การต่อสู้เพื่อชนชั้นล่างและการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา


 

 

          ดร.อัมเบดการ์ ถือกำเนิดมาเป็นจัณฑาล จึงได้รับการดูถูกเหยียดหยามและเผชิญกับความทุกข์ยากมากมาย  ถึงกระนั้นท่านก็ยังกระเสือกกระสนจนได้เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ณ ที่โรงเรียนแห่งนั้นเอง อัมเบดการ์ถูกเพื่อนนักเรียนและครูต่างวรรณะปฏิบัติต่อท่านด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์  ตลอดจนถูกทำร้ายเสมอ บ่อยครั้งเหลือเกินที่ท่านไม่มีสิทธิ์จะได้ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะร่วมกับเด็กวรรณะอื่น ๆ

       ในวันหนึ่งขณะที่ครูประจำชั้นเรียกเด็กชายภิม(ชื่อเดิมของ ดร.อัมเบดการ์) ออกไปทำเลขคณิตบนกระดานดำหน้าชั้น  ในบัดดลนั้นเองก็มีเสียงอื้ออึงขึ้นทั้งชั้นเรียน  สาเหตุก็คือพวกเด็กฮินดูวรรณะสูง  ต่างตะโกนร้องคัดค้านไม่ให้เด็กชายภิมไปสัมผัสกระดานดำ  เพราะจะทำให้กล่องอาหารกลางวันของพวกเขาที่วางไว้หลังกระดานดำแปดเปื้อนมลทิน  เด็กชายภิมต้องรอให้เด็กพวกนั้นย้ายกล่องอาหารออกจากบริเวณนั้นก่อน จึงสามารถเข้าไปทำเลขคณิตบนกระดานดำหน้าชั้นเรียนได้

       ต่อมาเมื่อท่านเข้าทำงานราชการหลังจบการศึกษาจากต่างประเทศ ท่านเล่าเพิ่มเติมว่า "ขณะที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่ในสำนักงานของท่านสมุห์บัญชีใหญ่เมืองบาโรด้านั้น  เอกสารต่าง ๆ ถูกโยนใส่ข้าพเจ้าแทนการจับส่งให้   พรมปูพื้นตรงหน้าโต๊ะทำงานของข้าพเจ้าถูกม้วนกลับ  เพื่อกันมิให้พวกฮินดูวรรณะสูงต้องมายืนบนพรมแผ่นเดียวกันกับข้าพเจ้า"

        ระหว่างทำงาน ดร.อัมเบดการ์ไม่สามารถหาบ้านเช่าอยู่อาศัยได้เพราะชาวฮินดูไม่ยอมให้คนจัณฑาลเช่าซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อตนเอง  ท่านจึงได้ไปขอเช่าห้องพักของพวกแขกปาร์ซีพื้นเมือง  พอเพื่อนบ้านแถวนั้นรู้ว่าท่านเป็นจัณฑาลก็พากันมาขับไล่และทุบตีด้วยท่อนไม้  จนท่านต้องปลอมตัวหลบหนีจากเมืองบาโรด้าไปได้อย่างหวุดหวิด

 

เริ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

     จากเหตุการณ์ดังกล่าว ท่านรู้สึกเจ็บปวด สะท้อนหวั่นไหวในห้วงลึกของจิตใจ  ท่านจึงได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณแน่วแน่ที่จะช่วยปลดปล่อยพี่น้องจัณฑาลจำนวนนับหลายล้านคนจากความเป็นทาสทางสังคมแห่งชนชั้นให้ได้

     การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวจัณฑาลสู่เสรีภาพครั้งสำคัญเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2470  ณ เมืองมหัท รัฐมหาราษฏร์  เรื่องก็คือ เทศบาลเมืองมหัทได้ปฎิบัติตามมติของรัฐสภาเมืองบอมเบย์โดยออกคำสั่งให้คนทุกวรรณะสามารถเข้าไปใช้น้ำในสระสาธารณะเมืองโชว์ดาร์  แต่คนฮินดูวรรณะสูงไม่ยอมรับคำสั่งนั้น  ดร.อัมเบดการ์ตัดสินใจประกาศปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของคนจัณฑาล  โดยยืนยันให้พวกจัณฑาลเข้าไปใช้น้ำในสระนั้นได้อย่างเสรี

    ในวันที่ 20 มีนาคม 2470  ตัวแทนของพวกจัณฑาลก็เริ่มตั้งขบวนเดินออกจากที่ประชุมมุ่งหน้าสู่สระโชว์ดาร์ เพื่อยืนยันสิทธิอันชอบธรรมดังกล่าว  ดร.อัมเบดการ์ออกเดินนำหน้าอาสาสมัครราว 10,000 คน  เดินแถวเรียงสี่ผ่านถนนหลายสายในเมืองมหัทด้วยความสงบเรียบร้อย  แล้วมาหยุดที่สระโชว์ดาร์  จากนั้น ดร.อัมเบดการ์ หัวหน้าชาวจัณฑาลได้ยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของผู้ทุกเข็ญโดยการแสดงการดื่มนำจากสระนั้น  บริวารทั้ง 10,000 คน ก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับท่าน  นี้เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของอินเดียที่ชนถูกตราบาปว่า "จัณฑาล"  ได้แสดงความกล้าหาญในการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตน 

    ในขณะเดียวกัน พวกฮินดูวรรณะอื่นก็ปล่อยข่าวว่า ดร.อัมเบดการ์และบริวารกำลังวางแผนบุกวัดวีเรศวรที่ศักดิ์สิทธิ์  พวกฮินดูคลั่งศาสนาที่เพิ่งล้มเหลวจากการกีดกันพวกจัณฑาลไม่ให้ใช้น้ำในสระโชว์ดาร์  ก็พากันรุดไปที่ชุมนุมของพวกจัณฑาลซึ่งส่วนใหญ่ได้ทยอยกลับเกือบหมดแล้ว  พวกฮินดูบ้าคลั่งเหล่านั้นได้ทุบตีทำร้ายร่างกายจัณฑาลกลุ่มที่เหลือรวมทั้งเด็กและสตรีอย่างไร้ความปราณี  เหตุการณ์ไม่หยุดอยู่แค่นั้น พวกฮินดูวรรณะสูงได้นัดกันมาทำพิธีชำระล้างมลทินของสระโชว์ดาร์  และกดดันให้เทศบาลเมืองมหัททบทวนมติไม่อนุญาตุให้คนวรรณะต่ำใช้น้ำในสระโชว์ดาร์

    กลุ่มคนจัณฑาลนำโดย ดร.อัมเบดการ์ ได้รวมตัวกันมาประชุมทำพิธีสัตยาเคราะห์เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของพวกตนอีกครั้ง  ในวันที่ 25 ธันวาคม 2570  โดยเรียกการประชุมครั้งนั้นว่า "การก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งความเสมอภาคกัน"  ในที่ประชุมได้เสนอแนวความคิดในการแก้ปัญหาหลายเรื่อง เพื่อยกสถานภาพของชนชั้นล่างทั้งทางการศึกษา ศาสนา การเมืองและการปกครอง  นอกจากนั้นในที่ประชุมได้พูดถึงคัมภีร์ของศาสนาฮินดูที่ชื่อว่า "มนูสมฤติ"  ซึ่งสนับสนุนการแบ่งชั้นวรรณะและมีบางตอนอนุญาตให้ฮินดูวรรณะสูงลงโทษศูทรและจัณฑาลที่แอบเรียนพระเวทหรือแอบฟังการสาธยายพระเวทอย่างรุนแรง  ดังนั้นที่ประชุมจึงได้ทำพิธีเผาคัมภีร์มนูสัมฤติ

    การต่อสู้รุนแรงยิ่งขึ้น  เมื่อวันที่ 2-9 มีนาคม 2472  ได้มีพิธีแห่รูปเคารพของพระรามที่วัดกลาราม เมืองนาสิก รัฐมหาราษฎร์  พวกจัณฑาลที่เคยเข้าร่วมพิธีสัตยาเคราะห์บางคนได้เดินเฉียดเข้าไปใกล้รูปเคารพนั้น  พวกฮินดูวรรณะอื่นเหลือบมาเห็นก็พากันเดือดดาลเอาท่อนไม้และก้อนหินทุบตีขว้างปาใส่แบบใม่ยั้งมือ  กลุ่มจัณฑาลมือเปล่ารวมทั้ง ดร.อัมเบดการ์ต่างก็ได้รับบาดเจ็บไปตาม ๆ กัน

กระบวนการของการเปลี่ยนศาสนา

    ท่าน ดร.อัมเบดการ์ มองเห็นแล้วว่า ภายใต้กรอบของศาสนาฮินดูไม่มีทางที่คนวรรณะต่ำจะยกสถานภาพของตัวเองได้เลย  เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการต่อไปในอนาคต  ท่านได้เรียกประชุมใหญ่ ณ ตำบล เยียลา ในเดือนตุลาคมปีถัดมา  โดยท่านได้กล่าวปราศรัยให้เห็นถึงความผิดพลาดของศาสนาฮินดู  แล้วสรุปว่า

     "ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องตัดสินใจ  มันจะไม่ดีกว่าหรือหากพวกเราละทิ้งศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่นที่จะให้สถานภาพทางสังคมที่เท่าเทียมกัน  มีฐานะที่มั่นคงปลอดภัยและปฏิบัติต่อพวกเราอย่างเป็นธรรม"

   ในปี พ.ศ. 2478 ดร.อัมเบดการ์ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และได้ประกาศความตั้งใจที่จะละทิ้งศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่น  ตัวแทนของศาสนาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นอิสลาม ซิกข์ และ คริสต์  ต่างพยายามเกลี้ยกล่อมให้ท่านเลือกเข้ารีดศาสนาของตน  พวกเขาได้เสนอเงินทองก้อนใหญ่และความสะดวกสบายอื่น ๆ แก่ ดร.อัมเบดการ์และบริวาร  แต่สุดท้ายท่าน ดร.อัมเบดการ์ได้ปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดอย่างนุ่มนวล

 

ดร.อัมเบดการ์กับพระพุทธศาสนา

     ดร.อัมเบดการ์รู้จักและสนใจพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อเรียนจบมัธยมศึกษา  มีการจัดงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จ  ในงานนั้น ท่านกฤษณชิ อรชุน เกลุสการ์  นักเขียนนวนิยายภาษามาระฐีและนักสังคมสงเคราะห์ได้มอบหนังสือภาษามาระฐีชื่อ "พุทธจริต" แต่งโดยท่านอัศวโฆษเป็นของขวัญ  หนังสือเล่มนี้ได้ปลุกศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าให้เกิดขึ้นแก่เด็กหนุ่มอัมเบดการ์เป็นอย่างมาก

     เมื่อ ดร.อัมเบดการ์และบริวารได้ประกาศละทิ้งศาสนาฮินดูในการประชุมที่เยียลา ปี 2478  พระโลกนาถ  พระมหาเถระชาวอิตาลีผู้จาริกจากประเทศไทยเข้าสู่พม่าและอินเดียได้เข้าไปพบกับ ดร.อัมเบดการ์หลายครั้ง ณ ห้องสมุดส่วนตัวของท่าน  ที่เมือง บอมเบย์  พระโลกนาถช่วยให้ ดร.อัมเบดการ์มั่นใจยิ่งขึ้นว่า  พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่เหมาะสมที่สุด  ต่อมา ดร.อัมเบดการ์กับพระโลกนาถได้ติดต่อกันทางจดหมาย  และถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือในเวลาต่อมา ชื่อว่า "พระพุทธศาสนาให้อิสรภาพแก่ท่าน (Buddhism Will Make You Free)" พิมพ์ที่ประเทศศรีลังกา เมื่อปี 2479

    ดร.อัมเบดการ์ ได้พูดเรื่อง "ปรัชญาส่วนตัวของข้าพเจ้า" ทางสถาณีวิทยุ บี.บี.ซี.ว่า

     "ทุกคนควรมีปรัชญาชีวิตสำหรับตนเอง เพราะทุกคนจะต้องมีมาตรฐานเป็นเครื่องมือสำหรับวัดเฉพาะตน  และปรัชญาก็มิใช่อะไรอื่น ที่แท้ก็คือมาตรฐานซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับวัดสิ่งต่าง ๆ นี่เอง

       ข้าพเจ้าขอปฏิเสธปรัชญาทางสังคมของฮินดูตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ภควัทคีตาและเรื่องตรีคุณของปรัชญาสางขยะ ในความคิดของข้าพเจ้าปรัชญาเหล่านี้เป็นทัศนะที่ผิดพลาด เพราะมันก่อให้เกิดการแบ่งชั้นวรรณะและระบบแห่งความไม่เท่าเทียมกัน  เป็นกฏชีวิตทางสังคมของชาวฮินดู

        ปรัชญาทางสังคมของข้าพเจ้าสรุปรวมอยู่ในคำพูดเพียง 3 คำ คือ อิสรภาพ  สมภาพ และภราดรภาพ  ปรัชญาของข้าพเจ้านี้มีศาสนาเป็นฐาน  มิใช่รัฐศาสตร์  ข้าพเจ้าได้ศึกษามาจากคำสั่งสอนของพระบรมครูของข้าพเจ้า คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

 

   วันที่ 14  ตุลาคม พ.ศ.2499 นับเป็นวันแห่งความหลุดพ้นของ ดร.อัมเบ็ดการ์ และบริวารนับล้านคน  ท่านได้ตัดสินใจประกอบพีธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะอย่างเป็นทางการในปีที่รัฐบาลอินเดียจัดพีธีพุทธชยันตี (อินเดียนับ พ.ศ.2500) ที่เมืองนาคปูร์  เหตุที่ ดร.อัมเบดการ์เลือกเอาวันนั้นประกอบพิธีสำคัญนี้ก็เพราะเชื่อว่าเป็นวันมหามงคล  ตรงกับวันวิชยทัศมี  คือวันที่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงกลับพระทัยมาสมาทานนับถือพระพุทธศาสนาและประกาศว่า พระองค์จะเอาชนะประเทศต่าง ๆ และประชาชนด้วยความรักความเมตตาและการเจรจาทางการทูตแทนการใช้แสนยานุภาพทางทหาร  ซึ่งเรียกหลักการนี้ว่า "ธรรมวิชัย"

 

    

หมายเลขบันทึก: 372797เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2010 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพื่อความชัดเจน ผมขออธิบายเสริมเรื่องชนชั้นในสังคมฮินดูนิดหน่อย ศาสนาฮินดูแบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะ คือ

1.กษัตริย์ ได้แก่ นักปกครอง นักการเมือง และข้าราชการ

2. พราหมณ์ ได้แก่ นักบวช นักวิชาการ และครูอาจารย์

3. แพทย์ ได้แก่ พ่อค้า นักธุรกิจ

4. ศูทร ได้แก่ กรรมกร เกษตรกร ชนใช้แรงงาน

ส่วนท่าน ดร.อัมเบดการ์ เกิดในกลุ่มจัณฑาล คนกลุ่มนี้มีสถานภาพต่ำกว่าพวกวรรณะศูทรอีก เป็นชนที่ 2 วรรณะต้นดูถูกเหยียดหยามมาก ขนาดห้ามมีการสัมผัสแตะต้องกัน จัณฑาลจึงถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชนที่แตะต้องไม่ได้ (untouchable person) ภายหลังท่านมหาตมะ คานธี ต้องการแก้ไขความผิดพลาดของฮินดู ท่านจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า หริชน แปลว่า คนของพระเป็นเจ้า

สวัสดีครับ

ทุกวันนี้ที่เมืองนาค์ปูร์ ก็ยังมีพิธีปฏิญานตนเป็นพุทธมามกะของจัณฑาลหลายแสนคน โดยจะมีพระสงฆ์ไทยหลายรูปได้รับเกียรติไปร่วมพิธีทุกปี

การที่คนเปลี่ยนมาเป็นพุทธเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีปัญหาเท่าใดนัก แต่การจะดำรงตนเป็นพุทธที่แท้ เข้าถึงศีล สมาธิและปัญญา ชาวพุทธอินเดียยังขาดผู้ชี้แนะอยู่มาก

มองในแง่ของเมตตาธรรม พระไทยสามารถไปช่วยขี้แนะตรงนี้ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่เรื่องภาษา

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท