ภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารการศึกษาต่อประสิทธผลในกระบวนการบริหารการศึกษา:กรณีศึกษาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จังหวัดสงขลา


งานวิจัยความเป็นภาวะผู้นำของผู้บริหาร

 

ภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารการศึกษาต่อประสิทธิผลในกระบวนการบริหารการศึกษา: กรณีศึกษาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ  จังหวัดสงขลา 

                                                                                                        เพ็ญศรี  พิทักษ์ธรรม (2549)

                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะความเป็นผู้นำในด้านคุณลักษณะเฉพาะของผู้นำ และพฤติกรรมความเป็นผู้นำต่อประสิทธิผลในกระบวนการบริหารการศึกษาของผู้บริหารการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ในจังหวัดสงขลา โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารการศึกษา อันประกอบด้วย คณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี หัวหน้าภาค  หรือผู้อำนวยการโครงการ และอาจารย์สายวิชาการ จากตัวอย่าง 296 คน จำแนกเป็นผู้บริหาร 50 คน และอาจารย์สายวิชาการ 246 คน เป็นหญิงร้อยละ 54.1 อายุระหว่าง 31-40 ปี ร้อยละ 38.5 วุฒิการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาโท ร้อยละ 74.0 ประสบการณ์ทำงานต่ำกว่า 10 ปี ร้อยละ 41.6 มีประสบการณ์ในระดับอุดมศึกษาต่ำกว่า 10 ปี ร้อยละ 59.5 เคยมีประสบการณ์ฝึกอบรม ศึกษา ดูงานด้านการบริหาร ร้อยละ 57.8 ตัวอย่าง 1 ใน 3 ของตัวอย่างเคยดำรงตำแหน่งคณบดี รองคณบดี และผู้ช่วยคณบดี

                ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มอาจารย์มีความเห็นว่าผู้บริหารการศึกษามีคุณลักษณะทางกายและสังคม คุณลักษณะทางบุคลิกภาพ และคุณลักษณะทางทักษะโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับดี  เช่นเดียวกันในกลุ่มผู้บริหารแต่ค่าเฉลี่ยของคะแนนต่ำกว่ากลุ่มอาจารย์    ทั้งผู้บริหารและอาจารย์มีความเห็นว่าพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารการศึกษามีลักษณะแบบอำนาจบารมี  แบบเน้นความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน แบบเน้นการมีส่วนร่วม  และแบบนักพัฒนาในระดับมาก  ยกเว้นพฤติกรรมการบริหารงานแบบเน้นการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งผู้บริหาร และอาจารย์เห็นว่าอยู่ในระดับปานกลาง  สำหรับประสิทธิผลในกระบวนการบริหารการศึกษาในภาพรวมแล้ว ผู้บริหาร และอาจารย์มีความคิดเห็นว่าอยู่ในระดับปานกลาง โดยที่คะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นในกลุ่มอาจารย์ต่ำกว่ากลุ่มผู้บริหารในทุกด้านของกระบวนการบริหารการศึกษา  และเมื่อวิเคราะห์เส้นทางเพื่อศึกษาภาวะความเป็นผู้นำต่อประสิทธิผลกระบวนการบริหารการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีผลทางตรง คือ พฤติกรรมพฤติกรรมความเป็นผู้นำแบบเน้นการกำกับดูแล  พฤติกรรมความเป็นผู้นำแบบเน้นความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน  และพฤติกรรมความเป็นผู้นำแบบเน้นการมีส่วนร่วม ปัจจัยที่มีผลทางตรงและทางอ้อม คือ คุณลักษณะทางทักษะ และปัจจัยที่มีผลทางอ้อม คือ คุณลักษณะทางกายและสังคม และคุณลักษณะทางบุคลิกภาพ  ข้อเสนอแนะคือ การส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้บริหารการศึกษามีองค์ประกอบคุณลักษณะทางทักษะ และบริหารงานแบบเน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้นำมีความสามารถและทักษะในกระบวนการบริหารการศึกษาเพิ่มขึ้น 

หมายเลขบันทึก: 373971เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท