มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

ชีวิตที่เลือกไม่ได้...


ชีวิตที่เลือกไม่ได้...

                                               

            เกอะญอซู

 

ชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ และกำหนดได้ยาก บางครั้งสิ่งที่เราอยากให้เป็นกลับไม่เป็นตามที่เราอยาก ร้ายไปกว่านั้น สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดก็สามารถเกิดขึ้นกับเราได้  บางครั้งเราต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ไปในสถานที่ที่เราไม่อยากไป นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่ผมอยากจะเล่าให้ใครหลาย ๆ คนฟัง เรื่องราวจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ประสบการณ์ที่ไม่อยากจะเจอ ในฐานะ “ผู้ลี้ภัย”

 

คำว่าผู้ลี้ภัย สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะนี้  บางคนอาจฟังแล้วสงสารเห็นอกเห็นใจ บางคนฟังแล้วเมินเฉยหลายคนก็หลายความคิด แต่สำหรับผม คำว่าผู้ลี้ภัย คือคำที่ผมไม่อยากให้ใครเรียกแทนชื่อ ไม่อยากแม้แต่จะฟังคำนั้น

 

"ผู้ลี้ภัย สบายจะตาย ไม่เห็นต้องทำงาน" ผมได้ยินหลายคนพูดแบบนั้น แต่ผมไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เราไม่ได้มาอยู่ที่นี่เพื่อรอรับของกิน ทุกคนต่างมีที่มา มีเหตุผลความจำเป็นของตัวเอง จึงต้องมาอยู่ที่นี่ และอยู่ในสถานะที่ถูกเรียกว่าผู้ลี้ภัย

 

คนปกาเกอะญอ อย่างพวกเรา มีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเองมาแต่โบราณ เราทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง ผู้ชายและผู้หญิงร่วมกันทำงานอย่างทัดเทียม ที่ต่างกันก็คือผู้ชายไม่ทอผ้า และผู้หญิงไม่ล่าสัตว์ แต่ปัจจุบัน เมื่อเราเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เลย เพราะทางการไม่อนุญาตให้เราทำงาน

 

หลายคนอาจจะเถียงว่าอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยไม่เห็นต้องทำอะไรเลย อาหารหรือ ก็ได้รับจาก UN แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาหารที่เราได้รับแจกไม่เพียงพอกับความต้องการของทุกคน นับตั้งแต่ปี 2006 มีคนหน้าใหม่ๆ หลั่งไหลเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมากขึ้นเรื่อยๆ จน UN ดูแลทั้งหมดไม่ไหว ในเมื่ออาหารก็ไม่มี ซ้ำงานก็ยังทำไม่ได้ ก็มีแค่เพียงสองหนทางให้เราต้องเลือก นั่นคืออดตาย หรือไม่ก็ยอมเสี่ยงทำผิดกฎของค่ายผู้ลี้ภัย ที่ห้ามไม่ให้พวกเราทำงาน

 

เมื่อเราทำงานไม่ได้ เราก็กลายเป็น "ไอ้ตัวขี้เกียจ" ไม่ยอมทำงานรอรับแต่ข้าวที่ UN เอามาแจก แต่เมื่อเราเลือกที่จะลักลอบทำงาน เราก็จะกลายเป็น “ตัวแย่งงาน, อาชญากร และตัวเชื้อโรค” ตามแต่คนภายนอกจะตัดสิน

 

ในความเป็นจริงพวกเราไม่มีใครอยากรอรับความช่วยเหลืออยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เราอยากอยู่ที่บ้านเกิดบนแผ่นดินแม่ที่เราจากมา อยากทำงาน ทำไร่ทำนาเลี้ยงชีพตามประสาของพวกเรา เราไม่อยากให้ใครมาตัดสิน และดูถูกพวกเรา โดยที่ไม่เคยรู้ว่าจริงๆ แล้วแล้วเกิดอะไรขึ้นกับพวกเราบ้าง เราต้องผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาอย่างไร ยิ่งตอนนี้มีคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย สำหรับเราแล้ว เราไม่ต้องการให้ คนของเราในยุคสมัยหน้า ต้องมาพบกับเรื่องราวที่เราเคยได้เจอ

 

แต่เพราะชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ และที่เลวร้ายที่สุดคือเราไม่สามารถกำหนดชีวิตของเราเองได้ วันพรุ่งนี้ในค่ายผู้ลี้ภัยของเราจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ เพราะนี่จะเป็นชะตากรรมที่เราไม่อาจปฏิเสธ

 

หมายเหตุจากบรรณาธิการ - ผู้ลี้ภัยรวมถึงบุคคลภายนอกมักเข้าใจว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในด้านอาหารแก่ผู้ลี้ภัย แต่ในความเป็นจริงผู้ที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารคือ Thailand Burma Border Consortium (TBBC) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยยังได้รับความช่วยเหลือด้านอื่นๆ จากองค์กรพัฒนาเอกชนจากต่างประเทศเช่นกัน

คำสำคัญ (Tags): #ผู้ลี้ภัย
หมายเลขบันทึก: 369715เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2010 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อย่าไปยึดติดครับ

ทุกชีวิตล้วนแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

เป็นกำลังใจให้นะครับ

พวกคุณถูกแยกเพราะเหตุผล ว่า เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์ ดิฉันอาจใช้ศัพท์ไม่ถูก แต่คนที่อยู่ในประเทศเดียวกันถูกแยกออกเพราะคิดต่าง หรือที่เรียกว่า สี ไม่ทราบว่า แบบไหน ร้ายกว่ากันหือคนละประเด็น แต่คำตอบเหมือนกัน นี่คือคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท