ถ้าใจเสียแล้วจะเสียใจ (หลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุ)


 

ถ้า “ใจเสีย” แล้วจะเสียใจ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)



ชีวิตกับธรรมะจะต้องอยู่ด้วยกัน แยกออกจากกันไม่ได้
ถ้าแยกตัวชีวิตออกจากธรรมะเมื่อใด
ก็เหมือนกับว่า เป็นคนไม่มีชีวิต
ชีวิตจะสมบูรณ์เรียบร้อย ก็ต้องมีธรรมะประคับประคองจิตใจ
ทิ้งธรรมะเสียเมื่อใด ชีวิตวุ่นวายเมื่อนั้น
อันนี้เราจะ เห็นได้ง่ายๆ ว่า
เวลาเรามีความวุ่นวายใจ มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ
นั้นก็เพราะขาดธรรมะเป็นหลักคุ้มครองใจ

เมื่อไม่มีธรรมะคุ้มครองใจ จิตใจวุ่นวาย มีความเดือดเนื้อร้อนใจ
ความเดือดเนื้อร้อนใจที่เกิดขึ้นนั้น ก็เพราะว่าไม่เข้าถึงธรรมะ
เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าถึงธรรมะ ความทุกข์หายไป
ความเดือดร้อนทั้งหลายก็คลายจางไป ชีวิตมันสมบูรณ์ขึ้น
เพราะฉะนั้น ชีวิตกับธรรมะ จึงสิ่งคู่กันแยกออกจากกันไม่ได้

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันหลายประการ
ในแง่ต่างๆ เราแก้มันได้ด้วยอะไร
ถ้าที่ประพฤติธรรม ก็แก้มันด้วยความรู้ความเข้าใจในธรรมะ
เอาธรรมะมาแก้ปัญหา ชีวิตก็ผ่อนคลายไป
พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน อันนั้นคือ ผลที่ปรากฏอยู่


ความไม่สบายใจนั้น ก็เป็นโรคอย่างหนึ่ง
เหมือนๆกับโรคทางร่างกาย
คนเราที่เป็นโรคทางกาย ต้องกินยา เพื่อรักษาโรคทางกาย ฉันใด
เมื่อมีโรคทางจิตใจ ขึ้นมา ก็ต้องใช้ยาแก้โรคทางใจ
ยาแก้โรคทางกายนั้น เป็นเรื่องทางวัตถุ
เพราะว่าร่างกายนี้เป็นวัตถุ เกิดขึ้นด้วยธาตุมีประการต่างๆ
การมีโรคทางกาย ก็เนื่องจากว่าอะไรบางอย่างขาดไป
ความต้านทานก็น้อยไป จึงเป็นเหตุให้เกิดโรคทางกายขึ้นมา
แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้เท่ารู้ทัน โรคนั้นก็จะกำเริบเสิบสาน
ทำให้เราต้องพ่ายแพ้แก่โรค
ร่างกายถึงแก่ความ แตกดับลงไปได้ ฉันใด
ในเรื่องทางจิตใจนี่ก็เหมือนกัน มันมีโรคทางใจเกิดขึ้นบ่อยๆ
โรคทางใจนั้น ไม่เหมือนกับโรคทางกาย
คือ โรคทางกาย มันมีตัวเป็นเชื้อโรคประเภทต่างๆ
ที่เข้ามายึดเอาร่างกายเป็นเรือนของมัน เป็นที่เกิดเป็นที่อาศัย
แล้วก็ทำให้เราต้องพ่ายแพ้
คนใดที่ยังมีกายปกติ ก็หมายความว่า
ความต้านทานทางร่างกายนั้นยังดีอยู่
เมื่อความต้านทางร่างกาย ยังสมบูรณ์พร้อม เราก็เอาชนะโรคได้
แต่ก็ไม่แน่นักว่าความต้านทานทางกายนี้
จะดีหรือสมบูรณ์อยู่ตลอดไป
มันอาจจะเกิดความเพลี่ยงพล้ำขึ้นมาเมื่อใดก็ได้
เพราะฉะนั้นคนบางคนที่เรามองเห็นว่า
มีร่างกายเป็นปกติเป็นน้ำเป็นนวลร่างกายแข็งแรง
แต่ก็เกิดการเจ็บไข้ลงได้ทันที
อันนี้แสดงว่ามันมีเชื้อโรคอย่างแรงเกิดขึ้นในร่างกาย
ทำให้ความต้านทาน ของร่างกายนั้นสู้ไม่ได้
ก็เลยต้องยอมแพ้มัน
กลายเป็นโรคประจำกายประจำตัวไป
และอาจจะถึงความแตกดับลงไปเมื่อใดก็ได้
เรื่องการเรียนรู้ในเรื่องโรคทางกาย ก็เพื่อจะได้มีการป้องกันแก้ไข
เมื่อโรคนั้นเกิดขึ้น เราก็จะได้มีชีวิตเป็นปกติ ไม่วุ่นว่ายมากเกินไป
ฉันใด เรื่องของจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน
เมื่อมีโรคทางใจเกิดขึ้น
ก็เพราะว่าเราพ่ายแพ้ต่อสิ่งที่ยั่วยุ
คือ อารมณ์ประเภทต่างๆที่เข้ามากระทบประสาททั้งห้า
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หกรวมทั้งใจด้วย
อันนี้เป็นประตูแห่งโรคทางใจ

คำสำคัญ (Tags): #ใจเสีย
หมายเลขบันทึก: 370203เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2010 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ
  • ได้อ่านข้อธรรมะดี ๆ ก็เหมือนได้เข้าวัด ฟังข้อสติเตือนใจครับ ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นคนไปวัดทำบุญก็จะได้ความสุขอิ่มใจกลับมา แต่สิ่งที่ผมไม่แน่ใจคือได้ปัญญากลับมาด้วยหรือไม่ พระที่วัดท่านได้สอนเพื่อให้เกิดความสว่างทางปัญญาบ้างหรือเปล่าเพราะความสุขต้องคู่กับ สติ และปัญญา ขออนุญาตพระคุณเจ้าตั้งข้อสังเกตนะครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

ได้อ่านธรรมมะนี้แล้ว โรคทางกายกับโรคทางใจน่าจะมีความสัมพันธ์กัน เพราะสุขภาพที่ดีย่อมอยู่ในบุคคลที่มีสุขภาพทางใจที่ดี

เจริญพรคุณโยมชำนาญ เขื่อนแก้ว ถูกอย่างคุณโยมว่าการเข้าวัดต้องได้ทั้งสติ และปัญญาด้วย จึงจะเกิดกุศลศรัทธาที่ถูกต้องที่วัดอาตมาก่อนรับพรกลับบ้าน จะต้องมีการเทศน์ให้ข้อคิดคติเตือนใจพร้อมกันไปตลอดเวลา เพราะอาตมาไม่หวังให้ใครศรัทธาอย่างหลับหูหลับตา แต่ต้องมีปัญญานำหน้าศรัทธาด้วยจึงจะเกิดประโยชน์แก่ผู้เข้าวัด สาธุ..นะคุณโยมสำหรับข้อเสนอแนะที่ดีมาก ๆ

เจริญพร คุณโยมดารุณี ความเห็นคุณโยมถูกต้องแล้ว สาธุ... อนุโมทนา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท