โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๓)


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๓)


            ตอนนี้เป็นสุดยอดการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์   เพื่อเปลี่ยนศรัทธาจากการบำรุงต้นพืชโดยปุ๋ยเคมี ไปเป็นบำรุงดินโดยวิธีอินทรีย์    มองเผินๆ คล้ายกับการเปลี่ยนจากใช้ปุ๋ยเคมีไปสู่ปุ๋ยอินทรีย์    แต่จริงๆแล้วต้องเป็นการเรียนรู้ที่ลึกกว่านั้นมาก

ตอนที่  2  แม่ธรณี  :  บุคลาธิษฐานแห่งดิน


 

        เมื่อวันจันทร์ที่  14  กุมภาพันธ์  2548  ที่ผ่านมานี้  คุณเดชา  ศิริภัทร  ผู้อำนวยการมูลนิธิ    ข้าวขวัญ  ได้มีโอกาสต้อนรับคณะศึกษาดูงาน  “สื่อสัญจรศึกษาเรียนรู้โรงเรียนชาวนา  :  การบำรุงดินเพื่อคืนชีวิตแม่ธรณี”  ของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  โดยการนำของ  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ผู้อำนวยการสถาบันฯ  พร้อมกับคณะสื่อมวลชน  ที่ได้มาศึกษาดูงานโรงเรียนชาวนาวัดดาว  ตำบลวัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  และในโอกาสนี้คุณเดชาได้บรรยายพิเศษ  เรื่องการปรังปรุงดินกับการคืนชีวิตแม่ธรณี  ให้แก่นักเรียนชาวนาโรงเรียนชาวนา  วัดดาว


 

        อย่างที่  2  ต้องมีดิน  เพราะว่าถ้าปลูกข้าว  ไม่มีดินปลูกข้าวที่ไหนก็ไม่ได้  นอกจากฝรั่งที่ปลูกในน้ำ  คิดว่าเป็นเรื่องโง่มากที่ปลูกผักปลูกข้าวในน้ำ  อย่างไรเสียก็ต้องมีดิน  เพราะฉะนั้นขวัญของดินหรือวิญญาณของดินก็คือ  แม่ธรณี  อันนี้คนสมัยก่อนจะเข้าใจได้ดี
        อย่างที่  3  ต้องมีน้ำ  เพราะถ้าไม่มีน้ำ  ต้นข้าวหรือดินก็จะเหี่ยวแห้ง  ก็จะอยู่ไม่ได้  น้ำเราก็เรียกกันว่าแม่คงคา
        บุคลาธิษฐานของแม่โพสพเราก็มีแล้ว  บุคลาธิษฐานของแม่ธรณีเราก็ได้เห็นกันแล้ว  แต่     แม่คงคาเราไม่ค่อยจะได้เห็น  แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับแม่ธรณี  ก็พึงให้เห็นว่าเป็นแม่ธรณีบีบมวยผม  ท่านบีบทำไม  บีบเอาน้ำออกมา  ตอนที่ท่านบีบน้ำออกมานั้น  ท่านช่วยพระพุทธเจ้า  ซึ่งกำลังจะตรัสรู้  แล้วมีพญามารมาอ้างว่าไม่ให้(พระพุทธเจ้า)นั่งตรงนั้น  ที่ดินตรงนั้นเป็นของพญามาร  แต่พระพุทธเจ้าท่านก็อ้างแม่ธรณีเป็นพยานว่าพระองค์ท่านนั่งอยู่ก่อน  แม่ธรณีก็จึงปรากฏตัว  แล้วก็บีบมวยผมให้น้ำท่วมพญามาร  ไม่ให้มารบกวนพระพุทธเจ้า  เพราะฉะนั้นปาง  พระพุทธเจ้าที่พระองค์ท่านนั่งแล้วก็อ้างแม่ธรณีเป็นพยานก็จะเรียกว่าปางมารวิชัย  กล่าวคือ  นั่งแล้วเอามือชี้ลงไปที่แผ่นดิน  ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า  ปางสะดุ้งมาร  นั้นเป็นความผูกพันของชาวพุทธ  แม่ธรณีช่วยพระพุทธเจ้าปราบพญามาร  ซึ่งแม่ธรณีกับแม่คงคาก็อยู่ด้วยกันอยู่แล้ว


     

        “ผมจะพูดถึงเรื่องการทำนา  มีสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างมากที่สุด  3  อย่าง  อย่างแรก  การทำนาต้องมีพันธุ์ข้าว  ถ้าไม่มีพันธุ์ข้าวก็ทำนาไม่ได้  ปลูกข้าวไม่ได้  เพราะฉะนั้นพันธุ์ข้าวก็จะเกี่ยวกับแม่โพสพ  ข้าว...เราถือว่ามีวิญญาณหรือมีขวัญ  ก็คือ  แม่โพสพเป็นขวัญหรือเป็นวิญญาณของข้าว  ซึ่งอันนี้เรารู้กันแล้ว  ชาวบ้านก็ทำกันแล้ว

ภาพที่  5  คุณเดชา  ศิริภัทร 
บรรยายพิเศษให้ความรู้แก่นักเรียนชาวนา



      

        แม่ธรณีอีกตอนหนึ่งในพุทธประวัติที่เราจำกันได้ดีก็คือ  ตอนที่พระเทวทัตจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า  ก็เอาหินไปแอบอยู่บนภูเขา  เมื่อพระพุทธเจ้าเดินผ่านก็ผลักลงมา  แต่ว่าพระพุทธเจ้ามีบารมีสูง  จึงทำลายพระองค์ไม่ได้  เพียงแต่ว่าสะเก็ดหินไปถูกพระบาทของพระองค์ท่าน  จนพระโลหิตไหล  ถือว่าเป็นอนันตริยกรรมเป็นกรรมสูงสุดเทียบเท่ากับการฆ่าพ่อแม่  เทวทัตจึงถูกธรณีสูบ  แม่ธรณีแสดงบทบาทสูบพระเทวัตลงไปสู่ขุมนรกที่ลึกที่สุด  ดังนั้น  คนสมัยก่อนทำบาปเขาจะกลัวมาก  กลัวตกนรกชั้นไหน  ตกชั้นใต้เถรเทวทัต  คือ  ตกต่ำกว่าเทวทัต  เทวทัตตกนรกขั้นสุดท้ายแล้ว  แต่ถ้าเราตกใต้เถรเทวทัตถือว่าไม่มีที่ไปแล้ว  เพราะฉะนั้นควรจะรู้ว่าจะบาปมาก

ภาพที่  6  แม่ธรณี
บุคลาธิษฐานแห่งดิน

        แม่ธรณีจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนสมัยก่อนนับถือมาก  เพราะว่าประการแรก  ช่วยพระพุทธเจ้าให้ตรัสรู้ได้  ประการที่  2  ช่วยปราบทั้งพญามารและเทวทัต  ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกลัว  คนสมัยก่อนเวลาสาบาน  นอกจากให้ฟ้าผ่าแล้ว  ต้องให้ธรณีสูบอีกด้วย  สิ่งเกี่ยวข้องระหว่างแม่ธรณีกับแม่คงคาที่เห็นได้อย่างชัดเจนอย่างตอนที่เกิดคลื่น  Tsunami ( สึนามิ )
         คราวนี้  พูดเกี่ยวกับเรื่องทำนา  เราทำนามาหลายปี  อย่างเช่นที่ตำบลวัดดาวนี้  ทำนากันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  แต่ว่าช่วงเวลาเปลี่ยน  ประมาณในปี  พ.ศ.2525  ที่ปลูกข้าวพันธุ์กัน  เปลี่ยนจากข้าวพื้นบ้านมาเป็นข้าวพันธุ์ใหม่  นับถึงตอนนี้ก็  23  ปี  ปรากฏว่า  หลังจากที่เปลี่ยนข้าวพันธุ์ใหม่แล้ว  เราทำอะไรดินบ้าง  แต่ก่อนบำรุงดินแบบไหน  ชาวนาบอกว่าเมื่อก่อนไม่ได้บำรุงดิน  ไม่ได้บำรุงด้วยอะไร  เพียงแต่นับถือแม่ธรณี  และก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง  อยู่ด้วยกันอย่างปกติสุขเรื่อยมา  แล้วก็มาวิเคราะห์ดูว่า  ทำไมแต่ก่อนอยู่ได้อย่างปกติสุข  โดยไม่ได้บำรุงดินเลย 
        ประการแรก  เพราะแต่ก่อนเราใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน  ปลูกครั้งเดียว  จึงไม่ได้รบกวนท่าน  (แม่ธรณี)  มาก 
        ประการที่  2  เป็นเพราะใช้วัวควาย  ไถอย่างตื้นๆ  วัวควายกินหญ้า  ถ่ายออกมาก็เป็นปุ๋ยให้ธรณี  ไม่มีสารเคมีอะไรเลย 
        และประการที่  3  เพราะน้ำท่วม  แถวๆ  ตำบลวัดดาวนี้มีน้ำท่วมทุกปี  ตั้งแต่เดือนตุลาคมก็ท่วมน้ำ  เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง  เดือนสิบสองน้ำทรง  เดือนอ้ายเดือนยี่  น้ำจะรี่ไหลลง  น้ำจะท่วมเพียง  4  เดือน  แล้วน้ำในสมัยก่อนจะเป็นน้ำขุ่น  ไม่ใส  เพราะไม่มีเขื่อน  พอน้ำท่วมครั้งใด  ปุ๋ยจากทางเหนือก็จะไหลมา  พอน้ำลด  แต่ละปีก็จะได้ดินเพิ่มขึ้น  โดยทั่วไปเลย  ดินจะอุดม  ซึ่งมาจากป่าทางเหนือ 
        ฉะนั้น  จึงไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย  ไม่จำเป็นต้องบำรุง  ดินก็ไม่เสีย  เพราะปลูกข้าวครั้งเดียว  มีวัวควายด้วย  มีน้ำท่วมด้วย  แต่ในปัจจุบันน้ำไม่ท่วม  เพราะมีเขื่อน  น้ำขังหน้าเขื่อน  ตะกอนก็ตกลงที่หน้าเขื่อนหมด  น้ำที่ไหลมาก็จะใสหมด  จึงไม่มีปุ๋ย
        การปลูกข้าว  กข.  ข้าวสุพรรณ  ข้าวชัยนาท  ข้าวปทุม  ข้าวพันธุ์เหล่านี้สามารถปลูกได้ปีละหลายครั้ง  ผลผลิตไม่ใช่ได้แค่  30 – 40  ถัง  แต่ได้เป็นร้อยถัง  ข้าวจึงเอาธาตุอาหารจากดินไปมาก  แต่ทว่าไม่มีธาตุอาหารจากธรรมชาติมาช่วยดินเลย  วัวควายก็หายไปหมดแล้ว  หญ้าที่เคยเป็นอาหารแก่วัวควาย  ก็กลายเป็นศัตรูของชาวนา  แทนที่หญ้าจะเป็นปุ๋ย  ก็กลับไปเอายาไปฉีดให้ตาย  แล้วดินก็พลอยได้รับยาฆ่าไปด้วย  จึงเป็นการฆ่าดินไปด้วย  นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายดิน  โดยการเลิกใช้วัวควาย
        นอกจากนั้น  ชาวนาปลูกข้าว  ก็สนใจแต่ข้าว  ไม่ได้สนใจแม่ธรณี  ปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ  เพราะต้องการเมล็ดข้าว  จึงไม่ต้องการต้น  ไม่ต้องการใบ  แล้วไม่สนใจดิน  ไม่สนใจน้ำ  สนใจแต่เมล็ดข้าวเพียงอย่างเดียว  คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้เมล็ดข้าวเยอะๆ  ประการแรก  ปลูกหลายๆครั้ง  ประการที่  2  ใส่ปุ๋ยเยอะๆ  ปุ๋ยที่นำใส่เป็นปุ๋ยเคมี  แล้วก็ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงดิน  แต่ใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นข้าวกิน  เพราะต้นข้าวพันธุ์ต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนี้ชอบกินปุ๋ยเคมี  หากไม่ใส่ปุ๋ย  ต้นข้าวก็จะเหลือง  จึงจำต้องใส่ปุ๋ยเคมี  จะทำให้มีรวงเยอะ  โตไว  ชาวนาก็จึงต้องใส่ปุ๋ยเคมีให้ต้นข้าวกินโดยตรง  แล้วดินจะเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจ  สนใจที่ต้นข้าวและเมล็ดข้าวแต่อย่างเดียว  ส่วนดินจะเสีย  ดินจะแข็ง  ดินจะตาย  จึงไม่ได้สนใจ  เพราะไม่ได้ใช้วัวควายไถแล้ว  ก็จะไม่รู้ถึงความแข็งของดิน  จ้างรถมาไถแทน 
        เรื่องดิน  ชาวนาไม่ได้สนใจกันมานานแล้ว  ตั้งแต่เปลี่ยนข้าวพันธุ์ใหม่  คราวนี้มาดูว่าชาวนาทำลายดินอย่างไรกันบ้าง  ประการแรก  ปลูกข้าวหลายครั้ง  ประการที่  2  เอายาฆ่าหญ้าฉีดลงดิน  และประการที่  3  ใส่ปุ๋ยเคมี  ซึ่งปุ๋ยเคมีไม่ได้มีส่วนในการบำรุง  แต่กลับฆ่าดิน  ให้แต่ข้าวกินอย่างเดียว  ไม่ได้สนใจดิน  เมื่อใส่ปุ๋ยเคมีลงไปแล้ว  ดินจึงแข็ง  เพราะปุ๋ยเป็นกรด  ดินจึงเปรี้ยว  แล้วจะให้ใส่ปูนขาวลงไปแก้ไข  ปูนขาวเป็นด่าง  เปรี้ยวมาเจอฝาดเพื่อให้เป็นกลาง  แต่ไม่ธรรมดา  เพราะกรดบวกด่างได้เกลือบวกน้ำ  เป็นกลางเป็นเกลือ  ดินจึงเค็มแทน  ทำให้ดินยิ่งเสีย  ชาวนาจึงเจอเกลือในรูปของปุ๋ย  แต่ถ้าไม่ใส่ปูนขาว  ดินก็จะเป็นกรดมาจนเกินไป  ...  ดินที่เสียเพราะใส่ปุ๋ยต่อเนื่องกันมานาน 
        นอกจากนี้  ยังใช้ยาฆ่าหญ้า  ยาฆ่าปู  ยาฆ่าหอย  ยาฆ่าแมลง  ใส่ลงไปในดิน  หรือใส่ลงไปในน้ำ  (สุดท้ายก็ตกลงในดิน)  อย่างเช่น  ฟูราดานหว่านใส่ดิน  ปลาไหลอยู่ในดินจึงตาย 
        ฉะนั้น  สารพิษทั้งหลายแหล่จึงลงสู่ดินหมด  ชาวนาใส่สารพิษอยู่ทุกปีๆ  ดินจึงไม่เหลืออะไร  ในนามีปลาหรือไม่  แต่ก่อนเคยมีไม่ใช่หรือ  ก่อนที่จะใช้ปุ๋ย  ในนามีปลาเต็มไปหมด  ก่อนเกี่ยวข้าวปลาว่ายผุดเต็มไปหมด  พอน้ำลดก็ไปตกไปค้างอยู่ตามบ่อตามคู  จึงมีปลากินเหลือเฟือ  กุ้งก็มี  กะปิไม่ต้องซื้อ  ในหน้าหนาวก็พากันไปช้อนกุ้งมาทำกะปิ  แต่บัดเดี๋ยวนี้ต้องซื้อทุกอย่าง  เพราะว่า       การหว่านฟูราดานครั้งเดียว  ทุกอย่างในนาก็หายไปหมด  ปลากัดก็ไม่มี  ตอนเด็กๆจับมากัดกันเล่น  ปลิงก็ไม่มี  ปลายสร้อยที่เคยเอามาทำน้ำปลาก็ไม่มี  แล้วที่นี่อำเภอบางปลาม้า  แต่ไม่มีปลาม้าแล้ว  ไส้เดือนก็ไม่มี  แมงดาก็ไม่มี  ไข่แมงดาเคยเก็บได้ตามยอดหญ้า  สิ่งเหล่านี้ได้หายได้ตายไปหมดแล้ว  เพราะแม่ธรณีตายไปแล้ว  แล้วทุกอย่างก็หายไปหมดเลย 
        แม่ธรณีตายไปแล้ว  สิ่งมีชีวิตในดินก็ไม่มีเหลือแล้ว  ข้าวที่ขึ้นบนดินที่ไม่มีวิญญาณ  มีแต่ซาก  ดินกลายเป็นซากของแม่ธรณี  ชาวนาจึงไม่มีแม่ที่คอยคุ้มครอง  ข้าวจึงได้อาศัยแต่ปุ๋ยเคมี  แล้วก็ใส่มากขึ้นเรื่อยๆ  แล้วแมลงก็มา  ก็ใส่ยามากขึ้น  ต้นทุนก็มากขึ้น  ผลผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย        คุณภาพก็แย่ลง  ชาวนาไม่อยากกินข้าวที่ตนเองปลูกด้วยซ้ำ  ในที่สุดผลที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกรรมที่  ชาวนาฆ่าแม่ของตน  (แม่ธรณี)  หนี้สินก็มา  ได้พบธรณีกรรแสง  เศร้าจนแม่ธรณีร้องไห้  คนไทยเราเปรียบเทียบความเศร้าสูงสุดก็คือ  ธรณีกรรแสงที่ใช้ในงานศพ  หนี้สินพอกพูนขึ้นมา  แล้วก็ไม่มีใครช่วย  แม่ธรณีก็ตายไปแล้ว  ใครจะมาช่วย  ชาวนาเป็นลูกกำพร้าแล้ว  ชาวนาต้องโทษตนเองที่ทำให้แม่ธรณีตาย  ถ้าไม่ได้ทำให้ดินตาย  ชาวนาก็จะไม่เป็นหนี้  นี่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน
        หลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดิน  (หลักสูตรที่  2)  นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้อะไรบ้างแล้ว  ถือเป็นหลักสูตรชั้นมัธยม  ซึ่งนักเรียนชาวนาได้ผ่านหลักสูตรแรกมาแล้ว  เป็นหลักสูตรการควบคุมโรคแมลง  ถือเป็นหลักสูตรชั้นประถม  (หลักสูตรบำรุงดินจะเรียนยากกว่า)  เรียนเรื่องโรคแมลง  เป็นสิ่งที่เห็นตัว  แมลงตัวนี้ดีหรือไม่ดี  สามารถไปจับมาดูได้  ให้แมลงกินกันเอง  หรือเอาสมุนไพรไปควบคุม  ซึ่งเรื่องอย่างนี้เห็นได้ชัดเจน  ยาฆ่าแมลงก็รู้ว่าเป็นสารพิษ  หลายคนฉีด  แล้วหลายคนก็ตายไปแล้ว  หลายคนต้องเข้าโรงพยาบาล  หลายคนเจาะเลือดตรวจก็เห็นแล้วว่าสารพิษมีเยอะ  เพราะฉะนั้นคนจะเปลี่ยนง่าย  การเลิกใช้ยาฆ่าแมลง  จะเลิกง่าย  แต่ถ้าบอกให้เลิกปุ๋ยเคมีนั้นยากกว่า  เพราะว่ามองไม่เห็นว่าสารเคมีไปฆ่าจุลินทรีย์  มองไม่เห็นว่าแม่ธรณีที่มีตัวตนอยู่ตายไปจริงหรือเปล่า  ใส่แล้วข้าวก็งาม  จะว่าไม่ดีได้อย่างไร  ใส่ไปแล้วไม่เห็นคนหว่านปุ๋ยตายเสียที  เจาะเลือดก็ไม่เห็นเรื่องปุ๋ยเคมีในร่างกาย  ดังนั้น  บอกให้เลิกใช้ปุ๋ยเคมีนั้น...เลิกยาก 
        เรื่องอย่างนี้ต้องเกี่ยวกับเรื่องแม่ธรณี  ซึ่งตรงจุดนี้ถ้าไม่มีแม่ธรณี  ไม่มีเรื่องวิญญาณของดิน  การเปลี่ยนให้เลิกใช้ปุ๋ยเคมีจะยากมาก  ทำไมจึงต้องดึงแม่ธรณีมากล่าวกันด้วย  ต้องนำมาช่วย  ไม่เช่นนั้นชาวนาก็ไม่เลิกใช้ปุ๋ยเคมี  เป็นเรื่องที่ลึกและยากกว่า  การเรียนเรื่องบำรุงดินจึงถือเป็นขั้นมัธยม  นักเรียนชาวนาอาจจะสอบตกเรื่องนี้กันเยอะ  มีนักเรียนยังแอบใช้ปุ๋ยเคมีกันอยู่  ให้หมักดินไว้สัก  2  สัปดาห์  ก่อนจะปลูกข้าว  2  สัปดาห์แค่นั้นยังทดลองกันไม่ได้เลย  แล้วสุดท้ายก็เจอปัญหากัน  ซึ่งต้องให้มีการทำซ้ำกันเป็นการสอบซ่อม  ทว่าหลายคนก็ผ่านได้ 
        เรื่องจุลินทรีย์ในดินเป็นหัวใจอันหนึ่ง  และจะเป็นตัวชี้ว่าดินมีชีวิตหรือไม่  ดูว่ามีสิ่งมีชีวิตในดินหรือไม่  แล้วสิ่งมีชีวิตที่มากที่สุดในดินคือจุลินทรีย์  ดินที่อุดมสมบูรณ์จริงๆอย่างที่ป่าที่น้ำตก  ไซเบอร์  (อุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง  จังหวัดอุทัยธานี)  ซึ่งนักเรียนชาวนาไปกันมาแล้ว  ดินที่นั้นเมื่อช้อนขึ้นมาดูเพียงนิดเดียวก็มีจุลินทรีย์จำนวนมากมาย  แต่ดินของนักเรียนชาวนาที่ใส่ปุ๋ยเคมีใส่ยาฆ่าแมลงใส่ยาฆ่าหญ้านี้  ไปตักมาดูเถอะ  ให้ช้อนขึ้นมาดูจุลินทรีย์ก็หาได้ยากมาก  มีแต่เชื้อราเชื้อโรค  จุลินทรีย์ที่ดีๆไม่มี  เชื้อราเชื้อโรคไม่ใช่เป็นจุลินทรีย์ที่ดูแลดิน  ไม่ถือว่าดินมีชีวิต  ...  สิ่งที่เหล่านี้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น  มองไม่เห็นเราก็ไม่ค่อยชอบ  แต่ลุงสนั่นเห็น  ซึ่งไม่ได้เห็นด้วยตาหรอก  แต่ว่าใส่แล้วดินดี  ใส่ต้นข้าวงาม  ใส่แล้วต้นข้าวไม่เป็นโรค  นี่เป็นการฟื้นดิน  ซึ่งไม่ได้มองเห็นจุลินทรีย์  มองเห็นว่าอะไรเกิดขึ้นหลังจากใส่จุลินทรีย์  เป็นการมองทางอ้อม
        การปรับปรุงบำรุงดินมี  2  ส่วน  ส่วนแรกเป็นแบบวิทยาศาสตร์  เช่น  สอนการหมักฟาง  หมักหญ้า  มีการพักดิน  เอาจุลินทรีย์มาหมัก  ทำปุ๋ยชีวภาพ  ไม่ฉีดยาฆ่าหญ้า  จะไม่ใส่ปุ๋ยเคมี  ไม่เอาฟูราดานใส่  ไม่ปลูกพันธุ์ที่ทำลายดิน  นี่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์  ซึ่งนักเรียนชาวนาเข้าใจง่าย  (ส่วนที่  2)  แต่ถ้าบอกว่าเวลาปลูกข้าว  ไม่ต้องสนใจบำรุงข้าว  ให้สนใจบำรุงดิน  เหมือนกับว่าเราบำรุงแม่ธรณีให้แข็งแรงสมบูรณ์  แล้วท่านจะไปเลี้ยงแม่โพสพเอง  หลายคนอาจจะมองไม่เห็น  ไม่ต้องเลี้ยงแม่โพสพโดยตรง  เพียงแต่ทำให้แม่ธรณีสมบูรณ์ขึ้นมา  ให้แม่คงคาสมบูรณ์  ไม่ให้มีสารพิษในแม่คงคา  ไม่เห็นแห้งเหือดลงไป  แล้วทั้ง  2  แม่จะทำให้แม่โพสพสมบูรณ์งดงามขึ้นมาเอง  โดยที่ไม่ต้องไปทำให้แม่โพสพโดยตรง  เพียงแต่เอาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมมาปลูกในนาแล้วข้าวก็จะงอกงามขึ้นมาเอง  ทั้ง  3  แม่อยู่ด้วยกันมานานแล้ว  ซึ่งเรื่องนี้มองเห็นยาก
          เราจะต้องทำให้แม่ธรณีฟื้นคืนมาให้ได้ก่อน  ข้าวเราจะไม่ได้มากไม่เป็นไร  แล้วครั้งต่อไปแม่โพสพก็จะกลับมาได้  เพราะว่าแม่ธรณีฟื้นขึ้นมาแล้ว  แม่โพสพก็จะมีคนเลี้ยง  แม่คงคาก็จะไปถูกทิ้ง  แต่ว่าหลักสูตรก็จะมีเรื่องจุลินทรีย์  การบำรุงดิน  อะไรเหล่านี้  ให้นักเรียนชาวนาทำกันต่อไป  เป็นเครื่องมือ  แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ  นี่ก็คือหัวใจ”


        

ภาพที่  7 – 8  คุณเดชา  ศิริภัทร  ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญมอบแม่ธรณีแก่นักเรียนชาวนา

           โปรดสังเกตว่าแม่ธรณีเป็นบุคลาธิษฐานหรืออุบายให้เกิดการคิดอย่างกระบวนระบบ (Systems Thinking)    เห็นความเชื่อมโยงระหว่างต้นพืชกับดิน    เห็นความมีชีวิตในดิน    เห็นความเชื่อมโยงระหว่างอินทรียสารในดิน – จุลินทรีย์ – ต้นพืช – ความเป็นรดด่างของดิน ฯลฯ    ประเด็นเหล่านี้จะยิ่งชัดเจนขึ้นในตอนต่อๆ ไป


วิจารณ์ พานิช
๑๗ สค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3752เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2005 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท