กศน.เข้าไปเรียนรู้และเป็นเครื่องมือเรียนรู้ให้ชาวบ้านได้มากน้อยแค่ไหน


  • ตามหลักการ กศน.มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้ชาวบ้านได้ทุกเรื่อง แต่ความเป็นจริง จะเป็นอย่างที่ว่าหรือไม่ อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ ถ้าเป็นจริงก็เยี่ยมมากเลยครับ
  • ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียน เพราะ อ.ภีม ภคเมธาวี แห่ง มวล. เจ้าภาพงานมหกรรมจัดการความรู้ "สถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน" ซึ่งจัดไปเมื่อ 30 มิ.ย.- 2 ก.ค.49 ที่โรงแรมกรีนเวิลด์พาเลส จังหวัดสงขลา ที่เพิ่งผ่านมา ขอร้องให้ผมช่วย AAR หน่อย
  • ผมสนใจที่จะ AAR ในมุมของครูนอกโรงเรียน ประเด็น AAR ของผมคือ กศน.หน่วยงานนี้ได้เข้าไปเป็นเครื่องมือให้กับโครงการวิจัยนี้ ไม่ว่าในฐานะคุณอำนวยนำกระบวนการ หรือคุณเอื้อที่ทำหน้าที่หนุนเสริม ได้มากน้อยแค่ไหน
  • ผมประทับใจมากกับการนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน 5 พื้นที่จังหวัด (ลำปาง ตราด สมุทรปราการ สงขลา และนครศรีธรรมราช) ที่ตัวแทนแต่ะละพื้นที่นำเสนอว่า กศน.ได้เข้าไปเป็นเครื่องมือให้กับทีมวิจัยได้เป็นอย่างดี ที่ลำปางนั้น กศน.ลงไปคลุกคลี และมีตัวแทนเข้าร่วมงานมหกรรมครั้งนี้ด้วยสมุทรปราการ นครศรีธรรมราช สงขลา ไม่ได้เข้าร่วมงานมหกรรมด้วย แต่ได้ยินบ่อยครั้งจากตัวแทนพื้นที่วิจัยที่นำเสนอว่า ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จาก กศน. แต่ที่ไม่ได้ยินเลยคือตราด (ไม่ทราบว่าไม่ได้ไปร่วมเลยหรือย่างไร หรือลืมพูดไป อย่างไรเสียทีมตราดช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยนะครับ) และโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสงขลา ในฐานะเจ้าบ้าน ผมเห็น ผอ.กศน.อำเภอจะนะ ที่ทำงานใกล้ชิดกับสัจจะวันละบาทตำบลนำขาว คือ ผอ.อรัญ และทีมงาน จัดมโนราห์มาร่วมงานปาร์ตี้คืนวันที่ 1 ก.ค.49  อีกทั้งรับส่งคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีต ผอ.ธอส.ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่ไปร่วมงานนี้ ทั้งรับส่งไปออกอากาศรายวิทยุชุมชน คลื่นของจะนะ (จำไม่ได้ว่าคลื่นอะไร) ซึ่งเป็นรายการสด และไปติดต่อที่ต่างๆ เรียกว่า ผอ.ท่านนี้เหนื่อยมากในฐานะเจ้าบ้าน สิ่งนี้ผมว่าผมได้เห็นการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการวิจัยอย่างคาดไมถึง เช่นเดียวกับการเข้าไปมีส่วนร่วม ของ กศน.อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช กับภาคีเครือข่ายอื่นๆอีก 8 องค์กร บูรณาการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อกลางปีงบประมาณ 2548 เห็นได้ถึงทิศทางการทำงานของ กศน.ว่าตอบสนองการเรียนรู้ได้ในทุกเนื้อหา
  • ส่วนในระดับโยบายนั้น ผมก็ได้ฟังบรรยายของผู้ว่าสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่พูดว่าท่านก็ได้ใช้ กศน.เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสัจจะลดรายจ่ายวันละบาทร่วมกับหน่วยงานอื่นของจังหวัดสงขลา เช่นเดียวกับ คุณสันติ อุทัยพันธุ์ ผอ.สทบ. ที่กล่าวว่า กศน.ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ สทบ.ออกแบบไว้ว่าให้มาร่วมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของกองทุนหมู่บ้าน นับว่าเป็นเรื่องที่หยิบใช้หน่วยงานนี้ได้อย่างเหมาะสม แต่เมื่อฟังท่านสันติพูดต่อไปถึงตอนที่ว่า กศน.ไม่มีงบขับเคลื่อนกิจกรรมนี้ เพราะเมื่อ กศน.ตั้งงบประมาณไป กลับไม่ได้รับการอนุมัติ หรือได้น้อยมาก แต่ก็นับว่าดี ที่เห็นความสำคัญของหน่วยงาน กศน.ว่าจะทำประโยชน์อะไรได้ ผมนึกถึงคำกล่าวของผู้ว่าวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรรมราช ที่พูดว่า "...ทุกหน่วยงานเป็นของชุมชน มิใช่ชุมชนจะเป็นของหน่วยงาน ชาวบ้านจะหยิบใช้หน่วยงานใดไปใช้ประโยชน์ในเรื่องใดก็สามารถทำได้ ชาวบ้านและภาคราชการ หรือหน่วยงานต่างๆจะต้องมีการเรียนรู้ และมีจิตสาธารณะร่วมกันในการทำงาน...." นับว่าสอดคล้องกันมากทีเดียว เมื่อพิจารณาถึงบทบาทการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ชาวบ้านแล้ว ท่านจึงมอบหมายให้ กศน.นครศรีธรรมราช เป็นหน่วยงานเลขานุการโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร ประมาณนี้ครับ สิ่งนี้ผมคิดว่าจะทำให้ระดับนโยบายที่คาดหวังต่อ กศน.ให้ กศน.เป็นเครื่องมือของสังคมของชาวบ้านชัดมากขึ้น ทำให้ผมเชื่อมโยงความคิดของผู้กำหนดนโยบายได้มากขึ้นครับ
  • สำหรับเนื้อหาเรียนรู้เรื่องสัจจะวันละบาทก็ดีหรือเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเงินชุมชน เพียงแต่ใช้เงินเป็นเครื่องมือการพัฒนาคนไปสู่สังคมดีมีสุข นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เช่น สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท เพื่อนำไปทำสวัสดิการภาคประชาชน 9 อย่าง เป็นต้น แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมอันเป็นเป้าหมายสูงสุด คือสังคมดีมีสุข เช่น คนดีที่สามารถลดรายจ่ายจากอบายมุขได้ แล้วเขากลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ยังไม่เห็นมีการนำเสนอเท่าใด หากมีรูปธรรมให้เห็นก็จะยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของสัจจะลดรายจ่ายวันละบาทมากขึ้น ผมอยากเสนอให้ระยะต่อไปของการทำงานที่ต่อเนื่องจากงานวิจัยเน้นประเด็นนี้ด้วย คล้ายศึกษาบุคคลเป็นรายกรณีศึกษาครับ เก็บร่องรอยหลักฐานไว้ ว่าเขาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้จริง มีองค์ความรู้เรื่องนี้จริง สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท จากอบายมุข ถ้าคนหนึ่งทำได้ และมีร่องรอยหลักฐานการทำ บันทึกความรู้ ภาพถ่าย คำสัมภาษณ์ ข้อคิดเห็น คำบอกเล่าจากคนข้างเคียง ว่าคนที่สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท เปลี่ยนแปลงตนเองขึ้น เป็นอย่างไร จะมีสีสัน และเป็นรูปธรรมมากขึ้น เรื่องนี้ยังสะท้อนภาพให้เห็นน้อยมากในการประชุมเสวนานี้ อาจจะไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการประชุมนี้ก็ได้ ซึ่งผมได้ฝากประเด็นนี้ไว้กับที่ประชุมแล้ว ผมจึงอยากเห็น  อ.ภีม หยิบยกเรื่องนี้เป็นประเด็นสืบเนื่องในการเสวนาครั้งต่อไป ให้หน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย User จำพวกสถาบันการศึกษา ทั้งในและนอกโรงเรียน ได้รับรององค์ความรู้เหล่านี้เพื่อสิทธิและประโยชน์บางอย่างของสมาชิกของทั้ง 5 พื้นที่ครับ
  • กิจกรรมเรื่องเล่าเร้าพลังของอาจารย์  กิจกรรมการเรียนรู้นี้มีประโยชน์มาก ผมได้นำมาปรับใช้แล้วในเวทีเรียนรู้ของคุณกิจครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการแก้จนเมืองนครระดับหมู่บ้าน ใช้ได้ดีมากครับ
  • นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่า กศน.พยายามเป็นเครื่องมือของสังคม ชุมชน ตามหลักการ อุดมการณ์ครับ


ความเห็น (2)
  • ขอบพระคุณสำหรับบันทึกตัวอย่างการทำงานของ กศน.
  • ขอนำบางประเด็นไปใช้ต่อนะครับ

อันที่จริงแล้วในประเด็นที่ อ.จำนง เสนอมานั้น ณ ปัจจุบัน ทีมสงขลาได้ดำเนินการแล้วนะคะ เก็บตัวอย่าง เก็บภาพ บทสัมภาษณ์ บันทึกไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ในเวทีที่ผ่านมาไม่ได้นำเสนอ และคาดว่าคงจะออกมาในรูปแบบของรายงานฉบับสมบูรณ์คะ...เมื่อเอกสารฉบับสมบูรณ์พร้อมจะเผยแพร่เมื่อใด อย่าลืมติตามกันนะคะ

ขอบคุณ อ.จำนงนะคะที่ทำ AAR ให้ได้อ่านกันคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท