สิทธิชุมชนกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบด่วนสรุป


การพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่กับการใช้สิทธิชุมชนเกิดหรือมีขึ้นได้จริงหรือในทางปฏิบัติ?

     จริงอยู่ที่มีผู้กล่าวว่าในทางระหว่างประเทศผู้ที่เป็นบุคคลผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายแรกเริ่มนั้น คือรัฐ  และรัฐถือเป็นตัวแทนของประชาชนในการมีสิทธิและหน้าที่ผูกพันตามพันธกรณีระหว่างประเทศกับรัฐอื่นอันเนื่องมาจากการเข้าทำสนธิสัญญา อนุสัญญา บันทึกความเข้าใจ หรือไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไรในทำนองเดียวกับความตกลงระหว่างประเทศ รัฐโดยการนำของหัวหน้าฝ่ายบริหารซึ่งมีฐานะผู้นำสูงสุดมีอำนาจที่จะดำเนินความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการดำเนินพันธกรณีทางเศรษฐกิจหว่างประเทศอันเป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาในประชาคมโลกทุกวันนี้ ประเด็นที่สำคัญไม่ว่าในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศหรือภายในประเทศได้แก่ การลงทุน การเงิน การค้าและการพัฒนาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอันเป็นพลวัตรและกลไกขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโลกดำเนินต่อไปได้เป็นวงจร และเมื่อรัฐทำหน้าที่ของตนในการทำสนธิสัญญากับต่างรัฐแล้วย่อมผูกพันประชาชนในรัฐด้วย 

     อย่างไรก็ตามรัฐก็มีพันธกรณีที่สำคัญที่สุดต่อประชาชนของรัฐโดยตรง  เนื่องจากการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยแท้จริงแล้วก็เพื่อเป้าหมายที่จะเป็นมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในรัฐ แต่ก็เป็นเพียงในทางอุดมคติเท่านั้นในความเป็นจริงเพราะในทางข้อเท็จจริงแล้ว โดยเฉพาะในประเทศไทยหากพรรคการเมืองใดได้เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลและเป็นผู้ดำเนินนโยบายต่างๆ ของประเทศซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้กุมบังเหียนทางเศรษฐกิจประเทศ(มีอำนาจอยู่ในกำมือ)ไว้นั้น  หนีไม่พ้นการ"กอบโกย"ผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเอง(Corruption)โดยการกอบโกยในเชิงนโยบายในฐานะฝ่ายบริหารใช้กฎหมายสร้างความชอบธรรมโดยประชาชนไม่อาจตอบโต้ในการกระทำของรัฐที่ออกมาในรูปกฎหมายได้ ทั้งโดยพื้นฐานนิสัยของคนไทยคือมีความ"กลัว ไม่กล้า อาย หรือเกรงใจ"ที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพของตน   ในการโต้แย้งความไม่เป็นธรรมหรือความไม่ชอบเชิงนโยบายดังกล่าวต่อผู้ใช้อำนาจโดยมิชอบ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องในสิ่งที่จะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน ตลอดจนสิทธิที่จะทราบข้อมูลข่าวสารโดยเปิดเผยจากรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการอันจะกระทบต่อสิทธิของประชนโดยเฉพาะโครงการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนในท้องถิ่นและรัฐก็มีหน้าที่ศึกษาและประเมินผลกระทบก่อนการดำเนินโครงการดังกล่าวอันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานและหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรองไว้ เช่น ตามมาตรา 28,39,40,56และมาตรา 59 เป็นต้นในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ และที่สำคัญคือเมื่อประชาชนได้ใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเองต่อรัฐบาลในเรื่องที่กระทบต่อชุมชนของตนดังกล่าวแล้วรัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นในการที่จะนำความคิดเห็นอันมาจากประชาชนทีอยู่ในชุมชนซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในพื้นที่ตลอดจนทรัพยากรในบริเวณที่ได้รับผลกระทบนั้นมากที่สุด มากำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาควบคู่ไปกับความต้องการของประชาชนอันจะเกิดความสมประโยชน์ทุกฝ่ายอย่างประนีประนอม

     เมื่อได้อ่านเอกสารประกอบการสัมนาทางวิชาการเรื่อง"ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซีย:มองผ่านมิติภายในไปสู่ความเป็นไปในอนาคต"  ชื่อบทความเรื่อง "โครงการท่าก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับมาเลเซีย"ซึ่งเป็นเอกสารแนะนำของอาจารย์เเหววในวิชาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  ข้าพเจ้าเกิดคำถามว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐไปพร้อมกับการให้สิทธิชุมชนที่จะแสดงความต้องการของตนโดยการนำเอาหลักปฏิบัติที่ถือกันปฏิบัติกันมาและผลของการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนมาใช้ในการพิจาณาโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนโดยตรง สามารถทำให้สมประโยชน์ต่อทั้งทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจกับชุมชนได้หรือไม่? 

     จากคำถามดังกล่าวข้าพเจ้าใคร่ขอกล่าวถึงคำว่าสิทธิ และคำว่าชุมชน

     สิทธิหมายถึงประโยชน์ซึ่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้(ดร.หยุด แสงอุทัย)

     ชุมชนหมายถึงหมู่ชน กลุ่มคนที่อยู่รวมกันเป็นสังคมขนาดเล็ก อาศัยอยูในบริเวณเดียวกันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525)

     ดังนั้นเมื่อนำคำทั้งสองมาประกอบกันพอสรุปได้ว่าสิทธิชุมชนหมายถึงประโยชน์หรืออำนาจซึ่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ร่วมในบริเวณเดียวกัน มีความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาประกอบจิตสำนึกร่วมกันในการจะต้องพึ่งพาอาศัยกันในด้านสังคมและเศรษฐกิจ

     จากบทความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้ไทยจะได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นในหมวดสามของรัฐธรรมที่ชื่อได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในการใช้สิทธิและเสรีแสดงความคิดเห็นและการเสนอแนะแนวทางการแก้ไขของชุมชนตลอดจนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งได้รับผลกระทบจากกิจกรรมใดๆที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิตอันเป็นปกติสุขของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีภายในท้องถิ่น  แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเช่น พลังงาน เป็นต้น ก็เป็นไปเพื่อให้รับทันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างก้าวกระโดดอันเป็นผลจากการเปิดตลาดเสรี(Free Market or Open Market) โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นทำให้ประชาชนในประเทศปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อไทยความตกลงระหว่างประเทศในการวางท่อก๊าซพาดผ่านอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาและไทยยังได้ไปตกลงกับบริษัทเอกชนในการตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริเวณชุมชนอันส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพขายนกเขาที่เลี้ยงเพื่อประชันเสียงแข่งขันระดับระหว่างประเทศเนื่องจากเกิดมลภาวะบริเวณนั้นทำให้นกเสียงไม่ไพเราะเท่ากับก่อนมีการพัฒนา เป็นต้น  ชุมชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการที่รัฐควรต้องพัฒนาไปควบคู่ไปกับเศรษฐกิจ เพราะชุมชนเป็นผู้ผลิตแรงงานคือ"คน"เข้ามาในระบบเศรษฐกิจและอาจเป็นผู้ผลิตขั้นปฐมภูมิ เป็นผู้กระผู้กระจาย และผู้บริโภคขั้นพื้นฐานของธุรกิจพื้นฐานของประเทศ 

     จากเรื่องการวางท่อก๊าซและการสร้างโรงแยกก๊าซ ตลอดจนการตั้งนิคมอุตสาหกรรมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาและสิ่งแวดล้อมทั้งอาจเกิดมลภาวะในบริเวณใกล้เคียงของชุมชนช่วงอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยที่รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลทีละส่วนในการพัฒนาโดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา แสดงถึงการไม่จริงใจต่อชุมชน  เพราะชุมชนอาจได้รับผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เช่น การเลี้ยงนกเขาซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่ควบคู่กับวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนมาเป็นเวลายาวนาน การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลที่ลงนามร่วมลงนามกับประเทศมาเลเซียประเทศร่วมโครงการท่อก๊าซโดยปราศจากการศึกษาและวิจัยผลกระทบต่างๆต่อชุมชนบริเวณที่ท่อก๊าซลากผ่านอย่างถ่องแท้และไม่คำนึงผลกระทบในระยะยาวในเรื่องพลังงานสำรองของประเทศในอนาคต

     แม้ว่าประชาชนจะออกมาต่อต้านในโครงการดังกล่าวเพราะกระทบต่อสิทธิชุมชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ตามมาตรา 46,56และมาตรา 59ที่เป็นสิทธิแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชนและรัฐบาลต้องรับฟังความคิดเห็นก่อนการดำเนินการตามโครงการที่มีผลกระทบต่อตัวของประชาชนโดยตรงทั้งรัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆตลอดจนทำความเข้าใจต่อชุมชนอย่างจริงใจ นอกจากนี้เมื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นแล้วรัฐบาลต้องนำจุดอ่อน-จุดแข็งไปพิจารณาแก้ไขและหาจุดร่วมกับประชาชนในท้องถิ่นอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งตามมาดังกรณีปัญหาดังกล่าว

     อย่างไรก็ตามสิทธิชุมชนเป็นเรื่องที่คนที่รวมตัวเป็นชุมชนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีต วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนตามกฎหมายบัญญัติ(หลักตามม.46) เป็นสิทธิ  การเลี้ยงนกเขาที่มีเสียงอันไพเราะต้องอยู่ในบริเวณธรรมชาติและอยู่ในระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ จึงเป็นสิทธิชุมชน โดยเป็นวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการอนุรักษ์จากในชุมชนและรัฐบาล   ดังนั้นการที่รัฐบาลมุ่งแต่ความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชน แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆ แต่ก็มีสิทธิและมีเสียงเท่ากับบริเวณอื่นของประเทศซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมฝ่ายผลิตสินค้าส่งออก  เพราะอะไรหรือ? ก็เพราะว่าชุมชนเลี้ยงนกเขามีความสำคัญในทางด้านวัฒนธรรมซึ่งประเมินค่าไม่ได้ทางเศรษฐกิจและเป็นดัชนีชี้วัดระบบนิเวศน์ในบริเวณภาคใต้ว่ามีความสมบูรณ์เพียงใด  เพราะฉะนั้นแล้วการพัฒนาควรเป็นไปควบคู่กับสิทธิชุมชน

วิธีการแก้ปัญหาการพัฒนาของรัฐซึ่งขาดการพิจารณาปัจจัยทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างรอบคอบ  โดยรัฐควรดำเนินนโยบายเชิงป้องก่อนจะเกิดปัญหาขัดแย้งกับชุมชนโดย   

    1.รัฐบาลควรสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนการดำเนินการอันกระทบต่อสิทธิของเขาก่อนว่าเขาพร้อมที่จะให้เข้าไปพัฒนาในเรื่องนี้ได้หรือไม่ เพียงใด และหาจุดร่วมกันในการพัฒนา

    2. รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการนำเสนอนโยบายที่เศรษฐกิจโดยชี้แจงข้อดีข้อเสียของโครงการหรือกิจกรรมใดต่อชุมชนอย่างชัดเจน

     3.รัฐบาลต้องรับฟังขอเสนอแนะจากชุมชนจากการทำประชาพิจารณ์อย่างแท้จริงเพื่อนำมาประกอบการวางมาตรการทั้งส่งเสริมและคุ้มครองทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับสิทธิชุมชนให้สมความต้องการของทั้งสองฝ่ายมากที่สุด

     4.รัฐบาลต้องศึกษาวางแผนก่อนการดำเนินโครงการว่ามีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่มากน้อยเพียงใด ไม่ใช่คำนึงถึงแต่การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว

     ถ้ารัฐบาลสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ในเบื้องต้นย่อมเกิดการพัฒนาอันยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับความพอใจสูงสุดของประชาชนผู้อาศัยในประเทศโดยเฉพาะชุมชนอย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 37483เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2006 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
บทความของหนูมีอะไรต้องแก้ไขไหมคะอาจารย์ช่วยเสนอแนะด้วยค่ะ...จะได้จัดกระบวนการคิดที่ดีขึ้น

อยากถามว่า อะไรคือเป้าหมายของงานเขียนชิ้นนี้ ??

ตั้งชื่องานเขียนนี้ซิคะ อย่าเขียนว่า "การบ้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศครั้งที่ 3" ไม่ต้องบอก ก็ทราบแล้วค่ะ

ตอนนี้ กำลังสอนให้วางแนวคิดพื้นฐานในแต่ละเรื่อง กำหนดบ่อเกิดของกฎหมายในแต่ละเรื่อง ซึ่งก็พบในงานของคุณค่ะ

ใช้ได้ค่ะ ดีด้วย

เป้าหมายของงานเขียนชิ้นนี้เพื่อยกให้เห็นถึงปัญหาของการพัฒนา(Development)โดยไม่คำนึงความต้องการของชุมชนซึ่งเขาก็มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการที่จะเลือกให้รัฐซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในเชิงพัฒนาให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิทธิชุมชน

กล่าวคือแม้ว่านโยบายในการพัฒนาวางท่อก๊าซจะเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศแต่เราลืมหลักประชาธิปไตยข้อหนึ่งไปแล้วคือต้องเคารพเสียงข้างน้อยด้วย ตัวอย่างของท่อก๊าซเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ที่เคยเป็นเป็นหามาแล้วที่เห็นชัดๆ คือ กรณีการทำฝายที่ราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ  เป็นต้น

และที่สำคัญคือมาตรการใดล่ะจะมาแก้ปัญหา?

ตอบได้อย่างมั่นใจว่ากฎหมายที่มีอยู่ต้องนำมาใช้อย่างจริงจังและหายังขาดกฎหมายในส่วนใด ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องเร่งมือในการบัญญัติกฎหมายมาอุดช่องว่างไว้มิให้คนหัวใสมีเล่ห์เหลี่ยมเข้ามาใช้ช่องว่างเป็นเครื่องมือกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเองบนหลังของคนยากคนจน

คำพูดที่ว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ผลกระทบที่ออกมาทำไม??  ทุกครั้งประชาชนไทยไม่มีสิทธิเลือกเลย

สำหรับตัวดิฉันเองแล้วคิดว่า คำว่า"เศรษฐกิจพอเพียง"ตามแนวพระราชดำริของในหลวงน่าจะเหมาะกับบ้านเรามากกว่า ทำให้พออยู่พอกิน มีเหลือก็ส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ เพราะบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรม มิใช่อุตสาหกรรมอย่างตะวันตกเขา เนื่องจากเรายังต้องพึ่งพอเครื่องจักรจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ทำไมเราไม่พัฒนาทางด้านการเกษตรของเราให้เจริญก้าวหน้าดังที่ในหลวงทรงได้ทำเป็นแนวทางเอาไว้แล้ว?

สรุปได้ว่างานเขียนชิ้นนี้ต้องการเป็นสื่อให้เห็นว่าการพัฒนานั้นจะพิจารณาแต่เฉพาะผลผลิตทางด้านมูลค่าแต่เพียงอย่างเดียวหาได้ไม่ ต้องพิจารณาถึงสิทธิชุมชนที่เขามีอยู่ด้วยว่าการพัฒนานั้นจะไปขัดกับวิถีชีวิตของชาวบ้านหรือไม่ และกฎหมายใดเป็นพื้นฐานที่ให้การสนับสนุนแนวคิด และมีกฎหมายใดเขามาคุ้มครองสิทธิชุมชนแล้วหรือยัง ถ้าไม่มีเราจะแก้ปัญหาได้อย่างไรเพื่อให้การพัฒนานี้เป็นไปอย่างยั่งยืนและไม่กระทบกับการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมชุมชน

 

แก้ไขตามคำแนะนำแล้วค่ะอาจารย์แหวว 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท