ยุทธศาสตร์ เพื่อการตัดสินใจ ของผู้บริหารสถานศึกษา


ยุทธศาสตร์ เพื่อการตัดสินใจ ของผู้บริหารสถานศึกษา

ยุทธศาสตร์  เพื่อการตัดสินใจ ของผู้บริหารสถานศึกษา

 

ในแต่ละวันเรามีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ นับเป็นร้อยครั้ง  ฐานะผู้บริหารในสถานศึกษา การตัดสินใจเป็นภาระหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตขององค์กร ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ข้อมูลและความรอบรู้ของเราที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะตัดสินใจทั้งหมด มีส่วนสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจนำไปสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีข้อมูลดี มีความรู้ดีในเรื่องที่จะตัดสินใจ บางครั้งการตัดสินใจก็อาจยังผิดพลาดได้ ถ้าเราไม่คำนึงถึงค่านิยมหรือความรู้สึกและการยอมรับในความสำคัญของเรื่องนั้นๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากการตัดสินใจที่ดีจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล ความรอบรู้ ค่านิยม หรือความรูสึก และการยอมรับในความสำคัญของผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ผู้บริหารที่จะต้องตัดสินใจจะต้องมีวิธีและแนวทางการตัดสินใจที่เหมาะสมกับเรื่องที่จะตัดสินใจ และเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ในที่นี้ได้มีผู้เสนอแนวทางหรือวิธีการที่จะช่วยผู้บริหารโรงเรียน เพื่อนำไปสู่กาตัดสินใจที่ดี ซึ่งผู้เสนอเรียกรวมๆ ว่า เป็นยุทธศาสตร์ เพื่อการตัดสินใจซึ่งจะใช้ในเรื่องต่างๆ คือ

  1. เพื่อรวบรวมสารสนเทศ (information) และการประเมินค่า (judgment) ในเรื่องนโยบายและแนวดำเนินงาน
  2. เพื่อระบุความต้องการและสำรวจปัญหา (identifying needs and examing problems)
  3. เพื่อจัดลำดับความสำคัญ (deciding priorities)
  4. เพื่อตัดสินใจในแนวทางในอนาคต (making decisions about future paths)

วิธีการหรือยุทธศาสตร์ที่จะนำเสนอเพื่อให้ผู้บริหารเลือกใช้ มี  19 ข้อ เพื่อให้ได้รู้จักและเข้าใจเบื้องต้น ตามจุดประสงค์ 4 ข้อข้างต้น

  1. การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) วิธีการนี้คงเป็นที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว ผู้บริหารจะใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้เพื่อตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของตนหรือของโรงเรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ดีขึ้น แล้วนำผลการสำรวจไปใช้
  2. คณะผู้ช่วยงาน (Advocate Teams) วิธีนี้ผู้บริหารจะตั้งคณะทำงานขึ้น 2 คณะขึ้นไปให้ทุกคณะไปพิจารณาแก้ปัญหาในเรื่องเดียวกันในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1 สัปดาห์ แล้วนำข้อเสนอส่งให้ผู้บริหาร ผู้บริหารจะศึกษาพิจารณาข้อเสนอของทุกคณะพร้อมๆ กัน แล้วจึงตัดสินใจเลือกวิธีการที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด
  3. การระดมพลังสมอง(Brainstorming) เป็นการประชุมระดมความคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ได้ความคิดหรือแนวทางมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ภายในเวลาที่จำกัด โดยยังไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้มากนัก แล้วจึงมาเรียบเรียงจัดระเบียบ
  4. การตั้งคณะกรรมการสืบสวน (Commission of Inquiry) เป็นวิธีการที่ยืมมาจากวิธีการของศาล มีการตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่ง ทำการสอบสวน ตรวจสอบ ซักถามพยานหรือผู้รู้แล้วร่างข้อสรุปและข้อเสนอแนะ นำข้อสรุปและข้อเสนอแนะนั้นไปเสนอให้กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องได้วิพากษ์วิจารณ์แล้วปรับปรุงก่อนนำเสนอผู้บริหาร (วิธีนี้คล้ายคลึงกับที่เรากำลังนิยมใช้อยู่ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งมักจะมีคำว่าประชาพิจารณ์ปนอยู่ด้วยในขั้นตอนการวิพากษ์วิจารณ์)
  5. การหาข้อตกลงร่วม 1-3-6 (Consensus 1-3-6) วิธีนี้ให้แต่ละคนที่เกี่ยวข้องเริ่มคิดวิธีการหรือข้อเสนอของแต่ละคนก่อน แล้วจับกลุ่ม 3 คน นำข้อเสนอของแต่ละคนในกลุ่ม 3 คน นำข้อเสนอของแต่ละคนในกลุ่ม 3 คนนั้น มาเรียบเรียงรวมกัน แล้วรวมกลุ่มเป็น 6 คน นำข้อเสนอที่รวมได้ในกลุ่ม 3 คนมาเรียบเรียงรวมกันเป็นข้อเสนอของคนทั้งคณะใหญ่
  6. การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) เป็นการวิเคราะห์ภาษาในหนังสือ หรือสัมภาษณ์บุคคลเกี่ยวกับความคิดเห็น แล้วนำมาวิเคราะห์ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้
  7. การวิเคราะห์เส้นทางวิกฤต (Critical Path) เป็นวิธีวางแผนปฏิบัติงานด้วยการกำหนดช่วงเวลาการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ในแผน ทั้งที่ต้องทำต่อเนื่องกันและกันทำคู่ขนานกัน แล้วหาลำดับความต่อเนื่องของกิจกรรมสำคัญที่ขาด หรือสลับกันไม่ได้ เพื่อยึดเป็นเส้นทางหลักในการปฏิบัติงานตามแผน
  8. เดลไฟ (Delphi) เป็นวิธีการหาข้อมูลความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายโดยเทคนิควิธีการถามซ้ำจนได้ข้อสรุปจากคนทั้งกลุ่มได้
  9. Force-field Analysis  เป็นเทคนิคการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง (Changes) โดยการรวบรวมแรงดัน (Forces) ที่พยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และแรงดันที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แล้วผู้บริหารนำมาพิจารณาชั่งน้ำหนักอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเลือกเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน
  10. การประเมินแบบอิสระจากเป้าหมาย (Goal-free Evaluation) วิธีการนี้คือ จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน หรือผลผลิตที่ได้โดยดูแต่ข้อดีและข้อเสียที่ปรากฏโดยไม่คำนึงว่าการดำเนินงานหรือผลผลิตนั้นจัดขึ้นเพื่อจุดประสงค์หรือเป้าหมายอะไร
  11. การสัมภาษณ์ (Interviews) คือการที่ผู้ต้องการข้อมูลพลบุคคลที่จะให้ข้อมูลได้เป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มแล้วใช้วิธีการพูดคุย ซักถาม หาข้อมูลหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่อยากรู้หรือเป็นประเด็นปัญหา
  12. Nominal Group Technique) วิธีนี้ให้แต่ละคนที่เกี่ยวข้องเขียนข้อเสนอของตนก่อน นำข้อเสนอทั้งหมดมารวมกัน แล้วประชุมอภิปรายข้อเสนอทั้งหมด โดยไม่มีการระบุเจ้าของความคิด แล้วตัดสินด้วยการลงคะแนน (vote) ถ้ามีคนเป็นจำนวนมากก็ใช้วิธีแบ่งเป็นหลายๆ กลุ่ม เมื่อแต่ละกลุ่มได้ข้อสรุปแล้วให้ผู้แทนกลุ่มไปประชุมร่วมกัน แล้วอภิปรายหาข้อสรุปอีกทอดหนึ่ง
  13. การสังเกต (Observation) คือการออกไปดูของจริง ซึ่งอาจเป็นกระบวนการทำงาน กิจกรรม สถานที่ และอื่นๆ โดยมีประเด็นคำถามและรายการที่จะสังเกตเตรียมไว้ก่อนบันทึกผลการสังเกตแต่ละข้อที่อยู่ในรายการ แล้วนำมาหาข้อสรุป
  14. โรงเรียนที่เป็นไปได้ (The Possible School) กลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็นกลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มเสนอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทางที่จะพัฒนาโรงเรียนของตนตามประเด็นที่กำหนด รวมทั้งวิธีการต่างๆ ที่จะบรรลุความสำเร็จที่ต้องการ แล้วจับคู่กลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้วแต่ละกลุ่มแยกไปทำงานในการปรับปรุงแนวความคิดของกลุ่มตนให้สำเร็จตั้งแต่เป้าหมาย และแนวดำเนินการตลอดแนวผู้บริหารรวบรวมข้อเสนอของทุกกลุ่มไว้พิจารณาตัดสินใจ
  15. แบบสอบถาม (Questionnaires)  แบบสอบถามเป็นเครื่องมือรวบรวมข้อมูลจากคนกลุ่มใหญ่ เป็นวิธีการที่เสียค่าใช้จ่ายน้อย ใช้สะดวก แต่แบบสอบถามที่มีคุณภาพก็สร้างยาก มีรูปแบบของคำถามที่อาจนำมาใช้ได้หลากหลาย ทั้งในรูปของคำถามปลายเปิด แบบตัวเลือก แบบมาตราส่วนประมาณค่า ซึ่งเราคุ้นเคยกันก็มีอีก เช่น สังคมมิติ (Sociometric Measures) คิวซอร์ท (Q-sort) การจับคู่เปรียบเทียบ (Pair Comparison) และอื่นๆ
  16. การสร้างภาพอนาคต (Scenario) การพรรณนาภาพของสถานภาพในอนาคตของโรงเรียนหรือองค์กรของเราที่เราปรารถนาจะให้เป็น แล้วชี้แจงเส้นทางหรือแนวทางที่จะนำไปสู่สถานภาพที่คาดหวังในอนาคตนั้น พร้อมด้วยทางเลือกในการตัดสินใจตามขั้นตอนต่างๆ และแนวทางต่อไปหลังจากผ่านทางเลือกแต่ละทางไปแล้ว ผู้บริหารอาจใช้เทคนิควิธีนี้ด้วยตนเองหรือมอบหมายให้กลุ่มผู้เกี่ยวข้องช่วยกันคิดก็ได้
  17. ความคิดเห็นที่สอง (A Second Opinion) วิธีการนี้เป็นทำนองเดียวกับการที่เราไปหาหมอคลินิกแห่งหนึ่ง หมอตรวจแล้ววินิจฉัย บอกโรคที่เราเป็นแล้วสั่งยามารักษา เพื่อให้แน่ใจเราก็ไปหาหมออีกคลินิคหนึ่งให้ตรวจเช็คทำนองเดียวกันซ้ำเพื่อยืนยันว่าเราป่วยเป็นโรคนั้นจริงหรือไม่ ผู้บริหารอาจใช้วิธีการนี้โดยการให้มีคณะทำงานชุดหนึ่งทำข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาแก่เขา แล้วส่งข้อเสนอแนะนั้นให้อีกกลุ่มหนึ่งพิจารณาให้ข้อวิจารณ์ และเสนอแนะ แล้วนำข้อวิจารณ์กับข้อเสนอแนะทั้งหมดของกลุ่มที่ 2 กลับมาให้กลุ่มแรกพิจารณาอีกครั้ง ปรับปรุงเป็นข้อเสนอสุดท้ายส่งให้ผู้บริหาร
  18. Transactional Evaluation วิธีการโดยย่อ คือเกรียกประชุมกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องนำเสนอประเด็นปัญหาหรือแนวดำเนินงาน (แผน) ที่จะทำ ให้ผู้ร่วมประชุมเสนอความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่ใครเป็นผู้ก่อปัญหา หรือสาเหตุมาจากอะไรความร้ายแรงของปัญหา วิธีการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการแก้ไข และอื่นๆ หลังประชุมนำข้อเสนอต่างๆ มารวบรวมเรียบเรียง และจัดกลุ่มแล้วดัดแปลงเป็นแบบสอบถาม แล้วนำไปถามกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์หาอัตราส่วนหรือร้อยละของคำตอบ นำผลการวิเคราะห์เข้าสู่ที่ประชุมเดิมเพื่ออภิปรายและเลือกตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ซึ่งรวมตั้งแต่ปัญหา แผนการดำเนินงาน แลอื่นๆ
  19. การสอบสวนโดยคณะลูกขุน (Trial by jury) วิธีการคือ นำข้อเสนอที่เป็นแผนหรือแนวปฏิบัติเสนอต่อที่ประชุมที่แบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายค้าน ให้ทั้งสองฝ่ายนำเสนอความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ของฝ่ายตน แล้วนำความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายมาเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ

วิธีการหรือยุทธศาสตร์ทั้ง 19 ข้อนี้ มีแนวปฏิบัติปลีกย่อยที่แยกออกไปได้อีกหลายๆ แนว ซึ่งผู้บริหารจะเลือกใช้ยุทธศาสตร์ใดย่อมขึ้นกับสถานการณ์ ประเด็นปัญหา และความถนัดของแต่ละคน วิธีการนำเสนอมาทั้งหมดเป็นวิธีการกลุ่มที่ต้องมีผู้อื่นร่วมดำเนินการด้วยทั้งสิ้น ซึ่งหมายความว่าเป็นยุทธศาสตร์การตัดสินใจในแนวของการกระจายอำนาจหรือการรับฟังความคิดของหลายๆ ฝ่าย ผู้บริหารที่จะใช้วิธีการเหล่านี้ได้ต้องใจกว้างและเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่ผู้ชอบตัดสินใจโดยอาศัยความคิดของตนแต่ผู้เดียว

 

วัลลภ  กันทรัพย์   วารสารวิชาการ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2541

 

หมายเลขบันทึก: 371992เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2010 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีคะหลงเข้ามา....เนื้อหาดีคะ

เป็นผู้บริหารแล้วอย่าลืมนำไปใช้นะ

เยี่ยมเลยบัง นำมาใช้ได้เลย

นับว่าเป็นความคิดของผู้บริหารโดยแท้เลยครับผมคิดว่าผู้บริหารน่าจะลองอ่านดูก็น่าจดีนะครับ

เป็นความรู้...ระดับยุทธศาตร์...ฮึ่ม!!..ไม่ธรรมดา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท