ความรู้ คือ อะไร?


ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัว (tacit knowledge) จะมากกว่าความรู้แบบชัดแจ้ง (explicit knowledge) ถึงร้อยละ 80 ต่อ ร้อยละ 20 ของความรู้ทั้งหมด

           ความรู้ คือ สิ่งที่ปรากฏอยู่ทั่วไป เพราะความรู้เป็นข้อเท็จจริง (facts) ความจริง (truth) กฎเกณฑ์หรือข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งจากการศึกษาและจากธรรมชาติ ความรู้จึงเป็นระบบของความคิดบนพื้นฐานของความเป็นจริง ความรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทางตรง คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นโดยชัดเจนไม่ต้องอนุมานหรือคาดคะเน และทางอ้อมซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ชัดเจนหรือไม่เป็นเชิงประจักษ์ แต่ต้องใช้การอนุมานหรือคาดคะเนจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จึงจะเกิดความรู้ขึ้นมาได้

            จากปิรามิดแห่งปัญญา อันได้แก่ ข้อมูล(data)  สารสนเทศ(information) ความรู้(knowledge) และปัญญา (wisdom) อ.ธนิตสรณ์ จิระพรชัย ให้ความเห็นว่า ข้อมูล หมายถึง สรรพสิ่งต่างๆที่เป็นความจริง สารสนเทศ คือ สิ่งที่จำได้หมายรู้อันเกิดจากการอ่าน การเห็น การฟัง เรียกว่าสุตมยปัญญา ความรู้ เป็นลำดับขั้นที่สามารถกำหนด วิเคราะห์และใช้ทฤษฏีได้ โดยอาศัยประสบการณ์ ถือเป็นจินตามยปัญญา ส่วนปัญญา เป็นลำดับขั้นสูงสุด สามารถรู้แจ้งเห็นจริงใช้แก้ปัญหาต่างๆได้ เรียกว่าภาวนามยปัญญา นักวิชาการชาวญี่ปุ่นชื่อ Hideo Yamazaki กล่าวว่า ความรู้ คือ สารสนเทศที่ผ่านกระบวนการคิดเปรียบเทียบเชื่อมโยงกับความรู้อื่นจนเกิดเป็นความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสรุปและตัดสินใจได้

             ความรู้สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ ความรู้ในตัว (tacit knowledge)กับความรู้ชัดแจ้ง (explicit knowledge) ความรู้ในตัว ได้แก่ ความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวของบุคคลนั้นๆ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้และเชื่อมโยงกับประสบการณ์ ความเชื่อ ค่านิยม หรือพรสวรรค์ต่าง ๆ บางครั้งบุคคลดังกล่าวไม่รู้สึกตัวว่าตนเอง มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ แต่เมื่อได้ประสบกับภาวะคับขัน กลับนำความรู้ออกมาใช้แก้ไขสถานการณ์ได้ เป็นความรู้ที่ไม่เป็นสากล มีลักษณะเป็นอัตวิสัย อธิบายออกมาได้ยาก แต่สามารถพัฒนาและแบ่งปันกันและกันได้ ส่วนความรู้ชัดแจ้ง ได้แก่ ความรู้ที่เป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล มีลักษณะเป็นภววิสัย ได้จากการรวบรวมความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวบุคคล สามารถถ่ายทอดออกมาในรูปของการเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือสื่อต่างๆ เช่น หนังสือ คู่มือ เอกสาร ซีดี วีซีดี อินเตอร์เน็ต ฐานข้อมูลต่างๆ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดและนำความรู้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

              เมื่อพิจารณาสัดส่วนความรู้ทั้ง 2 ประเภท จะพบว่าอัตราส่วนของความรู้ที่ฝังอยู่ในตัว (tacit knowledge) จะมากกว่าความรู้แบบชัดแจ้ง (explicit knowledge) ถึงร้อยละ 80 ต่อ ร้อยละ 20 ของความรู้ทั้งหมด เปรียบเสมือนกับภูเขาน้ำแข็ง ที่เปรียบความรู้ที่ชัดแจ้งเป็นน้ำแข็งส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียงร้อยละ 20 ส่วนอีกร้อยละ 80 ที่จมน้ำอยู่ ซึ่งมองไม่เห็นนั้น เป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในตัว

หมายเลขบันทึก: 368615เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2010 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท