คิดอย่างไรในวิถีเกษตรแบบยั่งยืน 2


' การพัฒนาการเกษตรตามแนวทางของเกษตรยั่งยืนนั้นก่อนที่จะมีการกำหนดวิธีการปฏิบัติผู้พูดจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ฟังก่อนว่าเรากำลังพูดกันในระดับใดของสภาพทรัพยากร เศรษฐกิจและสภาพสังคมของเกษตรกร  

กล่าวคือถ้าเป็นในระดับไร่นาหรือตัวเกษตรกร โดยเฉพาะที่ยังยากจน อยู่ในเขตที่ความเจริญทางเศรษฐกิจยังเข้าไม่ถึง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังด้อยโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งปัจจุบันมีสภาพขัดสน แนวทางเกษตรยั่งยืนขั้นพื้นฐานหรือขั้นประถม ก็จะต้องมุ่งเน้นกระบวนการผลิตจากการไม่พอมีพอกิน ให้เขาเข้ามาอยู่ในฐานะที่พอมีพอกินเสียก่อน

แนวทางเกษตรกรรมควรจะยึดหลักการที่ใกล้เคียงธรรมชาติให้มากที่สุด

กล่าวคือ มีการปลูกพืชแบบผสมผสานเพื่อให้มีความหลากหลายของชนิดพืชและสัตว์ที่เกื้อกูลกันของกิจกรรมการผลิตอย่างต่อเนื่องแบบครบวงจรให้อยู่ในที่เดียวกัน  

ผลผลิตที่ได้จากความหลากหลายของชนิดพืชและสัตว์จะทำให้เกษตรกรมีปัจจัยในการดำรงชีพได้อย่างอุดมสมบูรณ์สมควรแก่อัตภาพ โดยไม่ต้องใช้เงินสดในการซื้อหามา ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภค ก็นำไปขายและแลกเปลี่ยนเป็นเงินเป็นรายได้ของครอบครัว  

ระบบนี้จะหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีด้านปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช พันธุ์พืชปรับปรุง เพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายและเพิ่มความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจและตลาด อีกทั้งยังเสี่ยงยังอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตหากมีการใช้อย่างพร่ำเพรื่อและไม่ถูกต้องโดยขาดความรู้ทางวิชาการ  

ภายใต้สภาพและเงื่อนไขข้างต้น ผู้ที่ส่งเสริมแนวความคิด เทคโนโลยีประเภท เช่น การทำฟาร์มแบบธรรมชาติที่เน้นอินทรีย์ ( organic farming) การทำฟาร์มแบบผสมผสาน (integrated farming) และวนเกษตรกรรม ( agroforestry) กระบวนการผลิตในแนวทางเหล่านี้จะมุ่งเน้นความพอเพียงเพื่อการบริโภคของตนเอง หรือเฉพาะประชากรในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนที่เหลือจากการผลิตจึงจำหน่ายสู่การบริโภคของประชาชนนอกภาคเกษตรกรรม เพื่อเป็นรายได้เพิ่มพูนให้กับตนเองและนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ภายใต้ระบบการเกษตรกรรมธรรมชาติ หรือเกษตรผสมผสานดังกล่าวนี้อาจต้องมีเงื่อนไขที่จะต้องนำบทบาทของศาสนาเข้ามาในการอบรมสั่งสอนให้ละเว้นความเห็นแก่ตัวและความโลภของตนและสร้างความมีสำนึกเกี่ยวกับผลกระทบของการทำลายธรรมชาติต่อความอยู่รอดปลอดภัยของตนเองและลูกหลานด้วย  

ส่วนการพัฒนาการเกษตรตามแนวทางของการเกษตรยั่งยืนในระดับก้าวหน้าหรือชั้นมัธยม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เทคโนโลยีร่วมด้วยนั้น จะเหมาะสำหรับการนำมาใช้ภายใต้สภาพและเงื่อนไขที่เกษตรกรปัจจุบันอยู่ในฐานะที่พอมีพอกินแล้วที่ต้องพัฒนาและที่ต้องขวนขวายต่อไปให้อยู่ในฐานะกินดีอยู่ดี ซึ่งเป็นระดับเศรษฐกิจพอเพียงและมั่งมีศรีสุขในที่สุด ซึ่งเป็นเศรษฐกิจก้าวหน้า

ดังนั้น มิติการมองการเกษตรยั่งยืนจึงต้องมองในระดับสังคมที่กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ระดับฟาร์มหรือตัวเกษตรกรแต่ประการเดียว แต่สูงขึ้นเป็นระดับประเทศชาติ การเกษตรยั่งยืนในมิตินี้ผู้บริหารประเทศจำต้องคำนึงถึงปริมาณของอาหารที่เพียงพอในการเลี้ยงประชากรของประเทศทั้งที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม อีกทั้งยังต้องผลิตเพื่อจำหน่าย นำรายได้เข้าประเทศเพื่อพัฒนาด้านต่างๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพียงการอยู่รอดได้ของเกษตรกรรายหนึ่งๆ ตามแนวทางของเกษตรกรรมธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์จึงยังไม่อาจเพียงพอที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศและป้องกันประเทศให้พ้นจากการถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบทางด้านเศรษฐกิจจากประเทศที่เจริญและก้าวหน้ากว่าได้

เกษตรยั่งยืนในเงื่อนไขนี้ จึงจำเป็นต้องดำเนินไปในแนวทางการเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตเพียงพอกับความต้องการบริโภคของประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการผลิตที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ และลดมลภาวะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น การใช้พันธุ์พืชปรับปรุง การใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเกษตรกรยั่งยืน'

 

จากบทความ 

แนวคิดเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ กับการเป็นเกษตรยั่งยืน

โดย มติชน วัน เสาร์ ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2550 04:18 น.

โดย สรสิทธิ์ วัชโรทยาน

 

ที่มา : http://www.ssnm.agr.ku.ac.th/main/Ac_News/Natural%20agricultrire.htm

 

     เห็นด้วยกับแนวความคิดที่ว่าต้องมีการให้ความรู้และพัฒนาเกษตรกรก่อนที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาสู่การปฏิบัติทางการเกษตรแบบยั่งยืน  เนื่องจากสังคมไทยในปัจจุบัน อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ให้รายได้น้อยและโดยส่วนใหญ่เกษตรกรอยู่ในฐานะที่ยังไม่พอมีพอกิน ดังนั้นลักษณะการทำการเกษตรของเกษตรกรไทยโดยส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นที่การผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงที่สุด และนำรายได้เข้าสู่ครัวเรือนให้ได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าจะต้องมีความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมี การเขตกรรม หรือการใช้เทคโนโลยีอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม  การพัฒนาและกำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อให้การเกษตรเข้าสู่ระบบเกษตรยั่งยืน จึงควรคำนึงถึงตัวเกษตรกรเป็นหลัก และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ว่ามิติการมองเกษตรยั่งยืนคงต้องมองในระดับสังคมที่กว้างขึ้น เพราะหลักการปฏิบัติทางการเกษตรเพื่อที่จะรักษาสมดุลทางธรรมชาติคิดว่าไม่อาจที่จะควบคุมได้ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มจำนวนของประชากร ทำให้ในบางครั้งการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรก็มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่เป็นที่ต้องการและเพียงพอในการดำรงชีพของมนุษย์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เกษตรยั่งยืน
หมายเลขบันทึก: 372970เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2010 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

You said "ดังนั้น การใช้พันธุ์พืชปรับปรุง การใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเกษตรกรยั่งยืน'"

BUT some NGO against that การใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ did not fit into Sustainable Agric.

They refused all non-natural practice.

regards,

zxc555

อาจจะต้องให้การอธิบายมากกว่านี้เพราะคำว่าเหมาะสมเป็นคำที่เหมือนว่าแต่ทุกคนสามารถตีความได้มากมาย ความเหมาะสมของแต่ละบุคคลค่อนข้างจะต่างกันอยู่นะคะ อาจต้องลงลึกถึงพืชที่ปลูก ดินในแต่ละพื้นที่ สภาพแวดล้อมที่ปลูกโดยรวม เช่นถ้าพื้นที่เราอยู่โดดๆก็อาจไม่จำเป็นเลยก็ได้ แต่รอบข้างเราปลูกพืชแบบเดียวกันและเขาฉีดยามากมายถ้าเราไม่ทำบ้างเหมือนเขาหรือทำน้อยกว่าโรค และแมลงก็จะมาอยู่ที่เรา ถ้าเราต้องการผลผลิตเราก็จำเป็นต้องทำนะคะ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็อาจเป็นเหตุผลจำเป็นได้หรือไม่???คะ

Kratan 2010

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท