มาสู่ความคิดที่จะเอาชนะ...

ความสำเร็จของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความสุข นั่นคือการชนะใจตนเอง

ความสุขที่ได้มาจากความสำเร็จนั้น ทำให้ร่างกายมีพลัง มีกำลัง จิตใจมีความเพียร มีความสุข ก่ิอเกิดความคิดที่ดี หรือ ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีขึ้นมา

    ดังนั้น หากจะตั้งอยู่บนความสำเร็จแล้ว ผมจึงควรต้องมีความคิดที่ดี มีทัศนคติที่ดี คือ รู้จักมองโลกในแง่ดีเสียก่อน ด้วยการรู้จักปล่อยวางแต่ไม่ใช่วางเฉย รู้จักละ"ทิฐิ"ที่อยู่ในใจ ไม่ยึดติดตัวตน คือรุ่นพี่รุ่นน้อง ศักดิ์ศรี ปรับจากทิฐิให้กลับมาเป็น "วิริยะ" ด้วย"ความเพียร" ใฝ่ดีเพื่อความสำเร็จและตั้งมั่นอยู่ในเหตุแห่งความเพียรนั้น

    สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมคิดได้ว่าถ้าผมมองในภาพรวมแล้ว ธุรกิจย่อมมีการแข่งขัน กลไกของการแข่งขัน ทำให้หลายคนมักเอาการแข่งขันเป็นเครื่องมือที่วัดว่าใครจะเป็นต้นแบบที่ดี ซึ่งหากพูดถึงกระบวนการผลิตแล้ว เราใช้เครื่องจักรกลในการผลิต จำเป็นต้องคัดให้มีคุณภาพดีที่สุด เยี่ยมที่สุด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากเพียงพอ และตรงตามความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค

     แต่สำหรับการเรียนรู้นั้นสำหรับผม เราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่้ต้องเอาดี ไม่ต้องเอาเก่ง แต่เอาที่ทำได้ เห็นดูจับต้องได้ เพราะหากต่างคนต่างไม่มีใครยอมซึ่งกันและกันแล้ว จะสุขได้อย่างไร ดังนั้น การเรียนรู้คือความเข้าใจ ทำตนเองให้เข้าใจ ให้มีความสุข โดยคนที่ทำไม่ได้ยอมเปิดใจให้คนอื่นที่ทำได้มาแลกเปลี่ยนกัน แชร์สิ่งใหม่ๆ ปรับแนวคิดเดิมๆ และคนที่ทำได้ก็ต้องยอมเปิดใจรับฟังปัญาหาของคนที่ทำไม่ได้ รวมทั้งฟังคำแนะนำจากคนที่ทำได้แล้วมีประสบการณ์มากกว่าได้แลกเปลี่ยนความคิด สอน หรือให้ความรู้ซึ่งกัน และการทำงานก็คือการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน (P)การปฏิบัติ(D) การตรวจสอบ(C) และ การพัฒนา(A) สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดผลผลิตคือนักเรียนรู้ นั่นคือจิตใจของนักเรียนรู้ เพราะเราใช้คนในการสร้างผลผลิต ดังนั้นองค์กรที่ใช้คนสร้างผลผลิตจึงจำเป็นต้องสร้างนักเรียนรู้ให้ได้มากเพียงพอ และตอบสนองความต้องการทางสังคมในด้านต่างๆได้ หรือแก้ปัญหาด้านต่างๆ ได้ จึงได้รับเป็นยกให้เป็นต้นแบบที่ดี นั่นคือสร้างผลผลิตคือกำไรจากการสร้างคนเพื่อสร้างงาน นั่นเอง 

     ผมรู้สึกชื่นชมรุ่นน้องที่ถ่ายทอดแนวคิดในเรื่องความสำเร็จ แบ่งปันความสุข ด้วยการช่วยเหลือให้ได้รับในสิ่งที่ดีๆ ซึ่งบทสรุปสั้นที่ได้รับในเหตุการณ์ดังกล่าว คือคุณค่าของ "น้ำใจ" ที่เพื่อนและน้องนำมาแบ่งปันให้แก่กันครับ

17 กรกฎาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 376259เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท