Entry journal 2


Entry Journal 2

กราบเรียน อาจารย์ ดร. ประเสริฐ  มงคล ที่เคารพอย่างสูง

               

                สัปดาห์นี้รู้สึกเหนื่อยกับการเรียน และการทำงานมาก ๆ แต่ก็ยังรู้สึกสุขใจที่สัปดาห์นี้มีพิธีไหว้ครู(17มิ.ย.53) ที่โรงเรียนที่หนูทำงานอยู่ขณะนี้ (ร.ร.สาธิตเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน) เนื่องจากได้มีโอกาสพบกับศิษย์เก่า ซึ่งมีทั้งเพิ่งจบชั้น ม.6 ไปเมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา และปีการศึกษาก่อนหน้านี้อีกหลายรุ่น  บางคนไม่มีเรียนในวันไหว้ครู แต่บางคนก็ไม่เข้าเรียนในวันดังกล่าว (โดดเรียน)  รู้สึกสุขใจอย่างบอกไม่ถูกที่ได้เห็นเขาแต่งตัวนักศึกษาจะเป็นสถาบันไหนก็ตาม ซึ่งในวันนี้หนูถือโอกาสไหว้ครูที่โรงเรียนนี้ด้วยเลย เพราะมีความคิดว่าเราได้มีโอกาสในการเรียนรู้เรื่องการทำงานในโรงเรียนแห่งนี้จากท่านผู้ซึ่งเป็นผู้อาวุโสของโรงเรียน  และถือโอกาสที่ปีการศึกษานี้หนูได้มาเรียนหนังสืออีกครั้ง พรที่ได้รับจากท่านเหล่านั้นก็พร้อมจะน้อมนำมาปฏิบัติ และรู้สึกมีกำลังใจในการศึกษาต่อไปอย่างมาก 

                สัปดาห์นี้นอนดึกทุกวัน ซึ่งบางวันก็ไม่ได้นอนด้วยซ้ำ เพราะทำงานไม่ทันทั้งงานที่โรงเรียน และการบ้านซึ่งต้องค้นคว้า เพื่อให้มีความรู้เพียงพอในการเรียนในสัปดาห์ต่อไป วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้านอนเลย (01:20น.) แต่ก็รู้สึกง่วงบ้างแล้ว ก่อนเข้านอนเลยเปิดอ่านเรื่อง “การนอนกรน”   แอบนึกในใจว่าถ้านอนดึกหลาย ๆ คืน   จะทำให้นอนกรนหรือไม่ พออ่านไปได้สัก2-3บรรทัด พบว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนี้

……..นอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ  มีผลอย่างไรต่อสุขภาพ?
ผู้ที่มีอาการนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย จะมีการลดระดับลงของระดับออกซิเจนในเลือด เมื่อถึงจุดหนึ่งร่างกายก็จะป้องกันตนเอง ไม่ให้ขาดออกซิเจนไปมากกว่านี้ ด้วยการปลุกให้ตนเองตื่น ช่วงของการตื่น มักเป็นเวลาสั้นมาก ซึ่งผู้ที่กรนและมีหยุดหายใจจะไม่ทราบ แต่คนรอบข้างอาจสังเกตเห็นว่ามีการหยุดหายใจ  ตามมาด้วยอาการสะดุ้งเฮือกหรือสำลักน้ำลาย   การถูกปลุกให้ตื่นด้วยตนเองนี้ นำมาสู่การนอนที่ไม่มีคุณภาพ มีระยะเวลาของการหลับลึกที่ไม่มากพอ ทำให้ผู้ที่มีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับ มีอาการตื่นมาตอนเช้าไม่แจ่มใส และมีอาการง่วงนอนมากกว่าปกติในตอนกลางวัน  แม้ว่าจะนอนจำนวนชั่วโมงเพียงพอแล้ว (หากนอนไม่พอ หรืออดนอน จะมีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา) ยกตัวอย่างเช่น นั่งสัปหงก หรือหลับในที่ประชุมโดยไม่ตั้งใจ  หลับขณะรถติดไฟแดงขณะที่เป็นคนขับรถเอง อาการง่วงนอนมากกว่าปกตินี้ หากเกิดในคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือขับรถทางไกล อาจนำมาซึ่งการเกิดอุบัติเหตุได้
นอกจากปัญหาเรื่องง่วงนอนมากกว่าปกติแล้ว หากปล่อยให้เกิดการขาดออกซิจนในช่วงนอนหลับ ทุกๆ คืน เป็นระยะเวลานานๆ หลายปีติดต่อกัน อาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อ 3 ระบบที่สำคัญคือ
สมอง  และระบบประสาท การขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ทำเกิดความจำแย่ลง สมาธิแย่ลง การตัดสินใจแย่ลง รวมทั้งอารมณ์แย่ลงก่อนวัยอันควร (อาการเหล่านี้ เป็นมากขึ้นอยู่แล้ว เมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจจะเป็นมากกว่าปกติ อาจสังเกตได้โดยการเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน)  หัวใจ การมีออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจน้อยลง ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดในตอนกลางคืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว หรือมีความดันโลหิตสูง โคเลสเตอรอลในเลือดสูง เป็นต้น  ผลต่อหลอดเลือด ขณะที่ภาวะขาดออกซิเจน จะมีผลทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกาย เกิดอาการตีบตัว อันนำมาสู่โรคความดันโลหิตสูงได้
ผลต่อสุขภาพที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาข้ามคืน แต่จะมีผลต่อสุขภาพ ถ้าปล่อยให้เกิดทุกๆคืนต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเป็นปีๆ ซึ่งอาจทำให้บางคน ไม่ตระหนักถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้น และไม่ได้ทำการรักษาให้เหมาะสม จะนำมาซึ่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้  

นอนกรน เกิดจากอะไร??  อ่านมาถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงความรู้เดิมเมื่อตอนที่เรียนวิชาชีววิทยาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ซึ่งนึกได้ว่าความรู้เรื่องนี้ถูกส่งคืนอาจารย์ผู้สอนไปนานมากแล้ว  จึงตัดสินใจอ่านต่อ เพื่อจะได้ทราบคำตอบในคืนนี้เลย  โดยมีคำอธิบายดังนี้…..ปกติแล้วเวลาเราหายใจ ไม่ว่าหลับหรือตื่น ลมหายใจจะวิ่งผ่านจมูก เข้าสู่ช่องจมูก ลำคอหลังโพรงจมูก ลำคอ ผ่านกล่องเสียง และเข้าสู่ปอด หากลมหายใจวิ่งได้ราบรื่นดีตามทางเดินปกติ ก็จะไม่มีเสียงใดๆ เกิดขึ้น แต่หากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจไม่ว่าระดับใดก็ตาม ทำให้ลมที่วิ่งไปตามทางเดินปกติ มีไม่มากพอ ร่างกายก็จะตอบสนองด้วยการอ้าปากหายใจร่วมด้วย เมื่อลมวิ่งเข้าไป 2 ทาง ทั้งทางปากและทางจมูก ก็จะไปปะทะกันบริเวณลำคอ เกิดเป็นลมหมุน ทำให้ผนังลำคอ รวมทั้งลิ้นไก่และเพดานอ่อนสั่น เกิดเป็นเสียงกรน   หากการอุดกั้นทางเดินหายใจ เกิดขึ้นเพียงบางส่วน ร่างกายยังได้รับอากาศเข้าไปอย่างสม่ำเสมอ ก็จะไม่มีปัญหากับสุขภาพ  มีเพียงเสียงกรนที่ดังรบกวนคนรอบข้างเท่านั้น แต่หากขณะนอนหลับ ทางเดินหายใจอุดกั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอุดตันจนหมด ทำให้อากาศทั้งจากทางปากและจากทางจมูก ไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ เกิดภาวะที่เราเรียกว่า หยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) เมื่อหยุดหายใจ ทำให้ระดับออกซิเจนในกระแสเลือดลดต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อต่ำถึงระดับหนึ่ง ร่างกายก็จะมีกลไกในการป้องกันตนเอง ไม่ให้ออกซิเจนลดต่ำไปมากกว่านี้ ด้วยการปลุกให้ตัวเองตื่นขึ้น และกลับมาหายใจใหม่ การตื่นในลักษณะนี้ มักเป็นการตื่นในระยะเวลาสั้นๆ และผู้ที่หลับมักจะจำไม่ได้ว่าตื่น แต่คนรอบข้างมักจะสังเกตเห็นว่า ผู้ที่นอนมีการกรนมาระยะหนึ่ง แล้วนิ่งเงียบหายไป หลังจากนั้นจะมีอาการสะดุ้งเฮือกหรือสำลักน้ำลาย แล้วจึงกลับมากรนใหม่

นอนกรนอย่างไร จึงเป็นปัญหา??  เราสามารถแบ่งการนอนกรน ตามความรุนแรง เป็น 2 ระดับ คือ กรนอย่างเดียว และกรนแบบมีหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย  จากสถิติในผู้ที่มีปัญหานอนกรน พบว่า 70%  จะเป็นปัญหาระดับกรนอย่างเดียว อีก 30% จะเป็นกรนแบบมีหยุดหายใจร่วมด้วย พวกที่เป็นปัญหากรนอย่างเดียว จะไม่มีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการกรน จะทำการรักษาหรือไม่ก็ได้ หากทำการรักษา จะทำเพื่อลดเสียงกรนให้ลดลง เพื่อลดความรำคาญกับผู้คนรอบข้างเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ควรจะคอยติดตามอาการของตนเอง เนื่องจากสามารถพัฒนาไปสู่  กรนแบบมีหยุดหายใจร่วมด้วยได้  กลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ คือกลุ่มที่มีการกรนและหยุดหายใจร่วมด้วย เนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ หากทิ้งไว้ให้เกิดขึ้นทุกวัน ในระยะเวลานานๆ  คนกลุ่มนี้ ควรจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสม  แพทย์ได้พยายามอธิบายถึงสาเหตุของการนอนกรน รวมทั้งผลต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา ตามสื่อต่างๆ ทำให้คนไทย ตระหนักถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนกรนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อสงสัยว่า นอนกรนทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจริงหรือ ถ้าเช่นนั้น ปู่ย่าตายาย หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ของเราที่นอนกรนมานาน ทำไมจึงไม่มีปัญหาใดๆ………
…………..การจะตอบคำถามนี้ จะต้องเข้าใจว่า การนอนกรนเป็นเพียง ‘อาการแสดง’ อย่างหนึ่งซึ่งมีสาเหตุมาจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งถ้าหากเป็นการอุดกั้นแค่บางส่วน ร่างกายยังได้รับอากาศเข้าไป ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพแต่อย่างใด แต่ในบางคน การอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอุดจนหมด ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘หยุดหายใจขณะนอนหลับ’ เกิดขึ้นร่วมด้วย ซึ่งถ้าหากปล่อยให้ภาวะนี้เกิดขึ้นทุกคืนเป็นระยะเวลานานเป็นปี ก็จะ   ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา   มีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ได้ทำการศึกษาอัตราการรอดชีวิตของคนที่นอนกรน เปรียบเทียบกับคนปกติ พบว่า ในคนกลุ่มที่มีอาการนอนกรน อัตราการรอดชีวิตลดลงประมาณครึ่งหนึ่งในเวลาประมาณ 5 ปี ซึ่งทำให้แพทย์หันมาสนใจศึกษาและแก้ไขปัญหานอนกรนกันมากขึ้น

จากเรื่องราวที่ได้อ่านก่อนเข้านอนนี้  ทำให้รู้สึกว่า  “การนอนกรน” ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป    และทำให้นึกถึงตอนที่พานักเรียนไปค่ายวิทยาศาสตร์เป็นเวลา 2 คืน3วัน   ทั้งนักเรียน และอาจารย์ที่นอนหลับอยู่ใกล้ ๆ  นอนกรนกันเกือบทุกคน บางคนกรนเสียงดังมากจนทำให้คนที่นอนอยู่ข้าง ๆนอนไม่หลับ  และเขาไม่รู้ตัวเองว่านอนกรนตั้งแต่เมื่อไหร่  และนานแค่ไหน  พอได้มีโอกาสพูดคุยกันเรื่องนี้ในวันรุ่งขึ้น  เขาก็จะรู้สึกอาย และคอยระมัดระวังในการนอนมากขึ้นในคืนต่อไป เนื่องจากเกรงใจที่ตัวเองทำความเดือดร้อนให้คนอื่น…..และจากเนื้อเรื่องตามรายละเอียดที่อ่านมา  ทั้งหมดข้างต้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน  อย่างน้อยจะได้เป็นข้อมูลที่นำไปเล่าสู่กันฟังกับเพื่อน พี่  น้อง เมื่อมีโอกาส     สำหรับการอ่านรายละเอียดส่วนท้ายของเรื่อง “การนอนกรน”พบว่ามีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ เกี่ยวกับอัตราการรอดชีวิตของคนที่นอนกรน  ทำให้รู้สึกว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่  เนื่องจากเป็นเพียงการกล่าวถึงผลการวิจัยอย่างกว้าง ๆ ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของงานวิจัย   แต่ก็รู้สึกได้ว่าการดูแลสุขภาพในการนอนของตัวเองและบุคคลในครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ  หากระบบใดระบบหนึ่งในร่างกายมีความบกพร่อง  ก็อาจจะทำให้การทำงานของระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีความบกพร่องไปด้วยเช่นกัน โดยอาจจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความแข็งแรงของร่างกายแต่ละคน ดังนั้นเรื่องของปัญหาสุขภาพกายไม่ควรละเลย  หากป้องกันได้

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

รุจิราพร  รามศิริ

53253908  หลักสูตรและการนิเทศ

 

คำสำคัญ (Tags): #entry journal 2
หมายเลขบันทึก: 373630เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2010 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท