ระเบียบวิธีวิจัยและวิธีการวิจัย (Research methodology) เป็นอย่างไร (ครั้งที่ 2)


ระเบียบวิธีวิจัยและวิธีการวิจัย (Research methodology) เป็นอย่างไร

ระเบียบวิธีวิจัยและวิธีการวิจัย (Research methodology) เป็นอย่างไร

       ความจริงคืออะไร และการค้นพบความจริง นั้นเราได้รู้กันไปแล้ว ในวันนี้ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย และวิธีการวิจัย (Research methodology)

      ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของระเบียบวิธีวิจัยและวิธีการวิจัยกันก่อนนะครับ ระเบียบวิธีวิจัย หมายถึง กระบวนทัศน์ (Paradigm) ทฤษฎี หลักการ และกระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอน จึงครอบคลุกไปถึงวิธีการและเทคนิคของการวิจัย (ระเบียบวิธีการวิจัยหนึ่งอาจจะใช้เทคนิคหรือวิธีการได้หลายแบบนะครับ) ด้วย ซึ่งวิธีการหรือเทคนิคการวิจัยเป็นเรื่องของการทำกิจกรรมขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการวิจัยเท่านั้น

      ระเบียบวิธีการวิจัยหรือวิธีการวิจัย (Research methodology) นั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงวิตรรก (Rational research methodology) และระเบียบวิธีวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical research methodology) ซึ่งกล่าวถึงรายละเอียดได้ดังนี้

 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงวิตรรก

       เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระเบียบวิธีวิจัยเชิงเหตุผล ได้รับอิทธิพลจากสำนักคิดทางญาณวิทยาเหตุผลนิยม (Rationalism) ดังนั้นในการวิจัยจึงมีลักษณะเป็นการคิดที่ใช้เหตุผลสรุปโดยอาศัยการนิรนัย (Deductive) ความรู้ที่ได้จึงไม่ใช่ความจริงที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ตัวอย่างความรู้ความจริงที่ได้จากระเบียบวิธีวิจัยประเภทนี้ได้แก่ ปรัชญา ตรรกศาสตร์ เรขาคณิต และคณิตศาสตร์ เป็นต้น

ระเบียบวิธีวิจัยเชิงประจักษ์

       เป็นระเบียบวิธีวิจัยที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากสำนักคิดทางญาณวิทยาประจักษนิยม (Empiricism) ดังนั้นในการวิจัยจึงมุ่งค้นหาความจริงโดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านประสบการณ์ที่ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ในระเบียบวิธีวิจัยประเภทนี้จึงมักเริ่มต้นด้วยการสังเกต สัมผัสปรากฏการณ์ในธรรมชาติอย่างบ่อยครั้งแล้วอาศัยการสรุปแบบอุปนัย (Inductive) ตัวอย่างความรู้ความจริงที่ได้จากระเบียบวิธีวิจัยประเภทนี้ ได้แก่ ความรู้ความจริงที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ในธรรมชาติทั้งหมด

       แต่อย่างไรก็ตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงประจักษ์ยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ กลุ่มปฏิฐานนิยม (Positivism) และกลุ่มปรากฏการณ์นิยม (Phenomenologism) รายละเอียดดังนี้

       กลุ่มปฏิฐานนิยม (Positivism) มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยเน้นศึกษาปรากฏการณ์ที่เป็นวัตถุสสารที่สามารถสัมผัสจับต้อง แจงนับ วัดค่าได้ คือมีความเป็นปรนัย (Objectivity) และเชื่อว่าปรากฏการณ์ในธรรมชาติที่มุ่งศึกษานั้นเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอไม่แปรเปลี่ยนง่าย ๆ นักวิจัยมีหน้าที่ค้นหาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอซึ่งเรียนว่า กฎธรรมชาติ (Natural law) เพื่อที่จะใช้ความรู้ความจริงจากกฎที่ค้นพบนี้ไปควบคุมปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติให้เกิดหรือไม่เกิดตามที่ต้องการ ความเชื่อของกลุ่มปฏิฐานนิยมนี้เป็นบ่อเกิดของระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research methodology) ซึ่งนับเป็นกระแสหลัก (Main stream) ที่ใช้ศึกษาปรากฏการณ์ในธรรมชาติ

       กลุ่มปรากฏการณ์นิยม (Phenomenologism) ในกลุ่มนี้มีพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับการมองและศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์แตกต่างไปจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ โดยที่มีความเชื่อว่า ปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นมีลักษณะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงหรือมีความเป็นพลวัต (Dynamic) สูงมาก ด้วยเหตุนี้ การที่จะทำการศึกษาให้ได้ความรู้ความจริง และเข้าใจถึงปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างแท้จริงจึงไม่สามารถกระทำได้ด้วยการแจงนับ วัดค่าเป็นตัวเลข หากแต่ต้องเข้าใจถึงความหมายและคุณค่า วัฒนธรรมของกลุ่มคนดังกล่าวเสียก่อน จากพื้นฐานความเชื่อเช่นนี้จึงทำให้เกิดระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research methodology) ซึ่งระเบียบวิธีวิจัยนี้เป็นที่ยอมรับที่จะนำมาศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

       เห็นแล้วใช่หรือป่าวครับทั้งหมดนี้ คือที่มาของระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research methodology) และระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research methodology) นั่นเองครับ

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551) ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ในห้องเรียนระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง โดย รศ.ดร.อรุณี  อ่อนสวัสดิ์
ความคิดเห็นของเพื่อนในห้องเรียนที่ช่วยกันอภิปราย

หมายเลขบันทึก: 375613เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีครับยครูเต่า นำเสนอได้กระชับและเหมาะสำหรับนักศึกษาที่กำลังจะทำวิทยานิพนธ์และงานวิจัย มากครับ

ขอขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ ครูหยุย

ยินดีด้วยนะที่มีบุคคลสำคัญมาอ่าน พวกปฏิฐานนิยม คือพวกที่ต้องการพูดเป็นตัวเลข ใครๆ จะได้เข้าใจตรงกัน แต่ต้องระวังนะก่อนจะมาเป็นตัวเลขต้องพิถีพิถันกับเครื่องมือวัดให้มีความตรง มีอำนาจจำแนก และมีความเที่ยงก่อน ในขณะพวกปรากฏการณ์นิยม คือพวกบรรยาย ตีความตามความคิดของผู้ให้ข้อมูล หรือท้องถิ่นนั้นๆ ผู้วิจัยไม่ทำตัวเป็นผู้รู้แต่ไปขอความรู้

ขอบคุณครับอาจารย์อรุณีที่ให้ข้อแนะนำ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาต่อไป

วิจัยที่จะทำ ชื่อเรื่อง การวิเคราะห์ปัจจัย suffixes ในตำราเรียนวิชาภาษาอังกฤษชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สถิติที่ใช้คือ ค่าเฉลี่ยเพียง

อย่างเดียว อยากทราบว่าเป็นวิจัยเชิงปริมาณ หรือคุณภาพคะ ขอบคุณสำหรับคำชี้แนะค่ะ

ดีแล้วทำดีมีค่า ยิ่งกว่าอื่นใด รักคนทำดีนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท