การศึกษากับสังคมไทยในรอบ 30 ปี


การศึกษากับสังคมไทยในรอบ 30 ปี

การศึกษากับสังคมไทยในรอบ  30  ปี

 

                ถ้าพูดถึง “การศึกษากับสังคมไทยในรอบ 30 ปี” ผมจะแยกเป็น  2  ประเด็น  คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคการศึกษา และการศึกษากับสังคมไทย  โดยมี  7 หัวข้อ

  1. การปฏิรูปการศึกษา

ในรอบ  30  ปีที่ผ่านมา มีความพยายามปฏิรูปการศึกษา  2  ครั้งคือในปี 2517  และปี 2540 ถึงแม้จะพยายามปฏิรูปใหม่ แต่สิ่งที่เห็นในขณะนี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการปฏิรูปการศึกษาในปี 2517  นั่นคือความล้มเหลว

ทำไมการปฏิรูปการศึกษาในสังคมไทยจึงล้มเหลว ผมคิดว่าจะปฏิรูปการศึกษาสำเร็จได้ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขที่สำคัญอย่างน้อย  3  ประการ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ไม่ปรากฏในการปฏิรูปทั้งสองครั้งที่ผ่านมา

เงื่อนไขที่ 1  การปฏิรูปการศึกษาต้องมีฉันทมติว่าด้วยคำถามและคำตอบพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิรูป ซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมส่วนรวม จะปฏิรูปอะไร อย่างไร เพื่อใคร  นี่คือคำถามพื้นฐานของการปฏิรูปซึ่งคำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เมื่อไม่มีคำตอบ  การผลักดันกระบวนการปฏิรูปจึงยากมาก

เงื่อนไขที่ 2 การปฏิรูปการศึกษาจะต้องมีพลังของการปฏิรูป สิ่งที่เห็นในปี 2517 และ ปี 2540  คือสังคมไทยยังขาดพลังนี้  ต่างจากการปฏิรูปการเมืองซึ่งเกิดผลผลิตคือ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะดีหรือเลวอย่างไร  แต่มันมีพลังเพราะมีเป้าหมายชัดเจนว่าไม่ต้องการให้กลุ่มยียาธิปไตยยึดอำนาจรัฐเนื่องจากสังคมไทยถูกครอบงำโดยกลุ่มยี้ การเมืองเป็นระบบยียาธิปไตยอันเป็นระบบการปกครองของพวกยี้ โดยพวกยี้ และเพื่อพวกยี้ เป้าหมายที่ชัดเจนนี้ทำให้การปฏิรูปการเมืองปี 2540  ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ตรงข้ามกับการปฏิรูปการศึกษาซึ่งขาดพลัง

เงือนไขที่ 3  การปฏิรูปการศึกษายังต้องการ Institutional Design ที่ดี ระดับการศึกษาจะต้องมีการออกแบบเชิงสถาบันที่เหมาะสม เรื่องนี้ถ้าไม่มี Optimal Institutional Design ก็อยากจะปฏิรูปสำเร็จ

ถ้ายังไม่มีฉันทมติว่าเราจะปฏิรูปอะไร  ปฏิรูปอย่างไร ปฏิรูปเพื่อใคร รวมถึงไร้พลังการปฏิรูป ตลอดจนขาดการออกแบบเชิงสถาบันที่เหมาะสมที่จะผลักดันกระบวนการปฏิรูปแล้ว  การปฏิรูปการศึกษาจะไม่มีวันสำเร็จ

  1. ปรัชญาการศึกษา

ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมายังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกด้านคือ การเปลี่ยนแปลงปรัชญาการศึกษา โดยปรัชญาการศึกษาในฐานะสาขาวิชามีความด้อยพัฒนามากในสังคมไทย ขณะที่ปรัชญาการศึกษาในระบบราชการก็แทบไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงว่า จะจัดการศึกษาอะไร จะจัดการศึกษาอย่างไร และจะจัดการศึกษาเพื่อใคร  แต่การเติบโตของการศึกษาทางเลือกในภาคประชาชนได้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของปรัชญาการศึกษา การศึกษาทางเลือกได้เสนอคำถามและคำตอบพื้นฐานของการศึกษาที่แตกต่างจากปรัชญาการศึกษาทางการ

สังคมไทยใน 30 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงปรัชญาการศึกษาที่สำคัญอย่างน้อย 3 กระแส คือ ปรัชญาการศึกษาทางการ  ปรัชญาการศึกษาตลาด  และปรัชญาการศึกษาทางเลือก

ปรัชญาการศึกษาทางการสามารถศึกษาได้จากความคิดของบรรดาเทคโนแครตด้านการศึกษา  และแนวความคิดพื้นฐานที่อยู่ในข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในปี 2517 และปี 2540  รวมถึงสิ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับปี 2517 และปี 2540

คงจำได้ว่า หลังเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 มีการชูปรัชญาการศึกษาเพื่อมวลชน อย่างน้อยนี่เป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่าจะปฏิรูปการศึกษาเพื่อใคร คำตอบหลังตุลาคม 2516 คือจะปฏิรูปการศึกษาเพื่อมวลชน แต่ปรัชญาการศึกษาเพื่อมวลชนถูกชูขึ้นท่ามกลางกระแสโลกที่ Keynesian Consensus  หรือ ฉันทมติว่าด้วยเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์กำลังเสื่อมอิทธิพล คือหลังเกิด Oil Shock ในปี 2516-2517  ฉันทมติว่าด้วยเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ซึ่งเป็นกระวนทัศน์สำคัญที่ครอบงำการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจโลก  แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองก็ถุงจุดเสื่อมถอย และอาจมรณกรรมในปีนั้น

การเน้นบทบาทรัฐในการจัดการศึกษาปรากฏชัดเจน  ทั้งในข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาปี 2517 และปี  2540  ต่างเพียงว่าข้อเสนอปี 2540 ยอมรับบทบาทของภาคประชาชนในการจัดการศึกษาแบบผิวเผิน เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517  และปี  2540  ก็ปรากฏบทบาทรัฐในการจัดการศึกษาอย่างชัดเจน  โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540  ยอมรับบทบาทของประชาชนและชุมชนค่อนข้างผิวเผินเช่นกัน สรุปคือปรัชญาการศึกษาทางการได้รับอิทธิพลจาก Keynesian Consensus อย่างชัดเจน

ควบคู่กับปรัชญาการศึกษาทางการคือปรัชญาการศึกษาตลาด ขณะที่ปรัชญาการศึกษาทางการได้รับอิทธิพลจาก Keynesian Consensus แต่ปรัชญาการศึกษาตลาดกับได้รับอิทธิพลจาก Washington  Consensus นี่เป็นความแตกต่างสำคัญในช่วง  10  ปีที่ผ่านมา ปรัชญาการศึกษาตลาดมีส่วนเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าภาคการศึกษาไทยมากอย่างไม่อาจปฏิเสธไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ปรัชญาการศึกษาตลาดเติบโตและแผ่ขยายอิทธิพลตามการเติบโตของระบบทุนนิยมและ Academic Capitalism  รวมถึงกระแสสากลานุวัตร

ท่ามกลางกระแสของปรัชญาการศึกษาทางการและปรัชญาการศึกษาตลาด  ปรัชญาการศึกษาทางเลือกก่อเกิดจากปฏิกิริยาที่มีต่อปรัชญาการศึกษาทั้งสอง ปรัชญาการศึกษาทางเลือกมีคำถามและคำตอบพื้นฐานในการจัดการศึกษาแตกต่างจากปรัชญาการศึกษาทางการและปรัชญาการศึกษาตลาด  ทั้งในเรื่องจะจัดการศึกษาอะไร จะจัดการศึกษาอย่างไร และจะจัดการศึกษาเพื่อใคร เท่าที่เข้า เป้าหมายสูงสุดของปรัชญาการศึกษาทางเลือกต้องการให้มนุษย์มีอิสระและเสรีภาพ

  1. การเติบโตของระบบทุนนิยมวิชาการ

การเติบโตของระบบทุนนิยมวิชาการ หรือ  Academic Capitalism เกิดขึ้นจากกระบวนการแปรสรรพสิ่งให้เป็นสินค้า  ซึ่งกระบวนนี้ทำให้ การศึกษา  งานวิจัยและการให้คำปรึกษากลายเป็นสินค้า  สิ่งเหล่านี้คือสาเหตุพื้นฐานของการก่อเกิดและเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนระบบทุนนิยมวิชาการ

                Marketization เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ  การผลิตบริการการศึกษาเพื่อขายปรากฏอย่างมากในระดับอุดมศึกษา  แต่ในระดับการศึกษาที่ต่ำลงมาจะมีน้อยกว่า  กระบวนการผลิตบริการอุดมศึกษาเพื่อขายเป็นกระบวนการที่เร่งเร้าการเติบโตของระบบทุนนิยมวิชาการ

และท้ายสุดคือ McDonaldization หรือกระบวนการแมคโดนัลดานุวั้ตร ผมอาจใช้ศัพท์ไม่ตรงตามหลักบาลี แต่สมัยนี้บาลีสันสกฤตไม่สำคัญแล้วในโลกอินเทอร์เน็ต  กระบวนการเมคโดนัลดานุวัตรคือการให้บริการแบบแดกด่วย  โดยเวลานี้สถาบันอุดมศึกษาไทยทั้งของรัฐและเอกชนต่างให้บริการแบบนี้  เป็นบริการอุดมศึกษาที่มีลักษณะ  Fast Education

                ทั้ง Academic Capitalism, Marketization  และ  McDonaldization มีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นการเติบโตของระบบทุนนิยมวิชาการในสังคมไทย  ผมคิดว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก เพราะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนตุลาคมปี  2516  เราพูดไม่ได้เลยว่าขณะนั้นระบบการศึกษาไทยมีลักษณะ  Academic Capitalism  แต่ตอนนี้ปี 2546  เราพูดได้ค่อนข้างชัดเจนว่าระบบทุนนิยมวิชาการดำรงอยู่  และมีพลวัตการเติบโตที่สูงยิ่ง

                สังคมไทยสามารถหลีกเลี่ยงระบบทุนนิยมวิชาการได้หรือไม่  ผมไม่คิดว่าสังคมไทยซึ่งเลือกเส้นทางการพัฒนาแบบทุนนิยม และเดินตาม Washington Consensus  จะหลีกเลี่ยงการเดินไปสู่ระบบทุนนิยมวิชาการได้

                การเติบโตของระบบทุนนิยมวิชาการส่งผลกระทบสำคัญต่อคนจนในระบบการศึกษา  เมื่อบริการการศึกษาเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายในตลาด คนที่จะบริโภคบริการการศึกษาได้คือคนที่มีอำนาจซื้อ ส่วนคนที่ไม่มีอำนาจซื้อก็ไม่สามารถบริโภคได้ สภาพการที่เป็นอยู่นี้ส่งผลกระทบต่อการกระจายรายได้อย่างชัดเจน  นอกจากนี้ระบบทุนนิยมวิชาการยังทำให้การเปิดรับกระแสสากลานุวัตรของการศึกษามีมากกว่าปกติ

  1. หน่วยงานวางแผนการศึกษา

ประเด็นสำคัญที่ผมอยากเสนอในหัวข้อที่ 4 คือ การมรณกรรมของหน่วยเสนาธิการการศึกษา ในยุคปฏิวัติของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์  สิ่งที่สฤษดิ์นำมาใช้ในระบบราชการคือการก่อตั้งหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เสนาธิการในด้านต่างๆ ไม่ว่าสภาพัฒน์  สำนักงบประมาณ  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  ต่อมาก็มีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  สภาการศึกษา ก.พ.  หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่ว่างแผน เสริมกำลังพลในระบบราชการ  เป็นต้น

                ช่วงเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา หน่วยราชการซึ่งทำหน้าที่เสนาธิการต่างมีอันเป็นไป บางกระทรวงจึงใช้วิธีการจัดตั้งสถาบันขึ้นใหม่ อย่างสถาบันนโยบายเศรษฐกิจการคลังก็แยกออกจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังซึ่งเวลานี้หมดศักยภาพในการนำเสนอนโยบายการเงิน การคลัง

                ด้านการศึกษา สภาการศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติคือหน่วยเสนาธิการ  ส่วนทบวงมหาวิทยาลัยและกระทรวงศึกษาธิการต่างก็มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับนโยบายเช่นกัน ช่วงแรกหน่วยงานเหล่านี้ได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศทำให้มี่พลวัติและศักยภาพชี้นำนโยบายการศึกษาในบางเรื่องได้ แต่หลังตุลาคม 2516 เราได้เห็นการเสื่อมถอยของหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่วิจัยศึกษาและกำหนดนโยบายการศึกษา  กระทั่งเวลานี้ก็ยังไรทางออกและไม่มีการปรับตัว

                ผมเชื่อว่าความเสื่อมถอยของภาคการศึกษาในสังคมไทย  ส่วนหนึ่งเกิดจากความด้อยพัฒนาของหน่วยเสนาธิการ จริงอยู่ที่ความด้อยพัฒนาของภาคการศึกษาส่วนหนึ่งเกิดจากสมาชิกในภาคการศึกษาเอง  แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีการวิจัยศึกษาเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาที่ชี้ปัญหาของภาคการศึกษาและเสนอวิธีแก้ ดังนั้น สิ่งที่เราได้เห็นในวาระครบรอบ 30 ปี ตุลาคม 2516  ก็คือการมรณกรรมของหน่วยเสนาธิการการศึกษา

                น่าเศร้ามากที่ยังไม่มีความพยายามแก้ปัญหานี้ ขณะที่หน่วยราชการอื่นพยายามแก้ปัญหาด้วยการดึงองค์กรที่ทำหน้าที่เสนอนโยบายออกจากระบบราชการ

                30 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความเสื่อมถอยของเทคโนแครตด้านการศึกษาโดยความเสื่อมถอยที่สำคัญก็คือการละเลยความสนใจเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านนโยบาย  ผมคิดว่ามันถึงจุดอับตันแล้ว  เวลานี้สภาการศึกษาให้ความสนใจกับงานประชาสัมพันธ์มากกว่าการวิจัยด้านนโยบาย การสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ผมไม่หวังว่าในระบบราชการจะมีใครมาชี้นำด้านนโยบายการศึกษาในอนาคตได้

  1. Education Governance

ผมคิดว่าการบริหารจัดการระบบการศึกษายังไม่เป็นไปตามหลักธรรมภิบาล (Good Governance) ขาดความโปร่งใส (Transparency) ขาดการมีส่วนร่วม (Participation) และขาดความรับผิดชอบ (Accountability)

หลักธรรมาภิบาลไม่ปรากฏในข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาปี 2517  แต่ปรากฏบ้างในข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาปี 2540 ธรรมาภิบาลไม่ใช่การร่างกฎหมาย  แต่เป็นวัฒนธรรม ถ้าหน่วยงานที่ข้องเกี่ยวกับการศึกษาไม่มีวัฒนธรรมธรรมาภิบาล มันก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

ธรรมาภิบาลเป็น Public Good ถ้าธรรมาภิบาลเกิดขึ้น สมาชิกของสังคมไทยทุกคนจะได้ประโยชน์จากธรรมภิบาลด้วยกัน  แต่ใครจะรับภาระต้นทุนในการผลักดันให้มันเกิดขึ้น  เมื่อประโยชน์ที่ได้จากธรรมภิบาลไม่ใช่ประโยชน์ในลักษณะ Private Benefit ของคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ การสถาปนาธรรมาภิบาลในระบบการศึกษาเป็นเรื่องยาก ยิ่งระดับการศึกษาสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น  ไม่ใช่แค่ธรรมาภิบาล แต่ระบบการศึกษายังมีปัญหาด้าน Efficiency

  1. Education Finance

ด้านระบบการคลังเพื่อการศึกษาหรือ Education Finance ในรอบ  30 ปีที่ผ่านมายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ กล่าวคือเป็นระบบการคลังที่เน้น Supply-side Financing  มากกว่า  Demand-side  financing โดยรัฐจะจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้โรงงานที่ผลิตบริการการศึกษาเช่น  โรงเรียน  มหาวิทยาลัย  มากกว่าจัดสรรเงินให้ผู้เรียน  แล้วให้เขาเลือกโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเอง

ระบบการคลังซึ่งเน้น Supply-side  financing  ขาดกลไกขับเคลื่อนประสิทธิภาพในการผลิตบริการการศึกษา เพราะโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยเพียงแต่แบมือของบประมาณแผ่นดิน  โดยไม่มีกลไกกดดันให้หน่วยงานที่ผลิตบริการการศึกษาเหล่านี้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต  และเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ที่สำคัญคือ ระบบ Supply-Side Financing ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีเสรีภาพในการเลือก

สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งของระบบการคลังเพื่อการศึกษาใน 30 ปีที่ผ่านมาคือความเชื่อว่า นโยบายค่าเล่าเรียนอัตราต่ำเป็น Optimal Policy ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ผู้บริหารนโยบายการศึกษา และสังคมไทยโดยทั่วไปเชื่อว่านโยบายค่าเล่าเรียนอัตราต่ำคือนโยบายในระดับอุตมภาพที่เหมาะสม  โดยไม่ดูข้อเท็จจริงว่าใครได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ เราโดนล้างสมองอย่างผิดๆ ว่ามันคือนโยบายที่ให้ประโยชน์กับคนจน  แต่ถามว่ามีคนจนกี่คนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาที่ยึดอยู่กับนโยบายค่าเล่าเรียนอัตราต่ำทำให้คนจนถูกคัดออกตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและไม่มีทางเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

ผมคิดว่ามนตราหรือคาถาที่ว่านโยบายค่าเล่าเรียนอัตราต่ำเป็นนโยบายที่ดีเลิศยังฝังตัวในสังคมไทย ถ้าไม่ลบล้างมนตรานี้ เราก็ไม่มีทางจะปฏิรูประบบการคลังเพื่อการศึกษาได้เป็นธรรมขึ้นได้ สิ่งที่คนจนต้องการคือทุนการศึกษาไม่ใช่ค่าเล่าเรียนอัตราต่ำ แต่รัฐบาลก็ยังไม่จัดระบบให้ทุนการศึกษากับคนจน

ในระบบการศึกษาปัจจุบันผมคิดว่ารัฐควรจัดสรรทรัพยากรแผ่นดินให้ Target Group เพียง 2 กลุ่ม คือ คนจนกับคนเก่ง สองกลุ่มนี้เท่านั้นที่มีเหตุผลให้รัฐจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา ส่วนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมต้องรับภาระต้นทุนการศึกษาเอง

ระบบการคลังเพื่อการศึกษาในปัจจุบัน ผู้เรียนระดับบัณฑิตศึกษา และโครงการพิเศษต้องรับภาระตาม Average Operating cost แต่ผู้เรียนระดับต่ำลงมาสังคมต้องรับภาระตามสัดส่วนต่างๆ ระบบที่เป็นอยู่จึงไม่ได้ทำให้ตลาดการศึกษากลายเป็นตลาดที่แท้จริง

จริงอยู่ Academic Capitalism กำลังเติบโตในสังคมไทย ส่วน Marketization และ McDonaldization ก็กำลังเติบโตอย่างมากในระดับอุดมศึกษาของรัฐ แต่สิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ได้นำไปสู่ตลาดการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดอุดมศึกษาให้กลายเป็นตลาดครึ่งๆ กลางๆ ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า  Quasi-Market

กล่าวคือการจัดการศึกษาแบบบัณฑิตศึกษาและการศึกษาโครงการพิเศษมหาวิทยาลัยของรัฐจะเก็บค่าเล่าเรียนเต็มตามต้นทุนการผลิต รายได้จาการเก็บค่าเล่าเรียน มีเศษส่วนคือผู้บริหารและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่การศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยยังแบบมือของบประมาณแผ่นดิน ซึ่งในโครงการที่มหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนเต็มตามต้นทุนการผลิตไม่สามารถแยกแยะได้ว่าไม่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแผ่นดิน ดังนั้น การศึกษาจึงมีลักษณะตลาดครึ่งๆ กลางๆ โดยวิธีที่จะขจัดลักษณะ  Quasi-Market และทำให้ตลาดได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่คือ ก.พ. ต้องเลิกรับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยของรัฐ

  1. กระแสสากลานุวัตรของการศึกษา

กระแสสากลานุวัตรของการศึกษาเกิดขึ้นพร้อมยุทธศาสตร์การพัฒนา เมื่อรับไทยเลือกเดินบนเส้นทางยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด ซึ่งเริ่มต้นในยุคสฤษดิ์  ธนะรัชต์  แต่อาจมีช่วงเบี่ยงเบนบ้าง เช่น ระหว่างปี 2515 ถึง 2519 ทว่าโดยหลักๆแล้ว สังคมเศรษฐกิจไทยเดินไปบนเส้นทางยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด และเปิดมาขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลชาติชาย  ชุณหะวัณ  เป็นต้นมา

                เราจะพบว่าชนชั้นสูงเปิดรับกระแสสากลานุวัตรของการศึกษา โดยชนชั้นต่ำไม่คัดค้านขัดขวาง ซึ่งในอนาคตกระแสสากลนานุวัตรของการศึกษาจะมีมากขึ้น  เนื่องจาก  General Agreement on Trade in Services  ของ WTO  กำลังกลายเป็นระเบียบการค้าใหม่ของโลก GATS ภายใต้  WTO  จะทำให้กระแสสากลานุวัตรถาโถมสู่สังคมไทยมากว่าเดิม ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นกระแสที่เราจำเป็นต้องสนใจศึกษา

 

บทความของ  รังสรรค์  ธนพรพันธุ์  จาก  OCTOBER 3  ชื่อหนังสือ ROBERTS

 

 

หมายเลขบันทึก: 373855เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับอาจารย์ ผมสุรศักดิ์ จันทะนาม นักศึกษา ป.โท รุ่นที่ 2 ขอเยี่ยมชมผลงานของอาจารย์ครับ และลองใช้ planet ของอาจารย์

วันนี้มาเยี่ยมเยียนผลงาน

ดีครับ..ความรู้เน้นๆ.... พัฒนาการ หรือพัฒนาคลาน..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท