โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

17. สงเคราะห์ญาติ


อย่าถามถึงเครื่องปรับอากาศ เพราะผมไม่ชอบ ไม่ใช่ว่าผมจะไม่มีเงินซื้อแอร์ หรือไม่มีเงินจ่ายคาไฟฟ้า เปล่าเลย แต่เป็นเพราะผมเชื่อว่า อากาศธรรมชาติมีผลดีต่อสุขภาพของผมมากกว่าความเย็นจากเครื่องปรับอากาศที่ผิดธรรมชาติ

สงเคราะห์ญาติ

โสภณ เปียสนิท

...........................    

                  บ่ายวันนั้นแดดร้อนจัด ผมหยุดงานนั่งเก้าอี้ทำจากล้อเกวียนใต้ต้นมะม่วงหลังบ้าน อย่างน้อยก็เย็นกว่าที่อื่นเท่าที่จะหาได้ อย่าถามถึงเครื่องปรับอากาศ เพราะผมไม่ชอบ ไม่ใช่ว่าผมจะไม่มีเงินซื้อแอร์ หรือไม่มีเงินจ่ายคาไฟฟ้า เปล่าเลย แต่เป็นเพราะผมเชื่อว่า อากาศธรรมชาติมีผลดีต่อสุขภาพของผมมากกว่าความเย็นจากเครื่องปรับอากาศที่ผิดธรรมชาติ

                ด้วยความเหงา ผมโทรชวนเพื่อนหญิงที่รู้ใจเพื่อสนทนาและใช้เวลาด้วยกัน ผมชอบที่เธอเป็นเธอ ที่คุยกับผมรู้เรื่อง ทุกเรื่องที่อยากคุย ตั้งแต่เรื่องจิปาถะไปจนถึงเรื่องชีวิต ไม่นานนักเธอเดินทางมาถึง เดินยิ้มผ่านประตูบ้านเข้ามาด้วยความคุ้นเคย “รถติดไหม” ผมถามเรื่องการเดินทางแทนที่จะถามเรื่องสุขภาพเหมือนที่เคยถาม “ไม่ติดเท่าไร วันหยุดก็ดีหน่อย” แสดงว่ารถติดบ้างเหมือนกัน ผมพาเธอเดินไปนั่งหลังบ้าน น้ำส้ม และกระจาดผลไม้หลายชนิดตั้งรอไว้ที่นี่ เราคุยกันเรื่อยๆ แก้เหงาจนถึงเรื่องรากของชีวิต ซึ่งก็คือเรื่องญาติสนิทมิตรสหาย มีแง่คิดมุมมองให้น่าจดจำ

                เธอเริ่มสนทนาเรื่องนี้เหมือนรำพึง “ต้นไม้ใหญ่ขึ้นรวมกันเป็นป่าใหญ่ย่อมต้านแรงลมได้ ไม้ใหญ่ต้นเดียวอาจโค่นได้ง่ายเมื่อถูกพายุ คนที่มีญาติอยู่พร้อมหน้า เมื่อมีปัญหาอุปสรรคย่อมผ่านพ้นไปได้ เพราะมีญาติคอยเป็นกำลังใจช่วยเหลือ” แม้ว่าผมจะเห็นด้วย แต่ยังไม่วายจะลองโต้แย้งดู “แต่บางครั้งญาติมิตรก็เป็นผู้นำปัญหามาให้เราได้เช่นกัน” ได้ผลเธอหันมาตอบโดยเร็ว “เป็นธรรมดา มากคนก็มากความ แต่พระสอนว่าการสงเคราะห์ญาติเป็นมงคลข้อหนึ่งทีเดียว” “แล้วยังไงต่อ” ผมถามง่ายๆ “มีปัญหาก็ช่วยแก้กันไป แต่ต้องช่วยอย่างฉลาดเหมือนกัน” “เพราะอะไร” “เพราะการช่วยเหลืออาจก่อให้เกิดโทษได้เหมือนกัน หากไม่คิดไตร่ตรองให้รอบคอบ”

                “มีหลักในการสงเคราะห์อย่างไร” “พระสอนว่า ญาติที่ควรสงเคราะห์นั้นต้องเป็นคนที่พยายามช่วยตัวเองอย่างสุดความสามารถ ต้องเป็นคนที่ทำตัวให้น่าช่วยเหลือ ต้องเป็นเวลาที่ควรสงเคราะห์ญาติ ต้องเป็นยามยากจนหาที่พึ่งไม่ได้ เมื่อญาติขาดทุนทรัพย์ค้าขาย เมื่อขาดยานพาหนะ  เมื่อขาดอุปกรณ์ทำกิน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยหรือ” ผมเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เธอยืนยันหนักแน่น “ญาติหมายถึงผู้ร่วมสายโลหิต

                เมื่อคราวมีธุรการงาน เมื่อคราวถูกใส่ความ มีคดี” “พระสอนละเอียดอย่างนี้เลยใช่หรือไม่” ผมเปลี่ยนหัวเรื่องนิดหน่อย เธอตอบง่ายๆ “ญาติหมายถึงคนคุ้นเคย ญาติทางโลก โดยสายโลหิต และญาติโดยความคุ้นเคย และญาติทางธรรมคือผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนทางธรรม”

                    “แล้วเราจะสงเคราะห์ญาติได้อย่างไรบ้างจึงจะถูกวิธี” ผมสงสัย เธออ้างคำพระเสมอ “วิธีสงเคราะห์ญาติด้วยสังคหวัตถุ 4 อย่าง คือทานสงเคราะห์ด้วยการแบ่งปัน ปิยะวาจา พูดจาสุภาพ อัตถจริย ทำตัวเป็นประโยชน์ สมานัตตตา วางตัวกับญาติให้เหมาะสม” “คุณรู้จักคำพระเหล่านี้ได้อย่างไร” อดสงสัยไม่ได้ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเธอสนใจศึกษาหลักธรรมเสมอ “ก็แค่อ่านหนังสือ ฟังพระเทศน์ สนทนาธรรม และปฏิบัติธรรม” เธอสรุปง่ายเหมือนตกผลึกทางความคิดเรียบร้อยแล้ว “พูดเหมือนง่ายเลยนะ” ผมเย้าเธอยิ้มๆ “ใช่ จะไปยากอย่างไร ซื้อหนังสือหลักธรรมะมาอ่าน ว่างเข้าวัดฟังพระเทศน์ ไม่มีเวลาก็ใช้อุปกรณ์ช่วย เข้าอินเตอร์เน็ตหาอ่าน หาฟังได้ไม่ยาก สนทนาธรรมกับพระหรือคนที่รู้ธรรมก็ได้ ซึ่งมีอยู่มาก”

                    “เลยไปถึงการปฏิบัติธรรมด้วยหรือ” ผมอยากรู้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินกว่าคนทำมาหากินอย่างเรา “ทำไมหรือ การปฏิบัติธรรมยากนักหรือไง” เธอถามกลับแทนคำตอบ “ไม่ใช่เรื่องยากหรือง่าย แต่เป็นเรื่องชาวบ้านธรรมดาอย่างเราควรทำหรือไม่ อย่างไร” “คนธรรมดาไม่ควรปฏิบัติธรรมหรือไง” “ใช่ ผมคิดอย่างนั้น” “การปฏิบัติธรรมเป็นความดีหรือเลว” “เป็นความดี” “อ้าว เป็นความดีแล้วเหตุใดจึงไม่ควรทำเล่า” ผมเริ่มเห็นด้วยกับเธอ “มีการสงเคราะห์ญาติอย่างอื่นอีกหรือไม่” “มีการสงเคราะห์ญาติทางธรรม” “เอ....ต้องทำอย่างไร” “ก็อย่างที่ฉันสนทนาธรรมกับคุณอยู่นี่ไง” เธอยกตัวอย่างใกล้ตัวจนผมคิดไม่ถึง และกล่าวต่อ “สงเคราะห์ด้วยการแนะนำให้รู้จักบุญ และการทำบุญ คือ ทาน ศีล ภาวนา”

                     “พระสอนให้สงเคราะห์ญาติเพื่ออะไร” ผมถามดื้อๆ แถมเอาคำของเธอ “พระสอนว่า...” มาใช้ เป็นการดักคอ เธอมองผมด้วยสายตาคมกริบ ดวงตาเปล่งแสงความฉลาดแบบที่ผมชอบ อาจเป็นเพราะเธอฉลาดเกินไป หรืออาจเป็นเพราะผมฉลาดน้อยกว่าเธอ เราจึงยังไม่ได้แต่งงานกันเสียที เธอตอบช้าๆ “การสงเคราะห์ญาติมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น เป็นฐานป้องกันภัย เป็นฐานอำนาจ เป็นบุญกุศล เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ทำให้สนิทสนมคุ้นเคยกัน ทำให้เกิดความสามัคคีกัน ทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อกัน ทำให้ตระกูลใหญ่โต มั่นคง ทำให้มีญาติมากทุกภพทุกชาติ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดสันติสุขไปทั่วโลก”

                    ผมนึกแปลกใจว่า เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงฉลาดสอนได้แม้กระทั่งเรื่องการดำรงชีวิตของชาวบ้านธรรมดาหาเช้ากินค่ำอย่างเรา “อย่างนี้แสดงว่าการสงเคราะห์ญาติมีประโยชน์มากมาย” “แล้วมีข้อไหนบ้างที่คุณมีความเห็นแย้งได้บ้าง” “เป็นฐานป้องกันภัยได้อย่างไร” ผมลองถามเพื่อทดลองฟังแนวคิด “เวลามีปัญหาอุปสรรคในชีวิตเราคิดถึงใครก่อน” “พ่อแม่พี่น้อง” “เวลานั้นเราจะไปที่ไหน” “กลับไปบ้าน” “ที่ซึ่งมีญาติพี่น้องคอยอยู่ใช่ไหม” “ใช่” ผมคิดถึงความอบอุ่นท่ามกลางหมู่ญาติพี่น้องได้ทันที “เป็นฐานอำนาจได้ด้วยหรือ” ยังอยากฟังแนวคิดของเธอ “สังคมชนบททั่วไปใครได้รับการยอมรับมากคนนั้นมักได้รับเลือกเป็นผู้ปกครอง” เธอยกตัวอย่างสังคมชนบท ผมมองเห็นว่า แม้สังคมเมืองใหญ่หากญาติมากแสดงว่าคนนั้นมีฐานทางสังคมมาก และอาจก้าวสู่ตำแหน่งในฐานะชนชั้นปกครองได้ง่าย “เป็นบุญกุศลด้วยหรือ” ผมยังอยากฟังเธอให้ความเห็น “ใช่ซี ให้ข้าวให้น้ำแก่สัตว์ดิรัจฉานยังได้บุญเลย” “ได้บุญมากเหมือนสงเคราะห์สัตว์หรือ” “ได้บุญมากกว่าเยอะ ยิ่งหากญาติเราเป็นคนดีมีศีลธรรม เราสงเคราะห์เขา เรายิ่งได้บุญมากขึ้นหลายเท่า”

                  “การสงเคราะห์ญาติทางโลกคือวิชาชีพเพื่อให้เขาทำมาหากิน กับการสงเคราะห์ทางธรรมสอนให้เขารู้จักการทำทานรักษาศีลเจริญภาวนา อย่างไหนได้บุญมากกว่ากัน” ผมเปลี่ยนหัวข้อถาม “สงเคราะห์ทางธรรมได้บุญมากกว่ามาก” “เพราะเหตุใด” “เพราะผลลัพธ์ที่ได้ยั่งยืนถาวรมากกว่ากันมาก” “อย่างไร” “ให้ข้าวน้ำเขากิน อิ่มแล้วก็หิวอีก สอนอาชีพเขา เป็นวิทยาทาน เขาอาศัยกินได้ในชาตินี้ แต่สอนทางธรรม สอนเขาทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ติดตัวเขาข้ามภพข้ามชาติ ทุกชาติไป” “ข้ามภพชาติได้อย่างไร” “ทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกอย่างที่คิดถูกบันทึกไว้ด้วยวีดีโอใจ เมื่อญาติรักการทำทาน อยู่ในศีล ภาวนาสม่ำเสมอ บันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้เสมอ แสดงว่าเขาติดในการทำความดี เป็นคนดี แสดงว่าเขามีที่พึ่งตลอดไป”

                   “แต่นั่นเป็นหน้าที่ของพระนะ” ผมพูดตามที่เห็นวิธีปฏิบัติของสังคมปัจจุบัน “มองตามที่เห็นอาจเหมือนอย่างที่พูด แต่พระพุทธองค์ฝากศาสนาไว้ให้บริษัท 4 ช่วยกันดูแล” “อ้าว ใครกันเล่า” “ก็ภิกษุ ภิกษุณี ตอนนี้ไม่ค่อยมีเอาสามเณรแทน อุบาสก ชาวพุทธผู้ชาย อุบาสิกา ชาวพุทธผู้หญิง เห็นไหม พระองค์ให้ช่วยกันดูแล” “อย่างนั้นผมควรทำอย่างไร” “ทำง่ายๆ ศึกษาหลักศาสนาตามที่กล่าวมา แล้วนำมาบอกเล่าให้ญาติมิตรฟัง ก็แค่นั้น” “แต่การภาวนาอะไรนั่น” “ต้องทำด้วยตัวเองก่อน แล้วก็บอกสอนได้เอง” ผมนิ่งคิดเนิ่นนาน เธอพูดจนผมเห็นเรื่องยากเป็นง่ายตามเธอไปแล้ว หลักการคือต้องเริ่มต้นทำเองก่อน

         ผมนั่งมองเพื่อนสาวคนสวยหยุดจิบน้ำส้มด้วยท่าทีนางเอก ไตร่ตรองเรื่องที่สนทนากันเพื่อเก็บไว้ในความทรงจำ พระพุทธองค์ทรงสอนชาวพุทธถึงบทบาทหน้าที่ของเราต่อญาติมิตรอย่างละเอียด อาจสรุปว่า การสงเคราะห์ญาติมิตรเป็นสิ่งซึ่งเป็นมงคลแก่ชีวิต ใครไม่ทำก็จะขาดสิ่งซึ่งเป็นมงคลไปไม่สมบูรณ์ ทำไม่ถูกดี ไม่ถึงดี ไม่พอดี ก็อาจทำให้กลายเป็นเสียหายไปได้เหมือนกัน ต้องถูกดีถึงดีจึงพอดี

หมายเลขบันทึก: 369707เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2010 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • วันนี้✿อุ้มบุญ✿โชคดี สองชั้นค่ะ โชคชั้นหนึ่งคือเข้ามาเป็นคนแรก   ตัวหนังสือตัวโตโต รอไว้ เป็นโชคชั้นที่สอง...... อ่านง่ายจัง
  • ท่านที่อ่านบันทึกนี้ และบันทึกต่อๆ ไปถือว่าเป็นคนที่มีวาสนา
  • มาติดตามต่อด้วยกันซิคะ จะได้เป็นญาติธรรมกันให้เยอะๆๆๆๆๆๆๆ

สวัสดีค่ะ

สาวสวยน่ารัก สมบูรณ์ด้านจิตใจมากนะคะ  อ่านช้า ๆ เพราะกลัวจะข้ามและไม่เข้าใจค่ะ เพราะเป็นคำสอน

ยายคิมได้ทำแค่นี้ค่ะ “สงเคราะห์ด้วยการแนะนำให้รู้จักบุญ และการทำบุญ คือ ทาน ศีล ภาวนา”  ญาติทางธรรม  เพราะไร้ญาติ ไม่มีพี่น้องค่ะ

คุณปู่เคยสอนเรื่อง "การล้อมรั้วให้ตัวเอง" คล้ายกันเลยค่ะ

เผลอหน่อยเดียวคุณIco32ตามอ่านมาถึงนี่ สมัยก่อนโน้นมีบุคคลที่ชอบอ่านหนังสือธรรมะ ชื่อ เสถียร โพธินันทะ อ่านตั้งแต่เรียนอยู่สวนกุหลาบ ไม่นานเป็นอาจารย์ด้านธรรมะไปเสียแล้ว พูดหลักธรรมจนคนหลับไม่ลง เก่งจริงๆ

คุณครูคิมไม่น้อยหน้าตามมาอ่านถึงนี่ด้วยเช่นกัน สำหรับครูคิมแล้ว หากเขียนประวัติชีวิตและการต่อสู้ไว้สักเล่ม คงโตพอควรทีเดียวนะ บันทึกหน่อยครับ จะตามอ่าน

  • คุณครูคิม  นี่งัยเป็นคนที่มีวาสนา จะพา ✿อุ้มบุญ✿ ไปต่อบันทึกหน้า

คุณอุ้มบุญกลับมาทบทวนบันทึกเก่าด้วยนะนี่ ไม่ใช่ไปข้างหน้าอย่างเดียว เยี่ยมจริงๆ 

ผมเชื่อฝรั่งที่ว่า คุณคือสิ่งที่คุณอ่าน you are what you eat. อ่านมากเข้า ชีวิตวันหน้าอาจเปลี่ยนแปลงได้

การสงเคราะห์ญาติเป็นการให้ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน

สาธุนะคะท่านอาจารย์ขา

ครูอิ๊ดครับ พระสอนเรื่องนี้ไว้ให้คนเราช่วยสงเคราะห์ญาติด้วยเหตุผลอันสมควร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท