ฝึกภาคปฏิบัติสังคมสงเคราะห์ต่างแดน


                              ฝึกภาคปฏิบัติสังคมสงเคราะห์ต่างแดน 

 

                 การประชุมสังคมสงเคราะห์โลกครั้งที่1 ณ ฮ่องกงนี้มีการนำเสนอประเด็นการฝึกภาคปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ในต่างแดนหรือที่เรียกกันว่าหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศของสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วยเหตุเพราะความไร้พรมแดนของโลกใบน้อยใบนี้ทำให้นักสังคมสงเคราะห์มิได้ทำงานเฉพาะกับผู้ใช้บริการในประเทศของตนเองเท่านั้นเช่นองค์การย่อยๆของสหประชาชาติมักเปิดรับนักสังคมสงเคราะห์ไปทำงานยังประเทศต่างๆที่ประสบปัญหาเช่นการพลัดถิ่น การอพยพ แม้แต่ตามตะเข็บชายแดนไทยศูนย์อพพยหลายแห่งก็มีนักสังคมสงเคราะห์ประจำโครงการต่างๆขององค์กรระหว่างประเทศฉะนั้นหลักสูตรการฝึกภาคปฏิบัติที่จะทำให้นักศึกษาใช้เป็นเวทีทบทวนความรู้จากห้องเรียน ได้มีโอกาสใช้ทักษะแห่งการช่วยเหลือได้เต็มที่แล้วที่สำคัญยังได้ทบทวนทัศนคติของตนเองในการทำงานร่วมกับกลุ่มเป้าหมายและผู้คนในวิชาชีพต่างๆจึงต้องขยายออกไปจากประเทศที่เรียนสู่ประเทศอื่นๆที่นักศึกษาสนใจโดยมากมักจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา

                มหาวิทยาลัย Sor Trondelag ประเทศนอร์เวย์เป็นตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรเน้นการสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับ ความไม่เท่าเทียมกันของซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ระบบเศรษฐกิจโลก อิทธิพลของประเทศที่พัฒนาแล้ว ทักษะและทัศนคติการปฏิบัติงานกับผู้ให้และผู้ใช้บริการต่างเชื้อชาติ วัฒนธรรมในบริบทของสังคมที่หลากหลาย วิธีการสอนเป็นแบบทฤษฎีสหวิทยาบูรณาการของความรู้ทักษะและทัศนคติเข้าด้วยกัน นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มักจะเลือกมาฝึกงานที่ซีกโลกใต้ระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือนโดยผู้รับผิดชอบการฝึกงานจะต้องเตรียมความพร้อมให้แก่หน่วยงานรับฝึกได้เข้าใจวัตถุประสงค์และกระบวนการฝึกงาน กระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษาส่วนนักศึกษาจะต้องได้รับการเตรียมความพร้อมให้มีทัศนคติที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย บทบาทของตนเองในฐานะผู้เยี่ยมเยียนและเป็นคนกลุ่มน้อย มีความเข้าใจประเทศหรือชุมชนที่ไปฝึกงานทั้งด้านวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และภาษาในชีวิตประจำวัน มีผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานเป็นผู้ดูแลทำความเข้าใจกับบริบทของพื้นถิ่นส่วนอาจารย์นิเทศน์จากมหาวิทยาลัยจะติดตามโดยการประชุมผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอ

                จากประสบการณ์สู่ความรู้ซึ่งเมื่อนักศึกษาเดินทางกลับมาประเทศแล้วจะมีกระบวนการเรียนรู้โดยการอภิปรายถอดบทเรียน นักศึกษาจะถูกกระตุ้นให้วิเคราะห์วิพากษ์สถานการณ์ที่ท้าทายที่เขาเผชิญ มุ่งเน้นที่ทักษะความสามารถและทัศนคติของตนเองต่อสิ่งเหล่านั้น การที่ให้โอกาสสำรวจตนเองทีละเล็กละน้อยทำให้นักศึกษาตระหนักได้ว่าตนเองต้องพัฒนาทักษะและความสามารถในด้านใดต่อไป

          เมื่อกลับมาคิดถึงหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเรายังไม่มีหลักสูตรหรือรายวิชาสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศหรือแม้กระทั่งการฝึกงานที่มุ่งเน้นความแตกต่างหลากหลายของเชื้อชาติ วัฒนธรรมของผู้ใช้บริการ ที่จริงในสังคมไทยเองก็มีชนกลุ่มน้อยอยู่พอสมควร มีต่างด้าวต่างภาษาเข้ามามากทั้งในฐานะนักท่องเที่ยว ผู้ใช้แรงงานทั้งถูกและผิดกฎหมาย ผู้ที่เข้ามาใช้ชีวิตบั้นปลายและแต่งงานกับคนไทย ทุกวันนี้นักสังคมสงเคราะห์ได้ให้บริการกับคนกลุ่มเหล่านี้ด้วยความพยายามเรียนรู้ความแตกต่างและทำความเข้าใจอย่างหนักด้วยที่เราไม่เคยมีการเรียนการสอนมาก่อน เราน่าจะเริ่มจากบทเรียนที่ล้ำค่าใกล้ตัวแล้วขยายไปสู่อาณาเขตที่กว้างขวางขึ้น เราคงอยู่เฉยกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้มิฉะนั้นเราคงตกขอบเวทีโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

 

หมายเลขบันทึก: 370379เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2010 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท