หมวก 6 ใบกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์


การสร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ภายใต้การชี้นำของ Dr. Edward de Bono จะสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับสังคมไทยได้มากน้อยเพียงใด

         เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา รายการชีพจรโลกโดยคุณสุทธิชัย หยุ่น ได้ออกอากาศนำเสนอเรื่องราวของนักคิดที่โด่งดัง เจ้าของแนวคิดหมวก 6 ใบ หรือSix thinking hats นั่นคือ Dr. Edward de Bono ท่านเกิดในปี ค.ศ. 1933 ที่ประเทศ Malta จบปริญญาตรีแพทยศาสตร์ ปริญญาโทจิตวิทยาและปริญญาเอกแพทยศาสตร์ ปัจจุบันอายุ 77 ปีแล้ว แต่ดูแข็งแรงและยังเดินทางรอบโลก

          เทคนิคการคิดแบบหมวก 6 ใบ  (The Six Thinking Hats technique) ของ Dr. Edward de Bono มีหลักสำคัญคือ การจัดระเบียบความคิดที่ละด้าน เมื่อคิดในด้านใดก็ให้เกิดมุมมองเฉพาะเพียงด้านนั้น ไม่เอาความคิดในด้านอื่นมาปะปน เปรียบเสมือนการจัดระเบียบจราจร เมื่อปล่อยให้รถทางหนึ่งวิ่งไป รถในช่องทางอื่นต้องหยุดเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ ฉันใดฉันนั้นในกระบวนการคิดก็เช่นกันการคิดทีละด้านจะช่วยทำให้ความคิดไม่สะดุด ลดความขัดแย้ง มีความรอบคอบ เกิดความคิดใหม่ๆและช่วยประหยัดเวลาในการประชุมหรือระดมความคิดเห็นในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งหมวกแต่ละใบมีความหมาย ดังนี้

       1. หมวกสีขาว เป็นตัวแทนของข้อเท็จจริง (Facts & Information) ซึ่งอาจเป็นรูปภาพ ตัวเลขหรือข้อมูลต่างๆ ตามความเป็นจริง หากไม่ทราบข้อมูลต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ทราบ หมวกสีขาวมีประโยชน์ในการวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปโดยไม่ต้องการทัศนคติหรือความคิดเห็นใดๆ

       2. หมวกสีแดง เป็นตัวแทนของความรู้สึกและอารมณ์ (Feelings & Emotions) หรือลางสังหรณ์ที่มีต่อเรื่องราวนั้นๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลใดๆ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงออกโดยสัญชาตญาณของแต่ละบุคคล

       3. หมวกสีดำ เป็นตัวแทนของความระมัดระวัง (Critical Judgment, Caution, Logical Negative View) ซึ่งจำเป็นต้องไตร่ตรองและยับยั้งการดำเนินการที่อาจทำให้เกิดความเสียหายหรือล้มเหลว เป็นการแสดงถึงการโต้แย้ง หมวกสีดำจะเป็นเครื่องคอยเตือนว่าสิ่งที่จะกระทำนั้นมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการมากน้อยเพียงใด

       4. หมวกสีเหลือง เป็นตัวแทนของการแสวงหาทางเลือกมีความมุ่งหวัง (Brightness, Logical Positive View) สร้างโอกาสจากสิ่งที่เผชิญ มองหาความเป็นไปได้ คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับโดยพิจารณาสิ่งต่างๆในเชิงบวก

       5. หมวกสีเขียว เป็นตัวแทนของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ (New Ideas, Creativity) ที่แตกต่างไปจากแนวคิดเดิม ซึ่งเปรียบเสมือนใบไม้สีเขียวที่ให้ความสดชื่น เป็นการเปิดโอกาสให้มีการสร้างสรรค์ผลงาน ช่วยในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการคิด

       6. หมวกสีฟ้า เป็นตัวแทนของการควบคุมความคิดทั้งหมด (The Big Picture, Management, Process Control) หรือมุมมองที่กว้างซึ่งครอบคลุมทุกแนวคิด เปรียบดังท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งในโลก ผู้บริหารใช้หมวกใบนี้ เพื่อกำหนดแนวทางประกอบการตัดสินใจให้บรรลุจุดมุ่งหมาย

        การพัฒนากระบวนการคิด ตามรูปแบบเทคนิคการคิดแบบหมวก 6 ใบ จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดก็คือ การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลไทยมีความต้องการที่จะส่งเสริมและผลักดันเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพี่อสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขัน ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจแบบเดิมๆ (Industry Economy) แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งหนทางไปสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์นั้น Dr. Edward de Bono ได้ให้ความเห็นไว้หลายประการ คงต้องติดตามกันว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ภายใต้การชี้นำของ Dr. Edward de Bono จะสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับสังคมไทยได้มากน้อยเพียงใด

หมายเลขบันทึก: 375417เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2010 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท