อ.ผัก
อาจารย์ พท. ศุภฤกษ์ ภมรรัตนปัญญา

โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย จังหวัดสกลนคร


โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย จังหวัดสกลนคร
โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยแห่งแรก ปฏิรูประบบสุขภาพชุมชน-คนไทย PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ   
วันพุธที่ 05 พฤษภาคม 2553 เวลา 19:05 น.

ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบ เป็นส่วนหนึ่งของภาพอนาคตที่การแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้านจะคู่ขนานกับการ แพทย์แผนปัจจุบันในระบบบริการสุขภาพไทย ซึ่งวันนี้กลายเป็นความจริงแล้วเมื่อวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย สกลนคร โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัด ทั้งพระสงฆ์ มหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมอพื้นบ้าน…

ลึกเข้าไปใน ต.อุ่มจาน อ.นาโพธิ์ จ.สกลนคร ชุมชนซึ่งห่างไกลจากการเข้าถึงของสาธารณสุข คาราวานหมอแผนไทยพื้นบ้านกลุ่มเล็กๆที่ชาวบ้านขนานนามว่า “หมอราษฎร์” กำลังง่วนอยู่กับการรักษาคนไข้ อย่างไม่เห็นแก้เหน็ดเหนื่อย ที่ทำงานของหมอราษฎร์ไม่ใช่ตึกใหญ่แต่เป็นใต้ชายคาศาลาวัด ยาที่แจกจ่ายเป็นเพียงสมุนไพรพื้นบ้านจากตำราโบราณ บ่งบอกนัยยะของงานการรักษาแผนไทยซึ่งอิงกับทรัพยากรท้องถิ่นที่รับใช้ใกล้ชิดวิถีชุมชนมาหลายชั่วอายุคน
หนึ่งแรงแข็งขันของ อ.พิเชษฐ เวชวิฐาน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ร่วมกับสาธาณสุขจังหวัด ชมรมการแพทย์แผนไทย ชมรมหมอพื้นบ้าน ได้นำพาคาราวานหมอพื้นบ้านออกรักษาชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งติดตามร่องรอยภูมิปัญญารักษาแผนไทย หรือพืชสมุนไพรที่ยังหลงเหลือหรือซ่อนเร้นในถิ่นต่างๆ เพื่อเก็บไว้เป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาวิจัยต่อไป

จุดประกายพิทักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย

ตลอดชีวิตการทำงานในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเกี่ยวกับพันธุ์ผักพื้นบ้าน สิ่งที่สะท้อนใจ อ.พิเซษฐ อยู่เสมอคือการได้รู้ว่าพืชผักพื้นบ้านหลายชนิดที่ชาวบ้านกินอยู่ทุกวันนั้น มีคุณค่าเป็นยารักษาโรคได้มากมาย น่าเสียดายที่คนรุ่นกลาง(อายุน้อยกว่า 40 ปี) รู้วิธีกินแต่ไม่รู้คุณค่าทางยา น่าหนักใจกว่านั้นคือคนรุ่นใหม่หรือเด็กๆ(อายุน้อยกว่า 20 ปี) แทบไม่รู้จักผักพื้นบ้าน หรือกินเป็นเพียงไม่กี่อย่าง ประกอบกับเมื่อคนในครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคถุงน้ำที่ใต้ขาพับโป่งบวมขนาดเท่าลูกมะนาว มีอาการปวดมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน ถ้าหากผ่าตัดอาจเดินไม่ได้ตลอดชีวิตเพราะบริเวณขาพับมีเส้นประสาทและเอ็นจำนวนมาก ช่วงนั้นอาจารย์ไปประชุมกับหมอพื้นบ้าน ก็ได้น้ำมันไพรมาทาบรรเทาปวดให้ ผ่านไปหนึ่งเดือนถุงน้ำนั้นก็ยุบหายได้เองโดยไม่ต้องผ่าตัด

อ.พิเชษฐ เล่าว่า เรื่องราวเหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจให้ศึกษาค้นคว้าการแพทย์แผนไทย และพบว่าภูมิปัญญาเหล่านั้นฝังอยู่กับตัวหมอพื้นบ้านแต่ละคน เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิตจึงหวงแหนและไม่ยอมถ่ายทอดให้ใครง่ายๆ ทำให้การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากถูมิปัญญาก็น้อยลง

“หมอพื้นบ้านมีอายุค่อนข้างมาก บางท่าน 80 กว่าปี ตอนผมเริ่มโครงการปี ๒๕๔๘ จนถึงตอนนี้มีหมอยาใหญ่เสียชีวิตไปแล้ว 5 คน โดยที่เรายังรวบรวมองค์ความรู้และประสบการณ์จากท่านได้เพียงบางส่วน ไม่ต้องอธิบายแล้วว่าก่อนหน้านี้เราสูญเสียภูมิปัญญาในอดีตที่มีค่ามากแค่ไหน”

กิจกรรมคาราวานหมอพื้นบ้านตระเวนไปยังชุมชนต่างๆจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาทางหนึ่ง เพราะทำให้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานของหมอพื้นบ้านอย่างใกล้ชิด ได้สังเกตและจดบันทึกวิธีการรักษาละเอียดมากขึ้น จนปัจจุบันสามารถนำองค์ความรู้มาจัดทำทำเนียบความเชี่ยวชาญของหมอพื้นบ้านแต่ละท่าน

รักษา แลกเปลี่ยน และเรียนรู้

อ.พิเชษฐ เล่าประสบการณ์ครั้งแรกในการจัดคาราวานหมอพื้นบ้านที่วัดโพธิ์ชัย โดยมีหมอนิน ทำนุบำรุง เป็นผู้ประสานงาน วันแรกมีผู้ป่วยมารอให้รักษามากกว่าร้อยคน รู้สึกดีใจมากเมื่อเห็นว่าคนในชุมชนยังเชื่อมั่นวิธีการรักษาโดยหมอพื้นบ้าน พอทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยังสัมผัสได้ว่าหมอพื้นบ้านจะได้รับการปลูกฝังจรรยาบรรณให้มีจิตเมตตา อดทนและพากเพียรใฝ่รู้ ไม่อวดตัว ทั้งแนวทางการรักษาก็เป็นศาสตร์ผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และจิตวิญญาณที่เป็นความสามารถเฉพาะตัว

“หมอพื้นบ้านจะซักถามประวัติผู้ป่วยให้รู้จริงที่มาของโรค ตรวจโรคไปก็พูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วยให้เกิดความมั่นใจ บางท่านนอกจากรักษาด้วยยายังมีคาถา บางครั้งสิ่งเหล่านี้มีผลเชิงจิตวิทยาให้ผู้ป่วยมีใจต่อสู้กับโรค.. หมอพื้นบ้านเดิมรักษากับบ้าน พอมาออกคาราวานกินนอนที่วัดร่วมกันเหมือนได้เจอเพื่อนร่วมอาชีพ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว หลายคนมารักษาเป็นการสร้างบุญ รู้สึกมีเกียรติในวิชาชีพขึ้นเมื่อได้รับความศรัทธาจากชุมชน”

การเลือกวัดเป็นสถานรักษา เพราะวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้าน เป็นแหล่งรวบรวมจารึกตำรายาและคัมภีร์โบราณต่างๆ ที่กลุ่มหมอพื้นบ้านจะได้ร่วมกันค้นคว้าภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยยังสอนให้รู้ว่า การรักษาอาการเจ็บป่วยของคนนั้นไม่ใช่การบำบัดโรคทางกายอย่างเดียว แต่ควรเริ่มต้นจากการดูแลปัจจัยสี่ เริ่มจากอาหารพื้นบ้านที่บริโภคในชุมชนตามชนิดและฤดูกาล ที่อยู่อาศัยรวมถึงพิธีกรรมประเพณีที่ทำให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เครื่องนุ่งห่มที่สอดคล้องกับท้องถิ่นภูมิประเทศและฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง และยารักษาโรครวมถึงประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย

โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยสกลนคร

27 มีนาคม 2553 การวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบแห่งแรกของประเทศ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในจังหวัดสกลนคร ได้จุดประกายส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งเป็นสถานบริการแพทย์แผนไทยที่เป็นระบบ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหมอพื้นบ้าน นักศึกษา นักวิชาการ นำไปสู่การวิจัยต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้เป็นที่ยอมรับแก่สังคมทั่วโลก

โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร ก่อตั้งขึ้นจากความต้องการและความร่วมมือของชาวจังหวัดสกลนครอย่างแท้จริง โดยคณะกรรมการภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.)แต่งตั้ง ให้การสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนเต็มที่ เพราะสอดคล้องกับทิศทางระบบสุขภาพที่ระบุไว้ในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ข้อ 60 ที่ระบุให้มีโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบที่มีมาตรฐาน ทั้งการบริการ การศึกษาวิจัยและฝึกอบรมบุคลากรอย่างน้อยภาคละ 1 แห่ง

เป็นอีกหนึ่งวันที่ อ.พิเชษฐ ถอนหายใจอย่างโล่งอกเมื่อความเหนื่อยยากที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า กองคาราวานเล็กๆในการพัฒนาความรู้หมอพื้นบ้านเพื่อเป็นที่พึ่งของชุมชน ได้ก่อเกิดเป็นความหวังและพลังที่หลั่งรดรากเหง้าภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยซึ่งเคยถูกละเลย ให้เติบโตยืนหยัดดั่งต้นไม้ใหญ่ เพื่อสร้างคุณูปการกับระบบสุขภาพและคนไทยสืบไป

หมายเลขบันทึก: 372009เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2010 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คุณพีธากรครับ ฐานความรู้เรื่องผักพื้นบ้านสำหรับเด็กๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก หากฐานส่วนนี้ขาดตอนไป เรื่องสมุนไพรจะก้าวไปยากลำบากครับ

ขอแสดงความยินดีด้วยก้บโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยสกลนคร ที่ก่อเกิดขึ้นจนสำเร็จและขอให้ก้าวรุดไปสู่เป้าหมายเพิ่อประชาชนอย่างกว้างขวางนะครับ

สวัสดีครับครูหยุย

ขอบพระคุณเป็ยอย่างยิ่งครับ ที่ให้เกียรติมาเยี่ยมชม หากมีโอกาสดีๆ หรือ กิจกรรมสรางสรรค์สำหรับเยาวชน ผมเเละคณะยินดีให้ความร่วมมือเป็นอย่างยิ่งครับ อยากให้เยาวชนในปัจจุบัน เข้าใจถึงเเก่นรากของวัฒธรรมพื้นบ้านเเละสมุนไพรไทยเป็นอย่างมากครับ เพราะนอกจากจะได้พวกเขาเป็นที่พึงเเห่งอนาคตประเทศเเล้ว ยังพึงพึงพาอาศัยเด็กๆเหล้านี้เเหละครับในการผลักดันให้มีการอนุรักษ์ ซึ่ง วัฒธรรมวิถีไทยของเราทั่งหมดทั่งมวลครับ

เดี๋ยวนี้ที่บ้านปลูกผักกินเองค่ะ

แม่ชอบให้กินผักกับข้าว ใส่มั่วเต็มไปหมด

ดอกอัญชัน ถั่ว ผัก...โอยเยอะเลยค่ะ

แต่เพื่อสุขภาพ ^__^

สวัสดี น้องไผ่

ไว้เดี่ยวอาจารย์ จะเอาเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ทำจากผักมาให้นะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท